การเลือกตั้งครั้งใหญ่กำลังใกล้เข้ามา The MATTER อยากชวนมาดูว่า น้องเล็ก First Time Voter ในครั้งนี้ เคยผ่านเหตุการณ์รูปแบบไหนกันมาบ้าง
อาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 คือหนึ่งในวันที่น่าจับตามากที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เพราะนี่คือหมุดหมายที่จะกำหนดอนาคตของเมืองไทยในอีกอย่างน้อย 4 ปีนับจากนี้ (หากไม่มีอะไรผิดพลาด) เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ราคาค่าไฟจะถูกเยียวยาอย่างไร แล้วการศึกษา สิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาปากท้องของคนไทยจะได้รับการปรับแก้หรือเปล่า…เราคงจะได้รู้กันหลังจากนั้น
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab และกรมการปกครอง ปี 2565 ชี้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหรือ First Time Voter ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้มีจำนวน 4,012,803 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยผู้ที่อายุน้อยที่สุดต้องมีอายุ 18 ปีในวันที่เข้าคือหา หรือก็คือต้องเกิดก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 นั่นเอง
หลายคนอาจกำลังตกใจว่า มันถึงเวลาที่เด็กซึ่งเกิดในปี 2548 จะต้องเลือกตั้งกันแล้วเหรอ เขาและเธอดูจะผ่านอะไรมาน้อยเหลือเกิน จะเข้าใจปัญหาสังคมไทยแค่ไหนกันเชียว แต่แท้จริงแล้ว ระยะเวลา 18 ปีก็มากพอที่จะหล่อหลอมเยาวชนจากปี 48 ผ่านเหตุการณ์น้อยใหญ่มากมาย ทั้งภัยร้าย การเปลี่ยนแปลง และสงครามในต่างประเทศ
เหล่านี้คือสารพัดเรื่องราวที่เราอาจหลงลืมไปว่าคนที่อายุ 18 ก็เจอมาเช่นเดียวกัน
2548 (ลืมตาดูโลก): ภาคใต้ฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ
วินาทีที่ลืมตาดูโลก ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้กำลังเยียวยาความเศร้าโศกจากมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เพราะย้อนกลับไปไม่กี่วัน 26 ธันวาคม 2547 แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลที่มีศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของไทยหลายจังหวัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และสูญหายเป็นจำนวนมาก
สิ่งปลูกสร้างค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟู เช่นเดียวกับการดูแลสภาพจิตใจของคนที่ต้องเสียเพื่อนรักหรือคนในครอบครัว พร้อมกันนี้นักวิชาการก็รวมตัวศึกษาสิ่งที่เรียกว่าสึนามิอย่างจังจริงเพื่อหาแนวทางป้องในอนาคต
2549 (อายุ 1 ปี): คมช. ทำรัฐประหาร เปลี่ยนระบบ Entrance เป็น Admission (O-NET/A-NET) และการเปิดตัวครั้งแรกของทวิตเตอร์
เกิดมาได้แค่ปีเดียว First Voter ก็ได้รู้จักกับคำว่า ‘รัฐประหาร’ ซะแล้ว เพราะในวันที่ 19 กันยายน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหารโดยยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตองคมนตรี ถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น และประชาชนก็ต้องรอกันนาน 1 ปี 3 เดือน 4 วัน กว่าการเลือกตั้งครั้งถัดมาจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 49 ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่าง Entrance (แบบใหม่) ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ก็ถูกแทนที่ด้วยระบบ Admission ที่ใช้คะแนน O-NET และ A-NET อีกด้วย
ทางฝั่งเหตุการณ์สำคัญต่างประเทศในปีนั้นคือครั้งแรกที่โลก ได้รู้จักกับโซเชียลมีเดียไอคอนนกสีฟ้าที่เข้ามาพลิกโฉมการสื่อสารอย่างทวิตเตอร์
2551 (อายุ 3 ปี): กลุ่มพันธมิตรปิดสนามบิน
ยังไม่ทันได้เข้าเรียนอนุบาล เด็ก 48 ก็ได้เจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างการปิดสนามบิน เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่พอใจสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายรัฐมนตรี จึงรวมตัวเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
การชุมนุมในครั้งนี้ทำให้สนามบินทั้งสองแห่งจำต้องปิดการให้บริการ รัฐบาลทั่วโลกถึงกับประกาศให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลร้ายทั้งในด้านภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ
2553 (อายุ 5 ปี): สลายการชุมนุม นปช. เปลี่ยนระบบ Admission (O-NET/A-NET) เป็น Admission (GAT/PAT) และ การมาถึงของอินสตาแกรม
เพิ่งเปลี่ยนไม่ทันไร มีระบบใหม่อีกแล้ว เมื่อนักเรียนและผู้ปกครองพากันตั้งคำถามถึงมาตรฐานของข้อสอบ A-NET ท้ายที่สุดข้อสอบประเภทนี้ก็ถูกยกเลิกไป ก่อนจะปรับมาใช้ข้อสอบใหม่อย่าง GAT/PAT ซึ่งเน้นไปที่วิชาความถนัดในด้านต่างๆ แทน
