“เฮ้ ChatGPT! ประเทศไทยควรสอนเรื่อง ‘AI literacy’ มากขึ้นหรือยัง?”
The MATTER ถามแชตบอตชื่อดัง
“ใช่ ‘AI literacy’ ควรถูกสอนมากขึ้นในประเทศไทย เพื่อเตรียมคนทำงานในอนาคตให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานที่มี AI เป็นส่วนประกอบ ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมและการแข่งขัน และเสริมสร้างความตระหนักรู้ (awareness) ทางสังคมและจริยธรรม”
ChatGPT ตอบกลับมา
คำตอบข้างบนฟังดูน่าเชื่อถือ อ่านแล้วก็เคลิ้มตาม แต่ก็อด ‘เอ๊ะ’ ในใจไม่ได้ เพราะเราก็รู้กันดีว่า แชตบอตเหล่านี้ยังคงมีข้อจำกัดด้านเทคนิค โดยเฉพาะถ้าคุยกันในเชิงข้อเท็จจริง AI ก็อาจเกิดอาการ ‘hallucination’ หรือ ‘หลอน’ ได้ ซึ่งนั่นก็คือการนั่งเทียนเขียนข้อมูลขึ้นมาเอง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ‘generative AI’ หรือ ‘AI เชิงสร้างสรรค์’ ได้เข้ามาผสานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างรวดเร็ว ถ้าดูอย่างผิวเผิน AI ประเภทแชตบอต ที่มีพื้นฐานมาจาก ‘โมเดลภาษาขนาดใหญ่’ (large language model หรือ LLM) ก็เริ่มมีให้เลือกใช้ในตลาดอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Gemini, Claude, Grok, Copilot, หรือ Perplexity AI – ยังไม่นับ AI สร้างภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ที่มีอยู่จำนวนมากอีกเช่นกัน
The MATTER พูดคุยกับ วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต อดีตผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CSII) ผู้ติดตามเทคโนโลยี AI อย่างใกล้ชิด และ อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รองศาสตราจารย์จากภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing หรือ NLP) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของการพัฒนา AI
ทั้งสองคนมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า เรา – ในฐานะสังคมมนุษย์ – ไม่สามารถหลีกหนีการมาถึงของ AI ได้แล้ว
และหนึ่งในทักษะที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับ AI ในอนาคตได้ ก็คือ ‘AI literacy’ หรือก็คือการรู้เท่าทันการใช้งาน AI
เมื่อ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม AI Literacy จึงสำคัญ
“มนุษย์จะต้องอยู่กับ AI ตลอดไปนับตั้งแต่นี้ มันไม่หนีไปไหนแล้ว โดยเฉพาะเยาวชน ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ จะต้องอยู่กับมันอย่างน้อย 80-90 ปี” คือความเห็นของราชบัณฑิตผู้ติดตามเรื่อง AI อย่างวรศักดิ์
“วิถีชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราด้วย เพราะเราต้องใช้มันตลอด มันจะถูกผสานกับไลฟ์สไตล์ กับการใช้ชีวิต วิถีชีวิตประจำวันของเรา โดยไม่มีรอยต่อเลย” เขาอธิบายเพิ่ม
วรศักดิ์ เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณที่มีประวัติการทำงานทางวิชาการในด้านวิศวกรรมศาสตร์ เปรียบเทคโนโลยี AI เสมือนไฟฟ้า ที่ในสมัยก่อน เมื่อมีการส่งกระแสไฟฟ้าสลับไปถึงบ้าน เรานึกประโยชน์ของมันออกแค่การให้แสงสว่าง – AI ก็เช่นกัน จากเดิมที่เป็นเรื่องของนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้กับองค์กรต่างๆ ปัจจุบันก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
“เพราะฉะนั้น AI literacy จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ที่จะอยู่ในโลกนี้ ที่จะต้องรับมือกับความซับซ้อนของโลกซึ่งถูกกำหนดด้วย AI”
แล้ว AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างไรบ้าง? หากพูดถึงในมุมของการเรียนการสอน และการวิจัย ทางด้านอรรถพลเล่าว่า “เขาก็มีการคุยกันแล้วล่ะ ว่านโยบายจะเป็นยังไง”
ไม่ต่างจากเครื่องมืออย่างเครื่องคิดเลข หรือ Google Translate เทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลากหลายระดับมากขึ้น
“มันก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกัน เราก็พยายามปรับตัว ข้อแนะนำที่เขานึกกันก็คือ เอาเป็นแบบนี้ดีไหม ถ้าเกิดว่าเราจะออกข้อสอบ ให้เน้นความคิดมากขึ้นไหม แล้วก็ลองทดสอบกับ ChatGPT ว่ามันจะตอบมายังไง เราก็พอจะรู้ว่า [จะออกข้อสอบแบบไหน] ให้เป็นสิ่งที่นิสิตต้องใช้ความคิดในการตอบจริงๆ”
ส่วนในแง่การวิจัย อรรถพลมองว่า AI ปัจจุบันยังไม่เก่งในการสร้างความรู้ใหม่ๆ แต่ก็มีส่วนช่วยทำวิจัยในบางส่วนได้ เช่น การทบทวนวรรณกรรม (literature review)
“มันเก่งในการเอาของเก่าๆ มาพูดมากกว่า ซึ่งของเก่าๆ มันก็มีส่วนช่วยในการวิจัยเหมือนกัน เช่นการทำ ทบทวนวรรณกรรมเก่าๆ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัย แต่การที่จะผลักดันต่อไป กลายเป็นไอเดีย ความคิด ความรู้ใหม่ๆ ยังไงก็ยังต้องเป็นหน้าที่ของคนอยู่เหมือนเดิม”
AI Literacy คืออะไร? จะรู้เท่าทันมันได้อย่างไร?
