“เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับโคโค ในช่วงอันแสนสั้นนั้น ผมและเธอได้แชร์สิ่งพิเศษร่วมกัน โคโคมีเรื่องราวมากมายพยายามจะบอกผม เรื่องราวชีวิตของเธอในแต่ละวัน มันล้วนเต็มไปด้วยการมีชีวิต ความรัก และแม้กระทั่งความตาย”
โรบิน วิลเลียมส์ พบ โคโค ปี 2001
สิ่งมีชีวิตมีความอ่อนไหวต่อโลกใบนี้ขนาดไหน พวกมันเข้าใจความซับซ้อนของธรรมชาติได้ดีกว่าเราไหม? หรือมนุษย์เองต่างหากที่เข้าใจสิ่งอื่นๆ ‘น้อยไป’ จนหลงลืมไปแล้วว่า มนุษย์เองก็ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความละเอียดอ่อนอยู่เช่นกัน
สำหรับพวกเราแล้ว โคโคเป็นเพื่อนสายพันธุ์ใกล้เคียงที่คอยย้ำเตือนว่า มนุษย์เป็นผู้มีความละเอียดอ่อน เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณค่า และสามารถปฏิบัติต่อโลกใบนี้ได้ด้วยความอ่อนโยน
หากมีช่วงใดที่คุณหลงลืมไป โคโคจะบอกกับคุณอีกครั้งด้วย ‘ภาษามือ’ และ ‘หัวใจ’
โคโค (Koko) กอริลล่าผู้มีหัวใจแห่งการเยียวยา ได้จากโลกใบนี้ไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่มีอายุ 46 ปี เธอจากไปอย่างสงบด้วยการหลับ ขณะอยู่ในการเลี้ยงดูของมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร The Gorilla Foundation ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ สหรัฐอเมริกา โคโครู้จักกันในนาม ‘ทูตสันติไมตรีแห่งสรรพสัตว์ใกล้สูญพันธุ’
โคโคได้สัมผัสหัวใจมนุษย์นับล้าน เป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ผ่านทักษะการสื่อสารอันเต็มไปด้วยความเมตตาและการเห็นอกเห็นใจ
ด้วยโอกาสพิเศษจึงขอเชิญชวนมนุษย์ผู้ละเอียดอ่อน ตามติดหัวใจของโคโคว่า เธอได้มอบความมหัศจรรย์อะไรในความทรงจำของพวกเราบ้าง เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีความสุขได้ดั่งโคโค
1. เมื่อมนุษย์ทำลายกำแพงของสายพันธุ์ด้วย ‘ภาษามือ’
เราสามารถทำให้ไพรเมตอื่นๆ สื่อสารกับมนุษย์ได้หรือไม่? นั่นเป็นที่มาของโครงการโคโค (Project Koko) ที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อศึกษาการตระหนักรู้ผ่านการสื่อสารด้วยภาษาที่มนุษย์และกอริลล่ามีร่วมกัน ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำสำเร็จมาก่อน ตัวโครงการเองมีการวิวัฒนาการไปสู่การสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ได้เจาะจงไปที่ภาษามือเท่านั้น แม้โจทย์แรกๆ ของโครงการจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลงานวิจัยด้านพฤติกรรมไพรเมตและการสื่อสารในมิติเชิงวิชาการ แต่เมื่อโครงการพัฒนาเติบโตไปเรื่อยๆ โคโคกลับพิสูจน์ว่า เธอมีความพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ มีความซับซ้อนทางด้านอารมณ์ และสามารถแสดงออกได้อย่างประจักษ์
โคโคกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่นำไปสู่การขบคิดเรื่อง สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) การให้ความสำคัญของถิ่นที่อยู่ และผลักดันให้มนุษย์ลดความเป็นมนุษย์ลง เพื่ออยู่ร่วมกับโลกใบนี้อย่างกลมกลืน
