ท่ามกลางกระแสวิพากย์วิจารณ์และเสียงก่นด่าอันหนาหู สิ่งหนึ่งที่น่าศึกษาดูคือ เพราะเหตุใด เด็กหญิงในวัยเพียง 15 จึงตัดสินใจลุกขึ้นสู้เพื่อสิ่งที่เธอเชื่อ ไม่ว่าวิธีในการเรียกร้องของเธอจะผิดหรือถูก ไม่ว่าสิ่งที่เธอแสดงออกจะเหมาะสมหรือล้มเหลว เราก็คงไม่อาจปฏิเสธว่า สิ่งนี้กำลังสะท้อนสภาวะกดทับที่เด็กคนหนึ่งต้องเผชิญ
มนุษย์สัญชาติไทยที่มีอายุ 15 คือทารกที่เพิ่งจะลืมตาดูโลกเมื่อปี 2551
เขาและเธอเกิดมาท่ามกลางสังคมที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยี เข้าถึงข้อมูลในโซเชียลมีเดียได้เพียงปลายนิ้ว ทั้งยังพบพานหลากหลายเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เริ่มจำความได้
วันนี้ ปี 2566 เด็กเหล่านี้ถ้าไม่อยู่ชั้นปีสุดท้ายในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็กำลังเป็นน้องใหม่ผู้กำลังค้นหาตัวตนในระดับ ม.4 เป็นวัยที่ควรจะเต็มไปด้วยความฝัน มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และได้อยู่ในโรงเรียนซึ่งช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ควรเติม
อย่างไรก็ดี มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจและกฏระเบียบบางอย่างที่พวกเขาและเธอเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เอาเวลาที่สามารถเล่นสนุกกับเพื่อนพ้องมาแลกกับการต่อรองกับบุคลากรในโรงเรียน หวังเปลี่ยนสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าอยู่อย่างที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าสิ่งที่เด็กกลุ่มหนึ่งทำเป็นเรื่องที่น่ายกย่องหรือน่าล้มเลิก แต่เราอยากชวนทุกคนค้นหาว่า ต้นตอที่แท้จริงที่ผลักดันให้เด็กคนหนึ่งยอมสละเวลาช่วงวัยรุ่นที่มีค่าที่สุดของตัวเองคืออะไร และต่อจากนี้คือสิ่งที่เราอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจ ทั้งยังเป็นหลักฐานว่าเด็กที่อายุเพียง 15 ก็ผ่านอะไรในระบบการศึกษาและสังคมไทยมาไม่น้อยเลย
2557 (อายุ 6 ปี): เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะกำหนดค่านิยม 12 ประการ ตลอดจนเพิ่มรายวิชาหน้าที่พลเมืองลงในหลักสูตร
ขณะเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กๆ ที่เกิดในปี 51 ก็ต้องเป็นสักขีพยานการทำรัฐประหารครั้งแรกในชีวิต เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในวันที่ 22 พฤษภาคม จนทำให้ตลอดชีวิตประถมต่อมาถึงช่วงมัธยม เด็กที่อายุ 15 ในวันนี้ มีผู้นำประเทศเพียงคนเดียวคือ ‘ลุงตู่’
สิ่งที่สืบเนื่องตามมาคือการวางแนวทางต่างๆ ที่คสช.เชื่อว่าจะเป็นการสร้างความปรองดองให้กับคนในประเทศ เริ่มตั้งแต่การกำหนด ‘ค่านิยม 12 ประการ’ ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับเพลงหน้าที่ของเด็ก (คนส่วนมากรู้จักในชื่อ ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’) ที่ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ปี 2498
นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีการเพิ่มรายวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความรักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อถูกนำมาสอนจริงในโรงเรียนก็มีนักเรียนส่วนหนึ่งลงความเห็นว่าเป็นวิชาที่ตีกรอบทางความคิด เพราะ ‘เน้นสอน และให้ข้อมูลกับเด็กแบบจำกัด แต่ไม่เปิดกว้าง’
2561 (อายุ 10 ปี): เปลี่ยนระบบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยจาก Admission (GAT/PAT) มาเป็น TCAS
เห็นพี่ๆ แถวบ้านอ่านหนังสือสอบเข้าในระบบแอดมิชชั่นอยู่ดีๆ รู้ตัวอีกทีระบบการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปเป็น TCAS (Thai University Central Admission System) ซะงั้น และจากแนวโน้มในอดีตก็ชี้ว่า ระบบในช่วงรอยต่อที่ข้ามจากมัธยมไปเป็นมหาลัยนั้นเปลี่ยนใหม่แทบจะทุก 3 ปี
มีแก้ไขรายละเอียดปลีกย่อยสารพัด จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่า การเปลี่ยงแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยกำลังบีบให้เด็กไทยต้องอ่านหนังสือหนักเกินตัว ใช้เวลาไปกับการเตรียมสอบมากเกินจำเป็น แถมยังต้องคอยติดตามทำความเข้าใจรูปแบบการสอบเป็นระยะด้วย
2563 (อายุ 12 ปี): โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ประกาศล็อกดาวน์ เข้าเรียนม.1 เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษากว่า 2.3 แสนคน
ในขณะที่กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้าม.1 เด็กในวัย 12 รวมถึงคนทั้งโลกก็ต้องอึ้งกับสถานการณ์การแพร่บาดของโรคโควิด-19 โดย 13 มกราคม 2563 คือวันแรกที่มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย และจากจุดนั้นก็นำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ถึงขั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม
