เจอภัยพิบัติแบบนี้ต้องทำอะไรก่อนดี?
พูดถึงเหตุฉุกเฉิน อย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ หากรู้ล่วงหน้าได้เร็วเราก็คงหาทางรับมือได้ทันที แต่หลายครั้งสถานการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด แถมยังเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเราจึงรู้สึกกังวลมากขึ้นเมื่อต้องเอาตัวรอดในเหตุการณ์คับขัน เพราะไม่รู้ว่าต้องทำยังไง หรือมีเรื่องอะไรที่เราควรระวังบ้าง ทั้งที่บางครั้งหากเราปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อาจทำให้เราปลอดภัยมากขึ้นก็ได้
แม้ภัยพิบัติอาจมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่การเตรียมรับมือไว้ยังไงก็ดีกว่า วันนี้ The MATTER เลยรวบรวมคู่มือเอาตัวรอดเบื้องต้นจากทั้ง 4 สถานการณ์ฉุกเฉินที่หลายคนอาจพบเจอได้ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือสึนามิ เพื่อดูว่าระหว่างเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมีอะไรที่เราควรทำบ้างนะ
เอาชีวิตรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหว หรือการสั่นสะเทือนของพื้นโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักทำให้เศษซากและข้าวของจากอาคารร่วงหล่นลงมา ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ โทรทัศน์ โคมไฟ และสิ่งของอื่นๆ รวมถึงการหกล้มจากการพยายามวิ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว สิ่งสำคัญคือหาที่ปลอดภัยในบ้านหรือที่ทำงานเพื่อหลบภัย และรีบอพยพออกจากอาคารทันที เมื่อแผ่นดินไหวหยุด
- หมอบ-ป้อง-เกาะ: เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนให้หมอบลงเพื่อลดจุดศูนย์ถ่วง ซึ่งจะช่วยให้เราทรงตัวได้ดีขึ้น จากนั้นใช้สิ่งของหรือแขนทั้ง 2 ข้างปกป้องศีรษะและคอ เพราะอาจได้รับบาดเจ็บจากสิ่งของที่หล่นจากชั้นวางหรือเพดาน แล้วเกาะกับสิ่งของที่ปลอดภัย อย่างการหลบอยู่ใต้โต๊ะ แต่ถ้าไม่มีที่ให้เกาะ อาจนั่งหมอบพิงกับผนังที่ห่างจากประตูและหน้าต่างเอาไว้ รอให้การสั่นสะเทือนหยุดลง
- หากนั่งรถเข็นหรือใช้ไม้ค้ำยัน: ให้ล็อกล้อและนั่งอยู่กับที่จนกว่าแผ่นดินไหวจะหยุด ใช้หมอน หนังสือ ของที่หาได้ หรือแขนของตัวเอง ป้องกันศีรษะและคอ
- หาทางออกฉุกเฉินที่ปลอดภัย: ในตอนที่รับรู้ถึงแผ่นดินไหว อย่าลืมเปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อเตรียมเส้นทางหลบหนีเพื่อป้องกันเหตุไม่ให้ติดอยู่ในอาคารหากคานหรือวงกบประตูตกจนไม่สามารถเปิดออกได้ และอย่าลืมสวมรองเท้าขณะอพยพออกจากอาคาร เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ จากเศษแก้วหรือเศษกระจก
- ออกจากอาคารเมื่อปลอดภัยแล้ว: หลังจากการสั่นสะเทือนหยุด หรืออาคารมีทีท่าว่าจะถล่มลงมาให้รีบออกจากอาคารไปที่โล่งแจ้ง โดยไม่ใช้ลิฟต์ และระวังสิ่งของที่อาจหล่นลงมา เช่น อิฐจากอาคาร สายไฟ หรือต้นไม้
- ถ้าอยู่บนรถ: จอดรถทันทีและจอดให้ห่างจากเศษซากที่อาจตกลงมาจากต้นไม้ อาคาร สายไฟเหนือศีรษะ หรือสะพานลอย แล้วรอในรถหากทำได้ และหากต้องอพยพจากพื้นที่ อย่าลืมปลดล็อกประตูรถหรือเข้าเกียร์ว่าง เผื่อในกรณีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายรถ
เอาชีวิตรอดเมื่อเกิดน้ำท่วม
ภัยที่เกิดจากน้ำท่วม อันตรายมักเกิดขึ้นจากความเร็วและความแรงจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก รวมถึงระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากอพยพไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตจากการจมน้ำ หรือบาดเจ็บจากของชิ้นใหญ่ๆ ที่น้ำพัดมา ดังนั้นสิ่งสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้คือการรีบขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด
- ระวังไฟฟ้า: หากมีสัญญาณเตือนน้ำท่วม และพอมีเวลาให้รีบปิดแก๊ส น้ำประปา และตัดกระแสไฟ เพื่อป้องกันอันตราย
- ปฏิบัติตามคำสั่งอพยพ: หากเห็นสัญญาณของน้ำท่วม เช่น ฝนตกหนักติดต่อกัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว สีน้ำเปลี่ยนเป็นสีดินภูเขา มีกิ่งไม้ไหลมากับน้ำ หรือประกาศแจ้งเตือนจากทางการ ให้รีบขึ้นที่สูงทันที เช่น ขึ้นชั้นบนของบ้าน หรือขึ้นไปยังพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำ
- เมื่อน้ำท่วมแล้ว: อย่าเข้าไปในห้องใต้ดินหรือห้องที่น้ำท่วมถึงเต้ารับไฟฟ้า หรือห้องที่มีสายไฟจมอยู่ใต้น้ำ หากเห็นประกายไฟหรือได้ยินเสียงหึ่งๆ เสียงแตก เสียงป๊อป ให้รีบออกจากพื้นที่ทันที
- อย่าลุยน้ำท่วม: แม้จะดูเหมือนน้ำไม่สูง แต่ก็ทำให้ล้มได้เพราะความเร็วของน้ำ และอาจเหยียบโดนสิ่งของอันตรายใต้น้ำ เช่น ของมีคม หากติดอยู่ท่ามกลางน้ำที่ไหลแรง ให้ย้ายไปยังจุดที่สูงที่สุด แล้วติดต่อหาหน่วยงานเพื่อรับการช่วยเหลือ
- ไม่ขับรถขณะน้ำท่วม: ไม่ขับรถเข้าไปในถนนที่ถูกน้ำท่วมหรือบริเวณที่มีสิ่งกีดขวาง เพราะ น้ำอาจลึกกว่าที่เห็นและซ่อนอันตรายต่างๆ เช่น ของมีคม ผิวถนนไม่สม่ำเสมอ สายไฟ หรือสารเคมี แถมความแรงของน้ำยังอาจทำให้รถยนต์ถูกน้ำพัดหายไปภายในไม่กี่วินาที หากติดอยู่ในรถให้เปิดกระจกแล้วออกจากรถเพื่อไปพื้นที่สูงทันที
เอาชีวิตรอดเมื่อเกิดสึนามิ
สึนามิคือคลื่นทะเลยักษ์ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ดินถล่มใต้ทะเล หรือภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล เมื่อเกิดคลื่นขนาดใหญ่ สึนามิสามารถคร่าชีวิตผู้คนและทำลายล้างบ้านเรือนอย่างเวลารวดเร็วไม่กี่นาที ดังนั้นนอกจากจะต้องป้องกันสิ่งของตกหล่น อาคารพังทลายแล้ว ยังต้องรีบอพยพขึ้นที่สูงเพื่อหนีจากระดับน้ำที่ซัดเข้าฝั่งอย่างรุนแรงด้วย
- ป้องกันตัวจากแผ่นดินไหวก่อน: หลายครั้งสึนามิมักมาพร้อมกับแผ่นดินไหว หากมีแผ่นดินไหวและเราอยู่ในพื้นที่ที่อาจเกิดสึนามิ ให้ใช้วิธีหมอบ-ป้อง-เกาะ จนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหยุด แล้วจึงหาทางหนีไปอยู่ที่สูง
- ย้ายขึ้นที่สูง: สังเกตสัญญาณธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำลดลงผิดปกติ สัตว์แตกตื่น หรือคำเตือนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับคลื่นสึนามิ ให้รีบย้ายไปยังที่ปลอดภัยในที่สูงหรือไกลจากชายฝั่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 30 เมตร หรือห่างจากชายฝั่งเข้าไปอย่างน้อย 1.6 กม.โดยไม่ต้องรอคำเตือนคลื่นสึนามิและคำสั่งอพยพ
