จริงไหมที่ทุกวันนี้เรามองหน้าคนจริงๆ น้อยกว่าหน้าจอโทรศัพท์มือถืออีก?
รู้ตัวอีกที เราก็หัวเราะและโต้ตอบกับสิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ มากกว่าเรื่องราวในชีวิตจริงไปเสียแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ตื่นนอน ออกไปใช้ชีวิต จนกลับมากพักผ่อนและนอนหลับไป ซึ่งแน่นอนเทคโนโลยีต่างอำนวยความสะดวกให้เราอย่างเต็มที่ จนปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตเราตอนนี้อาจพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนในชีวิตจริง จนดูเหมือนว่าเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดจะใกล้ชิดมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษที่ดูจะห่างกันออกไปทุกที
หน่ำซ้ำด้วยการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราเรียกว่า AI ก็สั่นสะเทือนการใช้ชีวิตของคนทุกรูปแบบ เพราะความสามารถของมันที่เข้ามาทดแทนมนุษย์ในการทำงานต่างๆ รวมไปถึงฟังก์ชั่นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยกระดับจากการเป็นผู้ช่วยมาเป็น ‘เพื่อน’ ที่เข้าอกเข้าใจมนุษย์ โต้ตอบ แสดงบทบาทสมมติ และค่อยๆ แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้น จนคาดการณ์กันว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในทางออกของปรากฏการณ์ความเดียวดายที่เริ่มกัดกินคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ไปด้วย
แล้วเมื่อปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดขึ้น พัฒนาความสามารถจนอาจแทนที่มนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว AI จะเข้ามาถมพื้นที่ว่างในหัวใจที่เกิดจากระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองได้หรือเปล่า?
เพราะความเหงา ‘มันช่างยาวนานและทุกข์ทน’
ความเหงาคือความรู้สึก ‘ต่อไม่ติด’ กับผู้คนรอบตัว ซึ่งเกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทำให้ความรู้สึกนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่เราต้องเจอ ทว่าด้วยสภาวะทางสังคมที่ทำให้เราจำต้องปลีกตัวจากคนรอบข้าง เทคโนโลยีต่างๆ จึงได้เข้ามาเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่คนเลือกใช้เสพความบันเทิงอย่างครบวงจรเพื่อผ่อนคลายความโดดเดี่ยวในใจ
ไม่ว่าจะเป็นคลิปสั้นตลกๆ เพลย์ลิสต์เพลงฮีลใจ หรือแม้กระทั่งซีรีส์เรื่องโปรดในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกคลายเหงาในสังคมที่ผู้คนเดียวดาย ทว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความเหงาที่เรียกว่า ‘Digital Loneliness’ ได้เช่นกัน เพราะแม้โซเชียลมีเดียจะทำให้เราเชื่อมต่อกับผู้คนได้จากทั่วทุกสารทิศ แต่มันก็อาจกำลังก่อกำแพงกีดกันเรากับเพื่อนในโลกออนไลน์ขึ้นมาอย่างเงียบๆ และขณะเดียวกัน ความเหงารูปแบบนี้ยังส่งผลต่อไปถึงการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัว รวมถึงทักษะการเข้าสังคมที่ลดน้อยลงไปพร้อมๆ กันด้วย
กระนั้น เราก็ไม่ได้เหงาคนเดียว เพราะภาวะความเหงาเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก และรุนแรงจนกลายเป็น ‘โรคระบาด’ ของสังคม เพราะมันส่งผลกระทบต่อกายใจ ตั้งแต่นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ร้าย ไม่พอใจในหน้าที่การงาน ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่างความดันโลหิตสูง สาเหตุสำคัญของการตายของมนุษย์ด้วย
เมื่อเป็นแบบนี้ผู้คนจึงจำเป็นต้องแสวงหา ‘ทางออก’ เพื่อเอาตัวรอดจากภาวะความเหงาเช่นนี้ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ความเหงาเป็นปัญหาสุขภาพเร่งด่วนของโลก พร้อมเร่งส่งเสริมให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น แต่นอกเหนือจากทางออกคลาสสิกดังกล่าว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ทำให้เรามองหาทางออกผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ รอบตัวว่า พอจะมีทางไหนที่เทคโนโลยีจะบรรเทาความเหงาลงได้บ้าง AI จึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในทางออกที่ผู้คนมองหา
