‘ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ’ คือหนึ่งในหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็นานที 4 ปีหน เราถึงจะมีโอกาสได้จับปากใช้สิทธิ จึงไม่น่าแปลกที่จะหลงลืมกฎเกณฑ์กันไปบ้าง
หลายคนที่ติดตามบรรยากาศการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หรือมีคนใกล้ตัวไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว คงเหมือนได้ฟังแนวข้อสอบก่อนลงสนามจริงบ้างแล้ว และก็คงยังติดค้างคำเฉลยในบางประการ อย่างกรณีผู้ไปใช้สิทธิรายหนึ่งโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ว่าการถ่ายรูประหว่างยืนรอใช้สิทธิทำได้หรือไม่
The MATTER จึงอยากชวนทุกคน ไปทบทวนกฎเกณฑ์การเลือกตั้งว่ามีอะไรทำได้ และอะไรห้ามทำบ้าง จะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้อย่างมั่นใจ
เตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง
ก่อนจะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เสียเวลาทุกคนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่องทางออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันบริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้งจะมีรายชื่อติดบอร์ดให้ตรวจสอบ โดยเราจะต้องจำลำดับของตัวเอง เพื่อให้ง่ายต่อการแสดงตนและรับบัตรบริเวณคูหาเลือกตั้ง
หากคุณมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และถือสัญชาติไทยแต่กำเนิด หรือโอนสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่มีชื่อตามทะเบียนบ้านมาไม่น้อยกว่า 90 วัน ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าไม่ได้เข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้าม อย่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นภิกษุ สามเณร นักบวช ต้องคุมขังด้วยหมายศาล รวมถึงจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ถ้าไม่เข้าข่ายแต่อย่างใด เช้าของวันที่ 14 พฤษภาคม ก็มุ่งหน้าเข้าคูหาได้เลย
ข้อปฏิบัติในคูหาเลือกตั้ง
ในขั้นตอนการใช้สิทธิ เราไม่จำเป็นลังเลว่าจะเตรียมปากกาสีใดไปถึงจะถูกต้อง เพราะในคูหามีอุปกรณ์ลงคะแนนจัดเตรียมไว้ให้แล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องพกหลักฐานแสดงตนติดตัวไป
ตามที่ทราบกันดี บัตรประชาชนถือเป็นสิ่งเดียวที่ขาดไม่ได้ในการไปใช้สิทธิ ซึ่งบัตรที่หมดอายุแล้วก็สามารถใช้ได้ แต่ไม่ต้องกังวลไปหากใครทำบัตรประชาชนหาย เพราะคิวทำบัตรใบใหม่ก็ดูจะยาวเป็นหางว่าว ทุกคนสามารถใช้บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ ที่มีรูปถ่ายและเลขบัตรประชาชนของผู้ถือบัตรไปแสดงตัวได้ เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง เป็นต้น
โดยในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีการเขียนข้อยกเว้นเกี่ยวกับบัตรประชาชนไว้อย่างชัดเจน ว่าหมดอายุแล้วก็ใช้ได้ แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเอกสารอื่นๆ
ดังนั้นถ้าจะใช้เอกสารอื่นใดก็เลือกที่ยังอยู่ในช่วงอายุใช้งานเป็นดีที่สุด เพื่อไม่ต้องหวังพึ่งดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะอย่างในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ มีการระบุกฎเกณฑ์ว่าเอกสารอื่นที่จะใช้ได้ต้องมีอายุเท่านั้น
เมื่อผ่านพ้นการแสดงตัวแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการลงคะแนน นั่นคือ ‘กากบาท’ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าอุตส่าห์ฝ่าฟันการจราจร หรือขุดตัวเองให้ลุกออกจากบ้านไปเลือกตั้งท่ามกลางอากาศร้อน แต่ดันเผลอทำเครื่องหมายลงคะแนนไม่ถูกต้องจนกลายเป็นบัตรเสีย ซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้นในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้รับมานั้น จะสามารถกากบาทได้เพียงใบละหนึ่งตำแหน่งเท่านั้น คือ คนที่ชอบ และพรรคที่ใช่ หรือหากใครไม่ประสงค์ลงคะแนนก็เป็นอีกทางเลือก อย่างที่ย้ำอยู่หลายหน เครื่องหมายกากบาทเป็นเพียงเครื่องหมายเดียวที่สามารถเขียนลงไปได้ หากใช้สัญลักษณ์อื่นเจ้าหน้าที่จะนับเป็นบัตรเสียทันที
อ้อ อีกประเด็นที่หลงลืมไม่ได้ คือ จะต้องกากบาทในช่องลงคะแนนเท่านั้น ห้ามกากบาททับหมายเลขผู้สมัคร หรือชื่อพรรคการเมือง อีกทั้งหากมีการเขียนให้กำลังใจเพิ่มเติมลงไปด้วย บรรดาพรรคการเมืองคงไม่ได้ชื่นใจเท่าไหร่ เพราะจะถือเป็นบัตรเสียอีกใบ
จากนั้นขั้นสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง ก็ให้พับบัตรตามรอยประ หรือตามรอยที่เจ้าหน้าที่พับมาให้ก่อนหน้า แล้วนำไปหย่อนถือเป็นอันเสร็จสิ้นการใช้สิทธิ
ตกลงถ่ายรูปได้ หรือไม่ได้กันแน่?
