ลองคิดเล่นๆ ว่า คุณออกเดินสำรวจป่าเขาลำเนาไพร แต่ด้วยความซวยสุดๆ คุณพลัดตกเขาบาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิตในป่าลึก กว่าจะมีใครมาพบคุณก็น่าจะอีกสัปดาห์ถัดไปหรือนานไปกว่านั้น สัตว์ป่าเจ้าถิ่นคงจัดการกับซากของคุณจนเกลี้ยงเสียแล้ว ระหว่างนั้นทีมกู้ภัยอาจกระจายกำลังตามหาร่างของคุณโดยใช้เจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 100 คน อาจกินเวลาตามหานานหลายสัปดาห์ มีโอกาสคว้าน้ำเหลวมากกว่าประความสำเร็จ ถ้าประเทศไทยมีกรณีคนสูญหายในป่า หรือมีเหตุฆาตกรรมอำพรางคดีทิ้งร่างของเหยื่อในป่าลึก จะมีเครื่องมือใดที่ช่วยให้งานที่เสมือนงมเข็มในมหาสมุทรง่ายขึ้นและใช้ทรัพยากรน้อยลงได้บ้าง
แต่ทว่า ในอีกไม่นานนี้ ทีมกู้ภัยกำลังจะมีเทคโนโลยีใหม่เป็นดวงตาเจ้าเวหาที่ช่วยตามหาร่างผู้ประสบภัยหรือเหยื่อฆาตกรรม ที่มองทะลุผ่านแมกไม้อันหนาทึบ ระบุพิกัดของร่างมนุษย์ได้ที่ผ่านกระบวนการวิจัยในเร็วๆ นี้
ในออสเตรเลียมีกรณีผู้สูญหายในป่าค่อนข้างมาก ด้วยความที่เป็นสถานพักผ่อนฮิตฮอต มีผู้นิยมท่องเที่ยวตามธรรมชาตินับล้านคนต่อปี พอมีเหตุคนหายในป่าทีไร ก็ต้องมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตามหา ซึ่งมีคนเท่าไหร่ก็ไม่พอ งานวิจัยล่าสุดจากกรมตำรวจออสเตรเลียพยายามติดตั้งเทคโนโลยีใหม่เข้าไปยังอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก (UAV : Drone) โดยมีจุดประสงค์แรกเริ่มว่า เจ้าโดรนตาวิเศษนี้สามารถระบุร่างของผู้เสียชีวิตในป่าจากคดีฆาตกรรมได้ สามารถค้นหาสุสานที่ฝังศพคนมากๆ (mass grave) แม้จะมีต้นไม้หนาแน่นบดบังวิสัยทัศน์ก็ตาม ซึ่งการใช้กำลังคนตามหามักคว้าน้ำเหลว ไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ความเสี่ยงสูงได้ ยิ่งทำให้โอกาสพบผู้ประสบภัยน้อยลงไปทุกนาที
โดรนที่ได้รับการเพิ่มศักยภาพใหม่นี้ ใส่เทคโนโลยี ‘LiDAR’ (light detection and ranging) (อ่านว่า ไลด้า) เป็นเทคโนโลยีช่วยการสำรวจซึ่งวัดระยะทางเป้าหมายด้วยแสงเลเซอร์เป็นจังหวะและวัดพัลส์สะท้อน เพื่อสร้างรูปจำลองสามมิติดิจิทัล จริงๆ เทคโนโลยีนี้กลับไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย เป็นสิ่งที่คุ้นเคยและใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในหมู่นักสำรวจด้านโบราณคดี ธรณีวิทยา แต่การดัดแปลงครั้งนี้น่าสนใจ ที่เทคโนโลยี LiDAR จะเข้ามาช่วยด้านนิติวิทยาศาสตร์และการกู้ภัย โดรนที่ติดตั้ง LiDAR จะสามารถสำรวจพื้นที่ได้กว้างขวาง ชี้เลเซอร์ไปยังเป้าหมายและรอสัญญาณสะท้อนกลับเพื่อสร้างแบบจำลองของพื้นผิว ข้อมูลที่ได้จะมีทั้งลักษณะของผืนป่า ผิวดินที่ปกคลุม หรือสิ่งมีชีวิต
