ความยากจน การไร้งานทำ ปัญหาทรัพยากร หรือความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) ต้องต่อสู้คล้ายกับประเทศอื่นๆ บนโลกซึ่งเผชิญสถานการณ์ใกล้เคียงกัน แต่ทว่า ประเทศแอฟริกาใต้กลับเลือกคลี่คลายปัญหาโดยการสร้างฐานความรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เวลาบ่มเพาะยุทธศาสตร์นานถึง 20 ปี ซึ่งกว่าหัวใจของผู้คนจะเปิดรับ กว่าคนในประเทศจะมองเห็นโอกาสไปในทิศทางเดียวกัน ก็ต้องผ่านการใช้เวลา 20 ปีที่แน่วแน่และมั่นคง
ทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ได้งอกเงย ณ จุดใต้สุดของทวีปแอฟริกา โดยประเทศแอฟริกาใต้กลายเป็นผู้นำด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สร้างนักวิทย์รุ่นใหม่มาประดับวงการมากมาย เป็นหมุดหมายสำคัญในการเรียนต่อของนักศึกษาไม่น้อยหน้ากว่าทวีปยุโรป น่าสนใจที่ความก้าวหน้าครั้งนี้หาใช่ความบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนที่ค่อยเป็นค่อยไป
ยุทธศาสตร์ 20 ปีของจริง
เอาเข้าจริงรากฐานความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้ ใช้เวลาบ่มเพาะเพียง 20 ปี ซึ่งก็เรียกได้ว่าใช้เวลาไม่นานนัก รัฐบาลออกร่างกฎหมายให้มีแนวทางสนับสนุนงานวิจัยเพื่อต่อกรกับปัญหาความยากจน การว่างงาน โรคระบาด และความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเริ่มในช่วงปี 1996 ที่มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีการดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยส่วนใหญ่กิจกรรมก็มักหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้วางแผนไว้ว่า ประเทศจะสามารถขยับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 0.8% ให้เป็น 1.5% ผ่านงานวิจัยแบบ R&D ล้วนๆ
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ Mmamoloko Kubayi-Ngubane เคยกล่าวไว้ในนิตยสาร Nature ว่า “ถ้าเราไม่เชื่อว่า งาน R&D ของแอฟริกาใต้ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนในประเทศได้ เราก็ไม่เริ่มทำแต่แรก”
มองย้อนไปก่อนหน้านี้ ผู้นำประเทศคนก่อน จาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) เป็นอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ที่มีความสนใจโอนเอียงไปด้านทางการทหาร ทำให้งบประมาณส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับกองทัพเสียมาก (คุ้นๆ กับประเทศแถวนี้ ที่ผู้นำใครโปรฯ ด้านไหนก็ย้ายงบไปด้านนั้น) พอ จาค็อบ ซูมา พ้นตำแหน่งไป ประเทศก็มีความผ่อนปรนมากขึ้น เริ่มมีการตอบรับนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากประเทศอื่นๆ ที่มีความสามารถเข้ามาในประเทศโดยไม่กีดกันความต่างทางด้านเชื้อชาติ
จนกระทั่งในปีค.ศ. 2015 มีงบลงทุนจากทั้งทางรัฐและเอกชนรวมกันมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นงบวิจัยก้อนใหญ่ที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งคนในประเทศนี้ไม่เคยพบเจอมาก่อน ทุนวิจัยถูกแจกจ่ายไปยังมหาวิทยาลัย 26 แห่งทั่วแอฟริกาใต้ ส่งเสริมให้นักวิจัยราว 52,000 คนมีงานทำ มีเงินเพียงพอเปิดแล็บจ่ายค่าไฟ ทำให้การวิจัยกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ไม่กี่ปีมานี้ แอฟริกาใต้เริ่มขยับความสนใจจากปัญหาปากท้องไปศึกษาอะไรที่ไกลตัวขึ้น มีการสนับสนุนงานวิชาการด้านดาราศาสตร์ วิศวกรรมอวกาศ ซึ่งเกิดจากความได้เปรียบทางพื้นที่ที่ทวีปแอฟริกามีท้องฟ้าเปิดใสแจ๋ว มองเห็นหมู่ดาวได้ง่าย ทำให้การศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ทำได้ง่ายขึ้น เป็นที่มาของโครงการใหญ่เบิ้มอย่าง ‘Square Kilometre Array’ (SKA) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดของโลกและได้ติดตั้งอย่างสมบูรณ์ในแอฟริกาใต้ แน่นอนว่าเจ้า SKA นี้จะสามารถช่วยให้นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบทางด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อีกหลายต่อหลายผลงาน