เป็นอีกข้อถกเถียงที่ทำหัวร้อนกันอยู่บ่อยครั้ง สำหรับการถ่ายภาพในพื้นที่คูหาเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อสงสัยว่าทำได้หรือไม่ และทำได้แค่ไหนกันแน่ คงต้องยอมรับว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มีการระบุถึงข้อปฏิบัติของการถ่ายภาพในพื้นที่หน่วยการเลือกตั้ง
มีเพียงการระบุถึงในมาตรา 97 ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้มือถือ หรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาว่าต่อให้คุณมีเจตนาที่ดี ต้องการถ่ายภาพความผิดปกติของการลงคะแนนมาร้องเรียนสู่สาธารณชน อย่างที่ปรากฏให้เห็นในโซเชียลมีเดียครั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ทั้งหมดนับเป็นความผิดที่มีการระบุโทษเอาไว้ คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถึงได้เป็นที่มาของบทสรุปว่า การถ่ายรูปในเขตเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้แต่ประการใด เช่น กำลังยืนต่อแถวเพื่อรอแสดงตน ก็ยังสามารถถายรูปบรรยากาศได้ ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ห้ามปรามก็ขอให้ชี้แจงกันด้วยความเข้าใจ เพราะบางกรณีเป็นเพียงเจตนาดีของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องการให้เกิดกรณีการกระทำผิดเท่านั้น
ข้อสงสัยอีกอย่างหนึ่งคือ ในช่วงเวลาที่กำลังหย่อนบัตรลงหีบ เราจะสามารถให้เพื่อนที่มาด้วยบันทึกเป็นความทรงจำ อย่างที่บรรดาผู้สื่อข่าวถ่ายภาพคนดังที่มาใช้สิทธิได้หรือไม่ หากมองตามข้อกำหนดนับเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่มักจะใช้วิธีการข้อความร่วมมือในส่วนนี้ เพราะอาจเข้าข่ายกระทำผิดในการแสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว แสดงต่อผู้อื่นให้ทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใด
ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อสิทธิขายเสียง เพราะอาจมีการส่งหัวคะแนนมาคอยสังเกตการณ์อยู่รอบหน่วยเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ถึงจะมีข้อห้ามการถ่ายภาพที่ชวนกังวล แต่ในการสังเกตการณ์เลือกตั้งหลังปิดหีบและนับคะแนนแล้วนั้น ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด ประชาชนสามารถถ่ายภาพบรรยากาศ กระดานนับคะแนน รวมถึงใบรายงานผลได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ทุกคนจะได้ร่วมกันสอดส่องการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างยุติธรรม
ข้อห้ามอื่นๆ
สืบเนื่องจากข้อกำหนด ที่ตั้งแต่ 6 โมงเย็นก่อนวันเลือกตั้ง (13 พฤษภาคม) จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ห้ามให้มีการโฆษณาหาเสียง ไม่ว่าจะมาจากตัวแทนผู้สมัครเอง หรือเป็นเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจของคนทั่วไปก็ตาม
ดังนั้นเพื่อให้ผู้สมัครที่คุณรักคุณชอบต้องมาปวดหัวตามหลัง จึงมีข้อแนะนำหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณา เช่น สวมเครื่องแต่งกายที่มีสัญลักษณ์ สี หมายเลข ที่สื่อถึงพรรคใด โพสต์ข้อความ ภาพ และวิดีโอที่อาจเข้าข่าย
เช่นเดียวกัน บรรดานักดื่มที่อาจต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะมีกฎหมายที่ห้ามทั้งการขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราในเขตเลือกตั้ง รวมถึงข้อห้ามไม่ให้มีการจัดพนันขันต่อใดๆ ไม่เช่นนั้นอาจต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่น และผู้จัดให้มีการเล่น
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งข้อควรระวังที่มีตัวอย่างการกระทำผิดให้เห็นทั้งด้วยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ คือในกฎหมายมีการระบุข้อห้ามไม่ให้จัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนโดยไม่เสียค่าโดยสาร โดยหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ทั้งหมดก็เพื่อตัดปัญหาไม่ให้มีการจูงใจให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง
เห็นแบบนี้ก็อย่าได้กังวลใจจนเกินไป ถ้าหากนัดแนะกับเพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อนั่งรถไปลงคะแนนพร้อมกัน เพราะหากไม่ได้เป็นไปเพื่อการควบคุมคะแนนก็ไม่ถือเป็นความผิด เช่นเดียวกับบรรดาหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้งให้ประชาชน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ควรระวังเท่านั้น ว่าไปแล้วการเข้าใจกฎเกณฑ์การเลือกตั้งนั้น ไม่เพียงเพื่อเลี่ยงการกระทำผิด ที่อาจนำไปสู่บทลงโทษทางกฎหมาย แต่ประโยชน์อีกประการ คือ ทำให้ทุกความตั้งใจที่อยากจะเห็นประเทศพัฒนาของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับการสะท้อนผ่านคะแนน ไม่ว่าคุณจะเลือกใคร เลือกพรรคใด หรือประสงค์ไม่ลงคะแนนเสียงก็ตาม