ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (21 ธ.ค.) สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเพิ่งแถลงมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มอีก 25 ราย และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสายพันธุ์นี้ขึ้นชื่อในเรื่องความดื้อต่อวัคซีนและความเก่งในการระบาด
แม้มาถึงขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยออกมารองรับไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ แต่วงการวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกเห็นตรงกันประการหนึ่งว่า ทางเดียวที่จะสู้กับโอไมครอนได้คือ ต้องเร่งกระจายและฉีดเข็มกระตุ้นให้ประชากรมากที่สุด
ย้อนมาดูที่ไทย ผลการฉีดวัคซีนล่าสุด (21 ธ.ค.) ล่าสุดไทยมีผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็มอยู่ที่ 76.45% ( 50,604,144 โดส) เข็มที่ 2 อยู่ที่ 67.21 (44,487,133 โดส) และเข็มที่ 3 อยู่ที่ 7.67% (5,080,564 โดส) ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ยังไม่นับว่าใครได้รับวัคซีนชนิดใดบ้าง ซึ่งสำหรับโอไมครอนถ้าหากไม่ใช่ชนิด mRNA ก็น่าจะทราบกันแล้วว่าสู้ยาก
อีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้จะเป็นช่วงหยุดยาวปีใหม่ และเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของไวรัสขึ้นอีกครั้ง The MATTER จึงพูดคุยกับ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถึงเรื่องไวรัสโอไมครอน แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อต้านไวรัสชนิดนี้ ตลอดจนความเห็นของเขาต่อไวรัสสายพันธุ์นี้ต่อคำถามสำคัญ 3 ข้อว่า ไวรัสชนิดนี้ระบาดเก่ง, รุนแรงกว่า และดื้อต่อวัคซีนที่เรามีอยู่หรือเปล่า
โอไมครอนตัวร้าย
ทุกวันนี้ คำถามสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์กำลังพยายามตอบอยู่มีทั้งหมด 3 ข้อคือ โอไมครอนรุนแรงกว่าเดลตาไหม, โอไมครอนระบาดเก่งกว่าเดลตาแค่ไหน และวัคซีนที่เรามีอยู่พอจะต้านทานมันได้หรือเปล่า
คุณหมอจากศิริราชให้ความเห็นถึงคำถามข้อแรกว่า “สมมุติฐานไว้ก่อนว่าไม่ต่างจากเดลตา” คุณหมออธิบายว่ามาถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าโอไมครอนจะป่วยน้อยหรือรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น และข้อมูลที่เราต้องติดตามดูคือข้อมูลจากยุโรป โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่กำลังเผชิญหน้าโอไมครอนและมีสัดส่วนประชากรใกล้เคียงกับเรา
“ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าคนที่ป่วยจากโอไมครอนจะป่วยน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อบริบทสถานการณ์แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ก็ต้องระวังข้อมูลเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ ซึ่งเราจะรู้ข้อมูลนี้มากขึ้น เมื่อเห็นสถานการณ์ในยุโรปชัดขึ้นว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แต่เราต้องตั้งสมมุติฐานก่อนว่าความรุนแรงไม่ต่างกันกับเดลตา”
สำหรับคำถามที่ 2 คุณหมอยืนยันเช่นเดียวกับวงการแพทย์ทั่วโลกว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ระบาดรวดเร็วและเก่งกว่าเดลตาแน่นอน อย่างไรก็ตาม เรื่องของตัวเลขที่จะระบุได้ชัดเจนยังขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ ด้วย
“ระบาดเร็วกว่าแน่นอนครับ แต่ถ้าเราดูตัวเลขเป๊ะๆ มันจะบอกยาก เพราะมันขึ้นกับสถานการณ์แต่ละประเทศ แต่ตัวเลขที่เขาใช้เปรียบเทียบกันในตอนนี้คือ ระยะเวลาที่โอไมครอนใช้เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นสองเท่า ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่าง 1.5 – 3 วัน ถ้าด้วยตัวเลขประมาณนี้ ทันทีที่เจอการระบาดในพื้นที่ (ไม่ใช่เคสนำเข้า) ค่าเฉลี่ยของการเป็นสายพันธุ์หลักจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 อาทิตย์ ขณะที่เดลตาอยู่ที่ 2-3 เดือน”
ประเด็นหนึ่งที่เราถามคุณหมอต่อจากเรื่องนี้คือ การระบาดคู่ขนานของโอไมครอนและเดลตา (Twin Epidemic) เพราะตามปกติที่ผ่านมา เมื่อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์หนึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักในพื้นที่นั้นๆ อีกสายพันธุ์หนึ่งดูคล้ายจะถูกกลืนหายไปเองตามธรรมชาติ