วรศักดิ์อธิบายว่า AI literacy คือ ความรอบรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการใช้งาน AI ว่ามีทั้งประโยชน์และโทษ ตระหนักถึงความสามารถ และข้อจำกัด ผลกระทบที่เกิดจาก AI ผู้ใช้ สังคม หรือแม้แต่ผลกระทบต่อมนุษยชาติ
“เหมือนภาษา เหมือนคณิตศาสตร์ คนที่รู้ภาษา พอรู้แล้วมันรู้ตลอด มันใช้ไปตลอด หรือว่าความเชี่ยวชาญในการคิดเลข มันก็ติดตัวไปตลอด” วรศักดิ์กล่าว
“เราต้องการให้เด็กมี AI literacy ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเขาอยู่กับมันตลอด เขาก็จะค่อยๆ พัฒนาทักษะในการที่จะเรียนรู้มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะศาสตร์นี้ไม่อยู่นิ่ง มันจะเพิ่ม มันจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตามมันตอนนี้ อีกสัก 4-5 ปี มาตาม มันไม่ทันแล้ว มันก็จะเหมือนภาษา ที่จะเข้าใจกระท่อนกระแท่นไป”
เช่นเดียวกับอรรถพล ที่อธิบายว่า AI literacy เป็นเรื่องของการตระหนักรู้ (awareness) ในฝั่งของผู้ใช้งาน ซึ่งการตระหนักรู้ลำดับแรก ก็คือ การรู้ว่า AI คืออะไร
“เผอิญว่ายุคใหม่เปลี่ยนเร็วเหลือเกิน คราวนี้เป็นยุคของ AI และจริงๆ ทุกคนใช้ AI ทุกวัน ถึงแม้จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เราใช้ AI ทุกวันอยู่แล้วล่ะ เราควรจะรู้แหละว่ามันคืออะไร และตอนนี้พาวเวอร์ของมันไปถึงไหนแล้ว”
“เพราะฉะนั้น AI literacy ก็น่าจะช่วยในส่วนนี้ได้” อรรถพลอธิบายต่อมา “อย่างน้อยรู้ว่า AI คืออะไร มันมีที่มาที่ไปยังไง และที่เราใช้อยู่ทุกวัน อะไรบ้างคือ AI เราจะได้รู้ว่า มันมีจุดด้อยยังไง เช่น ยังทำอะไรผิดพลาดได้นะ หรือสมมติเราใช้ ChatGPT เราก็ต้องรู้ว่ามัน hallucinate ได้ ก็คือ ถ้าเกิดถามอะไรที่เป็นเชิงข้อเท็จจริง (factual) ก็อาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะหรือเปล่า เราควรจะระวังเรื่องอะไรบ้าง”
ในระยะยาว ข้อจำกัดเหล่านี้อาจถูกแก้ไขได้ทั้งหมด แต่ในระยะสั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังต่อไป งานวิจัยโดย โยชิจา วอลเตอร์ (Yoshija Walter) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คาไลดอส สวิตเซอร์แลนด์ (Kalaidos UAS) ยกตัวอย่างข้อจำกัดสำคัญของ AI ไว้ ได้แก่
- AI hallucination – AI สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเอง ซึ่งไม่เป็นจริง แต่ยังดูน่าเชื่อถือ
- AI alignment – AI ทำไม่เหมือนตามที่สั่ง ซึ่งเราอาจไม่ทันสังเกต
- AI runaway – AI ตั้งเป้าหมายขึ้นมาใหม่เอง
- AI discrimination – AI อาจมีอคติได้ ถ้าข้อมูลที่ใช้ในการเทรนไม่เพียงพอหรือลำเอียง
- AI Lock-In problem – AI หมกมุ่นอยู่กับเส้นเรื่องใดเส้นเรื่องหนึ่ง โดยหลงลืมภาพใหญ่ไป
สำหรับอรรถพล ข้อจำกัดที่ยังน่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือเรื่อง hallucination “เราลองนึกถึงเด็กๆ น้องๆ อายุ 10 กว่าขวบ เรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษาอยู่ ครูมีคำถาม แล้วเขาไปถาม ChatGPT น้องๆ บางคนเขาจะนึกว่านั่นคือข้อเท็จจริงจริงๆ ซึ่งมันไม่ใช่ พฤติกรรมโดยผิวเผินของ ChatGPT มันดูใช่ มันพูดจาฉะฉาน ชัดเจนมาก ดูมีหลักวิชาการ มั่นใจมากๆ ด้วย เพราะฉะนั้น เวลามัน hallucinate จริงๆ เราจะไม่รู้ อันนี้เป็นข้อเสียที่เห็นเด่นชัดที่สุด”
