“บางทีเราออกไปข้างนอกดวงก็ไปทำให้เราได้ไปเจอสิ่งดีๆ แต่บางครั้งในวันที่ไม่มีอะไรจะถ่ายเลย เราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราในการถ่ายภาพสตรีท”
การถ่ายภาพสตรีทนอกจากจะอาศัยช่วงจังหวะที่ลงตัวแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการต่อเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป แต่เมื่อความครีเอทีฟลอดผ่านเลนส์แล้วสะท้อนกลับมาเป็นภาพ ของที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปก็อาจเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ได้ในภาพถ่ายสตรีท
The MATTER คุยกับ ระเบิด—ธนสรณ์ เจนการกิจ ครีเอทีฟและช่างภาพสตรีท ที่ครีเอตไอเดียให้รูปถ่ายของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเอาของที่ใครๆ เห็นว่าธรรมดา มาต่อกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือดึงเอาเฉดสีเด่นๆ มาใช้ จากอะไรเดิมๆ จึงเกิดเป็นภาพในมุมมองใหม่
The MATTER : ทำไมถึงเริ่มถ่ายภาพสตรีท
ธนสรณ์ : เราชอบถ่ายรูปตั้งแต่เด็กๆอยู่แล้ว สมัยมัธยมมีไฟไหม้ที่ตลาด เราก็โดดเรียน ยืมมอเตอร์ไซค์ ยืมกล้องเพื่อนไปถ่าย ทุกวันนี้ฟิล์มม้วนนั้นยังอยู่เลย มีวันนึงไปเจอเพจนึง ก็ดูมาเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันเป็นวิธีการถ่ายรูปแบบหนึ่งที่สนุกดูมี creativity ก็เริ่มสนใจแล้วเริ่มถ่าย พอมันมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในนั้น ก็เป็นอะไรที่เรารู้สึกจอยกับมันมากขึ้น เลยยังไม่เบื่อที่จะสนุกกับมัน เราชอบภาพสตรีทที่มันถ่ายที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่มีการเซ็ตและมีไอเดียอยู่ในนั้น จากของที่ธรรมดา ทำให้กลายเป็นภาพที่เราดูแล้วรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง
The MATTER : ตอนเริ่มถ่ายใช้เวลาฝึกนานไหม พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง
ธนสรณ์ : เราไม่รู้ว่าตัวเองพัฒนายังไง แต่ใช้วิธีถ่ายทุกวัน เริ่มถ่ายจากอะไรก็ได้ พอออกจากบ้านก็คิดแล้วว่าวันนี้จะถ่ายอะไรดี เพราะเรารู้สึกว่าการถ่ายสตรีทมันสนุก เราเลยแฮปปี้กับการออกไปถ่ายทุกวัน พอทำทุกๆ วัน มันก็จะฝึกให้เราถ่ายได้ทุกแนว ทุกสไตล์
The MATTER : ความยากของภาพสตรีทคืออะไร มีวิธีการถ่าย วิธีการเลือก scene อย่างไร
ธนสรณ์ : ความยากของสตรีทคือการถ่ายรูปให้คนอื่นถ่ายซ้ำไม่ได้ ซึ่งมันก็เหมือนกับการทำงานของเรา ส่วนการเลือก scene เราสนใจ scene ที่มีกราฟิก มีสี เส้น รวมถึงท่าทางของคนที่เป็นเฟรม เป็นเส้นระนาบซะส่วนใหญ่
The MATTER : การมีอาชีพเป็น creative มันช่วยส่งเสริมในการถ่ายภาพสตรีทอย่างไรบ้าง