ในปีเดียวกันนี้ โซเชียลมีเดียที่เน้นฟังก์ชันแบ่งปันรูปภาพอย่างอินสตาแกรมก็ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรก แถมยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนถูก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ใกล้ตัวมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและทหารใช้ยุทธการ ‘กระชับวงล้อม’ สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย และข้อเท็จจริงมากมายจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยจวบจนปัจจุบัน
2554 (อายุ 6 ปี): น้ำท่วมใหญ่ ปี 54
ในวันที่ขึ้นชั้น ป.1 เด็กจากปี 48 ก็ต้องตกตะลึงกับมหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ 657 ราย สูญหาย 3 ราย และเดือดร้อนสูงถึง 4,039,459 ครัวเรือน
2557 (อายุ 9 ปี): กลุ่ม กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ สู่การทำรัฐประหารของ คสช. จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จบประถมต้น เตรียมเข้าประถมปลาย เสียงนกหวีดของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ส่งเสียงเรียงรายเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ม็อบนกหวีดขีดเขียนเรื่องราวมาเรื่อย ๆ กระทั่งประกาศกร้าวชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 13 มกราคม โดยปิดล้อมสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ทั้งแจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก และแยกราชประสงค์
การชัตดาวน์ครั้งนี้ทำให้เด็กที่อายุเพียง 9 ปี ต้องเป็นสักขีพยานการทำรัฐประหารครั้งที่ 2 ในชีวิต เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในวันที่ 22 พฤษภาคม
เรียกว่าชีวิตมัธยมทั้งหมดของเด็กที่เกิดในปี 2548 มีผู้นำประเทศเพียงคนเดียวคือ ‘ลุงตู่’ เพราะหลังจากอยู่ในอำนาจผ่านการรัฐประหารมายาวนานถึง 4 ปี 10 เดือน กับอีก 2 วัน พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอจากการเลือกตั้ง (ที่ถูกวิพากย์วิจารณ์ในแทบทุกด้าน) ส่งผลให้ประเทศไทยยังมีนายกเป็นอดีตทหารหน้าเดิมไปอีกยาวๆ 4 ปีเต็ม
2560 (อายุ 12 ปี): ดีเอสไอปิดล้อมวัดธรรมกาย และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
ประเด็นการศึกษาก็มี ภัยธรรมชาติก็เคยผ่าน ทหารยึดอำนาจก็เคยเจอ คราวนี้เขาและเธอต้องมาจับตาสถานการณ์เกี่ยวกับศาสนาบ้าง เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ‘ดีเอสไอ’ นำหมายค้นมหาวิหารมงคลเทพมุนี วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เพื่อควบคุมตัวพระธัมมชโย ผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินและรับของโจร โดยที่มีสาวกลัทธิธรรมกายหลายร้อยชีวิต ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ยืนเป็นกำแพงป้องกันการเข้าค้นพื้นที่
จากการประเมินคาดว่า ตลอดการปิดล้อมวัดทั้งสิ้น 23 วัน เจ้าหน้าที่ใช้งบประมาณไปสูงกว่า 100 ล้านบาท และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ไหน
และในวันที่ 6 เมษายน 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญและประทับตราพระราชลัญจกร นำมาสู่รัฐธรรมนูญซึ่งถูกตั้งคำถามถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดฉบับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฯลฯ
จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะนำไปสู่การแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ อย่างไร
2561 (อายุ 13 ปี): เปลี่ยนจาก Admission (GAT/PAT) เป็น TCAS
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปรับรูปแบบการรับเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็น TCAS หรือ Thai University Central Admission System โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและช่วยให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบหลักสูตร แทนที่จะออกไปเรียนพิเศษเพื่อทำข้อสอบก่อนจะเรียนจบ…
จากที่ตอนเกิดอาจจะต้องสอบเข้าในระบบหนึ่ง ช่วงเรียนประถมกลายเป็นอีกระบบ และก่อนจบ ม.ต้น ก็ถูกเปลี่ยนอีกรอบ แถมยังมีการเแก้ไขรายละเอียดยิบย่อยเรื่อยมา จาก TCAS ที่มี 5 รอบในปี 61 ก็ลดเหลือ 4 รอบในปี 66 เรียกว่า การเปลี่ยงแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยบีบให้เด็กไทยแทบจะเตรียมตัวกันไม่ถูกเลยทีเดียว!
