ลูกตัวร้อนต้องทำยังไง? ต้องทำยังไงให้ลูกชอบกินผัก? ให้ลูกกินซูชิได้ไหม? อยากพาลูกไปเที่ยวในวันหยุด แต่มีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องเข้าห้างสรรพสินค้าไหม?
เราเชื่อว่าคำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคุณพ่อ คุณแม่ มือใหม่ๆ อยู่เสมอๆ เพราะการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย และจำเป็นต้องมีข้อมูลมากมายมาเป็นทางเลือกให้เหล่าผู้ปกครองได้พิจารณาเป็นทางเลือกสำหรับการช่วยดูแลลูกๆ ในระหว่างทางของการเติบโต
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมากมาย ค้นหาข้อมูลใน google เมื่อไหร่ก็จะเจอคำตอบที่หลากหลายเต็มไปหมด คำถามคือ แล้วเราจะเชื่อถือข้อมูลที่เราเจอในอินเทอร์เน็ตได้มากน้อยแค่ไหนกันนะ?
นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ หมอ—ฉัตรอดุลย์ สีนะพงษ์พิพิธ ตัดสินใจทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า uwae.online เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสร้างทั้งแรงบันดาลใจในการเลี้ยงลูกให้กับเหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ตลอดจนแชร์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก บนพื้นฐานความเชื่อว่า ถ้าข้อมูลถูกต้อง ผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกก็จะถูกต้องด้วยเช่นกัน
แพลตฟอร์มนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง? คุณพ่อมือใหม่คนนี้จะมาเล่าให้ฟัง
uwae.online เริ่มต้นได้ยังไง
ย้อนกลับไปห้าปีที่แล้ว ตอนเริ่มมีลูก เรารู้สึกว่า เราอยากให้การตั้งท้องของแฟนเราในครั้งนี้เป็นการตั้งท้องที่ดีที่สุด เราจึงเริ่มค้นหาข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่หมดเลย ตัวเราเองก็มีคำถามมากมาย พอเริ่มหาคำตอบไปเรื่อยๆ ก็พบว่าข้อมูลภาษาอังกฤษมีข้อมูลเยอะมาก เช่นเดียวกับแหล่งข้อมูลภาษาไทย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าแหล่งข้อมูลไหนที่เชื่อถือได้บ้าง เราเลยเริ่มจากตรงนั้นว่า ทำไมเราไม่มีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่เชื่อถือได้บ้าง นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจสำหรับครอบครัว
สิ่งที่สำคัญของการทำแพลตฟอร์มนี้คืออะไร
นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดเลย เพราะความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องคือสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับพ่อแม่ เนื่องจากถ้าข้อมูลผิด ผลลัพธ์ของการเลี้ยงดูลูกก็จะผิดทันทีเลย เมื่อเป็นแบบนี้เราเลยมีพาร์ทเนอร์ด้านข้อมูลอย่างโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งจะส่งคุณหมอเฉพาะทางมาช่วยดูแลเรื่องคำถาม-คำตอบเกี่ยวบกับการดูแลสุขภาพลูกของคนอ่าน
ยกตัวอย่างได้ไหม
เมื่อวันก่อนมีคำถามว่า เราสามารถทำน้ำมันคลุกข้าวให้ลูกที่อายุแปดเดือนกินได้ไหม คุณหมอด้านโภชนาการก็จะมาตอบให้ได้ว่าสามารถใช้นำ้มันอะไรได้บ้าง หรือบางคำถามเช่น ทำไมลูกถึงตดเหม็นมาก อะไรทำนองนี้ก็จะมีคุณหมอด้านระบบทางเดินอาหารมาตอบ หรือคอนเทนต์ที่มาจากต่างประเทศ เราก็จะมีการคัดกรองให้ได้แล้วว่า เราจะมีแหล่งที่มาของคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือด้วย
ในฐานะคุณพ่อมือใหม่ คุณเจอคำถามอะไรบ้าง
มันเป็นเหมือนโลกใบใหม่เลยนะ ทุกอย่างเป็นคำถามหมดเลย เช่น เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว เราควรเปลี่ยนผ้าอ้อมยังไง ทำความสะอาดร่างกายลูกยังไง เล่นกับลูกยังไงให้ดี ทุกอย่างมันคือคำถามหมดเลย เราเองก็เหมือนกับพ่อแม่อีกหลายคนจะเคยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมาบ้าง แต่เราก็ไม่เคยฝึกในภาคปฏิบัติจริงๆ กับลูกของเราเองจริงๆ
จากทำคอนเทนต์มาเข้าใจปัญหาผู้ปกครองมากขึ้นไหม
เมื่อก่อนตอนเราไปนั่งอยู่ในวงที่มีพ่อแม่มือใหม่นั่งคุยกัน เราก็จะนั่งฟังได้สักพักหนึ่งเท่านั้นเพราะไม่ได้อินมากขนาดนั้น แต่พอทำข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้มาเราก็ได้คุยกับคนอื่นๆ มากขึ้น ทำให้เข้าใจว่าแต่ละคนเจอปัญหาระหว่างการเลี้ยงลูกมายังไงกันบ้าง
เราเป็นคนเลือกคอนเทนต์ที่จะลงแพลตฟอร์มนี้เองทุกชิ้น ดังนั้นเราจะรู้เลยว่าคอนเทนต์ไหนที่เคยเป็นปัญหาของพ่อแม่ไหม เป็นเรื่องที่พ่อแม่อยากรู้รึเปล่า เราจะเทียบจากตัวเองก่อน แล้วก็เทียบจากสิ่งที่ได้รู้มาจากเพื่อนๆ การทำแพลตฟอร์มนี้ทำให้เราเข้าใจขึ้นเพราะมันเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง แล้วเราก็ได้เพื่อนๆ ที่มีลูกในรุ่นๆ เดียวกันมาสะท้อนเรื่องราวให้ฟังด้วย
ได้เห็นอะไรจากการรับฟังเสียงจากพ่อแม่ที่เป็นมือใหม่บ้าง
ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจะคล้ายๆ กัน สิ่งที่จะไม่เหมือนกันคือวิธีการแก้ปัญหาจะไม่เหมือนกันเลย แม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน คนเป็นพ่อกับแม่ก็มีวิธีการต่างกัน เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากคนรอบตัวพอสมควร
เห็นว่าแพลตฟอร์มนี้ใช้ big data กับ ai มาช่วยเรื่องคอนเทนต์ด้วย
เราเห็นว่าที่ผ่านมามันมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่ล้นเกิน เราได้รับข้อมูลเรื่องเลี้ยงลูกจากหลายที่มาก ขณะเดียวกัน การเลี้ยงลูกก็มีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน เช่น คนที่เป็นแม่ก็อาจจะชอบเรื่องโภชนาการ บางคนชอบเรื่องไลฟ์สไตล์ ชอบเรื่องท่องเที่ยว
โจทย์ของแพลตฟอร์มนี้ก็คือเราอยากเป็นเหมืองของข้อมูล แต่เราไม่อยากให้คนที่เข้ามาในแพลตฟอร์มรู้สึกสับสนว่าจะอ่านข้อมูลอะไรดี เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเลยใช้ big data กับ ai และ machine learning มาช่วยคัดกรองคอนเทนต์ให้คนอ่านด้วย
สมมติว่า มีผู้อ่านหนึ่งคนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเรา อันดับแรกเขาต้องตอบคำถามก่อนว่า เป็นใคร มีลูกอายุเท่าไหร่ ความชอบของคุณคืออะไร เมื่อระบบได้ข้อมูลนี้แล้ว ก็จะแตกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้งานออกไปเป็นเจ็ดบุคลิก (persona) ว่าคุณเป็นกลุ่มไหน เป็นพ่อแม่ที่มีลูกในอายุเท่าไหร่ ที่ต้องทำแบบนั้นเพราะว่า ลูกในแต่ละวัยก็มีพัฒนาการที่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-12 เดือนเป็นช่วงที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และการเปลี่ยนแปลงเรื่องร่างกายที่สำคัญมากๆ
นอกจากนี้เราก็จะแบ่ง persona ของกลุ่มที่เป็นญาติๆ ของครอบครัวด้วยนะ ถามว่าทำไมต้องมีกลุ่มญาติ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีครอบครัวขยายค่อนข้างเยอะ ไม่ได้เป็นครอบครัวเดี่ยวเหมือนเมืองนอก ดังนั้นเด็กๆ หลายคนก็ถูกเลี้ยงขึ้นมาโดยไม่ได้ผ่านแค่พ่อแม่ แต่ยังรวมไปถึงปู่ย่าตายายด้วยเหมือนกัน
กลุ่มญาติๆ จึงถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกของพ่อแม่มากเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ วิธีการเลี้ยงดู หลักการการคิดอีกหลายอย่าง ดังนั้น เราจึงพยายามสร้างแพลตฟอร์มนี้ให้ครอบคลุมไปถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงเด็ก ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาเรามีตลาดคนอ่านที่เรียกว่า ‘แม่และเด็ก’ คำถามคือแล้วพ่อล่ะอยู่ตรงไหนของการเลี้ยงลูก เราเพิ่มเรื่องสำหรับพ่อเข้ามาด้วยเหมือนกัน
