เกิดมาเป็น ‘ผงชูรส’ ใครว่าง่าย ไม่รู้เหมือนกันว่าความเข้าใจผิดที่ว่าผงชูรสเป็นสารอันตรายนั้นมีมานานเท่าไหร่แล้ว
บ้างก็คิดว่าผงเป็นผู้ร้ายทำให้คุณผู้ชายที่บ้านหัวล้าน หนักเข้ายังกล่าวหาว่าผงชูรสทำให้คุณคอแห้งจนดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่หาย โธ่ ข้าแต่ศาลที่เคารพครับ ผงขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา!
ไหนๆ ก็ตกเป็นจำเลยสังคมมานาน วันนี้ผงขอถือโอกาสนี้ชี้แจงแถลงไข เพื่อพิทักษ์ความนัวของส้มตำป้าจี๊ด และความซี๊ดของต้มเล้งลุงจ่อย ผงของัดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ให้ทุกท่านได้รู้ว่า ผงชูรสที่อยู่คู่ครัวคนไทยมานานแสนนานนั้นไม่ได้มีความผิดอย่างที่เขากล่าวหา และหวังว่าทุกท่านจะได้รู้จักตัวผงในแง่มุมใหม่ ไม่ใช่ตามความเชื่อข่าวลือที่เขาว่ากันว่าแบบไม่รู้ว่าเขาคือใคร ถ้าพร้อมแล้ว เอ้า หลักฐานมา!
รู้จักผงก่อนคุณจะปรักปรำ
ก่อนจะไปเข้าสู่กระบวนการหักล้างความเชื่อใหม่ ผงขออนุญาตแนะนำตัวให้ทุกท่านรู้จักสักนิด ผงชูรส หรือชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate) คือสารปรุงแต่งที่ช่วยให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม เป็นรสชาติที่ 5 นอกเหนือจาก หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อชิคๆ ว่ารส ‘อูมามิ’ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘แก่นแท้ความอร่อย’
ตัวผงมีลักษณะเป็นผลึกแข็ง สีขาว ไม่มีกลิ่น ไม่ต่างอะไรไปจากเกลือหรือน้ำตาล ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติอย่างกากน้ำตาลที่ได้จากอ้อยและมันสำปะหลัง นำมาผ่านกระบวนการหมักจนได้กรดกลูตามิก หลังจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตกผลึกจนกลายเป็นผงชูรส
ผงไม่ได้ทำให้ล้านนะครับ!
ในเรื่องความเข้าใจผิดแรกที่ผงกลายเป็นจำเลยสังคมอยู่บ่อยๆ คือความเชื่อที่ว่าการกินผงชูรสทำให้ผมร่วง และหัวล้าน โธ่ นี่ผงนะครับไม่ใช่ผีที่จะทำให้คุณหัวโกร๋นได้ง่ายดายปานนั้น ความเป็นจริงก็คือไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ใดที่บ่งบอกว่าการกินผงชูรสเป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงหรือหัวล้าน
สาเหตุหลักของอาการผมบาง ผมร่วง หรือหัวล้านส่วนใหญ่มักเกิดจากกรรมพันธุ์ ความเครียด โรคทางผิวหนัง หรือโรคเฉพาะทางต่างๆ เพราะฉะนั้นหากคุณมีอาการผมร่วงหรือผมบางเกิดขึ้นขอให้ไปพบแพทย์ อย่าคิดไปเอง
คอแห้งแล้วเกี่ยวไรกับผง!
ตามมาด้วยความเข้าใจผิดข้อถัดไปที่ว่าการกินผงชูรสมากๆ จะทำให้คอแห้ง หิวน้ำ หน้าชา ปากชา ไอ้นั่นก็ชา พอแล้ว! เวลาที่คุณกินของรสจัด หวานจัด เค็มจัด ไม่ว่าจะแต่งรสด้วยเครื่องปรุงรสชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าใครก็หิวน้ำได้เป็นปกติ
ผงไม่เคยทำร้ายร่างกาย!
เพราะฉะนั้นข่าวลือที่ว่าผงชูรสเป็นอันตรายต่อร่างกายจึงเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อกันแบบไม่มีหลักฐาน ด้วยว่าในความเป็นจริงแล้วผงชูรสจัดว่าเป็นเครื่องปรุงรสที่อยู่ในหมวดหมู่ความปลอดภัยสูงสุดโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนในอาหาร องค์การอนามัยโลก (JECFA : Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives) ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) จัดให้ผงชูรสอยู่ในกลุ่มเดียวกับเครื่องปรุงรสที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย อย่าง เกลือ พริกไทย และน้ำส้มสายชู
ที่สำคัญมีการค้นพบว่าถ้าหากคุณอยากปรุงอาหารให้อร่อยแต่ยังคงดีต่อสุขภาพ เพียงลดปริมาณเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง แล้วเติมผงชูรสลงไปนิดหน่อย รับรองว่าได้เมนูโซเดียมน้อยแต่รสชาติยังอร่อยเหาะเหมือนเดิมแน่นอน
รู้จักผงแล้ว อย่าเข้าใจผงผิดอีกนะ
สุภาษิตโบราณยังกล่าวไว้ว่าฟังหูไว้หู สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หลังจากผงถูกเข้าใจผิดมานานหลายปีในที่สุดวันนี้ผงก็ได้ล้างมลทินของตัวเองเสียที
ตลอดหลายสิบปีมานี้ขณะที่หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผงชูรสอยู่ หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มต้นโครงการศึกษาวิจัยมากมายจนสามารถสรุปได้ว่าผงชูรสเป็นสารปรุงแต่งที่ปลอดภัย (จนไม่รู้จะปลอดภัยยังไงแล้วแม่!) แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการที่ออกกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยของอาหารในประเทศญี่ปุ่นยังให้การรับรองอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน
และข้อมูลสำคัญที่น่าจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันความปลอดภัยได้ดีที่สุดก็คืองานวิจัยโดยสหพันธรัฐสมาคมอเมริกันเพื่อชีวภาพการทดลอง (EASEB) ที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2538 ซึ่งตอบคำถามลงลึกถึงรายละเอียด 18 ข้อเกี่ยวกับความปลอดภัยของผงชูรส จนสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าผงชูรสเป็นสารที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงหรือก่อปัญหาในระยะยาว
รู้แบบนี้แล้วในการสั่งส้มตำมื้อต่อไปก็เปิดใจให้กับผงหน่อยนะ เพื่อความนัวของมวลมนุษยชาติ ผงสัญญาจะนำพาความอูมามิที่ปลอดภัยมาสู่ทุกคนเอง!