ธนสรณ์ : มันช่วยเยอะเลยนะ จากการที่เราทำงาน creative มันช่วยให้เราดูรูปเป็นมากขึ้น การเป็น creative มันช่วยเราคิดกับรูปที่จะถ่าย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ช่วยมันคือทั้งหมดในชีวิต เช่น ของที่เรากิน วิธีเลี้ยงดูของแม่ การใช้ชีวิตทั้งหมด มันทำให้รูปออกมาเป็นตัวเรา อีกอย่างเราว่าภาพถ่ายโดยเฉพาะภาพถ่ายสตรีท มันบอกตัวตนของคนถ่ายมากประมาณนึงนะ ตั้งแต่กระบวนการที่เราเลือกถ่ายเลยว่าเราจะถ่ายอะไร
The MATTER : แล้วคุณใช้ชีวิตแบบไหน
ธนสรณ์ : เราใช้ชีวิตสนุกไปวันๆ เราทำงานในวงการโฆษณา อยู่กับคนหลายๆ คน งานที่ต้องขายของ มันมีทาร์เก็ต ที่ไม่เหมือนกันในทุกๆ product ทุกๆ brief เราก็เลยเหมือนได้เรียนรู้คน ได้สนุกกับการเรียนรู้ความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม เวลาไปถ่ายสตรีทก็เหมือนกัน เราได้ไปเจอคน ได้เรียนรู้คน ได้ไปคุยกับคน เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน มันก็จะออกมาเป็นในสไตล์ของเรา
เช่น เราอยู่ในประเทศเขตร้อน เราก็จะได้รูปเขตร้อน คนรอบตัวก็จะเป็นคนแว๊นซ์ๆ แซ่บๆ หน่อย คนไทยกินของเผ็ด สีสันจัดจ้าน เราก็จะได้รูปและสีแสงแบบนี้ ซึ่งเป็นสไตล์ของคนในประเทศเรา คนอื่นลอกเลียนไม่ได้ อย่างคนฝั่งยุโรป สแกนดิเวเนียนจะหารูปสีสดๆ แซ่บๆ แบบเราไม่ได้
The MATTER : จากที่ไปมาหลายๆ ทวีป คุณชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ธนสรณ์ : เราชอบประเทศเราในความมั่ว ความเละ กรุงเทพมันมีความมั่วมาก มีอะไรที่แปลกๆ เต็มไปหมด ซึ่งเราว่าฝรั่งน่าจะอิจฉาที่เรามีอะไรแบบนี้ เราไปอเมริกามา มันก็มี ความมั่ว ความเละ ความบ้าคลั่งในแบบนิวยอร์ก ถ้าให้เลือกเราชอบถ่ายรูปในเมืองไทยมากกว่านะ เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีความเฟรนด์ลี่ ถ่ายรูปเขาแล้วเขาไม่ว่าอะไร ถึงต่อให้เขาว่าก็ว่าไม่มาก เราไม่เคยเจอคนไทยคนไหนที่มีปัญหากับการถ่ายรูปเลย เคยเจอแต่นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย เราถ่ายเขาแล้วเขาขอให้เราลบ
The MATTER : แล้วจุดเด่นในการถ่ายสตรีทของประเทศไทยคืออะไร
ธนสรณ์ : เรามีคาแรคเตอร์ของความมั่วและความเละอยู่เยอะมาก ถ้าเดินตามฟุตปาธจะเจอตั้งแต่คนขายของ คนซื้อของ เจอคนทุกประเภทในที่ที่เดียวกัน มีตั้งแต่คนที่แต่งตัวดีมากๆ และคนที่แต่งตัวเละมากๆ มันเลยทำให้คาแรคเตอร์ ความสนุก ความมั่ว ความเละเทะของคนไทยมีของให้เล่นเต็มไปหมดเลย
The MATTER : ทำไมถึงเลือกใช้การต่อหัวต่อหางมาเป็นสไตล์งานของตัวเอง คุณเห็นอะไรใน scene นี้
