หากคุณเติบโตมากับครอบครัวเชื้อสายจีนแล้วล่ะก็ มันคงเป็นเรื่องชินตาคุณ ที่จะเห็นญาติผู้ใหญ่เผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อเป็นเครื่องสังเวยแด่เทพเจ้า เจ้าที่ ตลอดจนบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ตามความเชื่อของชาวจีนโพ้นทะเลในไทยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม กระแสมลพิษทางอากาศกลับมีความสัมพันธ์กันกับการเผากระดาษเงินกระดาษทองอย่างมีนัยเช่นกัน The MATTER ขอพาคุณไปสำรวจว่า กระดาษไหว้เจ้าแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง และการเผากระดาษไหว้เจ้าอาจมีผลกระทบอะไรต่อมลภาวะอย่างไร และเราจะสามารถเคารพบรรพบุรุษ ไปพร้อมการลดมลภาวะอย่างไรบ้าง
ชนิดของกระดาษเงินกระดาษทอง
ตามความเชื่อแล้ว กระดาษเงินกระดาษทองของชาวจีนถูกจำแนกแยกประเภทตาม ‘ผู้รับ’ หมายถึง ผู้เผากระดาษเงินกระดาษทองทำการเผาของมีค่าจำลองเหล่านี้ไปให้ใคร โดยผู้รับกระดาษเงินกระดาษทองถูกแบ่งระดับตามขั้น ได้แก่ เทพเจ้าในความเชื่อลัทธิเต๋า บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และสัมภเวสี โดยตัวเลือกกระดาษเงินกระดาษทองที่ชาวจีนเลือกใช้แบ่งได้ตามนี้
กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้เทพเจ้า: ชาวจีนแบ่งชั้นระหว่างเทพเจ้า กับวิญญาณทั่วไป โดยส่วนใหญ่ มักจะใช้กระดาษถังเงินถังทอง หรืองึ่งเต้า รองด้วยเทียงเถ่าจี๊ หรือกระดาษเงินกระดาษแผ่นใหญ่ เพื่อแทนความหมายในการขอพรให้ร่ำรวย มีสุขภาพแข็งแรง และให้เทพเจ้าปกปักคุ้มครอง ทั้งนี้ มีงึ่งเต้า และทียงเถ่าจี๊เท่านั้น ที่ใช้สำหรับการไหว้เทพเจ้า
กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้เจ้าที่ (ตี่จู่เอี๊ยะ): คอซี้ หรือกระดาษทองขอบส้ม ซึ่งจะถูกนำมาพับเป็นก้อนทอง แล้วนำไปใส่ในอ่วงป้อหรือกระทง รองด้วย งิ่งเตี๋ย หรือกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อใช้ขอพรจากตี่จู่เอี๊ยะ (พระภูมิเจ้าที่) ในเรื่องความเจริญรุ่งเรือง ความสุข และสุขภาพของคนในบ้านที่แข็งแรง
กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้บรรพบุรษผู้ล่วงลับ: อาจใช้ กิมจั้ว หรือกระดาษเงินกระดาษทองรูปดอกไม้ แทนความหมายของความเจริญรุ่งเรือง สิริมงคล ร่ำรวย กิมเตี๊ยว หรือแท่งทอง หรืออาจจะใช้ ตั่วกิม หรือตำลึงทอง ที่นอกจากจะสามารถใช้ไหว้บรรพบุรษแล้ว ยังสามารถใช้ไหว้เทพเจ้าได้ด้วย นอกจากนี้ คุณอาจคุ้นตากับ กระดาษไหว้บรรพบุรษอีกชนิด คือ อ่วงแซจี๊ หรือใบเบิกทาง ที่มีลักษณะเป็นกระดาษสีเหลืองทรงจัตุรัส โดยชาวจีนเชื่อว่ากระดาษชนิดนี้ ทำหน้าที่เป็นใบผ่านทางระหว่างภพภูมิของมนุษย์ไปสู่ภพภูมิของวิญญาณ เป็นการเผาเพื่อเปิดทาง ก่อนจะนำกระดาษเงินกระดาษทองชนิดอื่นๆ เผาตามไปอีกที เช่น กระดาษเสื้อผ้า ธนบัตรสวรรค์ โทรศัพท์ หน้ากากอนามัย วัคซีน COVID-19 (เข้ากับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน)
การเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งผลอย่างไรต่อเรา
การเผากระดาษเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่ท่ามกลางมลภาวะทางอากาศ การเผานี้อาจมีส่วนต่อการสร้างผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้เช่นกัน โดยจากผลสำรวจของร้านขายกระดาษเงินกระดาษทองพบว่า กระดาษเงินกระดาษทองในท้องตลาด ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ กระดาษเงินกระดาษทองชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่ว ชนิดที่ทาสีคล้ายตะกั่ว และชนิดพิมพ์ โดยปัจจุบัน ปริมาณของชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่ว ถือได้ว่ามีมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ ในการเผากระดาษเงินกระดาษทองในทุกๆ ครั้ง นอกจากจะก่อให้เกิดควันฝุ่นแล้ว ยังเป็นตัวการเกิดสารพิษที่ถูกเผาไหม้ออกมาในรูปแบบของโลหะหนัก
The MATTER ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อไขข้อสงสัยเรื่องการเผากระดาษเงินกระดาษทองในเทศกาลตรุษจีน เพื่อหาทางออกต่อวิกฤตมลภาวะดังกล่าว
รศ.ดร.วีรชัย ระบุว่า ในกระดาษเงินกระดาษทอง มีโลหะหนักอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด การพัฒนาของสมองในเด็ก เลือดจาง เวียนศีรษะ ชักกระตุก หมดสติ ไตวาย โรคพาร์กินสัน โดยโลหะหนักต่างๆ ดังว่า จะติดอยู่ในขี้เถ้าของกระดาษเงินกระดาษทอง ได้มากกว่าฝุ่งละอองในอากาศ 3-60 เท่า การกำจัดเศษกระดาษเหล่านี้จึงไม่สามารถนำไปทิ้งในที่ธรรมชาติได้ เพราะโลหะหนักต่างๆ จะย้อนกลับเข้าสู่ระบบนิเวศอีกครั้ง
จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการระบุว่า มีการตรวจพบประมาณตะกั่วในกระดาษเงินกระดาษทองชนิดฉาบตะกั่วแต่ละขนาด ซึ่งมีวางขายอยู่เป็นส่วนใหญ่ในท้องตลาด ปริมาณ 20.8-85.6 มิลลิกรัมต่อแผ่น ซึ่งถือได้ว่ามีอยู่ในปริมาณที่มาก และหากถูกเผาไหม้ ก็จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ตามที่ได้กล่าวไป
ในอีกทางหนึ่ง กระดาษเงินกระดาษทองรูปแบบต่างๆ เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์ นาฬิกา ฯลฯ มักถูกบรรจุมาพร้อมกับห่อพลาสติก ซึ่งจะถูกเผาไปพร้อมกันกับตัวกระดาษ โดยจากรายงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า พลาสติกหรือโพลิเมอร์ ที่ถูกเผาไหม้ จะก่อให้เกิดสารต่างๆ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไวนิลคลอไรด์ กรดเกลือ ฟอสจีนไดออกซิน ฟูราน สไตรีน เบนซีน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพออกมาเป็นอาการต่างๆ เช่น การขาดออกซิเจน สารก่อมะเร็ง ความระคายเคืองผิวหนัง และระบบหายใจ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อตับและระบบประสาท
ถ้าไม่เผา เราใช้วิธีอะไรได้บ้าง ?
หากสืบย้อนพิธีกรรมการนำของมีค่าส่งมอบให้เทพเจ้า หรือผู้ล่วงลับ ในเดิมทีนั้น ไม่ได้ใช้วิธีการเผา
ประเพณีการสังเวยสิ่งมีค่าให้อีกภพภูมิ ถูกสันนิษฐานว่าอาจนับย้อนไปได้ถึง 1 พันปีก่อนคริสตกาล จากหลักฐานเศษหิน และกระดูกที่ถูกใช้แทนเงิน ฝังลงในสุสานของคนตาย เช่นเดียวกันกับการหลอมเหรียญ และการนำทรัพย์สินต่างๆ ส่งมอบให้แก่ผู้วายชน ด้วยการ ‘ฝัง’ ลงไปพร้อมกันกับหลุ่มฝังศพ แทนการเผา เพราะในหลายความเชื่อเชื่อว่า การเผาเงินจริงๆ อาจนำมาซึ่งโชคร้าย ประเพณีดังกล่าวค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็นการเผากระดาษแทน ด้วยความเชื่อที่ว่า การทำเงินปลอมขึ้นมาเพื่อนำไปเผา จะไม่ทำให้คนเป็นโชคร้าย
