เข้าสู่วันที่ 6 ของสงคราม สถานการณ์ไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็ววันนี้ แม้จะมีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย–ยูเครนที่พรมแดนเบลารุส–ยูเครนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีผลลัพธ์ใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรม เนื่องจากผู้แทนทั้งสองฝ่ายต้องกลับมาปรึกษาหารือกับรัฐบาลของตน ก่อนจะนัดเจรจาใหม่อีกครั้ง
และโดยเฉพาะหลังจากเจรจาครั้งแรกเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) ก็มีการรายงานถึงเหตุระเบิดในกรุงเคียฟทันที สะท้อนว่ายังไม่มีความพยายามลดระดับความตึงเครียดใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 27 ก.พ. วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ออกคำสั่งให้กองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ของรัสเซีย เตรียมพร้อมรบในระดับสูง ส่วนในฝั่งของเบลารุส ได้มีการลงประชามติเพื่อเพิกถอนสถานะรัฐปลอดนิวเคลียร์ (non-nuclear status) คาดว่าเพื่อเปิดทางให้รัสเซียเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์เข้ามา
หากปล่อยให้สถานการณ์ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นที่เป็นอยู่ ก็จะต้องเกิดความสูญเสียอย่างไม่อาจคาดถึง สหประชาชาติประเมินว่า ตัวเลขผู้ลี้ภัยที่เดินทางออกจากยูเครนอาจมีมากถึง 4 ล้านคน ขณะที่พลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 136 ราย
สำหรับแนวการปะทะในปัจจุบัน หลังจากที่ปูตินได้ลงนามคำสั่ง ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. กองกำลังรัสเซียก็ทยอยรุกคืบเข้ามา ซึ่งเราสามารถแบ่งแนวรบได้เป็น 4 แนวด้วยกัน คือ (1) แนวรบเคียฟ (2) แนวรบตะวันออกเฉียงเหนือ (3) แนวรบดอนบาส และ (4) แนวรบไครเมีย
The MATTER จึงได้รวบรวมข้อมูลที่มีการรายงานข่าว และการวิเคราะห์ของสถาบันสงครามศึกษา (Institute for the Study of War) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยในสหรัฐฯ เพื่อมาอัพเดตแนวรบล่าสุด ดังต่อไปนี้
แนวรบเคียฟ
รัสเซียพยายามบุกโจมตีเข้ามาที่กรุงเคียฟ (Kyiv) ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (27-28 ก.พ.) แต่ก็ไม่สามารถเข้าควบคุมได้มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการต้านทานจากกองทัพของยูเครน ซึ่งรัสเซียประเมินไว้ต่ำเกินไป
อย่างไรก็ดี รัสเซียน่าจะเริ่มการโจมตีใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันนี้ (1 มี.ค.) เป็นต้นไป ซึ่งสถาบัน ISW ก็ประเมินว่า ถ้ารัสเซียเสริมกำลังอย่างเต็มที่แล้ว แนวรับยูเครนแม้จะพอต้านทานรัสเซียได้บ้าง แต่ในที่สุดก็ไม่น่าจะสู้ไหว การยึดกรุงเคียฟถือเป็นเป้าหมายหลักของรัสเซีย ที่ต้องการโค่นรัฐบาลของ ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ล่าสุด มีรายงานว่า รัสเซียเคลื่อนพลเข้าใกล้กรุงเคียฟ จากภาพถ่ายดาวเทียมของ Maxar Technologies พบขบวนรถหุ้มเกราะยาว 64 กิโลเมตร กำลังขนขีปนาวุธ-อุปกรณ์สู้รบต่างๆ เข้าสู่กรุงเคียฟ
แนวรบตะวันออกเฉียงเหนือ (คาร์คิฟ)
เมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ต้องเจอกับการโจมตีของรัสเซียอย่างหนัก จนดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของวันนี้
จากรายงานพบว่า รัสเซียใช้ขีปนาวุธและระเบิดในคาร์คิฟอยู่หลายครั้ง คร่าชีวิตพลเรือนไปหลายสิบคน โดยในช่วงวันที่ผ่านมา รัสเซียใช้ทั้งปืนใหญ่ ปืนยิงจรวด และคาดว่าอาจจะมีการใช้อาวุธ ‘เทอร์โมบาริก’ (thermobaric) หรือระเบิดสุญญากาศ ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะกับพลเรือน
นอกจากคาร์คิฟ กองกำลังรัสเซียยังหันมาเดินหน้ารุกเข้ามาในพื้นที่บริเวณระหว่างเมืองเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) กับเมืองซูมี (Sumy) ด้วย คาดว่าเพื่อเลี่ยงแนวรับของยูเครน ล่าสุดในบริเวณนี้ รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพของยูเครนที่เมืองโอกะเทียกา (Okhtyrka) มีทหารยูเครนเสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย
แนวรบดอนบาส
จุดปะทะหลักเคลื่อนเข้ามาที่เมืองมารีอูปอล (Mariupol) สอดคล้องกับกองกำลังจากฝั่งไครเมียที่พยายามตีฝ่าเข้ามาที่เมืองนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับในฝั่งของดอนบาส กองกำลังรัสเซียได้มีการติดตั้งปืนใหญ่และขีปนาวุธต่อต้านรถถัง (ATGM) เพิ่มเติม เพื่อปะทะกับแนวรับของยูเครนที่มารีอูปอล สถาบัน ISW คาดว่าจะมีการปะทะกันอีกในเร็ววันนี้
วันนี้ กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสตั้งเป้าว่าจะปิดล้อมเมืองมารีอูปอลให้ได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกเทศมนตรีของมารีอูปอลระบุว่า มีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง
แนวรบไครเมีย
กองกำลังรัสเซียเคลื่อนพลเข้าภาคใต้ของยูเครนผ่านพรมแดนที่ติดกับไครเมีย โดยแบ่งออกเป็นทิศตะวันตก มุ่งสู่เมืองมิโคลาเยฟ (Mykolayiv) และทางทิศเหนือ มุ่งสู่เมืองซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)
ทางทิศตะวันตกของแนวรบภาคใต้ ล่าสุด นายกเทศมนตรีของเมืองเคอร์ซอน (Kherson) เปิดเผยว่า กองทัพรัสเซียได้เข้าควบคุมเมืองเคอร์ซอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ทางทิศเหนือ ทหารรัสเซียกำลังรุกคืบเข้าไปสู่เมืองซาปอริซเซีย มีรายงานถึงการทิ้งระเบิดทางอากาศในเมืองดังกล่าว และได้ปิดล้อมเมืองมารีอูปอลไว้แล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้ กองกำลังรัสเซียประกาศว่ายึดเมืองเมลิโทโปล (Melitopol) กับ เบิร์ดแยนสก์ (Berdynask) ได้สำเร็จ
อัพเดทล่าสุด 1 มี.ค. 2565 เวลา 19.00 น. (เวลาไทย)
อ้างอิงจาก
Institute for the Study of War