- หากอยู่ในน้ำตอนเกิดคลื่น: ให้คว้าสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เช่น แพหรือลำต้นไม้ยึดเกาะ แทนการว่ายน้ำหรือการใช้แรง เพื่อเก็บพลังงานไว้
- หากอยู่บนเรือตอนเกิดคลื่น: ถ้าเรือนอกชายฝั่งให้หันหน้าไปทางคลื่นและมุ่งหน้าออกสู่ทะเล แต่หากเรือจอดอยู่ในท่าให้รีบขึ้นฝั่ง เพราะสึนามิอันตรายมากที่สุดในบริเวณใกล้ฝั่งหรือบนฝั่ง แต่คลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งจะมีขนาดเล็ก ดังนั้น หากไม่สามารถนำเรือกลับเข้าฝั่งได้ทันเวลา ควรมุ่งออกไปในทะเลลึกแทน แต่หากคุณอยู่ใกล้ฝั่งแล้วและสึนามิกำลังเข้ามา ควรขึ้นฝั่งโดยเร็วและมุ่งหน้าเข้าไปยังพื้นที่สูงบนบก
เอาชีวิตรอดเมื่อเกิดไฟไหม้
ความอันตรายจากเปลวไฟ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเปลวไฟเล็กๆ สามารถลุกลามใหญ่ๆ ได้ในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งทำให้เกิดความร้อนสูง การสูดอากาศที่ร้อนจัดนี้เข้าไปจะทำให้ปอดไหม้และเสื้อผ้าละลายติดผิวหนัง นอกจากเปลวไฟแล้ว สิ่งที่อันตรายไม่แพ้ไฟ ยังเป็นควัน ที่ทำให้รอบตัวมืดลง หาทางออกได้ยากขึ้น รวมถึงการสูดควันไฟและก๊าซพิษเข้าไปยังทำให้มึนงงและง่วงนอน จนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนส่วนใหญ่
- แจ้งเหตุไฟไหม้: ตะโกนว่า “ไฟไหม้!” หลายๆ ครั้ง กดปุ่มเตือนไฟไหม้ แล้วรีบออกไปข้างนอกทันที ห้ามใช้ลิฟต์ หากอาศัยอยู่ในอาคารที่มีลิฟต์ ให้ใช้บันได หรือทางหนีไฟ โดยทิ้งสิ่งของไว้และช่วยเหลือตัวเองก่อน
- อย่าเปิดประตูโดยไม่ตรวจสอบความร้อน: หากลองสัมผัสประตูแล้วรู้สึกร้อน หรือมีควันขวางทางหนีไฟหลักให้ใช้ทางออกอื่น อย่าเปิดประตูที่อุ่นเพราะเป็นไปได้ว่าด้านหลังประตูนั้นมีเปลวไฟอยู่
- หากต้องหนีผ่านควัน: คลานหรือก้มต่ำใต้ควันเพื่อไปยังทางออก เพราะอากาศที่พอหายใจอยู่เหนือพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เมื่อถึงทางออกแล้วให้ปิดประตูที่อยู่ด้านหลัง
- หากควันหรือเปลวไฟขวางทางหนี: อยู่ในห้องโดยปิดประตูไว้ วางผ้าขนหนูเปียกไว้ใต้ประตูและโทรแจ้งฉุกเฉิน เปิดหน้าต่างโบกผ้าสีสดใสหรือไฟฉายเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
- หากเสื้อผ้าติดไฟ: ให้หยุด แล้วนอนลงกับพื้น ปิดหน้า และพลิกตัวไปมาจนกว่าเปลวไฟจะดับ การวิ่งจะทำให้ไฟลุกไหม้เร็วขึ้น เมื่อเปลวไฟดับแล้ว ให้ใช้น้ำทำให้ผิวหนังที่ถูกไฟไหม้เย็นลง 3 – 5 นาที
สุดท้ายไม่ว่าเหตุการณ์คับขันแค่ไหน การตั้งสติเข้าไว้ก็ยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้เสมอ เพราะการมีสติจะช่วยให้เราตัดสินใจในสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะทำให้เราสูญเสียสิ่งของบางอย่างไป แต่อย่าลืมว่าชีวิตเราก็มีค่าไม่แพ้กัน การเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้ยังไงก็สำคัญที่สุดนะ
อ้างอิงจาก