ผู้ใหญ่บางคนในสังคมเราก็แปลกอยู่อย่าง ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนพ่อแม่ในยุคก่อนๆ แต่ก็บังคับให้ลูกๆ เรียนหนักเข้าไว้ ยุ่งเข้าไว้ เพื่อที่จะไม่ลำบากตอนโต เด็กๆ จึงไม่เห็นกระบวนการใช้ความสร้างสรรค์ (creativity process) ของพ่อแม่ แต่เห็นเพียงแค่การใช้ทรัพยากรเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเลิศเท่านั้น
อาจเป็นไปได้ที่ลูกบางครอบครัวจะฉายแววอัจฉริยะตอนเด็กๆ แต่ก็ไม่มีเครื่องรับประกันใดๆ มายืนยัน เพราะกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นจำเป็นต้องถูก ‘ถ่ายทอด’ ใช้เวลาบ่มเพาะ และเห็นผลในระยะยาว ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการว่า การถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ผ่านความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องทำสม่ำเสมอผ่านพลังครอบครัว ถึงจะเป็นปัจจัยหลักปลดล็อคความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ได้ เราจะสร้างเด็กให้กล้าคิดได้อย่างไร ท่ามกลางสังคมที่ถูกตีเส้นไว้แล้ว เรื่องนี้มีที่มาที่ไปน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
กว่าจะเห็นค่า ‘ความสร้างสรรค์’
คำว่า ‘สร้างสรรค์’ (creative) ที่เกิดขึ้นในเด็กนั้น เอาเข้าจริงเป็นองค์ความรู้ที่แบเบาะมากในประวัติศาสตร์มนุษย์ เมื่อก่อนผู้ใหญ่ค่อนข้างดูแคลนความสามารถของเด็กๆ ว่าพวกเขาเติบโตอย่างโง่เขลาเบาปัญญา (naïve) แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องผิดชอบชั่วดี เราเพิ่งมาหาคำนิยามของความสร้างสรรค์ในเด็กราว 60 ปีก่อนเท่านั้นเอง
ในปีค.ศ. 1950 นักจิตวิทยา E. Paul Torrance เริ่มสงสัยว่า เด็กๆ น่าจะมีพรสวรรค์บางอย่างที่มนุษย์มองข้ามเป็นพันๆ ปี เขาจึงหาอาสาสมัครเยาวชนจำนวน 400 คน เพื่อดูว่าแต่ละคนมีศักยภาพในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์อย่างไร คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับงานวิจัยที่สำรวจระดับ IQ ที่ติดตามผลงานไปเรื่อยๆ จนพวกเขาเติบโต แต่นักจิตวิทยาท่านนี้ทำอีกอย่าง เขาอยากจะดูว่า เด็กๆ ที่มีแนวโน้มของระดับความคิดสร้างสรรค์และจะเติบโตโดยสร้างผลงานแบบไหน
งานวิจัยนี้ติดตามชีวิตเด็กๆ อยู่หลายปีจนพวกเขาเข้าสู่วัยทำงาน คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงในวัยเด็ก บ้างโตขึ้นเป็นนักเขียนที่มีผลงานตีพิมพ์หลายเล่ม เป็นศิลปิน จิตรกร นักดนตรี เป็นนักโฆษณา นักประดิษฐ์ที่สามารถจดสิทธิบัตร เป็นอาจารย์สอนในหลายศาสตร์ ซึ่งพวกเขาพบว่า เหล่าเด็กๆ ที่โตขึ้นสร้างผลงานได้มากๆ ล้วนมีคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า IQ ถึง 3 เท่า นั่นหมายความว่า ในระยะยาวนั้น ความสร้างสรรค์มีโอกาสสร้างความสำเร็จในด้านผลงานได้มากกว่าระดับ IQ เสียอีก
