หลายคนอาจดูข่าวการเข้าจับกุมร้านขายของชำใน จ.อุดรธานี ที่ยอมให้วาง ‘ตู้คีบตุ๊กตา’ หน้าร้าน ในข้อหาจัดให้มีการพนัน ด้วยความขบขัน เมื่อเห็นป้ายที่เขียนว่า ‘ตู้ฝึกทักษะ’
แต่แท้จริงแล้ว ถ้อยคำดังกล่าว มีนัยยะทางกฎหมาย
และข้อหาจัดให้มีการพนัน ก็มีที่มาที่น่าสนใจ พร้อมกับชวนให้นึกไปถึงตู้อื่นๆ ที่เราหยอดเหรียญแล้วจะได้เล่นเกมอะไรบางอย่างหรือได้รางวัลติดไม้ติดมือ อย่างตู้กาชาปอง หรือตู้เกมไฟฟ้า ว่าเข้าข่าย ‘การพนัน’ หรือไม่
The MATTER อยากชักชวนทุกคนไปไล่ดูกันว่า ทำไมตู้คีบตุ๊กตาถึงเป็นการพนันไปได้? คำว่าฝึกทักษะมีนัยยะทางกฎหมายอย่างไร? และตู้อื่นๆ นั้นเข้าข่ายการพนันเช่นเดียวกับตู้คีบตุ๊กตาหรือไม่?
กำเนิดตู้คีบตุ๊กตา ที่มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อ ทั้ง claw machine, claw crane, crane game ฯลฯ ถูกเชื่อกันว่า เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคปี ค.ศ.1930 โดยมีแรงบันดาลใจมาจากเครนที่ใช้ขุดคลองปานามา
ระยะแรก รางวัลที่จะได้รับจากการหยอดเหรียญเพื่อให้เครนทำงาน แล้วนำเครนไปคีบสิ่งของในตู้กระจกก็คือ ขนมหวาน บุหรี่ ไฟแช็ก เครื่องประดับ ไปจนถึงเงินก้อนโต
กระทั่งต่อมาในราวปี ค.ศ.1990 เครื่องเล่นนี้ก็แพร่กระจายมาได้รับความนิยมในเอเชียแปซิฟิก ส่วนของรางวัลก็ถูกเปลี่ยนเป็นตุ๊กตาน่ารักๆ หรือโมเดล
ตู้คีบสิ่งของ/ตุ๊กตา ถูกกำหนดให้เป็น ‘การพนัน’ ในหลายๆ ประเทศในเวลาต่อมา (เช่นเดียวกับไทย) แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งๆ ที่เครื่องเล่นเกมนี้ถูกประดิษฐ์มาราว 80-90 ปีก่อน แล้วเหตุใดจึงถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2487 ให้เป็น ‘การพนัน’ ในไทยด้วย?
ต้องอธิบายก่อนว่า พ.ร.บ.การพนันฉบับแรก ที่ออกมาในปี 2487 ได้กำหนด ‘การพนัน’ ไว้ 2 บัญชี บัญชีหมายเลข 1 (หรือบัญชี ก.ในเวลาต่อมา) คือ ‘การพนันที่ห้ามเด็ดขาด’ และบัญชีหมายเลข 2 (หรือบัญชี ข. ในเวลาต่อมา) คือ ‘การพนันที่มีได้ถ้าได้รับอนุญาต’
ในกฎหมายการพนันฉบับแรกของไทย กำหนดการพนันตามบัญชีหมายเลข 1 ไว้ 24 รายการ และบัญชีหมายเลข 2 อีก 24 รายการ โดยไม่มี ‘ตู้คีบสิ่งของ/ตุ๊กตา’ รวมอยู่ในนั้น
ตู้คีบสิ่งของ/ตุ๊กตา เพิ่งถูกนำมาบรรจุไว้เมื่อปี 2530 โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 30 ที่ให้เพิ่มการพนัน ในบัญชี ข. ลำดับที่ 28 ว่าให้หมายถึงการใช้ “เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่น โดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม” โดยผู้ที่ต้องการตั้งตู้นี้สามารถขอใบอนุญาตได้ มีค่าธรรมเนียมตู้ละ 2,000 บาท
ส่วนสาเหตุที่การหยอดเหรียญเพื่อคีบตุ๊กตาถือเป็นการพนัน มีการขยายความไว้ในคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 8600/2547 ซึ่งมักถูกนำมาอ้างอิงกัน เพราะตุ๊กตาในตู้มีมูลค่ามากกว่าเงินที่เสียไป หากคีบได้ก็ถือว่าชนะ แม้จะเล่นคนเดียวก็ทำให้เกิดการแพ้ชนะระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง
“โดยสภาพเครื่องเล่นจึงมิใช่เป็นการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นเท่านั้น” !
คำถามต่อไปคือ แล้วเครื่องเล่นอย่างอื่น ที่มีลักษณะและวิธีเล่นใกล้เคียงกัน เช่น หยอดเหรียญเครื่องถึงจะทำงาน ผู้เล่นจะได้รางวัลกลับมาเป็นอะไรสักอย่าง จะเข้าข่ายเป็น ‘การพนัน’ ด้วยหรือไม่?
เราของยกตัวอย่าง ‘กาชาปอง’ กับ ‘ตู้เกมไฟฟ้า’
สำหรับตู้เกมไฟฟ้า เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาเช่นกัน ที่ 525/36/2540 ที่บอกว่า แม้จะมีการแพ้ชนะกันโดยการนับคะแนนหรือนับแต้ม แต่ตู้เกมไฟฟ้าดังกล่าวก็มุ่งประสงค์ ‘ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และเพิ่มทักษะ’ แก่ผู้เล่นเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ให้เป็นเครื่องพนันแต่อย่างใด เงินที่หยอดไปก็เป็นค่าตอบแทนการเล่น หาใช่สินพนันไม่ แต่ผู้เล่นจะต้องไปนำผลการเล่นเกมดังกล่าวไปพนันกันเอง
ส่วนกาชาปอง น่าจะเข้าเกณฑ์ ‘ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ’ มากกว่า เพราะมีองค์ประกอบแตกต่างจากตู้คีบตุ๊กตาหลายประการ เช่น เงินที่หยอดเท่ากับราคาสินค้า ไม่มีการแพ้-ชนะ ไม่มีเวลากำหนดเหมือนเกม ทุกคนได้สินค้าหมด
นี่คือข้อแตกต่างของตู้เกมทั้ง 3 แบบ ที่บางตู้เป็นการพนัน ต้องขออนุญาตจากทางการ ส่วนบางตู้ก็ไม่ใช่การพนันโดยตัวมันเอง (แต่ถ้าผู้เล่นไปพนันกัน เป็นอีกเรื่อง)