2. เฟ้นหา ‘กอริลล่า’ สุดพิเศษ
โคโคเป็นกอริลล่าสายพันธุ์ Western Lowland Gorilla ที่อยู่ในสถานะอนุรักษ์ ‘ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง’ โคโคเกิดในสวนสัตว์ San Francisco Zoo ในปี 1971 โดยมีชีวิตช่วงวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นนัก เธอไม่ค่อยกินอาหาร ป่วยง่าย เป็นลูกลิงขี้โรคน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานสำหรับกอริลล่า จึงต้องใช้ชีวิต 6 เดือนแรกในห้องกระจกของส่วนดูแลลูกสัตว์เล็ก โดยอนุญาตให้ผู้เข้าชมสามารถมองเห็นพฤติกรรมอันใฝ่รู้ของลิงน้อยโคโคได้ แม้มันจะไม่แข็งแรงมากก็ตาม
หนึ่งในผู้ชมที่ถูกดึงดูดไปกับพฤติกรรมของโคโค คือ ‘แฟรนซีน เพนนี แพตเทอร์สัน’ (Francine Penny Patterson) นักจิตวิทยาและนักพฤติกรรมสัตว์ ขณะที่เธอยังเป็นนักศึกษา ป.เอก จากรั้วมหาวิทยาลัย Stanford เธอเสนอตัวกับทางสวนสัตว์เพื่อขอมีสวนร่วมในการดูแลสุขภาพโคโคให้แข็งแรก และขออยู่ทำวิจัย ป.เอก ในสาขาจิตวิทยา โดยสวนสัตว์ตอบตกลงและทำสัญญากับเพนนีว่าเธอต้องทำวิจัยให้สำเร็จภายใน 4 ปี
3. เปลี่ยนบ้านใหม่สู่รั้ว ‘วิชาการ’
หลังจากผ่านไป 3 ปี โครงการวิจัย ป.เอก ของเพนนีเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โคโคจึงต้องย้ายบ้านจากสวนสัตว์ไปอาศัยที่รั้วมหาวิยาลัย Stanford พร้อมกับเธอและทีมวิจัย โดยระหว่างนั้นโครงการได้ต้อนรับกอริลล่าเพศผู้เพิ่มอีก 2 ตัว คือ ‘ไมเคิล’ (Michael) และ ‘นดูเม’ (Ndume) ภาษาสวาฮีลี แปลว่า ผู้ชาย (ใช้กับสัตว์) จนครอบครัวต่างสายพันธุ์มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเพนนีทำวิทยานิพนธ์ ป.เอกจบ ก็ยังคงรู้สึกผูกพันกับเหล่ากอริลล่า แม้ผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆ จะแยกย้ายไปทำงานใหม่ๆ ของตัวเองแล้ว เพนนี (ดร. แพตเทอร์สัน) ตัดสินใจใช้ชีวิตของเธออยู่กับเหล่ากอริลล่าต่อไป โดยใช้กระบวนการศึกษาพฤติกรรมสัตว์บนหลักการแห่งความเมตตา ไม่บังคับ ไม่ลงโทษ และไม่รีบร้อน
โครงการวิจัยนี้จึงมีระยะเวลายาวนานถึง 40 ปี ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้นานเช่นนี้มาก่อน เพราะนักวิจัยต้องอุทิศตัวสูงมาก
ทุกๆ วัน ทีมวิจัยต้องสอนภาษา สังเกตการโต้ตอบของกอริลล่า และตีความหมายออกมาโดยมีการจดบันทึกละเอียดทุกกระบวนการ ซึ่งน้อยคนนักในโลกจะมีความอดทนและมีสายตาที่อ่อนโยนต่อกอริลล่าผู้น่าเกรงขาม
4. ปลดปล่อยความเป็น ‘อัจฉริยะ’
ภายใต้การฝึกสอนของเพนนี กอริลล่าทั้ง 3 เริ่มแสดงศักยภาพของการเรียนรู้อันเป็นเอกลักษณ์ โคโค เรียนรู้และสื่อสารภาษามือได้ถึง 1,000 คำ และฟังคำพูดของมนุษย์เข้าใจได้ 2,000 คำ ยิ่งพิเศษไปกว่านั้นโคโคสามารถสร้างประโยคที่มีความต่อเนื่องได้ โดยนำท่าทางภาษามือมารวมกันเป็นประโยคที่เป็นเหตุเป็นผลตามที่เธอต้องการ เช่น “เปิด-ประตู-ขอบคุณ” “หิว-ดื่มน้ำ-โคโค-รัก” “ทีวี-เปิด-ดีใจ”