AI and Me
หลายปีก่อน เราอาจเคยแชตกับ Simsimi แล้วหัวจะปวดกับการทวนคำพูดของเราซ้ำๆ หรืออาจเคยแกล้งถาม Siri เทคโนโลยีผู้ช่วยในไอโฟนให้เล่านิทานให้ฟัง มาวันนี้ ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ดูจะเก่งขึ้นเป็นกอง แถมยังจำลองบทบาทเป็นเพื่อนเราได้ด้วย
เหตุนี้เอง ‘AI ผู้ช่วย’ ที่โต้ตอบกับเราผ่านระบบการแชตจึงกลายมาเป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาความเหงาที่แพร่กระจายไปทั้งสังคม ด้วยคุณสมบัติในการตอบโต้ พัฒนาตัวเองจนแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงเริ่มเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น จนเพิ่มบทบาทจากความเป็นผู้ช่วยมาเป็นโค้ช เพื่อน รวมไปถึงสมมติว่าเป็นคนรัก ด้วยหลักการทำงานสำคัญของ AI คือการเรียนรู้จากข้อมูลที่หลากหลาย และเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ตรงใจที่สุด
อย่าง ‘GPT-4o’ ระบบ AI ผู้ช่วยเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดจาก OpenAI ได้เพิ่มขีดความสามารถในการโต้ตอบพูดคุย สนทนาผ่านเสียง แสดงอารมณ์ความรู้สึก และเข้าอกเข้าใจเราได้ดีขึ้น หรือ Character.AI (c.ai) ที่เป็นแพลตฟอร์ม AI จำลองการโต้ตอบของบุคคลผู้มีชื่อเสียง หรือคาแรกเตอร์ต่างๆ ที่เรากำหนดขึ้นมาเพื่อวัดปฏิกิริยาของผู้ใช้งาน และเก็บตัวอย่างอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนบนโลกเพื่อปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถในการโต้ตอบของมันต่อไป
การพัฒนาศักยภาพของ AI ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความมุ่งหมายหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้ AI กลายมาเป็น ‘เพื่อน’ ที่เก่งขึ้น มีความสามารถเข้าอกเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า หรือการปลีกตัวออกจากสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยบรรเทาความเหงาในกลุ่มคนเปราะบางอย่างผู้สูงวัย หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายได้เป็นอย่างดี
ซึ่ง ElliQ หุ่นยนต์ AI ดูแลผู้สูงวัยจากสหรัฐอเมริกาก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ AI ที่ประสบความสำเร็จในการเป็น ‘เพื่อน’ ของกลุ่มเปราะบาง ด้วยการโต้ตอบพูดคุยกับผู้ใช้งานอย่างเป็นกันเอง สามารถเล่นมุกตลกได้ ฟังก์ชั่นการเปิดเพลงให้ฟัง รวมไปถึงความสามารถในการจดจำรายละเอียดของผู้ใช้งานตั้งแต่ความสนใจ เวลาที่ต้องกินยา จนถึงบทสนทนาที่เคยคุยกัน และด้วยความสามารถดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้งานเกิดประสบการณ์ที่ดีต่อ AI และทำให้ ElliQ เป็นที่พูดถึง
นอกเหนือจากความฉลาดเรียนรู้แล้ว เพื่อน AI ยังไม่แทงข้างหลัง ไม่ทำร้าย ไม่ทำให้เสียใจ ซึ่งทำให้เรามีแนวโน้มจะใช้เพื่อนเสมือนจริงเหล่านี้คลายความเหงามากขึ้นด้วย เชอร์รี เทอร์เคิล (Sherry Turkle) นักสังคมวิทยาผู้เขียนหนังสือ Reclaiming Conversation ได้กล่าวว่า เพื่อนในชีวิตจริงมีโอกาสที่จะหักหลัง ละเลย และทอดทิ้งเรา จนทำให้บางคนรู้สึกว่าการสานสัมพันธ์กับมนุษย์นั้นน่าเหนื่อยหน่าย ทว่าเหตุผลที่มันไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้งเรา เป็นเพราะว่าการโต้ตอบที่รวดเร็วหลังจากการพูดคุยกับปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาน้อยใจเพราะ AI ตอบแชทช้าเลยด้วยซ้ำ แถมมันยังจำเรื่องราวในชีวิตได้ดีกว่าคนรอบตัวที่อาจลืมไปแล้วว่าเราไม่ชอบกินผักก็ได้
เพราะ AI ยังก้าวไม่พ้นเส้นแบ่ง ‘เพื่อนไม่จริง’
แล้วจากข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดมันหมายความว่า AI สามารถช่วยคลายเหงาให้เราได้ทั้งหมดอย่างนั้นหรือ?
