แอปพลิเคชันดิลิเวอรีต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่แทบทุกวัน ในแง่หนึ่งทำให้ชีวิตเราสะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็เกิดขึ้นได้จากคนที่ทำอาชีพ ‘ไรเดอร์’ ของแพลตฟอร์มต่างๆ
ท่ามกลางความวุ่นวายของกรุงเทพฯ ภาพจำติดตาของปัญหาจราจร ระเบียบวินัย การฝ่าฝืนกฎต่างๆ ไรเดอร์เองก็เป็นทั้งผู้เผชิญปัญหาเหล่านั้น ในบางกรณี พวกเขาก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นหนึ่งในจำเลยปัญหาเหล่านั้นด้วย
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าในหนึ่งวันของไรเดอร์ พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบนท้องถนน และรวมถึงปัญหาในอาชีพที่พวกเขาต้อง ‘เร่ง’ ทำรอบเพื่อรายได้
สภาพถนนย่ำแย่
“ถนนมันไม่ปลอดภัยครับ เพราะผมเคยประสบอุบัติเหตุเพราะถนนเนี่ยแหละครับ” เอก (นามสมมุติ) ไรเดอร์ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองเกิดอุบัติเหตุว่า ขณะทำงานส่งอาหารตอนกลางคืน สภาพถนนที่เป็นหลุมและไม่สม่ำเสมอ ทำให้มอเตอร์ไซค์เกิดเสียหลัก แล้วไถลกับพื้น จนล้ม โดยเขาบอกว่าในบริเวณที่เขาทำงาน สภาพถนนย่ำแย่ จนมอเตอร์ไซค์แทบจะวิ่ง บนเลนซ้ายกับไหล่ทางไม่ได้
ไม่ใช่แค่นั้น เอกเล่าว่าแม้บางจุดจะมีการแก้ไข แต่ก็แก้ไขแบบไม่ได้มาตรฐานพอ เพราะเคยเจอทั้งปะถนนเป็นแนวยาวนูนขึ้นมา เหมือนลูกระนาด ทั้งแนวเฉียง หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็เคยเจอ อีกทั้งยังมีฝาท่อที่ไม่เสมอกับผิวถนน สำหรับเขาแล้ว นี่คือสิ่งที่อันตรายที่สุดในอาชีพซึ่งเขาต้องเจอทุกวัน
รถเล็กบนท้องถนนขนาดใหญ่
นอกจากเรื่องสภาพถนนแล้ว อีกปัญหาที่มักทำให้อารมณ์เสียคือ พฤติกรรมการขับรถของเพื่อนร่วมถนนบางคน ซึ่งเขาอธิบายสั้นๆ ว่า “จะออกก็ออก จะเปลี่ยนเลนก็เปลี่ยน” โดยที่ไม่เปิดไฟเลี้ยว เอกมองว่าสาเหตุที่รถคันอื่นๆ ทำเช่นนี้เพราะไม่สนใจรถมอเตอร์ไซค์บนถนนมากพอ ด้วย “อาจจะเห็นว่าเราเป็นรถเล็กก็ได้”
เช่นเดียวกับ ปิง (นามสมมุติ) อีกหนึ่งผู้มีประสบการณ์ขับขี่มอเตอร์ไซค์ บนถนนกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 6 ปี ทั้งเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อทำงานไรเดอร์
เขาเล่าถึงพฤติกรรม ‘ประมาท’ หลายรูปแบบของเพื่อนร่วมงาน ที่เคยเจอกับตัว เขาเล่าว่าเวลาทำงานของเขา ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืน ที่แม้รถจะน้อยกว่าตอนกลางวัน แต่คนขับรถทั้งรถเล็กรถใหญ่ ก็ประมาทกว่าเช่นเดียวกัน
พฤติกรรมที่ปิงเจอบ่อยที่สุด อันดับหนึ่งคือการขับรถย้อนศร อันดับสองคือการฝ่าไฟแดง ตามมาด้วยการออกจากซอยโดยที่ไม่ดูซ้ายขวาให้ดี
ความเร่งเพราะต้องรีบทำรอบ
“เป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะต้องพยายามทำรอบ” ปิงเล่าว่าหนึ่งในสาเหตุที่ไรเดอร์หลายคนต้องรีบ จนขับรถประมาท คือการ ‘ทำรอบ’ หรือการพยายามไปส่งให้เร็วที่สุด แล้วกลับมารับงานให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้ต่อวันให้มากที่สุด
“ผมตอนขับก็คือไม่มีเงิน ก็เลยไปขับเหมือนกัน เพราะงั้นเขาพยายามจะหาวิธียังไงก็ได้ให้ตัวเองได้ตังค์เยอะสุด เพื่อที่จะเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูปากท้องครอบครัว” ปิงอธิบายสาเหตุที่ต้องพยายามทำรอบ
“คำถามคือเราจะทำยังไงเพื่อให้เขาสามารถที่จะยังมีกินได้อยู่ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความอันตรายบนท้องถนน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน” เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความปลอดภัย’ ปิดท้าย