หลากหลายบ้านเลือกใช้วิธีที่เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นและมลพิษ ที่เกิดขึ้นจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เช่น การนำเงินสดจริงๆ เพื่อใช้ในการเซ่นไหว้ แต่แทนที่จะเอาเงินเหล่านั้นไปเผา ก็เปลี่ยนมาเป็นการนำเงินที่เซ่นไหว้เสร็จแล้วไปทำบุญต่ออีกทีหนึ่ง
รศ.ดร.วีรชัย เกริ่นถึงสถานการณ์ในปีก่อนๆ ว่า “จากวิกฤต PM2.5 ในปีก่อนๆ ทำให้ไม่มีการเผากระดาษเงินกระดาษทองมากนัก แต่ในปีหลังๆ มันมีการพัฒนาการเผามากขึ้น ขนาดว่ามีการผลิตกระดาษเงินกระดาษทองแบบหน้ากากอนามัย คนที่ทำขายก็คิดลูกเล่นเพื่อดึงดูดให้คนไทยเชื้อสายจีนมาซื้อกระดาษของพวกเขาไปใช้ จึงน่าคิดว่าปริมาณการเผาในปีนี้อาจจะมากขึ้น ในขณะที่ PM 2.5 ก็มีความรุนแรงมากขึ้นเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเทศกาลตรุษจีนดันอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้ยังคงความกดอากาศสูง ส่งผลให้เกิดความหนาวเย็น ทำให้การเผากระดาษจะไปเพิ่มมลพิษทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเผาในที่เปิดหรือที่ปิดมิดชิดก็ตาม”
รศ.ดร.วีรชัย เปรียบเทียบต่อไปว่า สารจากโลหะหนักที่เคลือบอยู่ในแผ่นกระดาษเงินกระดาษทองนั้น เมื่อถูกเผา จะไม่ต่างอะไรไปจาก “มัจจุราชเงียบ” เพราะถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่า กลิ่นควันจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง จะมีกลิ่นที่เหม็นแตกต่างออกไปจากควันธรรมดา เนื่องจากควันที่ออกมานั้น ไม่ได้มีแค่ไฮโดรคาร์บอน แต่กลิ่นเหม็นรุนแรงเหล่านี้นี่เอง ที่เกิดจากโลหะหนักที่เคลือบอยู่ในควัน และแน่นอนว่า มันเป็นอันตรายต่อผู้คน
The MATTER สอบถาม รศ.ดร.วีรชัยว่า ทางออกของปัญหานี้คืออะไร ระหว่างพิธีกรรมอันเป็นประเพณีที่ถูกสืบทอดกันมายาวนาน กับปัญหาสุขภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.วีรชัย แนะนำว่า “เราอาจนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้ อย่างเช่นประเพณีลอยกระทง ก็มีการลอยกระทงออนไลน์ จะเป็นไปได้ไหม ถ้ามีการเผากระดาษแบบออนไลน์แทน หรือถ้าให้ยกตัวอย่าง ในบางประเทศ ได้มีการเปลี่ยนการจุดประทัด ซึ่งควันประทัดก็เป็นมลพิษเช่นกัน ไปเป็นการใช้ระเบิดลูกโป่งที่ติดกันเป็นแพ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เปิดเป็นเสียงประทัดแทนก็ได้”
แต่ถ้าการเผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ รศ.ดร.วีรชัย มีคำแนะนำการเปลี่ยนจากการใช้กระดาษที่ฉาบด้วยตะกั่ว ไปเป็นกระดาษทองที่ทำจากสีของขมิ้นชัน หรือการทำกระดาษเงินจากผงขี้เถ้า ถึงแม้ว่าจะไม่เสมือนจริงมากนัก แต่ก็ช่วยลดการปล่อยโลหะหนักขึ้นสู่อากาศ อันจะเป็นอันตรายถ้าหากสูดดมเข้าไป
“หรือถ้าหากหลีกเลี่ยงเลยไม่ได้จริงๆ ชนิดว่ายังไงก็ต้องเผากระดาษเงินกระดาษทอง กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีอาการของทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ควรออกห่างจากสถานที่ที่มีการเผากระดาษ เพราะควันและโลหะหนักอาจส่งผลต่ออาการฉับพลันต่างๆ เช่น ผดคัน หายใจไม่ออก จนถึงขั้นไตวาย” รศ.ดร.วีรชัย แนะนำเพิ่มเติม “หากใครที่ทำการเผา ก็มีความจำเป็นจะต้องใส่หน้ากากชนิด N95 เพราะหน้าอนามัยธรรมดานั้น ไม่สามารถกันควันขนาด PM 2.5 และโลหะหนักได้ เนื่องจากควันและสารพิษเหล่านี้ คือ มัจจุราชเงียบ ที่จะสะสมอยู่ในร่างกายและเปลี่ยนสภาพไปเป็นโรคมะเร็งในท้ายที่สุด”
อ้างอิงจาก