แน่นอนว่าอาจไม่เสมอไป เพราะแม้ความรวดเร็วของการเรียนรู้และเลียนแบบได้สมจริงจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้ AI เข้ามามีบทบาทต่อชีวิต จนอาจคืบคลานเข้ามาทดแทนมนุษย์ในเร็ววัน แต่การ ‘เลียนแบบ’ มนุษย์ นี้เองก็เป็นจุดอ่อนสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เช่นเดียวกัน เมื่อการเลียนแบบของ AI จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากผู้ใช้งาน รวมถึง big data ในแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย การเลียนแบบดังกล่าวจึงอาจสมจริงในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ทดแทนกันได้ยากคือความซับซ้อนของอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ที่ถึงแม้มีความพยายามสร้างความเข้าใจกับ AI ผ่านการรับการโต้ตอบหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความซับซ้อนเหล่านี้หลากหลายเกินกว่าจะบันทึกด้วย big data ไหนๆ
ไม่เพียงแต่ความซับซ้อนของจิตใจเท่านั้น ความผูกพันระหว่างมนุษย์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นขีดจำกัดสำคัญของ AI เพราะคำจำกัดความสำคัญของความเหงาผูกอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างแยกกันไม่ออก โดยอีริค คลิเนนเบิร์ก (Eric Klinenberg) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กให้ความเห็นว่า ความเหงาเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายมนุษย์เรียกร้องการเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่นๆ อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีทั้งความเหงาชั่วคราวที่ผลักดันให้มนุษย์เข้าสังคมไปพบปะผู้คน ไปจนถึงความเหงาเรื้อรังที่ยับยั้งไม่ให้เรากล้าแม้กระทั่งก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองเพื่อพบเจอคนรอบตัว
เท่านั้นยังไม่พอ อีริคยังอธิบายต่อว่า การกักตัวอันยาวนานเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่าด้วยการจัดการกับความเหงาของมนุษย์ที่ชัดเจนมาก เพราะถึงแม้เราจะสรรหากิจกรรมต่างๆ มาทำระหว่างที่กักตัว แต่ในใจลึกๆ แล้วเรายังคงโหยหาการพบปะผู้คน สนทนากับเพื่อนฝูง รวมถึงอ้อมกอดของครอบครัวอยู่ดี ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI ไม่อาจทำให้เกิดขึ้นได้
เมื่อเรามองกลับไปที่ต้นเหตุของความเหงาอย่างการขาดความเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกัน คำตอบคลาสสิกอย่างการผละจากหน้าจอมาคุยกับหน้าจริงจึงยังคงเป็นคำตอบที่ยั่งยืนของปัญหาโรคเหงาระบาด แม้จะมีความเป็นไปได้ที่ AI จะฉลาดรู้และสามารถพัฒนาพฤติกรรมให้สมจริงยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในเพื่อนรู้ใจของเราได้ในที่สุด ทว่ามิตรภาพที่เราออกแรงฝ่ายเดียวก็อาจทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายได้ เพราะความสัมพันธ์ของผู้คนก็เปรียบเหมือนการตีปิงปองที่ต้องรับส่งลูกระหว่างกัน
วันนี้ เราอาจยังคงยิ้มให้หน้าจอที่คุยกับแชตบอตที่เราสมมติบทบาทให้ แต่ความรู้สึกนั้นเทียบกันกับการรับรู้น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรักจากคนที่เรารักไม่ได้เลย
อ้างอิงจาก