วิธีเรียนสอน AI Literacy
วรศักดิ์บอกว่า สิ่งที่ต้องทำคือการ ‘ตระหนัก’ ว่า AI มีอยู่จริง และจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต “มนุษย์ทุกคนจะต้องตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต และมันไม่ใช่เป็นลักษณะของกระแสที่มาแล้วก็เปลี่ยนไป มันจะมาเปลี่ยนชีวิตเราอย่างถาวร
“จุดแรกก็คือต้องตระหนักก่อน เมื่อตระหนักแล้ว ก็จะต้องดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อย ถ้าเป็นระดับประเทศ ผมคิดว่า จะต้องบรรจุเรื่องของ AI literacy เข้าไปในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มาถึงมัธยมศึกษาเลย” วรศักดิ์กล่าว
ต่อมา ในการกำหนดทิศทางของหลักสูตร ทั้งวรศักดิ์และอรรถพลอธิบายคล้ายคลึงกันว่า ควรทำให้นักเรียนได้คลุกคลี และได้ทดลองใช้ AI ในห้องเรียน
วรศักดิ์ยกตัวอย่างว่า “อย่างระดับประถมศึกษา ก็อาจจะมีตั้งแต่ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน การฝึกแก้ปัญหา เรียนตรรกะ อัลกอริทึมต่างๆ การเขียนโปรแกรมง่ายๆ ให้สนุกสนาน เขียนเป็นเกม แล้วก็สนุกกับการเขียนโปรแกรม หลังจากนั้น ก็จะต้องสอนให้เริ่มใช้แชตบอดให้เป็น ให้เขาฝึกสร้าง โต้ตอบ คุยกับ AI สร้างภาพสร้างอะไรที่ง่ายๆ เขาจะได้สนุก
“พอถึงชั้นมัธยมศึกษา ก็จะต้องพูดถึงเรื่องของระบบอัตโนมัติต่างๆ แม้กระทั่งการเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ เราต้องการให้เด็กรู้เรื่องของการพัฒนา AI ที่ต้องใช้โครงข่ายประสาทเทียม (artificial neural networks) ใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) อย่างน้อยเขาต้องรู้ว่ามันคืออะไร”
แต่ถ้าพูดอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปอีกเล็กน้อย นอกเหนือจากการคลุกคลีกับเครื่องไม้เครื่องมือของ AI งานวิจัยชิ้นเดียวกันของวอลเตอร์ที่กล่าวถึงข้างต้น ก็เสนอตัวอย่างแนวทางการนำการเรียนการสอน AI literacy มาบรรจุไว้ในระบบการศึกษาด้วย
วิธีหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอ คือการกำหนดให้มี ‘คอร์ส’ หรือ ‘วิชา’ ที่ว่าด้วย AI literacy ซึ่งควรถูกบรรจุและประยุกต์เข้าไปในหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) ที่จะต้องทำให้เห็นผลกระทบของ AI ต่อสาขาวิชาต่างๆ และต้องสอนทักษะให้กับนักเรียน ซึ่ง AI literacy ก็จะประกอบไปด้วยทักษะย่อยต่างๆ อย่างเช่น
- Architecture – เข้าใจสถาปัตยกรรมพื้นฐานของ AI เช่นเรื่องโครงข่ายประสาทเทียม
- Limitations – เข้าใจข้อจำกัดของ AI แต่ละตัว ที่สำคัญ ควรเข้าใจว่า AI ไม่ใช่เครื่องจักรสร้างข้อเท็จจริง แต่เก่งในการประมวลผลเชิงสถิติ
- Problem Landscape – เข้าใจปัญหาหลักๆ ที่ AI ยังมีอยู่ ดังที่ได้ไล่เรียงไปด้านบน
- Applicability and Best Practices – เข้าใจว่า เราใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะในห้องเรียน
- AI Ethics – เข้าใจจริยศาสตร์ที่ว่าด้วย AI