ธนสรณ์ : การที่เราถ่ายแบบเล่นมุกบ่อยๆ ต่อหัวต่อหางบ่อยๆ มาจากที่เราไม่ได้เริ่มรู้จักภาพสตรีทจากงานยุคคลาสสิกแต่เรามารู้จักในยุคสมัยยุคของ Pau Buscató ,Peter Kool ยุคพี่ทวีพงศ์ พี่ไอซ์ เจษฎา เราเห็นงานที่เป็นร่วมสมัย ก็เลยชอบงานแบบนั้น ทำให้ได้เห็นงานต่อมุกเป็นส่วนใหญ่ เวลาไปถ่ายเราก็มองอะไรเป็นเป็นมุก เป็นเส้น เป็นกราฟิก ว่ามันต่อได้มั้ย ตรงนี้มันสนุกมั้ย ตอนไปถ่ายก็เหมือนเราไปเล่นสนุกกับมัน รูปก็เลยจะออกมาเป็นแบบนั้น
เราเป็นคนสมาธิสั้นมาก ไม่สามารถอยู่กับ scene นึงได้นานๆ อยู่ได้ครึ่งชั่วโมงก็พีคแล้ว แต่มีรูปเดียวคือรูปนี้ที่เราอยู่กับมันนานหลายวัน ไปถ่ายซ้ำหลายรอบ เราก็สังเกตว่าถ้ามันมีคนที่สีเสื้อดูดีเดินมา เราจะหาจังหวะที่พอดีได้ ก็ไปเฝ้าอยู่หลายวัน กินข้าวกลางวันเสร็จ ขากลับก็จะแวะรอถ่าย เพราะป้ายนี้อยู่แถวออฟฟิศเรา ก็ถ่ายไปเรื่อยๆ จนได้รูปนี้มา เพราะมันเป๊ะสุด เรารู้สึกว่ามันลงตัวที่สุดในบรรดาทุกรูปที่ได้มา แต่รูปนี้เป็นรูปที่ได้มาจากการถ่ายในวันแรก
The MATTER: ถ้าอย่างนั้นการถ่ายภาพสตรีทมันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรือขึ้นอยู่กับดวง
ธนสรณ์ : เราว่าทั้งคู่ มันคิดได้ทั้งสองอย่าง สำหรับเราบางทีก็คิดว่ามันเป็นดวงจริงๆ ที่ทำให้ไปเจอสิ่งนั้นและก็ได้คิดว่าจะต่อมัน หรือว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะเล่นกับมันแล้วรอ subject หรือรอดวงให้มีบางอย่างมาเกิดขึ้นเป็นของขวัญในภาพนั้น มันก็บวกกันนะ แต่ถ้าจะให้เราตอบ ก็จะตอบว่าความคิดสร้างสรรค์มันดูเท่กว่านิดนึง บางทีเราออกไปดวงก็ทำให้เราเจอของ แต่ในวันที่ไม่มีอะไรเลยเราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราในการทำให้รูปนั้นมันเกิดขึ้นมา
The MATTER : จินตนาการตัวเองอีก 10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร
ธนสรณ์ : ไม่รู้ ตอนนี้เราแค่สนุกกับมัน เหมือนเวลาที่เราทำงานโฆษณาเลย เราแค่แฮปปี้กับการทำตรงนี้ สนุกกับมัน แล้วก็รู้สึกว่าสังคมตรงนี้มันน่ารัก คนที่เราอยู่ด้วย คนที่เรารู้จักทั้งในวงการสตรีทและโฆษณาเวลาไปถ่ายเราก็มีความสุข เวลาเลือกรูปแล้วมาเจอรูปที่ดี เราก็แฮปปี้ รู้สึกว่าตรงนี้สนุก
เราไม่ได้คิดว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง แต่ก็คุยกับเพื่อนๆ ที่ถ่ายรูปด้วยกัน พยายามทำกลุ่มเท่ๆ อยากเป็นแบบ in public กันขึ้นมาชื่อ street nowhere ปีหน้าก็อยากจะจัด exhibition หรืออะไรบางอย่างขึ้นมา ค่อยๆทำกันไปกับกลุ่ม เวลาไปสตรีท เวลาออกไปถ่ายรูปมันเหมือนกับว่าวันนี้เราออกไปทั้งวันแล้วเราได้คะแนนดีหรือเปล่า การกลับมาดูรูปมันคือการกลับมาดูคะแนนตัวเอง