“รถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย” เชื่อว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับนโยบายนี้ของกระทรวงคมนาคม มาไม่มากก็น้อย ว่าแต่ ถ้าทำได้ขึ้นมาจริงๆ จะสามารถเริ่มทำได้ในส่วนไหนบ้างนะ?
The MATTER ได้สรุปมาให้แล้ว ว่าถ้านโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย เป็นความจริงขึ้นมา น่าจะเริ่มมีผลกับเส้นทางไหนก่อน และอนาคตจะมีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันได้เลย!
สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่นระยะเวลาให้เห็นผลเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยจะให้เห็นผลภายใน 3 เดือนนี้ จากตอนแรกที่เป้าหมายคือสิ้นปี
เส้นทางที่จะสามารถนำร่องทำได้ก่อน ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ดำเนินการ เก็บรายได้โดยรัฐบาล รัฐลงทุนเอง 100% และไม่ผูกสัญญากับเอกชน ได้แก่
1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่-เตาปูน
-เจ้าของคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
-ค่าโดยสาร 17-42 บาท
2.แอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ
-เจ้าของคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
-ค่าโดยสาร 15-45 บาท
(มีการคาดการณ์ไว้ว่าหากเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ทาง รฟท. ซึ่งเป็นเจ้าของคงไม่ขัดข้อง)
สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายนี้ จะแยกสายทาง หมายความว่า ถ้าจะขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้วไปต่อแอร์พอร์ตลิงก์ ก็ต้องเสีย 15 บาท 2 รอบ รวมแล้ว 30 บาท
เส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต
1.สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต (เปิดภายในปี 2564)
-เจ้าของคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
-ค่าโดยสาร 15-50 บาท
2.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยายเหนือ หมอชิต-คูคต (เปิดภายในปี 2564)
-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบการก่อสร้าง และส่งต่อให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดูแล
-ค่าโดยสาร 15-60 บาท
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยายใต้ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ
-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบการก่อสร้าง และส่งต่อให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดูแล
-ค่าโดยสาร 15-39 บาท
(สำหรับสายสีเขียวเข้มทั้งส่วนต่อขยายเหนือและใต้ หากรัฐลงทุนเองทั้งหมด ทั้งค่าขบวนรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร และระบบตั๋ว เป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท จะสามารถลดราคาให้เหลือ 15 บาทตลอดสายได้)
สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกความเห็นผ่านทางโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาทตลอดสาย จะต้องทำเฉพาะเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด 100 % ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถบชานเมืองหรือพื้นที่ที่เป็น “ไข่ขาว” และจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเส้นทางที่ให้สัมปทานแก่เอกชนไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหรือพื้นที่ที่เป็น “ไข่แดง” เนื่องจากจะต้องเสียเงินชดเชยให้เอกชนจำนวนมาก หรือ เบื้องต้น รถไฟฟ้าบีทีเอส อาจต้องชดเชยวันละกว่า 10 ล้านบาท หรือ ปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท
ส่วนในเรื่องการประเมินของ รฟม. ที่ระบุว่าหากจะลดค่าโดยสารให้เหลือ 15 บาทตลอดสาย รัฐบาลต้องชดเชยปีละ 700 ล้านบาทนั้น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าจะทำทุกแนวทางเพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณของภาครัฐ จะได้ไม่ต้องไปเกี่ยวโยงกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างกระทรวงการคลัง
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่าตอนนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาแนวทางและสรุปเงื่อนไขทั้งหมดให้ได้ภายใน 1 เดือนนับจากนี้
อ้างอิงจาก