นอกจากนี้ งานวิจัยของวอลเตอร์ยังเสนอว่า ครูควรสอนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ในบริบทของการใช้งาน AI ด้วย เครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนเรื่องนี้ก็คือการจัดให้มี ‘เวิร์กช็อป’ ที่นักเรียนและครูจะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ในการใช้ AI จากนั้นก็วิเคราะห์ผลลัพธ์ และคิดวิเคราะห์-ประเมินถึงผลกระทบของ AI ในสถานการณ์ (scenario) ต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงจริยธรรม
อนาคตหลักสูตรไทย กับการปรับตัวตาม AI
“หลักสูตรก็เริ่มเอา [AI literacy] เข้ามามากขึ้น เริ่มมีเนื้อหาพวกการคำนวณ การทำโค้ดดิ้ง โปรแกรมมิ่งก็มี และผมแอบไปเห็น ก็มีกระแสเรื่อง AI เหมือนกัน” อรรถพลเล่าให้เราฟัง
ถ้าสังเกตดูความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่า หน่วยงานด้านการศึกษาของไทยก็เริ่มขยับปรับตัวตาม AI บ้างแล้ว
เช่นล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพิ่งเผยแพร่ข่าวว่า ผู้แทนสำนักงานปลัดของ อว.ได้เข้าหารือกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ในสหราชอาณาจักร เพื่อผลักดันการบรรจุเรื่อง AI ในการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาทุกคณะ
เป้าหมายที่ อว.อธิบาย คือการผลักดันให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับ AI โดยเฉพาะเรื่อง AI literacy ในทุกคณะหรือสาขาวิชา ภายในปีที่ 2 ที่เข้าศึกษา เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะด้าน AI ติดตัวไปใช้ประโยชน์หลังจากสำเร็จการศึกษา
ท้ายที่สุด เราชวนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้งสอง วิเคราะห์ถึงการอยู่ร่วมกับ AI ในสังคม ซึ่งทั้งสองเห็นตรงกันว่า AI เป็นเครื่องมือที่เราควรเข้าไปใช้ประโยชน์
วรศักดิ์บอกว่า “ผมมอง AI เป็นแค่เครื่องมือ เป็นเครื่องมือที่ฉลาดมาก ในช่วงแรกที่มันยังพัฒนาไม่ถึงจุดที่มันมีความสามารถมากกว่าคน มันก็ยังเป็นเครื่องมือของเราอยู่ แต่ในช่วงนี้ เราปฏิเสธมันไม่ได้ ถ้าเราปฏิเสธมัน ก็อยู่กับที่ เพราะโลกต้องเปลี่ยนไปอยู่แล้ว
“อย่าไปรังเกียจ เพียงแต่ใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบ และถ้าเรามีทักษะ มีความรอบรู้แล้ว เราก็ระวังตัวเป็น คอนเทนต์ไหนดูแล้วไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่ของจริง เราก็อย่าไปหลงเชื่อมัน”
ขณะที่อรรถพลกล่าวว่า “ในฐานะนักวิจัยทางด้าน AI เราก็รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้าง มันจะก่อให้เกิดผลเสีย-ผลดีอะไรบ้าง ผมว่ามันจะมีผลดีมากกว่าผลเสียจริงๆ
“ตอนนี้ AI เหมือนเป็นผู้ช่วยของเราอีกอันหนึ่ง ที่มีความสามารถประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คนที่เก่งมากมาย มีความรู้ลึกมาก สามารถคิดหาความรู้อะไรใหม่ๆ ได้ หรือมีความคิดสร้างสรรค์เหมือนกับคนได้จริงๆ แต่ผมว่ามันเป็นเครื่องมือที่ช่วยในหลากหลายด้านมากกว่า มันควรจะเป็นเครื่องมือที่ทุกคนนำมาประยุกต์ใช้กับหน้างานของทุกคนจริงๆ”
ก็น่าสนใจว่า แล้วสังคมไทยจะรับมือกับการมาถึงของ AI ในทิศทางไหนต่อไป