ความเครียดค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในแต่ละครัวเรือน หลายคนตกงานเพราะสภาพเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤต ถึงขนาดที่ใน 1 ปีให้หลัง กระทรวงศึกษาธิการพบว่า มีเด็กไทยตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งสาเหตุหลัก นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว ยังเจอว่าเด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายรุนแรง จนเด็กหลายคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงานรับจ้าง เป็นเหตุให้ยุติการเรียนไปในที่สุด
ทั้งนี้ ภาครัฐก็หาแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ จนสามารถติดตาม พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นจำนวน 220,754 คน เหลือตกหล่นอีก 17,953 คน ที่ต้องดำเนินการต่อไป
2563-2564 (อายุ 12-13 ปี): เรียนออนไลน์
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีปรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็น 1 กรกฎาคม 2563 พูดง่ายๆ คือเลื่อนการเปิดเทอมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนครึ่ง ทั้งยังเป็นการเลื่อนเพื่อจะเรียนออนไลน์ ไม่ใช่ไปเรียนที่โรงเรียนด้วย
เด็กนักเรียนในวัยเพียง 12 ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาความรู้ จากการเรียนในห้องเรียนมาสู่หน้าจอ จากที่ได้เจอครูตัวเป็นๆ ก็เห็นได้แค่ในช่องสี่เหลี่ยม จากที่ควรจะได้ฝึกทักษะการปฏิสัมพันธ์ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อก็ทำได้แค่พูดคุยผ่านแอปพลิเคชั่น ถึงขนาดที่เด็กหลายคนไม่รู้จักเพื่อนร่วมชั้นเลยด้วยซ้ำ
2565 (14 ปี): เริ่มกลับมาเรียนในห้องเรียน
ปี 2565 ที่สถานการณ์เริ่มจะดีขึ้น มีการผ่อนปรนให้ใส่หน้ากากอนามัยไปเรียนได้ เคราะห์ร้ายก็ปรากฏอีกเพราะในช่วงเดือนมกราคม หลายโรงเรียนก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อ และต้องกลับไปเรียนออนไลน์เป็นบางห้อง หรือบางโรงเรียนก็ให้เรียนออนไลน์ทั้งหมดแล้วแต่นโยบายของโรงเรียน
2566 (อายุ 15 ปี): ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน (แต่โรงเรียนยังสามารถออกกฎเองได้)
ในวันที่หลากประเด็นในรั้วโรงเรียน ทั้งเครื่องแต่งกาย การลงโทษ และทรงผมถูกพูดถึง ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จึงลงนามยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินก็ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังก้าวเดินไปสู่ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิเหนือร่างกายของตน อย่างไรก็ดีการยกเลิกในครั้งนี้มาพร้อมเงื่อนไขใจความว่า
“การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา”
เท่ากับว่า แต่ละโรงเรียนแทบจะมีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดรูปแบบทรงผมของเด็ก นำมาซึ่งการลงโทษที่แทบจะไม่ต่างจากก่อนยกเลิกระเบียบทรงผม ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่คุณครูในจังหวัดเพชนบูรณ์กล้อนผมเด็กกว่า 100 คน ทั้งที่เพิ่งจะมีการยกเลิกระเบียบไปไม่ถึงหนึ่งเดือน
นอกจากอุปสรรคทั้งหมดที่ว่ามานี้ หลายสถิติยังชี้ชัดว่า ชีวิตของเด็กวัย 15 คนหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนอาจไม่ปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น ไล่ตั้งแต่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2560 มึเหตุล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนสูงถึง 727 ราย
ขณะเดียวกัน กรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2556-2563 มีเด็กในวัย 0-18 ปีถูกทารุณกรรมทั้งหมด 1,739 ราย โดยแบ่งเป็นถูกทารุณกรรมทางเพศมากที่สุด 1,244 ราย ทางร่างกาย 428 และทางจิตใจ 67 ราย และอีกหนึ่งข้อมูลที่ตอกย้ำว่าสถานที่ที่ควรจะปลอดภัยที่สุดก็น่ากลัวที่สุดได้คือสถิติของเด็กที่ถูกกระท่าความรุนแรงในครอบครัว ที่ในระหว่างปี 2556-2563 พบมากถึง 1,950 ราย หรือเฉลี่ยมีเด็กถูกทำร้ายในบ้านของตัวเองสูงถึง 243 คนต่อปี
และสุดท้าย ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ร่วมด้วยจำนวนของเด็กที่ถูกทำร้ายและล่วงละเมิดอันสูงลิ่ว สิ่งหนึ่งที่ดูจะยังคงเดิมและเพิ่มเติมน้อยกว่าที่ควรจะเป็นน่าจะหนีไม่พ้นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังคงใช้มานานถึง 15 ปีเทียบเท่ากับอายุของเด็กที่เกิดในปี 2551 จริงอยู่ที่มีการแก้ไข พร้อมปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2560 แต่จนแล้วจนรอดก็ดูเหมือนว่า มันจะยังไม่ใช่ระบบที่มีคุณภาพมากพอในการสร้างเสริมเยาวชนคนไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมกับเด็กในหลายประเทศ
แม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าปลายทางของการเรียกร้องที่กำลังดำเนินอยู่จะลงเอยอย่างไร แต่การรับฟังด้วยใจอันเปิดกว้างก็ดูจะเป็นทางหนึ่งที่ควรกระทำ
ความเห็นที่ไม่สอดคล้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติตามครรลองของสังคมมนุษย์ ทว่าหากเราลองมองให้ลึกที่สุด ตีความโดยปราศจากอคติ เราอาจเข้าใจหัวอกของเด็กไทยมากขึ้น เพราะครั้งหนึ่งเราเองก็อาจเคยเป็นเด็กคนนั้นไม่ต่างกัน
อ้างอิงเพิ่มเติม