ส่วน ‘ไมเคิล’ กอริลล่าเพศผู้ที่โครงการวางแผนให้เป็นคู่เดทกับโคโค ทั้งสองกลับไม่มีพัฒนาการความสัมพันธ์โรแมนติกใดๆ แต่รักษาไว้แค่ ‘พี่น้อง’ (มีเหตุผลว่า กอริลล่าเพศผู้ในธรรมชาติจะมีความสัมพันธ์แบบ ‘ฮาเร็ม’ ที่ต้องมีตัวเมียมากกว่า ตัวผู้ถึงจะแสดงออกในการเกี้ยวพาราสี แต่ในโครงการมีโคโคเป็นเพศเมียเพียงตัวเดียว) เจ้าไมเคิลมีพรสวรรค์ในการวาดรูป และติดการ์ตูนเรื่อง ‘อะลาดิน’ ของดิสนีย์
‘นดูเม’ กอริลล่าเพศผู้ตัวที่ 2 มีอายุอ่อนกว่าโคโค 10 ปีถูกส่งมาเป็นคู่เดทให้กับโคโค โดยทั้งคู่เจอกันครั้งแรกผ่าน VDO นัดเดท (เป็นกลยุทธ์ผ่านงานวิจัย) ก่อนที่จะมาเจอตัวจริง แต่ความสัมพันธ์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อนดูเมกลับไม่พัฒนาความสัมพันธ์กับโคโคเช่นกัน ความสัมพันธ์ทั้งคู่นั้นออกไปทางเพื่อนสนิทมากกว่า ซึ่งนดูเมสามารถเรียนรู้ภาษามือได้ดีไม่แพ้โคโค แต่จะซุกซนกว่าตามประสาลิงหนุ่ม
เรียกได้ว่าโคโคอกหัก 2 ครั้งซ้อน แต่ทั้ง 3 ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่กัน
จนกระทั่งปี 2000 ไมเคิล ตายด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิด hypertrophic cardiomyopathy (HCM) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมขณะมีอายุ 27ปี โรคชนิดนี้เป็นโรคเดียวกันกับที่นักกีฬามนุษย์ที่ดูแข็งแรงเสียชีวิตกะทันหันกลางสนามขณะแข่งกีฬา
5. ทำไมต้องใช้ ‘ภาษามือ’
ดร.เพนนีตัดสินใจเลือกใช้ภาษามือรูปแบบ American Sign Language (ASL) ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินทั้งหูหนวกและหูตึงใช้ติดต่อสื่อสารในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เช่น หากประโยคภาษาอังกฤษมีโครงสร้าง Subject + Verb + Object ภาษามือแบบ ASL จะมีโครงสร้าง Object + Subject + Verb
English : The boy threw the ball
ASL : BALL, BOY THROW
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการสอนลิงชิมแปนซีด้วยภาษามือ เมื่อนำมาลองสอนกอริลล่าบ้าง พวกมันก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่สัปดาห์ โคโคสามารถนำท่าทางผสมให้สื่อความหมายได้ โดยมีระดับการเรียนรู้ใกล้เคียงกับเด็ก ซึ่งช่วงอายุที่ความสามารถการเรียนรู้คำใหม่ขึ้นพีคคือช่วง 2.5 – 4.5 ปี เทียบเท่ากับมนุษย์เด็กอายุ 2 ถึง 4 ขวบ
ภายใน 3 ปีแรก โคโคก็เก็บไปถึง 300 ท่า และตลอดชีวิตของเธอได้เก็บท่าทะลุไปกว่า 1,100 ท่า ซึ่งโคโคเข้าใจความหมายได้อย่างดี ตั้งแต่ท่าพื้นฐานง่ายๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม เพิ่มขึ้น ลดลง รวมไปถึงการสื่อสารด้านอารมณ์อย่าง เศร้า เสียใจ รัก โกรธ ขอโทษ จนไปถึงการสื่อสารเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้น เช่น หลอก อึดอัด สุภาพ สกปรก โง่เง่า ทำให้โคโคแทบจะสื่อสารในบริบทต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เธอยังเข้าใจความหมายเชิงนามธรรม เรื่องความทรงจำ เรื่องเล่า ภาพยนตร์ รูปถ่าย หรือรูปภาพในหนังสือ โดยสามารถบอกได้ว่าคืออะไร เกิดอะไรขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล
และที่สำคัญ โคโคแสดงท่าทีไม่สบอารมณ์หากเธอสื่อสารไปแล้ว มนุษย์ตีความผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่เธอต้องการ
