คนเราก็ต้องกินต้องใช้ นโยบายปากท้องและเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เชื่อว่านโยบายด้าน ‘ปากท้องและเศรษฐกิจ’ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ใครหลายคนหยิบมาพิจารณาก่อนจรดปากกาในคูหา แต่ละพรรคจึงเปิดตัวและประชันนโยบายด้านนี้กันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะนโยบายจัดการปัญหาหนี้ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายเงินสนับสนุนเด็กและผู้สูงวัย นโยบายช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ตลอดจนนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
แต่ละพรรคมีแนวทางแก้ปัญหาปากท้องอย่างไรบ้าง? The MATTER สรุปนโยบายด้านเศรษฐกิจจาก 5 พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ ไว้ให้แล้ว!
พรรคภูมิใจไทย (เบอร์ 7)
เริ่มกันที่ ‘พรรคภูมิใจไทย’ อดีตพรรคร่วมรัฐบาลที่ส่ง อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชวนดูกันว่าพรรคเจ้าของสโลแกน “พูดแล้วทำ” จะพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจอะไรในเลือกตั้ง 2566 บ้าง (ปล. ดูเหมือนครั้งนี้จะไม่มีนโยบายกัญชาในฐานะพืชเศรษฐกิจนะ)
- พักหนี้ในระบบ 3 ปี หยุดต้น หยุดดอก : พักหนี้ให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยที่ดอกเบี้ยจะไม่มาทบต้นทบดอก ผู้ใช้สิทธิได้ คือ ใครก็ตามที่เป็นหนี้ในระบบ มีสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ กยศ. กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ และลีซซิ่ง
- เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท : ให้ประชาชนอายุ 20 ขึ้นไป มีวงเงินกู้ฉุกเฉินคนละ 50,000 บาทแบบที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน โดยจะเปิดให้ผ่อนชำระวันละ 150 บาท 365 วัน คิดเป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 54,750 บาท เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้เป็นทุนประกอบอาชีพ และหยุดวงจรหนี้นอกระบบ
- สร้างงานดี 10 ล้านตำแหน่ง : จะสร้างงานดี 10 ล้านตำแหน่ง และเพิ่มอัตราจ้างงาน สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพแรงงาน อันเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- ดันค่าตอบแทน อสม. 2000 บาท/เดือน : เพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเดือนละ 2,000 บาท หากเจ็บป่วยมีประกันให้
- กองทุนประกันชีวิต 60 ปี+ หากตายได้เงินแสน : จะทำประกันชีวิตวงเงิน 100,000 บาทให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิทันทีเมื่ออายุถึง ไม่ต้องลงทะเบียน และไม่มีค่าใช้จ่าย หากผู้ได้ประกันเสียชีวิต เงินแสนก็จะส่งต่อเป็นมรดกให้ทายาทได้ พร้อมให้สิทธิกู้ 20,000 บาทขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
- เกษตรกรรู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย : เกษตรกรจะมีสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าเป็นหลักประกัน ทำให้รู้ราคาผลผลิตก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย และหากเสียหายมีประกันให้ โดยจะกำหนดราคารับซื้อสินค้า 4 ชนิดล่วงหน้า ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ก่อนจะขยายไปสู่ผลผลิตการเกษตรอื่นๆ
- ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟ 450 บาท/เดือน : ประชาชนได้สิทธิเข้าร่วมโครงการใช้หลังคาบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ อันคิดเป็นกระแสไฟฟ้าหลังคาเรือนละไม่น้อยกว่า 450 บาท/เดือน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ส่วนลดค่าไฟและเครดิตพลังงานเป็นเวลา 25 ปี
พรรครวมไทยสร้างชาติ (เบอร์ 22)
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี แต่พรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ก็ยังยืนยันส่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย สมกับที่ย้ำนักหนาจริงๆ ว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ชวนดูกันว่าพรรคนี้จะ ‘ทำต่อ’ นโยบายปากท้องยังไง
- บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท/เดือน : เป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภค สินค้าเพื่อการศึกษา สินค้าเพื่อการเกษตร ค่าขนส่งสาธารณะ ค่าน้ำประปา ค่าแก๊ส ค่าไฟ พร้อมให้สิทธิฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อคนด้วย เริ่มจากกลุ่มรายได้น้อยก่อน แล้วจะขยายกลุ่มเพิ่มตามลำดับถัดไป ทั้งนี้ตามเอกสารที่ยื่นกับ กกต. พรรคไม่ได้นิยามชัดเจนว่า ‘ผู้มีรายได้น้อย’ คือกลุ่มประชาชนที่มีรายได้เท่าไหร่
- คนละครึ่งภาค 2 : โครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและขยายกิจกรรมการใช้จ่ายของประชาชนผู้ค้ารายย่อย ภายใต้ชื่อ “คนละครึ่ง ภาค 2” ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการของรัฐบาลก่อน ให้สิทธิ 26 ล้านสิทธิ์ วงเงินปีละ 40,000 ล้านบาท โดยจะเน้นร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ และแผงลอย
- ตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้านบาท : ให้ประชาชนกู้ยืมได้ เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ และช่วยให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงแหล่งเงินเมื่อเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งทุนที่ประชาชนกู้ไปใช้ในกิจการตัวเองได้ด้วย
- คืน 30% เงินสะสมชราภาพ ให้ผู้ประกันตน ม.33 : ให้กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนได้ 30% โดยไม่ต้องรอครบกำหนดอายุ หากประสบปัญหาเดือดร้อนหรือต้องการเงินฉุกเฉิน
- เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วงอายุ : เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เท่ากันทุกช่วงอายุ (จากเดิมที่ให้แบบขั้นบันได) แต่จะเริ่มจากกลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อน และยกเว้นคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ : ตั้งโครงการ “ลดต้นทุนเกษตรกร” เพื่อช่วยค่าเก็บเกี่ยวเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อให้ทันกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พร้อมกับตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว และราคายาง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
- โครงการ ‘ปลดหนี้ด้วยงาน’ : ใช้แก้ปัญหาหนี้ภาครัฐ เช่น หนี้ กยศ. เป็นต้น โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาช่วยงานรัฐเพื่อปลดหนี้ เพราะรัฐเองก็ต้องการคนมาดูแลปัญหาหลายเรื่อง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง คนสูงอายุ คนด้อยโอกาส เป็นต้น
พรรคเพื่อไทย (เบอร์ 29)
“คนไทยไร้จน” “เลือกเพื่อไทย ความยากจนจะหมดไป” นโยบายเศรษฐกิจปากท้องคือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยสื่อสารตลอดเวลา ควบคู่กับสโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” พรรคนี้เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ, และเศรษฐา ทวีสิน ที่เคยปราศรัยว่าคนจนจะหมดไปในรัฐบาลเพื่อไทย นโยบายปากท้องเศรษฐกิจพรรคนี้เป็นอย่างไร มาดูกัน
- ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน : เพิ่มรายได้แรงงานภายในปี 2570 ผ่านการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) โดยพิจารณาการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ผลิตภาพแรงงาน (productivity) และอัตราเงินเฟ้อ (inflation)
- เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน : ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) พร้อมเงิน 10,000 บาท ใช้ได้ 6 เดือน ใช้จ่ายได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน
- ปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 บาท : ดันเงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาท/เดือน ภายใน 2570 รวมถึงข้าราชการด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอกับค่าครองชีพ
- 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง : สร้างศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ให้เรียนฟรี และเฟ้นหาศักยภาพจากทุกครัวเรือน เช่น เชฟ นักร้อง ผู้กำกับ เพื่อสร้างอาชีพทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง และสร้างรายได้ 200,000 บาท/ปี
- ทุกครัวเรือนมีรายได้เกิน 20,000 บาท : ลดความเหลื่อมล้ำโดยการเติมให้ทุกครอบครัวมีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาท/เดือน พร้อมลงทะเบียนบนแพลตฟอร์มเพื่อเสริมทักษะและหางาน อัปเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อความแม่นยำ
- พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ดันรายได้เพิ่ม 3 เท่า : พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกเพื่อลดภาระเกษตรการในการชำระหนี้ และดันรายได้เกษตรกรให้เพิ่ม 3 เท่าภายในปี 2570 โดยสร้างระบบยืนยันราคาทำให้สินค้าเกษตรราคาดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต
- ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้มทันที : ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ และเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก เพื่อลดภาระประชาชนในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวัน
พรรคก้าวไกล (เบอร์ 31)
แม้เพลงเลือกตั้งของพรรครอบนี้จะไม่ฮิตติดหูเหมือนรอบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ ‘พรรคก้าวไกล’ ก็จัดว่าเป็นอีกหนึ่งพรรคที่มาแรงไม่น้อย โดยส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคนี้เน้นย้ำเสมอถึงหลักการ “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” นโยบายที่จะชวนให้ปากท้องและเศรษฐกิจดี มีดังนี้
- ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันที 450 บาท/วัน : ปรับขึ้นตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขั้นต่ำวันละ 450 บาท และแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก
- หวยใบเสร็จ เพิ่มแต้มต่อร้านรายย่อย : เพิ่มแรงจูงใจให้คนซื้อสินค้าจาก SME รายย่อยโดยแถมสลากกินแบ่งรัฐบาลไปลุ้นรางวัล ส่วนร้านค้าก็นำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เหมือนกัน
- บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน–เช่า : รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ผ่านการช่วยผ่อนบ้านแก่ผู้ซื้อบ้านใหม่หลังแรกจำนวน 100,000 ราย ในอัตรา 2,500 บาท/เดือน ระยะเวลา 30 ปี สำหรับบ้าน–ที่พักอาศัยที่ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท และจะช่วยค่าเช่าบ้าน–ห้องพัก สำหรับผู้เช่าจำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาท/เดือน สำหรับที่พักที่ราคาไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
- เงินเด็กเล็ก 1,200 บาท/เดือน : ให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร
- เงินผู้สูงวัย 3,000 บาท/เดือน : เพิ่มเงินให้ผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาทแบบเท่ากันทุกช่วงอายุ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน และให้มีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต พร้อมกับแบ่งเบาภาระวัยทำงานด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว
- ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัย จ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ : ปลดหนี้ให้เกษตรกรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. โดยจะกำหนดว่าหากจ่ายหนี้ได้ครึ่งหนึ่งแล้ว รัฐจะยกหนี้ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้
- ลดค่าไฟให้ถูกและเป็นธรรม : ลดค่าไฟลงอย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) พร้อมเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานพลังงานใหม่ และปรับนโยบายค่าไฟให้เน้นผลประโยชน์ประชาชนก่อนกลุ่มทุน เช่น ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยต้องส่งให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน ก่อนขายให้โรงงานปิโตรเคมี เป็นต้น เพื่อทำให้ราคาต้นทุนก๊าซของโรงไฟฟ้าถูกลงเมื่อลดการนำเข้า
พรรคพลังประชารัฐ (เบอร์ 37)
ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา และพัฒนาทุกพื้นที่ … สโลแกนสุดแสนน่าจดจำดังกล่าว เป็นของ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่คราวนี้พร้อมส่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคนี้มีนโยบายพัฒนาและขจัดปัญหาเศรษฐกิจแบบไหน มาดูกัน
- บัตรประชารัฐ 700 บาท/เดือน : ช่วยประชาชนรายได้น้อยเรื่องค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางสาธารณะ พร้อมกับประกันชีวิต 200,000 บาท และเพิ่ม 30,000 บาทให้ประชาชนต่อยอดอาชีพและธุรกิจ แต่ก็เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามเอกสารของ กกต. ยังไม่ปรากฎนิยามชัดเจนจากพรรคว่า ‘ผู้มีรายได้น้อย’ คือกลุ่มประชาชนที่มีรายได้เท่าไหร่
- ยกเว้นภาษีผู้มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาท/ปี : เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดากับผู้มีรายได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปีในทุกอาชีพ
- ตั้งกองทุนประชารัฐ ปลดหนี้ เพิ่มรายได้ : ตั้งกองทุนประชารัฐในกรอบวงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อนำมาแก้หนี้ให้เบ็ดเสร็จ ปลดภาระ เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส และเสริมทักษะ นอกจากนี้ยังเปิดให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพด้วย เช่น กู้เงินจำนวน 50,000 บาท จะใช้เวลาผ่อน 7 ปี ซึ่งจะตกวันละ 24 บาท โดยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5
- เงินเลี้ยงดูบุตร 10,000 บาท/เดือน : หากตั้งท้อง 5 เดือนจนถึงคลอด จะได้รับ 10,000 บาทต่อเดือน และเมื่อคลอดแล้ว จะได้รับ 3,000 บาทต่อเดือนตั้งแต่เกิดจนอายุ 6 ปี นอกจากนี้ หากท้องที่ 2 รับเงิน 50,000 บาท และรับ 3,000 บาทต่อเดือนยาว 6 ปี
- เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได : เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้เงินสนับสนุนแบบขั้นบันได เช่น หากอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ 3,000 บาทต่อเดือน หากอายุ 70 ปีขึ้นไปได้ 4,000 บาทต่อเดือน และหากอายุ 80 ปีขึ้นไป ได้ 5,000 บาทต่อเดือน
- ลดต้นทุนชาวนาไร่ละ 2,000 ไม่เกิน 15 ไร่ : ช่วยชาวนาโดยการลดต้นทุนการผลิต โดย 1 สิทธิจะใช้ได้ไม่เกิน 15 ไร่
- ลดค่าน้ำมัน ค่าไฟ และแก๊สหุงต้ม : จะลดราคาเบนซินลง 18 บาทต่อลิตร ลดราคาน้ำมันดีเซลลง 6.30 บาทต่อลิตร พร้อมกับลดราคาค่าไฟบ้านให้เหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย และลดราคาแก๊สหุงต้มให้เหลือ 250 บาทต่อถัง
แต่ละพรรคจะทำตามสัญญาด้านปากท้องเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน …คงต้องลุ้นกันต่อไป