เจ้านายที่ชื่ออัลกอริทึม
ขีดเส้นใต้หลายๆ บรรทัดว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมและวินัยการขับรถของผู้ใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์หลายคน คือหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาบนท้องถนนขึ้น เหมือนที่ไรเดอร์ทั้งสองคนได้เล่าไป แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไรเดอร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือ รูปแบบการทำงานที่ถูกทำให้ต้องเร่งรีบ และผลพวงจากการคิดคำนวณของอัลกอริทึม รวมถึงโครงสร้างของถนนในเมืองไทย
ดร.เปี่ยมสุข สนิท อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองถึงเรื่องการทำรอบของไรเดอร์ว่า ถึงแม้แพลตฟอร์ม จะพยายามแจกงานให้กับไรเดอร์ภายในรัศมี 1 ถึง 5 กิโลเมตร โดยอาจลดค่าส่งหรือไม่คิดค่าส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่ง แต่ก็มีหลายกรณีที่ไรเดอร์ยังต้องวิ่งระยะไกล เช่น ส่งอาหารจากร้านเจ้าดัง
อาจารย์เล่าว่า จากที่เคยพูดคุยมา ไรเดอร์หลายคนมองว่า ‘ไม่คุ้ม’ เนื่องจากการวิ่งระยะไกล อาจไม่ปลอดภัยเพราะว่าชีวิตเขา โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเร่งรีบมากๆ จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
หากจะทำให้ไรเดอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างถนนกรุงเทพฯ อาจารย์เปี่ยมสุขมองว่า อาจต้องให้วิ่งในระยะทางสั้นๆ เช่น เน้นวิ่งในย่านเดียวกัน หรือในถนนตรอกซอกซอย เพราะมีความปลอดภัยสูงกว่า การวิ่งบนถนนสายหลักที่รถยนต์วิ่งเร็ว ซึ่งมาจากลำดับศักดิ์ของถนน ที่มีผลต่อเรื่องของความเร็วของรถ
อีกหนึ่งประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ ‘อัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม’ ซึ่งเน้นประสิทธิภาพของ ‘เวลา’ ว่าต้องรับ-ส่ง ให้เร็วที่สุด จนในหลายครั้ง ก็บีบบังคับให้ไรเดอร์มีพฤติกรรมการขับขี่ที่อันตราย
“เจ้านายเขาคือ AI” อาจารย์เปี่ยมสุขระบุ พร้อมบอกอัลกอริทึมเองที่บีบให้ไรเดอร์ต้องใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงเยอะมาก เช่นการที่ขับรถไป รับโทรศัพท์ลูกค้าไป จนถึงการปรับแต่งมอเตอร์ไซค์ให้เอื้ออำนวย เช่นการติดตั้งมือถือ ไว้ที่แฮนด์มอเตอร์ไซค์ ทำให้สามารถดูทางไปด้วยได้
“เคยคิดในใจและสอนหนังสือเสมอว่า อย่าไปด่าเขานะ คือมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องนี้เราจะโทษแค่พฤติกรรมการขับขี่เขาก็ไม่ได้”
เมื่ออธิบายถึงโครงสร้างกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน มันก็อาจจะเป็นต้นตอของหลายๆ ปัญหาบนท้องถนน จนถึงทางออก ที่อาจเป็นอนาคตของถนนประเทศไทย ที่ปลอดภัยสำหรับมอเตอร์ไซค์มากกว่านี้
“ประเทศเรา unique (มีเอกลักษณ์) มากๆ เพราะว่าเราใช้มอเตอร์ไซค์ในการทำมาหากิน” อาจารย์เปี่ยมสุขระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราจะเห็นไรเดอร์ที่ทำงานกับแพลตฟอร์มกันมากขึ้น โดยเฉพาะบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งเป็นการใช้งานมอเตอร์ไซค์เพื่อการประกอบอาชีพ
โครงสร้าง ผังเมือง และมอเตอร์ไซค์
หากเราสำรวจโครงสร้างเมืองในปัจจุบัน อาจพบว่ากรุงเทพฯ มีสัดส่วนของพื้นที่ถนนน้อย กล่าวคือมีถนนประมาณ 8% ของพื้นที่เมือง ขณะที่มหานครอื่น ๆ มีสัดส่วนถนนค่อนข้างสมส่วน อาจารย์ยกตัวอย่าง โตเกียวที่มีสัดส่วนถนนราว 23% ของเมือง ในขณะที่นิวยอร์ก มีประมาณ 38%