พอเราให้ระบบมาแยก persona ของผู้อ่านให้แล้ว ระบบก็แนะนำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับผู้อ่านแต่ละคนให้เป็นการเฉพาะตัวด้วย ถ้าได้เข้ามาในเว็บไซต์ก็จะมีส่วนที่เป็น ‘uwae แนะนำ’ เพื่อแนะนำคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้อ่านคนนั้นๆ สิ่งที่เราแนะนำจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์จากคุณ
แปลว่าเมื่อหนึ่งคนเข้าไปในเว็บไซต์นี้ ก็จะได้รับการแนะนำคอนเทนต์ที่ต่างกันออกไป
ไม่เหมือนเลย ถ้าลงทะเบียนกับระบบไว้ในวันแรกที่เข้ามา คนอ่านก็จะได้รับคอนเทนต์ที่แตกต่างและเหมาะกับความสนใจของเขาจริงๆ ทางเราทำ personalize ให้กับผู้อ่านถึงในขั้นที่ว่า สมมติว่าเราชอบไลฟ์สไตล์มากๆ จากที่หัวข้อไลฟ์สไตล์เคยอยู่ในด้านล่างของเว็บไซต์ พอเวลาผ่านไป ระบบก็จะดึงเอาหัวข้อนี้ขึ้นมาอยู่ด้านบนให้เลย เราใช้ ai กับ machine learning มาจับพฤติกรรมคนอ่าน ก่อนที่จะช่วยให้คนอ่านได้อ่านสิ่งที่สำคัญและเหมาะกับตัวเขาจริงๆ
หนึ่งในเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ เพราะเรารู้ว่าไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่บางคนอ่านจะค่อนข้างยุ่งมาก เขาอาจจะไม่มีเวลาไปหาเรื่องอ่านเอง เราก็จะแนะนำให้ผู้อ่านแทน พูดให้ถึงที่สุดก็คือ เราพยายามจะปรับแพลตฟอร์มของเราให้เข้ากับผู้อ่านในยุคปัจจุบัน
ไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่ในยุคนี้เลยสำคัญมากๆ
ใช่ สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ พ่อแม่หลายคนเลี้ยงลูกกับห้าง เพราะไม่รู้ว่าในวันหยุดจะพาลูกไปเที่ยวที่ไหนดี แต่จริงๆ แล้วหลายคนไม่ได้อยากเลี้ยงลูกกับห้างนะ ปัญหาสำคัญคือพ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะไปหาข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ด้วยว่ากิจกรรมที่ไหนบ้าง เราเลยรวบรวมกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวมาไว้ในปฏิทินบนแพลตฟอร์มของเราด้วย เพื่อให้เห็นว่ามันก็มีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือไปจากการพาลูกเข้าห้างนะ
ตัวระบบของเราก็จะมีฟังก์ชั่นที่ช่วยเตือนความจำด้วย เช่น ถ้าคนอ่านกฎเซฟกิจกรรมจากปฏิทินของเราไปแล้ว ระบบก็จะส่งอีเมลไปช่วยเตือนด้วยว่ากำลังจะมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้นะ หรือถ้างานไหนมีรายละเอียดที่เพียงพอ เราก็จะปักโลเคชั่นของงานเอาไว้ให้ด้วยเหมือนกัน เพื่อเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่สามารถจัดการตารางชีวิตและการเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น
มองบทบาทของคุณพ่อในยุคสมัยนี้ยังไงบ้าง
เมื่อก่อนสังคมไทยมันจะผูกติดกับเลี้ยงลูกไว้กับแม่คนเดียว จนเราเรียกตลาดนี้ว่าแม่และเด็ก แต่เราคิดว่าตอนนี้คุณพ่อเข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงลูกมากขึ้นเยอะ การเลี้ยงลูกไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงเพียงคนเดียว เราก็ได้พบว่าคุณพ่อบางคนที่เรารู้จัก เขาก็สนใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนะ นี่เลยเป็นเหตุผลที่แพลตฟอร์มนี้มีเนื้อหาสำหรับพ่อด้วย เราเลยตั้งใจที่จะทำคอนเทนต์ที่ส่งเสริมให้พ่อของแต่ละครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกด้วย
ตั้งเป้าว่าอยากพาแพลตฟอร์มนี้ไปในทิศทางไหน
สิ่งที่เรายึดเป็น value ตั้งแต่เราพัฒนาไอเดียทำแพลตฟอร์มนี้เมื่อห้าปีที่แล้วคือสี่อย่าง ได้แก่ การเป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจในการเลี้ยงลูกให้กับคุณพ่อคุณแม่ สองคือการให้ความรู้เลี้ยงลูกได้ดีขึ้น สามคือการเรื่อง entertainment ผ่านรายการต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในครอบครัว
ข้อสุดท้ายคือความสะดวกสบายกับผู้อ่าน โดยนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อเข้าและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่ด้วย