จากงานวิจัยนี้เองที่ทำให้โลกตะวันตกต้องร้อง “ว้าว” กับ ความสร้างสรรค์ในเด็กซึ่งเคยถูกค่อนแคะว่าเป็นสกิลชั้นรองๆ ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก สังคมเคยมุ่งหวังสร้างเด็กที่มี IQ มากกว่า พอผลออกมาเป็นนแบบนี้ พ่อแม่จึงเริ่มสนใจความเป็น ‘ศิลปะ’ ของลูกๆ มากขึ้น การที่พวกเขาขีดๆเขียนๆ ไร้รูปแบบ ช่างจินตนาการ อาจเป็นกระบวนการเรียนรู้สำคัญชิ้นหนึ่งที่จะกรุยรากฐานว่า พวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
อันดับแรกเราต้องแยกเด็กที่มีพรสวรรค์ตั้งแต่เกิดออกมาก่อน กลุ่มนี้เรียกว่า ‘gifted children’ พวกเขาเรียนรู้เร็ว มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองสูง มีทักษะจำเพาะที่ไม่ใช่ใครจะมีได้ อาจพูดภาษาที่สองแม้จะมีอายุเพียงแค่ 4 ขวบ หรือพอ 7 ขวบ อาจจะเล่นเพลงโมซาร์ตได้ ซึ่งโลกของเราอาจมีคนกลุ่มนี้เพียง 1% เราจึงต้องแยก gifted children ออกมาจาก creative children เพราะเด็กที่มีความสร้างสรรค์นั้นจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน โดยอาจไม่ได้โดดเด่นในทันที ไม่ได้มีทักษะอะไรแหวกแนว แต่เกิดจากการทำบ่อยๆ ที่เรียกว่า ‘Practice makes perfect.’ ก็คงไม่ผิดหนัก
เด็กแต่ละคนมีถังไซโลเก็บทักษะความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่เท่ากัน บางคนเก็บตักตวงได้รวดเร็ว บางคนเก็บได้ช้า แต่ที่แน่ๆ ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ที่ ‘ตุนไว้’ มิใช่ถังไซโลที่ว่างเปล่า ตรงนี้เองที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องค่อยๆ เสริมเติมให้ ผู้ใหญ่เป็นคนสำคัญที่สุดในการพัฒนาขีดความสามารถของเด็กๆ
ทำให้การอ่านเป็นพิธีกรรมของครอบครัว
เป็นที่ยืนยันแล้วว่า การอ่านนั้นบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ยอดเยี่ยม การอ่านทำให้พวกเขามีทักษะในหลายสาขา หากมีศักยภาพในการอ่านแล้ว ก็ง่ายขึ้นที่จะขวนขวายทักษะใหม่ๆ เช่นตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาช่วงปีค.ศ. 1990 ถือเป็นยุคทองของหนังสือเด็ก โดยมียอดคนรักการอ่านค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบอัตราส่วนของเด็กที่อ่านหนังสือกับยอดจดสิทธิบัตรที่เติบโตขึ้น ก็พบว่าสอดคล้องกันอย่างมีนัยยะ หนังสือจะให้อิสรภาพในการตักตวงความสร้างสรรค์ของเด็ก หากพวกเขาเป็นผู้เลือกสิ่งที่ต้องอ่านได้เอง เขาจะเข้าใจอิสรภาพที่นำมาสู่การที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร รู้สึกเป็นไทในการตัดสินใจ (independence)
การอ่านจึงต้องเป็นพิธีกรรมที่ต้องทำบ่อยๆ และเด็กๆ ควรเห็นพ่อแม่ร่วมพิธีกรรมนี้เช่นกัน หากเขาเห็นพ่อแม่อ่านหนังสือ จะยิ่งเสริมความคุ้นเคยและเลียนแบบที่จะอ่านตามโดยสมัครใจ
กิจกรรมกลุ่มเสริมความ ‘ยูเรก้า!’