อาจารย์เปี่ยมสุข อธิบายถึงหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ก็คือลักษณะโครงสร้างเมือง แบบบล็อกขนาดใหญ่ (Super Block) ซึ่งทำให้คนที่อยู่กลางบล็อกเดินไปยัง ป้ายรถเมล์ หรือสถานีรถไฟฟ้าค่อนข้างยาก เนื่องจากระยะห่างมักจะเกินระยะที่สามารถเดินถึงได้ (walking distance) บวกกับระบบขนส่งสาธารณะที่ราคาที่แพงเกินค่าแรงขั้นต่ำ จนแบกรับค่าเดินทางไม่ไหว หรือต้องเดินทางหลายทอดหลายต่อ ดังนั้นการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นของคน และทำให้จำนวนมอเตอร์ไซค์ นับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมหานครนี้ หากดูตามยอดจดทะเบียนรถในกรุงเทพฯ
สำหรับการใช้มอเตอร์ไซค์ เพื่อประกอบอาชีพรับส่งอาหาร (food delivery) อาจารย์กล่าวว่า หากสังเกตการแก้ไขปัญหาของประเทศอื่นๆ กรณีประเทศไต้หวันและอินโดนีเซียจะมีการออกแบบถนน โดยกำหนดให้มีเลนมอเตอร์ไซค์ (motorcycle lane) ในบางพื้นที่ของเมือง เพื่อช่วยแบ่งช่องจราจรสำหรับรถยนต์ ขนส่งสาธารณะ มอเตอร์ไซค์ และจักรยาน รวมถึงทางเท้า ที่ทำให้คนมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายและปลอดภัย
นอกจากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา พื้นที่ในกรุงเทพฯ ยังถูกจำกัดให้ใช้ได้เพียงแบบเดียว (single land use) ซึ่งทำให้ “แหล่งงานกระจุกอยู่กลางเมือง” ในขณะที่แหล่งที่อยู่อาศัยก็ค่อยๆ กระจายออกไปนอกเมืองมากขึ้น เพราะที่ดินในเมืองราคาแพง ทำให้การพึ่งพารถส่วนตัวมากขึ้น และถนนกลายเป็นของรถยนต์โดยปริยาย
เพราะงานคือคุณภาพชีวิต
อาจารย์เปี่ยมสุขย้ำว่า งานไรเดอร์ก็เหมือนกับงานอื่นๆ ที่ล้วนต้องใส่ใจเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงาน เธอยกตัวอย่างคนทำงานออฟฟิศ ก็ต่างต้องการสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ทำให้เจ็บป่วย ทั้งกายและจิตใจ เช่นโต๊ะหรือเก้าอี้ที่เหมาะให้คนทำงานทั้งวัน หรือโซนออกกำลังกาย ให้พนักงานได้ขยับร่างกายบ้าง
“ถ้าถามว่าอาชีพนี้ ออฟฟิศหรือที่ทำงานอยู่ที่ไหน เขาอยู่บนถนน ใช้ชีวิตวันหนึ่ง 10 กว่าชั่วโมงบนถนน” อาจารย์ระบุว่าในขณะที่ ‘ท้องถนน’ คือออฟฟิศของเหล่าไรเดอร์ แต่ดูเหมือนว่ารัฐฯ จะตระหนักถึงประเด็นนี้น้อยกว่าที่เราคิด เธอยกตัวอย่างวินมอเตอร์ไซค์ ที่มีที่นั่ง มีที่กันแดดกันฝน มีแท่นชาร์จแบต ที่เอื้อให้กับการทำงาน แต่หลายครั้งไรเดอร์กลับขาดจุดพักคอย หรือจุดรออาหารที่สะดวกสบาย
ในขณะที่รัฐฯ กำลังมุ่งมั่นกับลงทุนเงินก้อนโตในโครงสร้างถนน เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แต่การเดินทางของคนกลับไม่อยู่ในสายตาของรัฐฯ อาจารย์เปี่ยมสุขจึงมองว่า “รัฐฯ ควรจะมอง หรือเมืองเองควรจะมองว่า เขาคืองานหนึ่งซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของการคงอยู่ของเมืองนี้” อาจารย์ระบุ โดยบอกว่าไรเดอร์ส่งอาหารเป็นอาชีพที่สำคัญ ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของร้านค้าได้อย่างดี พร้อมทั้งช่วยลดการเดินที่ไม่จำเป็นของคนในเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนทุกคน
“พวกเขาก็ควรจะอยู่ในสมการของรัฐฯ ด้วย” อาจารย์ระบุ
ดังนั้นทั้งการออกแบบถนนที่เอื้อต่อการใช้มอเตอร์ไซค์ ทั้งการออกแบบสภาพแวดล้อมเมืองที่เอื้อให้มีจุดที่สามารถให้เขาพักคอย รวมถึงระบบการทำงาน ซึ่งล้วนก็เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของฟันเฟืองที่สำคัญของเมืองนี้
เพื่อให้ทุกอาชีพมี ‘พื้นที่ทำงานที่ปลอดภัย’