ประเด็นนี้ นพ.มานพ อธิบายว่า โอไมครอนมีความพิเศษที่ต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่เราเคยเจอ ซึ่งเป็นเพราะการกลายพันธุ์ในหลายจุดเกินไป ทำให้ “หน้าตามันเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่เรามีไม่รู้จัก” คุณหมอเสริมต่อว่า จากการกลายพันธุ์แบบนี้ทำให้คนที่เคยติดเดลตามีโอกาสติดโอไมครอนได้อีกครั้ง และคนที่ติดโอไมครอนก็อาจมาติดเดลตาได้อีกครั้งเช่นกัน หรือพูดง่ายๆ ว่า เพิ่มโอกาสการป่วยซ้ำ
“การระบาดของสองสายพันธุ์สามารถอยู่คู่กันไปได้ เราเห็นข้อสังเกตเบื้องต้นจากยุโรปแล้ว ซึ่งเราเห็นการเพิ่มขึ้นของโอไมครอนจนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อเดลตาก็กลับไม่ได้ลดลงมาก” อย่างไรก็ตาม คุณหมอเสริมว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่เองก็มีลักษณะนี้
อีกหนึ่งคำถามสำคัญต่อมาคือ วัคซีนที่เรามีอยู่จะสู้กับโอไมครอนได้ไหม และอย่างไร? คุณหมออธิบายประเด็นนี้อย่างเรียบง่ายชัดเจนว่า
“วัคซีนสู้ได้ไหม? ขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกัน วัคซีนไหนกระตุ้นภูมิได้สูงย่อมรับมือได้ดีกว่า และคนที่ได้บูสเตอร์ก็มีโอกาสรับมือได้ดีกว่า เพราะความน่ากังวลที่เรารู้แน่ๆ คือ โอไมครอนดื้อภูมิคุ้มกัน ดังนั้น คนที่เคยได้รับเชื้อมาก่อน หรือเคยได้รับวัคซีน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำและระดับภูมิคุ้มกันของวัคซีนสองเข็มเอาไม่อยู่ ดังนั้น ต้องเน้นว่าถึงเวลาบูสต์ต้องบูสต์ บูสต์เร็วดีกว่าบูสต์ช้า”
เข็มกระตุ้นโอไมครอน
สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คุณหมอมานพแนะนำไว้ว่า วัคซีนกระตุ้นควรเป็นวัคซีนชนิด mRNA เพราะดีที่สุด “ยังไงก็ต้องวัคซีน mRNA โดยหลักการบูสเตอร์เหมือนกันหมด คือถึงจุดต้องบูสต์ทั้งหมดไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีนอะไรมาก่อน เพียงแต่ระยะเวลาการบูสต์จะต่างกันเท่านั้นเอง” โดยแตกต่างกันแค่ระยะเวลาเท่านั้น ดังนี้
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด Inactivated ครบสองเข็ม
- Sinovac + Sinovac
- Sinopharm + Sinopharm
นพ.มานพชี้ว่าข้อมูลขณะนี้ชี้ว่า วัคซีนเชื้อตายให้ภูมิคุ้มกันน้อยมากและหายไปเร็วมาก ดังนั้น ควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น mRNA ภายในเวลา 1 เดือน
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบสองเข็ม
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca สองเข็ม จากเดิมที่เคยมีคำแนะนำให้กระตุ้นเมื่อผ่านไป 6 เดือน นพ.มานพชี้ว่าการจะสู้กับโอไมครอนควรรับวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือนแทน
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ครบสองเข็ม
- Pfizer + Pfizer
- Moderna + Moderna
คุณหมอกล่าวว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ถือว่าเป็นวัคซีนที่ดีอยู่แล้ว แต่การจะสู้กับโอไมครอนจำเป็นต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น โดยระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำคือ 3 เดือนซึ่งเป็นคำแนะนำเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ
ทั้งนี้ คุณหมอเสริมว่าประเทศอย่างเดนมาร์กแนะนำต่างออกไป โดยให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ครบสองเข็มรับเข็มกระตุ้นเมื่อครบ 18 สัปดาห์ ขณะที่สหรัฐฯ ยังยืนยันคำแนะนำเดิมที่ 6 เดือน
สำหรับผู้ได้รับวัคซีนสูตรไขว้
- Sinovac + AstraZeneca
- Sinovac + Pfizer/ Moderna
- Sinovac + Sinovac + AstraZeneca/ Pfizer/ Moderna
สำหรับกลุ่มนี้ คุณหมอชี้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ขนาดนั้น แต่สามารถใช้หลักเทียบเคียงกับสูตร AstraZeneca + AstraZeneca ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันขึ้นสูงคล้ายๆ กัน ดังนั้น จึงแนะนำให้รับเข็มกระตุ้นหลังผ่านไป 3 เดือนแล้ว
กลุ่มที่เคยติดเชื้อและหายป่วย
สำหรับผู้ที่หายป่วย แต่ยังไม่เคยรับวัคซีน คุณหมอแนะนำว่าให้เข้ารับวัคซีนให้ครบ 2 เข็มตามแนวทางปกติก่อน ยังไม่ต้องนึกถึงเข็มกระตุ้น