เวลาเรานึกถึงจังหวะที่ “อ๋อ คิดออกแล้ว!” หรือ ‘ยูเรก้า’ นั้น ก็อดนึกถึง Archimedes เจ้าของคำพูดไร้ความหมายขณะที่เขานอนแช่ในอ่างอาบน้ำคนเดียวไม่ได้ ภาวะยูเรก้านั้นไม่มีปี่มีขลุ่ย จะมาวันไหนเมื่อไหร่ก็ได้ พวกเราอาจจะมีภาวะนี้เมื่อปลีกวิเวกมาทำอะไรอยู่คนเดียว มีสมาธิท่ามกลางความสันโดษ แต่สำหรับเด็กนั้น พวกเขายังไม่บังเกิดยูเรก้าได้ง่ายๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรคือไอเดียที่ใช่ที่สุด ณ ขณะนั้น ดังนั้นการที่เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กลุ่ม ทำงานกันเป็นทีม จะทำให้เด็กๆ มีโอกาสสร้างไอเดียบางอย่างที่แสนวิเศษให้กับทุกคนมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนั้นบรรดาผู้ใหญ่อาจสนใจความอัจฉริยะแบบปัจเจก (individual geniuses)
งานศึกษาพัฒนาการเด็กในรอบสิบปีให้หลังพบว่า การมีส่วนร่วม (collaboration) ของเด็กๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างสรรค์อะไรได้มากกว่าที่ตัวเขาคาดหวังไว้ พวกเราต่างล้วนทำงานอย่างเดียวดายจนมีไอเดียที่จำกัดอยู่ปริมาณหนึ่งโดยอาศัยมุมมองด้านเดียว มีมิติเดียว การมีส่วนร่วมของคนอื่นๆ จะช่วยให้เห็นไอเดียในหลากหลายมุม มีมิติที่แยบยล เจียระไนจนเป็นผลึกที่กลับไปต่อยอดในความคิดของพวกเราอีกครั้ง ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของเด็กๆ การทำงานร่วมกันส่วนใหญ่เกิดเพียงให้ห้องเรียนเท่านั้น กลับมาบ้านก็ไม่ได้ต่อยอดเพิ่มเติมแล้ว เพราะขาดการเพิ่มแรงต่อเนื่องโดยพ่อแม่ ซึ่งการโยนภาระให้โรงเรียนก็ดูจะเป็นการปัดความรับผิดชอบเกินไป
ทัศนคติที่พ่อแม่ควรเปลี่ยนเพื่อสร้าง ‘เด็กสร้างสรรค์’
ถ้าตั้งใจแล้วว่าจะสนับสนุนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ การบังคับให้พวกเขาต้องได้เกรด A ก็แทบไม่มีความจำเป็นเลย เกรดในห้องเรียนไม่ได้เป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จที่ดีสำหรับเด็กที่มีความสร้างสรรค์ (แม้คุณจะแย้งว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ใช้เกรดเป็นเกณฑ์ก็ตาม) เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่ได้ทำได้ดีทุกวิชาแบบสม่ำเสมอ แต่พวกเขาจะมีเกรดขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่ละวิชาที่ถนัด ซึ่งก็ไม่ต่ำเรี่ยดินทุกวิชาเสียทีเดียว พวกเขาจะฉายแสงในวิชาถนัด มีวิชาที่ทำได้ดีมากๆ กับวิชาที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติ แทนที่พ่อแม่จะกดดันให้เด็กๆ ต้องทำคะแนนให้ดีทุกวิชา ก็ควรเปลี่ยนเป็นการเสริมแรงบวกในวิชาที่ทำได้ดี และสนับสนุนให้พวกเขา ‘เข้าสังคม’ ตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้พวกเขาแชร์ทักษะนี้ร่วมกันกับคนอื่นๆ เห็นความปราดเปรื่องกับคนอื่นๆ ในช่วงอายุยังน้อย
คำถามเหล่านี้ย้อนกลับมาที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ว่า “พวกเราใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์แล้วหรือยัง?” เรายังทำอะไรซ้ำๆ ตามแบบแผน หรือถูกวัดผลแบบ One Size fits all กับทุกสิ่ง แล้วเรานำสิ่งนี้มาวัดผลเด็กๆ ต่อหรือไม่ ทำให้กลายเป็นกระบวนการทำซ้ำการเรียนรู้ที่ไม่พาเราไปไหนไกลหรือเปล่า ทั้งๆ ที่กระบวนการสร้างสรรค์ต้องใช้เวลาการเติบโตในใจผู้คนตลอดช่วงอายุ
ในที่สุดแล้ว ทั้งพ่อแม่และเด็กๆ ก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมแห่งความคิดสร้างสรรค์ร่วมกันได้ ด้วยการเสริมสร้างไปเรื่อยๆ และใจเย็นเพื่อดูการเติบโต เพราะธรรมชาติเองก็จำเป็นต้องใช้เวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ellis Paul Torrance – Father of Modern Creativity
Torrance Journalfor Applied Creativity