ท้ายที่สุด จะมีเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 นี้
แอริโซนา
เนวาดา
วิสคอนซิน
มิชิแกน
เพนซิลเวเนีย
นอร์ทแคโรไลนา
จอร์เจีย
ทุกสายตาจับจ้องไปที่ 7 รัฐข้างต้น
รัฐเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็น ‘สวิงสเตท’ (swing state) หรือรัฐที่จะเป็นพื้นที่เชือดเฉือนกันระหว่างพรรค ‘เดโมแครต’ กับ ‘รีพับลิกัน’ การจัดสวิงสเตท 7 รัฐนี้ สอดคล้องกันในสื่อใหญ่ต่างประเทศต่างๆ และโพลหลายสำนัก รวมไปถึง 2024 CPR Electoral College Ratings โดย The Cook Political Report องค์กรซึ่งจัดอันดับและจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองสหรัฐฯ ที่น่าเชื่อถือ
ในขณะที่ทุกคนเฝ้ารอดูผลคะแนนจากรัฐสวิงสเตทเหล่านี้ The MATTER ชวนไปดูกันว่า พวกเขาเคยเลือกใครกันบ้างในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา
‘สวิงสเตท’ (Swing state) คืออะไร?
สวิงสเตท มีความหมายค่อนข้างตรงตัว นั่นคือ รัฐที่จะมีคะแนนโหวต ‘สวิง’ หรือ ‘เหวี่ยง’ ไปมาระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน ในการเลือกตั้งแต่ละรอบของสหรัฐฯ เนื่องจากฐานเสียงของทั้ง 2 พรรคมีจำนวนพอๆ กันในรัฐนั้นๆ จึงฟันธงผลของการโหวตได้ไม่ชัดเจน
ในทางตรงกันข้าม รัฐที่มีฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างเหนียวแน่น จะถูกเรียกว่าเป็น ‘เซฟสเตท’ (safe state)
ปัจจัยที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งเป็นสวิงสเตทก็แตกต่างกันไป แต่ปัจจัยหนึ่งที่ดูจะมีผลมากก็คือ กลุ่มประชากรในรัฐนั้นๆ
อย่างเช่น จอร์เจีย ซึ่งมีประชากรแอฟริกา-อเมริกันเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 แต่อาจจะไม่พอใจกับ โจ ไบเดน (Joe Biden) จนพาลให้ไม่โหวตให้กับ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) หรืออย่าง เนวาดา ที่ทั้งแฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พยายามยื้อแย่งคะแนนจากกลุ่มประชากรเชื้อสายลาตินอเมริกา ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เป็นต้น
ทำไมสวิงสเตทจึงสำคัญที่สุด?
ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ที่ ‘ป็อปปูลาร์โหวต’ (popular vote) แต่ผู้สมัครจะต้องชนะเป็นรัฐๆ ไป
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระบบ ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (Electoral College) อธิบายอย่างง่ายคือ โหวตเตอร์ไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่ในแต่ละรัฐ โหวตเตอร์จะต้องเลือกกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ เพื่อไปออกเสียงเลือกว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีอีกที

เมื่อครั้งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถูกลอบยิงระหว่างการปราศรัย ก็เกิดขึ้นที่หนึ่งในรัฐสวิงสเตท นั่นคือ เพนซิลเวเนีย (Brendan Smialowski/AFP)
ในแทบทุกรัฐ การเลือกคณะผู้เลือกตั้งจะใช้ระบบ ‘winner-take-all’ กล่าวคือ พรรคไหนได้คะแนนเสียงมากที่สุดในแต่ละรัฐ ก็จะได้เสียงของคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นๆ ไปทั้งหมด ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีเสียงของคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน แต่มีสัดส่วนตามจำนวนประชากร (เรื่องของสัดส่วนคณะผู้เลือกตั้งเองก็เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน)
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็คือ จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คะแนนเสียงมากกว่าคู่แข่งในแต่ละรัฐ และรวบรวมเสียงคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐต่างๆ ให้ได้มากที่สุด
นั่นจึงเท่ากับว่า การหาเสียง จนได้เสียงโหวตของเหล่าคณะผู้เลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่สวิงสเตท ย่อมสำคัญกว่าการได้ป็อปปูลาร์โหวตกว่าเป็นไหนๆ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นทั้งทรัมป์และแฮร์ริสเดินทางไปหาเสียงในสวิงสเตทเหล่านี้ไม่เว้นแต่ละวันในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ เพนซิลเวเนีย ซึ่งครองแชมป์ ถูกเยี่ยมเยือนบ่อยที่สุด ทั้งจากผู้สมัครฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน ทั้งนี้ เพราะมีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งมากถึง 19 เสียงด้วย
สะท้อนคำกล่าวที่มีเสมอมาว่า “เพนซิลเวเนียเลือกแบบไหน ประเทศชาติก็จะได้แบบนั้น” (“As goes Pennsylvania, so goes the nation”)

สวิงสเตทเป็นพื้นที่หาเสียงที่ดุเดือดที่สุด ดังเช่นในภาพนี้ ที่ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) กำลังหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2024 (Brendan Smialowski/AFP)