และสำหรับผู้ที่เคยรับวัคซีนและพบเชื้อในร่างกาย หลังหายป่วยแล้วควรรับเข็มกระตุ้น ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับวัคซีนที่ได้รับเลย
ทั้งนี้ หลายคนน่าจะสงสัยว่าถ้าหากโอไมรอนระบาดต่อไปแบบนี้ เราจะต้องฉีดวัคซีนอีกเข็มทุกๆ 1-3 เดือนหรือเปล่า ประเด็นนี้ นพ.มานพอธิบายว่า
“ยังไม่มีข้อมูลว่าต้องรับเข็มสี่อีกไหม ตรงนี้ถ้าสามเข็มแล้วกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงพอ ก็น่าจะพอแล้ว”
คุณหมออธิบายถึงคำถามว่าจากนี้ไปเราจะต้องฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ครบกำหนดระยะหรือเปล่า
ล็อกดาวน์อีกครั้งหรือเปล่า
ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ที่หน่วยงานควบคุมโรคกำลังพยายามตามจับโอไมครอนให้ได้ แต่เมื่อมองไปต่างประเทศสถานการณ์กลับเป็นอีกแบบ ทำให้หลายคนสงสัยว่าสถานการณ์ในตอนนี้จะนำไปสู่การล็อกดาวน์ซ้ำอีกครั้งหรือไม่? หมอศิริราชประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ให้ฟังก่อนว่า
“สถานการณ์ตอนนี้ ขึ้นกับว่าเราเจอการติดเชื้อในชุมชนหรือยัง” คุณหมออธิบายว่าที่ผ่านมาถึงตอนนี้ (21 ธ.ค.) การติดเชื้อเกือบทั้งหมดมาจากกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ มีเพียงเคสเดียวที่ติดจากผู้ใกล้ชิดในครอบครัว (ภรรยานักบิน) ดังนั้น เมื่อไหร่ที่การสืบสวนโรคเริ่มทำไม่ได้ มีการติดเชื้อในคนที่ไม่มีประวัติเสี่ยงสูงหรือเดินทางมาจากต่างประเทศ มันหมายถึง “สถานการณ์จะน่ากลัวมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสถานการณ์ตอนนี้กับช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของเดลตา คุณหมออธิบายว่า จุดเปลี่ยนเกมจะยังคงเป็นการกระจายและกระตุ้นวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยยกตัวอย่างอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตของประเทศอังกฤษในช่วงที่มีเดลตาระบาด ซึ่งน้อยกว่าช่วงที่มีอัลฟาระบาดมาก
“การระบาดใหญ่ทุกครั้งจะเป็นการระบาดของ Pandemic of Unvaccinated หรือการระบาดในกลุ่มคนไม่มีวัคซีน และเราก็เป็นแบบนี้เลยตอนเดลตา ดังนั้น วิธีรับมือโอไมครอนที่ดีที่สุดคือ ฉีดวัคซีนให้กว้างขวางครอบคลุมที่สุด และคนที่บูสต์ได้ต้องบูสต์เลย” ทั้งนี้ คุณหมอเสริมต่อว่าในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นจากยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ว่าอัตราผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเป็นอย่างไร และตรงนั้นน่าจะทำให้การตัดสินใจชัดเจนขึ้น
เมื่อถามคุณหมอว่ามองว่าจะมีการล็อกดาวน์อีกครั้งหรือเปล่า? คุณหมอให้ความเห็นว่าหากจะล็อคดาวน์ต้องเป็นด้วย 2 เหตุผลเท่านั้นคือ ซื้อเวลาฉีดเข็มกระตุ้น และลดภาระของโรงพยาบาล
“ผมคิดว่า 2 เรื่องที่ต้องคิดถ้าจะล็อกดาวน์คือ ล็อกเพื่อซื้อเวลาบูสเตอร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และซื้อเวลาเพื่อลดภาระของผู้ป่วยหนักที่จะเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเข้าใจว่าเนเธอร์แลนด์ก็ล็อกดาวน์เพื่อซื้อเวลาระดมฉีดเข็มกระตุ้น”
โอไมครอนอาจยังไม่ใช่ตัวสุดท้าย
“มีโอกาสอยู่เสมอ การกลายพันธุ์เลี่ยงไม่ได้” คือคำตอบของ นพ.มานพต่อการกลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเหตุผลคือ ตราบใดที่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน หรือมีบางพื้นที่ที่ยังฉีดวัคซีนในปริมาณที่ต่ำมาก การกลายพันธุ์ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน รวมถึงหากยังไม่มีการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาที่ดีพอ การกลายพันธุ์ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
“ลักษณะการกลายพันธุ์ที่เยอะมากของโอไมครอน สะท้อนว่าเชื้ออยู่กับเรามานานพอสมควรแล้ว และไม่มีการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาที่ดีพอ ไม่มีการตรวจพันธุกรรม ติดตามการระบาด เฝ้าระวังการกลายพันธุ์อย่างทั่วถึง ฉะนั้น มันเป็นความสำคัญที่จะต้องมีหน่วยงานเฝ้าระวังด้านไวรัส ที่คอยถอดรหัสพันธุ์กรรมอย่างสม่ำเสมอ”
“ตราบใดที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่มีภูมิป้องกัน การระบาดก็ยังไม่หยุด และการกลายพันธุ์ก็จะมีอยู่ตลอด” คุณหมอทิ้งท้าย