2563 (อายุ 15 ปี): โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ประกาศล็อกดาวน์ ยุบพรรคอนาคตใหม่ สลายการชุมนุมแยกปทุมวัน และภัยแล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี
ถ้าจะบอกว่าปี 2563 เป็นหนึ่งในปีที่หนักหนาที่สุดของมวลมนุษยชาติก็คงจะไม่เกินจริง และทางฝั่งคนไทยก็มีปัญหาถาโถมในทุก ๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม อันนำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ก่อนจะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม
หลายสิ่งที่ไม่เคยวาดฝันกลายเป็นความปกติของยุคปัจจุบันที่เรียกกันว่า ‘New Normal’ หน้ากากอนามัยเป็นเหมือนเครื่องแต่งกายคู่ใจที่ไม่มีใครขาดได้ แนวทางการ Work From Home และเรียนออนไลน์ถูกนำมาปรับใช้ภายใต้เงื่อนไขการเว้นระยะห่าง ส่งให้เด็กอายุ 15 มีประสบการณ์การเรียนออนไลน์ แต่ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นในวัยที่ทักษะการเข้าสังคมดูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนรู้
ในฟากสถานการณ์การเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ส.ส.ในพรรคนับสิบคนย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ในขณะที่ 54 คนที่เหลือร่วมกันตั้งพรรคใหม่ภายใต้ชื่อ ก้าวไกล
คำตัดสินยุบพรรคในครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสการชุมนุมในหลายพื้นที่ และในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แยกปทุมวันก็มีเจ้าหน้าที่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม
นอกจากนี้ 2563 ยังเป็นปีที่ประเทศไทยประสบภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปีอีกด้วย
2564 (อายุ 16 ปี): ไฟไหม้โรงงานเคมี ซ.กิ่งแก้ว
2564 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม ที่มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 43 ราย บ้านเรือนใกล้เคียงได้รับความเสียหาย และต้องอพยพประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสพิษจากสารเคมี
ไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้สะท้อนให้ทุกฝ่ายเห็นหลากหลายปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม ทั้งการให้ความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดียที่รวดเร็วกว่าภาครัฐ ระเบียบและความถูกต้องในการจัดตั้งโรงงาน ตลอดจนประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่นักดับเพลิงไทยใช้ในการช่วยเหลือชีวิต
2565 (อายุ 17 ปี): สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ก่อนร่วมงานปัจฉิมจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 First Voter ก็ต้องเจอกับความตึงเครียดของภาวะสงครามในอีกซักโลก เมื่อรัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน โดยอ้างว่าเป็นการทำเพื่อล้มล้างรัฐบาลนาซีและปกป้องคนที่พูดภาษารัสเซียในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน
นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึง 1 พฤษภาคม 2566 สงครามรัสเซีย-ยูเครนคร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 8,709 ศพ และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,600 ราย ทั้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุเงินเฟ้อหรือการพุ่งสูงของราคาเชื้อเพลิงโลก
สรุปภาพรวมน้องเล็ก First Time Voter
- เติบโตในยุคโซเชียลมีเดีย เกิดหลังการมาถึงของเฟซบุ๊กราว 1 ปี
- ผ่านการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง
- รู้จักระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย 3 รูปแบบ
- (อาจต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น PM2.5 ต่อไปเรื่อย ๆ)
ก็คงต้องติดตามกันต่อว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร และอนาคตของประเทศไทยจะมีเหตุการณ์แบบไหนรอให้ First Time Voter และเราทุกคนได้เผชิญกันอีกบ้าง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม