ล่าสุด องค์กรอนามัยโลกออกมาเตือนว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ “สึนามิของผู้ติดเชื้อ” พร้อมพูดถึงสถานการณ์การติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อทุบสถิติอย่างต่อเนื่อง มันเกิดอะไรขึ้น มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การระบาดรุนแรงขนาดนี้ และสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
.
ในภาพรวม WHO เปิดรายงานเมื่อวันอังคาร (28 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ในสัปดาห์ที่ผ่านมายุโรปมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทุกสายพันธุ์เพิ่มขึ้น 56% ขณะที่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30%
.
โดยในสหรัฐฯ เมื่อวาน (29 ธ.ค.) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มถึง 465,000 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยในรอบหนึ่งอาทิตย์อยู่ที่ 258,312 ราย/ วัน ทุบสถิติเมื่อเดือนมกราคมไปเรียบร้อย โดยเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเทึยบกับสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มเช่นกัน โดยเฉลี่ยที่ 71,000 ราย/ วัน รวมถึงอัตราเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาเป็น 1,243 ราย/ วัน โดย CDC สหรัฐฯ เผยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ว่าในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีสัดส่วนโอไมครอน 58.6%
.
ด้าน ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดประจำทำเนียบขาวกล่าวกับ CNN ว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่จุดที่แย่ที่สุดของการระบาดในสหรัฐฯ รอบนี้ และปลายเดือนมกราคมคือจุดสูงสุด
.
ด้านฝั่งยุโรป ก็ทุบสถิติผู้ติดเชื้อกันรัวๆ ทั้งฝรั่งเศส, อังกฤษ, โปรตุเกส, ไซปรัส, อิตาลี และกรีซ ยกตัวอย่างอังกฤษมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันเดียวถึง 122,186 ราย และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลตอนนี้มี 10,462 ราย หรือเพิ่มขึ้น 48% จากอาทิตย์ที่แล้ว และนับว่าทุบสถิติเมื่อเดือนมีนาคมที่อังกฤษเผชิญการระบาดใหญ่รอบแรกไปแล้วเช่นกัน
.
ลองดูในด้านมาตรการและวัคซีน ในสหรัฐฯ ล่าสุด CDC ประกาศให้ลดระยะเวลากักตัวของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการลงจาก 10 วันเหลือ 5 วัน เพื่อลดจำนวนผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษยืนยันที่จะยังไม่ใช้มาตรการล็อคดาวน์ ด้านวัคซีน ในอังกฤษตอนนี้มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมากกว่า 70% และรับบูสเตอร์แล้ว 49% ขณะที่สหรัฐฯ ก็สูงไม่แพ้กันผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมากกว่า 60% และรับบูสเตอร์แล้ว 20%
.
สถานการณ์ในสองพื้นที่สำคัญตอนนี้ น่าจะตอกย้ำสันนิษฐานสองข้อได้แล้วคือ โอไมครอนระบาดได้รวดเร็วจริงๆ และวัคซีนเพียงสองเข็มไม่สามารถป้องกัน ‘การติดเชื้อ’ ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ กล่าวคือฉีดวัคซีนแล้วก็ติดได้ หรือเคยป่วยแล้วก็ติดซ้ำได้
.
คำถามสำคัญตามมาคือ สถานการณ์ตอนนี้น่ากังวลแค่ไหน?
.
ถึงแม้ WHO เองจะยืนยันว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในโลก ได้แก่ อังกฤษ, อเมริกาใต้ และเดนมาร์ก พบว่าโอไมครอนมีความรุนแรงลดลงจริงๆ หากเทียบกับเดลตา แต่ WHO ยังอธิบายต่อว่า ความเสี่ยงโดยรวมของโอไมครอนยังมีสูงมาก กล่าวคือมันอาจทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม เพราะต้องไม่ลืมว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล จะส่งผลกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ นอกเหนือจาก COVID-19 ด้วย ทั้งในแง่โอกาสรักษาตัว และความเสี่ยงในโรงพยาบาล รวมถึงอาจทำให้บุคลากรสาธารณสุขลดลงด้วย
.
โดย Chris Hopson ผู้อำนวยการระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ หรือ NHS ยืนยันว่าทางสหราชอาณาจักรเห็นแนวโน้มที่บุคลากรสาธารณสุขต้องกักตัวเพิ่มขึ้นหลังติดเชื้อ และมันอาจเป็น “ปัญหาที่สำคัญและเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก” สำหรับระบบสาธารณสุขของอังกฤษในขณะนี้
.
ปัญหาอีกสำคัญที่ WHO ชี้คือ การระบาดของไวรัสสองสายพันธุ์ควบคู่กัน คือโอไมครอนและเดลตา หรือที่เรียกว่าการระบาดควบคู่ (Twin Pandemic) และนั่นอาจทำให้เกิดระบบสาธารณสุขของทุกประเทศต้องรับภาระที่หนักมากๆ
.
“สิ่งที่เกิดขึ้น (การระบาดควบคู่สองสายพันธุ์) จะทำให้เกิดแรงงกดดันมหาศาลกับระบบสาธารณสุขเหนื่อยล้าอยู่แล้ว และอาจผลักระบบสาธารณสุขทั้งระบบสู่ความล่มสลาย” ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยของ WHO กล่าว
.
สถานการณ์การระบาดของไวรัสจะเป็นอย่างไรต่อไปยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะล่าสุด (29 ธ.ค.) ไทยเราเองก็มีผู้ติดเชื้อโอไมครอนกว่า 33 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว ดังนั้น ในเร็วๆ นี้คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และเมื่อถึงตอนนั้นก็หวังว่าภาคสังคมจะยังมีแรงเหลือ และรัฐบาลจะมีเงินเหลือสำหรับการรับมือและเยียวยาอย่างดีที่สุด
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-59822687
https://www.reuters.com/world/us/us-coronavirus-cases-hit-record-high-2021-12-29/
https://www.bbc.com/news/uk-59822687
https://www.bbc.com/news/world-59814661
#Explainer #TheMATTER #Covid19 #Coronavirus #Omicron