กระตุ้นให้เอกชนลงมาลุย
อย่างที่กล่าวไปว่า ทุนวิจัยมหาศาลที่จะกระตุ้นภูมิภาคนี้ได้นั้น ไม่ได้มาจากภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องมาจากกระเป๋านักลงทุนที่ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน นโยบายที่สนับสนุนวิทยาศาสตร์ช่วยเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนได้ง่ายขึ้นโดยมีข้อกฎหมายเอื้ออำนวย เช่น ช่วยลดหย่อนภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่สนใจด้าน R&D จัดการสัมมนาเชิงวิชาการถี่ขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพ (ขณะนี้มี Science Forum ทุกๆ 2 ปี) และพยายามสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะในอดีตกลุ่มนักวิทย์มักกระจุกตัวในกลุ่มคนผิวขาวชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ นโยบายนี้ทำให้เกิดการขยายโอกาสแก่คนเอเชีย คนผิวสี ให้เข้ามามีบทบาทในสถาบันมากขึ้น นอกจากนี้ การระดมทุนวิจัยที่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ทำให้แอฟริกาใต้มีโอกาสที่ดีขึ้น เนื่องจากประชากรในประเทศนี้มีภาษาอังกฤษที่แข็งแรงอยู่แล้ว ทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้เป็นไปได้ง่ายขึ้น
และสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือ นโยบายรัฐต้องกำชับให้นักวิทยาศาสตร์หมั่นจดสิทธิบัตรงานวิจัย (Patent) ที่ตัวเองค้นคว้าให้มากขึ้น เพราะจากสถิติเดิมมีการจดสิทธิบัตรในภูมิภาคนี้เพียง 27% เท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์เสียโอกาสในการผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดหรือการใช้ประโยชน์จริงในด้านสาธารณะ ก็คือจะวิจัยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักมีหัวการค้าด้วยถึงจะไปรุ่ง
Big Data จะเข้ามามีบทบาทในแอฟริกาใต้
นอกจากพยายามผลักดันด้านดาราศาสตร์ แอฟริกาใต้ยังลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ ‘Big Data’ มาช่วยขับเคลื่อนประเทศ อย่าง Big Data ที่นำมาใช้ช่วงแรกๆ คือการนำมาช่วยด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้การส่งของถึงมือผู้รับได้เร็วขึ้น (ชุมชนในแอฟริกามีลักษณะการกระจายตัวสูง) หรือการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน ก็ยังต้องใช้ฐานข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่า ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าอย่างไรจึงจะให้กำลังไฟฟ้าที่ครอบคลุมแต่ละชุมชนมากที่สุด Big Data ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจบนฐาน ‘พลังงานสะอาด’ มากขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทวีปแอฟริกามักโดนความแห้งแล้งโจมตีอย่างหนักหน่วง ปีที่ผ่านมา ความแห้งแล้งทำให้น้ำที่เก็บสำรองในเมืองหลวง Cape Town แทบจะแห้งสนิท จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในประเทศมอบความหวังไว้กับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ปัญหาที่แอฟริกาใต้เผชิญนั้น มักมีความเข้มข้นกว่าในภูมิภาคอื่นๆ แต่หากมองด้วยสายตาของนักปฏิรูปแล้ว ‘ยิ่งมากปัญหา ก็ยิ่งมากโอกาส’ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายก็ได้ เพราะทำให้งานวิจัยที่มาจากแอฟริกาใต้มี Impact Factors ค่อนข้างสูง ตรงประเด็น ตอบสนองกับชีวิตผู้คนได้อย่างดี
แอฟริกาใต้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เติบโตโดยใช้เวลาไม่นาน เป็นผลจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ค่อยเป็นค่อยไปจากความร่วมมือของรัฐบาลและเอกชน แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้คนในประเทศเห็นความสำคัญของเหตุและผล สร้างความใคร่รู้สงสัยงอกเงยในจิตใจผู้คน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Department of Science and Technology
- Science Forum South Africa 2018