นอกเหนือจากวิสัยทัศน์และพันธกิจอันสวยงามขององค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารให้โลกรู้ (จริงบ้างมากน้อยต่างกันไป) อะไรคือแรงจูงใจของการทำธุรกิจ?
หนึ่งในนั้นหลักๆ หนีไม่พ้นเรื่องของรายได้และผลกำไรที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้ต่อ
ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากนักและแน่นอนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ธุรกิจต้องการเงินเพื่อหล่อเลี้ยงให้อยู่รอด เพียงแต่พอ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT ตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัทไปในทิศทางนี้อย่างเต็มตัว กลับทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
คล้ายกับถูกหักหลังอยู่เล็กน้อยด้วยซ้ำ
เพราะสำหรับคนที่อยู่ในวงเทคโนโลยีและตามเรื่องราวของ ChatGPT มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งปี 2015 จะทราบดีว่าผู้นำของบริษัทนั้นพูดเสมอว่าเป้าประสงค์ที่สำคัญมากที่สุดของพวกเขา คือการทำให้มั่นใจว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ได้รับการพัฒนาอย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์
แรกเริ่มวางโครงสร้างองค์กรแบบที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจตนารมณ์ โดยให้ OpenAI เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (nonprofit) ที่ไม่ได้ควบคุมโดยซีอีโอหรือผู้ถือหุ้น แต่ควบคุมโดยคณะกรรมการที่มีภารกิจหลักคือการรักษาความปลอดภัยของมนุษยชาติ (หากใครสงสัยว่าทำไมAI ถึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของมนุษยชาติ อยากให้ลองอ่านบทความเหล่านี้ดูครับ thematter.co และ thematter.co)
แต่ล่าสุดอย่างที่เราน่าจะเห็นข่าวกันไปแล้วว่า OpenAI จะเปลี่ยนโครงสร้างของบริษัท ให้ไม่ถูกควบคุมโดยคณะกรรมการไม่แสวงหาผลกำไรอีกต่อไป และปรับเป็นบริษัทเพื่อผลประโยชน์ที่แสวงหาผลกำไรอย่างเต็มรูปแบบ
พูดอีกอย่างคือตอนนี้ OpenAI นั้น Open For Business แบบ 100% แล้ว แถมซีอีโออย่าง แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ที่ก่อนหน้านี้เน้นย้ำว่าเขาไม่มีหุ้นในบริษัท ถูก Bloomberg รายงานว่าจะมีโอกาสจะได้รับหุ้น 7% ของบริษัทซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ (แม้ภายหลังอัลท์แมนจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ก็อาจจะต้องดูกันต่อไป) พร้อมกับอำนาจควบคุม OpenAI ไปเรียบร้อย
ก่อนที่ข่าวเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างนี้จะมีการประกาศ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี มิร่า มูราตี (Mira Murati) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์แล้ว ด้วยระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันแบบนี้ดูแล้วจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แถมหลังจากนั้นไม่นานพนักงานระดับบริหารอีก 2 คนก็ประกาศลาออกด้วยเช่นกัน
VOX สื่อออนไลน์ที่รายงานเรื่องนี้บอกว่าพนักงานหลายคนไม่เคยคาดคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ถึงขั้นส่งอิโมจิ ‘WTF’ (What the f*ck) แสดงความตกใจถึงเรื่องที่เกิดขึ้นหากันบนแอปพลิเคชั่นแชต Slack เลยทีเดียว
การเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้น
สัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงเกิดนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2019
เมื่อจุดประสงค์ของ OpenAI ในการเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและมนุษยชาติ รวมไปถึงเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้งานเป็นหลัก เริ่มเบี่ยงเบนออกไปจากตอนที่ก่อตั้งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น