ผลงานวิจัยนี้พัฒนาขึ้นโดยสถาบัน Victorian Institute of Forensic Medicine ในเมืองเมลเบิร์น มีการทดลองประสิทธิภาพที่ออกจะแปลกๆ หน่อยแต่ก็โชว์ศักยภาพได้ดี โดยทีมผู้ร่วมวิจัยจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม คือ ‘ทีมซ่อนศพ’ และ ‘ทีมค้นหา’
ทีมซ่อนศพจะได้รับมอบหมายให้นำศพที่ได้รับการบริจาคอย่างถูกต้อง นำไปฝังซ่อนในป่าลึกภายในเนื้อที่บริเวณ 20,000 ตารางเมตร โดยรูปแบบการซ่อนจะมี 3 แบบ คือ 1.ซ่อนเพียงศพเดียว 2.ซ่อนศพที่รวมกันสามร่างขึ้นไป 3. หลุมศพเปล่าๆที่ขุดเพื่อหลอกล่อโดรน
ทีมค้นหาจะไม่รู้เลยว่าศพกระจัดกระจายอยู่ที่ไหนบ้าง มีแค่ข้อมูลระยะค้นหา 20,000 ตารางเมตรเท่านั้น จากนั้นจะใช้โดรนที่ติดตั้งเทคโนโลยี LiDAR ในการค้นหา โดยระบบ LiDAR จะทำการสำรวจพื้นที่ป่า แต่จะลบภาพต้นไม้ใบหญ้าออก ให้เห็นเพียงแค่ดินผิวหน้าและชั้นดินที่อยู่ลึกลงไป ผลปรากฏว่า ทีมค้นหาพบแหล่งซ่อนศพได้ 5 ใน 6 จุด ซึ่งมันอาจจะไม่ได้แม่นยำระดับระบุได้ถูกต้อง 100% ซึ่งอาจจะต้องให้ระบบได้เรียนรู้และจดจำอีกสักระยะในการระบุลักษณะของการขุดฝังศพ และ LiDAR ยังมีข้อจำกัดในการแยกแยะความต่างระหว่างหลุมที่มนุษย์ขุดกับหลุมที่เป็นฝีมือสัตว์ป่าขุด พวกหมูป่า กวาง หมี ก็มีลักษณะหลุมที่แตกต่างกันไปอีกเช่นกัน
แต่เทคนิคที่นำมาปรับใช้ในการค้นหานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง และอาจจะง่ายขึ้นด้วยซ้ำในกรณีค้นหาบุคคลสูญหายแต่น่าจะยังมีชีวิต โดรนที่ติดตั้งระบบ LiDAR จะช่วยลดระยะเวลาในการค้นหา ลดงบประมาณที่สูญเสียไปในการเกณฑ์กำลังคน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่ ถึงอย่างไรก็ตามโดรน LiDAR ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่แกะกล่องราคาค่าตัวยังค่อนข้างสูง ราว 60,000 ดอลล่าห์ (ประมาณ 1,913,6400 บาท) ทีมวิจัยจึงอาจต้องลดสเป็กลงเพื่อพัฒนารุ่นที่มีราคาถูก เช่น เปลี่ยนกล้องเป็น GoPro แทน แล้วใช้เลนส์ที่ถูกลงหน่อย แต่สามารถบันทึกภาพแสงอินฟราเรดเพื่อถ่ายให้เห็นผิวหน้าดิน แต่ถึงอย่างนั้น โดรนรุ่นประหยัดกลับทำได้ไม่ดีนักในพื้นที่ป่าทึบ เหมาะสำหรับใช้ในที่เปิดโล่งเท่านั้น
ในอนาคตทุกคนเชื่อว่า เทคโนโลยี LiDAR จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ระบบ hardware จะถูกลดขนาดให้เล็กลงจนสามารถเอาไปดัดแปลงใช้สอยงานด้านอื่นๆ ได้มากกว่าการทำแผนที่สำรวจ มันอาจใช้สืบค้นคดีให้กับเจ้าหน้าที่เช่นในกรณีที่ศพถูกทิ้งไว้จนคดีอาจจะนิ่งไปเงียบไปแล้ว แต่ในไม่ช้า ระบบการตามหาหลักฐานผู้กระทำผิดจะสามารถพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวล
เขาว่า “เวรกรรมตามติด” แต่อีกหน่อย เวรกรรมอาจมาในรูปแบบ “โดรนกลางเวหา”
Journal Australian Journal of Forensic Sciences Volume 45, 2013 – Issue 4