OpenAI ได้สร้างส่วนที่แสวงหาผลกำไรเพื่อให้สามารถรับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่จำเป็นจาก Microsoft เนื่องจากต้นทุนในการสร้าง AI ขั้นสูงเพิ่มขึ้น แต่ในเวลานั้นหลายคนยังคงหวังว่าบริษัทจะยึดมั่นในหลักการที่วางเอาไว้ในตอนแรก แต่ข่าวที่ออกมาล่าสุดก็แสดงให้เห็นแล้วว่า OpenAI ต่อจากนี้ คงไม่ใช่ OpenAI ที่เราเคยรู้จักอีกต่อไป
ประโยคเปิดตัวในโพสต์จากปี 2015 ของ OpenAI ที่ถูกร่วมก่อตั้งขึ้นมาโดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) และอัลท์แมน (รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ) บอกว่า
“OpenAI เป็นบริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร เป้าหมายของเราคือการพัฒนาปัญญาดิจิทัลในแนวทางที่มีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยรวมมากที่สุด โดยไม่ถูกจำกัดด้วยความจำเป็นในการสร้างผลตอบแทนทางการเงิน เนื่องจากการวิจัยของเราปราศจากภาระผูกพันทางการเงิน เราจึงสามารถมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบเชิงบวกต่อมนุษย์ได้ดีขึ้น”
ดูเหมือนว่าเมื่อสิ่งจูงใจมีอำนาจหรือมีพลังมากพอ วิสัยทัศน์และพันธกิจอันสวยงามที่เคยกล่าวไว้ก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก
มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) เขียนไว้ในหนังสือ ‘Same as Ever’ ถึงเรื่องแรงจูงใจไว้ได้น่าสนใจมาก เขาบอกว่า
“ไม่ว่าคุณ ผม หรือคน อื่นๆ ต้องยอมให้มัน และอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันมากกว่าที่เราอยากจะยอมรับ สิ่งจูงใจเป็นพลังที่ทรงอานุภาพที่สุดในโลก และสามารถทำให้คนเราหาเหตุผลและปกป้องได้เกือบทุกสิ่ง
เมื่อคุณเข้าใจว่าสิ่งจูงใจมีพลังขนาดไหน คุณจะไม่แปลกใจอีกต่อไปเวลาโลกเปลี่ยนจากความบ้าบออย่างหนึ่งไปสู่ความบ้าบออีกอย่างหนึ่ง ถ้าถามว่า ‘ในโลกนี้ มีคนบ้าจริงๆ กี่คน?’ ผมคงตอบว่า ผมไม่รู้ อาจจะ 3% ถึง 5% แต่ถ้าถามว่า ‘ในโลกนี้ มีกี่คนที่พร้อมทำเรื่องบ้าๆ ถ้ามีสิ่งที่จูงใจพวกเขาเต็มๆ’ ผมตอบได้เลยว่า เกินครึ่ง”
“การปรับโครงสร้างรอบๆ หน่วยงานหลักที่แสวงหากำไรนั้น เป็นการยืนยันสิ่งที่บุคคลภายนอกรู้มานานแล้ว: นั่นคือ OpenAI กำลังมุ่งหาผลกำไรในอุตสาหกรรมที่ได้รับเงินลงทุนมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” ซาราห์ เครปส์ (Sarah Kreps) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายเทคโนโลยีแห่ง Cornell กล่าว
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการออกห่างจาก “จุดโฟกัสแรกเริ่มของ OpenAI ในด้านความปลอดภัย ความโปร่งใส และเป้าหมายที่จะไม่รวมศูนย์อำนาจ” ไปเป็นที่เรียบร้อย
เจฟฟรีย์ หวู่ (Jeffrey Wu) ที่เริ่มทำงานที่ OpenAI ตั้งแต่ปี 2018 และเป็นหนึ่งในทีมผู้สร้างโมเดล GPT-2 และ GPT-3 ให้สัมภาษณ์กับ VOX ว่า
“เราบอกลาเวอร์ชั่นเดิมของ OpenAI ที่ไม่อยากถูกตีกรอบโดยภาระทางการเงินไปได้เลย”
New OpenAI
ในปี 2019 ที่อัลท์แมนเข้ามารับตำแหน่ง CEO ของบริษัท ทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เกิดบริษัทลูกที่แสวงหาผลกำไรขึ้นมาภายใต้ OpenAI แบบเดิมที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อที่จะระดมทุนจากนักลงทุนจากข้างนอกได้ แต่ก็มีบางอย่างที่อาจจะดูแปลกสักหน่อยตรงที่จำกัดเพดานกำไรที่นักลงทุนสามารถทำได้ นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนสูงสุด 100 เท่าของเงินลงทุน แต่หากเกินกว่านั้น เงินจะถูกส่งไปยังองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ตัวอย่างเช่น อาจนำไปสนับสนุนโครงการรายได้พื้นฐาน (universal basic income) เพื่อช่วยให้ผู้คนปรับตัวกับการว่างงานที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ
แต่ต่อมาเราก็เริ่มเห็นประเด็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องความหละหลวมและไม่ได้โฟกัสเรื่องความปลอดภัยของ OpenAI มากขึ้นเรื่อยๆ (อย่างการปล่อย GPT-3 ที่มีอคติต่อคนที่เป็นมุสลิมว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง แต่ก็ยังปล่อยออกมาให้คนใช้ในเชิงพาณิชย์) นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ในปี 2023 บอร์ดบริหารฝั่งไม่แสวงหาผลกำไรพยายามริบอำนาจของอัลท์แมนและปลดเขาออกจากตำแหน่ง แต่ปลดได้ไม่กี่วันบอร์ดก็ถูกกดดันให้ดึงเขากลับเข้ามารับตำแหน่งใหม่อีกครั้ง และหลังจากนั้น ก็เริ่มมีข่าวเรื่องพนักงานที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยลาออกกันตามมาอีกมากมาย
หวู่เสริมตรงนี้ว่า “ดูเหมือนว่าองค์กรไม่แสวงผลกำไรตอนนี้ได้ถูกปลดอำนาจไปหมดแล้ว และพันธกิจของบริษัทได้ถูกตีความใหม่ให้สอดคล้องกับการแสวงหากำไรอย่างเต็มที่” แม้บอร์ดตอนนี้จะยังมีอยู่ แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้มีอำนาจอะไรอีกต่อไปแล้ว
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นนั่นแหละครับ สุดท้ายแล้วสิ่งที่อัลท์แมนทำ ทิศทางของ OpenAI ที่กำลังมุ่งหน้าไปหลังจากล่าสุดประกาศการที่ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มมาอีก 6,600 ล้านเหรียญ ทำให้ OpenAI กลายเป็นบริษัทมูลค่า 157,000 ล้านไปเรียบร้อย
The WallStreet Journal รายงานว่าบริษัทที่มาลงทุนก็มีตั้งแต่ Microsoft (เจ้าเดิม), Nvidia และรวมไป Softbank ด้วย ตอนแรกมีรายงานว่า Apple จะเข้ามาร่วมด้วยแต่ถอนตัวในโค้งสุดท้ายและไม่ได้ให้ความเห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
เหตุผลเบื้องหลังการถอนตัวของ Apple อาจจะไม่เคลียร์ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือตอนนี้ OpenAI ยังคงขาดทุนอยู่แม้จะสร้างรายได้กว่า 3,700 ล้านเหรียญในปีนี้ แต่ก็ใช้เงินไปแล้วกว่า 5,000 ล้านเหรียญ อาจจะเป็นเรื่องปกติของสตาร์ตอัปอย่าง OpenAI และก็เป็นเหตุผลว่าทำไมอัลท์แมนถึงเลือกเดินไปบนเส้นทางที่แตกต่างจากวิสัยทัศน์ที่วางเอาไว้ในตอนแรก
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาคาดการณ์รายได้มากขึ้นเป็น 3 เท่า (11,600 ล้านเหรียญ) ภายในปีหน้า และภายในปี 2029 จะมีรายได้ 100,000 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 2,600% ใน 5 ปี สำนักข่าว CNN ติดต่อไปเพื่อสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้คำตอบว่า OpenAI จะมีกลยุทธ์ไหนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากขึ้นนี้
คำถามต่อมาคือเรื่องกฎหมายว่าสิ่งที่ OpenAI กำลังทำอยู่นั้นทำได้รึเปล่า? ด้วยความที่โครงสร้างของบริษัทแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ข้อกฎหมายก็อาจจะยังไม่ได้มีอะไรที่ตายตัว แม้โฆษกของบริษัทจะออกมาให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าส่วนของบริษัทที่ไม่แสวงผลกำไรก็ยังสำคัญ และจะมีอยู่ต่อไป แต่ถ้ายึดตามประวัติศาสตร์และสิ่งที่เกิดขึ้น ความน่าเชื่อถือของคำพูดเหล่านี้ก็คงไม่ได้มากมายอะไรนัก
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องของ OpenAI อาจจะเหมือนอย่างที่ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) เคยเขียนเอาไว้ว่า “ถ้าคุณอยากจูงใจคน จงโน้มน้าวด้วยผลประโยชน์ ไม่ใช่เหตุผล”
เหตุผล เจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ไม่ใช่ไม่สำคัญ เพียงแต่ดูแล้วสำหรับอัลท์แมนและ OpenAI ของเขาในตอนนี้ผลประโยชน์ที่ลงตัวอาจจะสำคัญมากกว่าสักหน่อย
อ้างอิงจาก