6. โคโคและเพื่อนเซเล็บ
โคโคมีเพื่อนเซเล็บมากมายที่มาเยี่ยมเธอไม่ขาดสาย ทั้งดาราอาวุโส Betty White นักร้อง Sting นักแสดงฮอลลีวูด Leo DiCaprio, William Shatner และ Jane Goodall นักสัตววิทยาชื่อดังที่เชี่ยวชาญชิมแปนซี ก็ยังหลงรักความแสนรู้ของโคโค
พวกเขาไม่ได้มาเพียงแค่เล่นสนุก แต่โคโคได้กระตุ้นความตื่นตัวถึงสภาพการเป็นอยู่ของพวกพ้องกอริลล่าในธรรมชาติที่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
แต่เพื่อนคนสำคัญของโคโค ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกประทับใจมากที่สุดคือ นักแสดงตลกผู้วายชนน์ ‘โรบิน วิลเลียมส์’ (Robin Williams) ทั้ง 2 พบกันในปี 2001 โดยโรบินมีภารกิจสร้างแคมเปญเพื่อรณรงค์การยุติล่ากอริลล่าในหลายประเทศ
“โคโครู้สึกผูกพันกับโรบินโดยทันที เมื่อพวกเขาสบตากัน” ดร.เพนนี เล่าถึงวินาทีสำคัญ
“คุณรู้ไหมว่ากอริลล่าอย่างโคโค สามารถสัมผัสส่วนลึกในจิตใจคุณได้เช่นกัน เธอมองเห็นความเป็นธรรมชาติในตัวคุณ และเธอตอบสนองต่อเขาด้วยท่าทางอบอุ่นเป็นมิตร” โคโคสื่อสารกับโรบินด้วยภาษามือ ขอให้เขาจี้เอว แล้วหัวเราะร่วนไปพร้อมๆ กัน
“เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับโคโค ในช่วงอันแสนสั้นนั้น ผมและเธอได้แชร์สิ่งพิเศษร่วมกัน โคโคมีเรื่องราวมากมายพยายามจะบอกผม เรื่องราวชีวิตของเธอในแต่ละวัน มันล้วนเต็มไปด้วยการมีชีวิต ความรัก และแม้กระทั่งความตาย” โรบิน วิลเลียมส์ กล่าว
แต่เรื่องเศร้าเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อ โรบิน วิลเลียมส์ เพื่อนสนิทของโคโคเสียชีวิตกะทันหัน ดร.เพนนีจึงต้องรับหน้าที่สำคัญแจ้งข่าวการตายให้โคโครู้ โดยพยายามสื่อสารผ่านภาพความหมายและภาษามือ
โคโคทำท่า ‘ร้องไห้’ และเธอก็ดูเงียบงันไปหลายสัปดาห์
ทุกคนที่รู้จักกับ โรบิน วิลเลียมส์ พูดไปในเสียงเดียวกันว่า หลังจากที่เขาได้พบกับโคโค โรบินผู้เต็มไปด้วยพลังสนุกสนานค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปสู่พลังบวกที่เต็มไปด้วยความเมตตาอ่อนโยนต่อโลกมากขึ้น
คุณสามารถชม VDO ทั้ง 2 ได้ที่นี่ Koko’s Tribute to Robin Williams
7. โคโคชอบทำอะไรในวันว่าง
ในวันว่างๆ โคโคมีกิจกรรมหลายอย่างที่ชอบทำ ทั้งการดูวิดีโอหนังโรแมนติก ซึ่งหนังที่ดูบ่อยๆ ก็คือ Pretty Woman, Maid in Manhattan, Big โคโครักสัตว์ เธอชอบเลี้ยงแมว โดยเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวจนพวกมันเติบโต บางทีก็กอดตุ๊กตาเด็กทารก แปรงฟัน ขัดฟัน บางครั้งก็วาดภาพด้วยนิ้วมือ
ด้านการเซอร์วิสแฟนคลับ โคโคก็จะนั่งฟังจดหมายที่แฟนคลับเขียนถึง โดยมี ดร.เพนนีเป็นคนอ่านให้ฟัง เวลามีเหล่าเซเล็บมาเยี่ยมที่ศูนย์วิจัย เธอก็ต้อนรับด้วยท่าทีพึงพอใจ บางครั้งก็อ้อนให้นักวิจัยเกาหลังให้ วันดีคืนดีก็ถ่ายภาพตัวเองผ่านกระจกเงา ความขี้เล่นของโคโคคือมักเลียนแบบท่าทางของนักวิจัด้วยการยืนมองป้าย ‘to do lists’ ที่แปะอยู่ข้างฝา แล้วถือปากกาครุ่นคิด
โคโคชอบการฉลองวันเกิด ของกินที่เธอโปรดปรานคือ เมล็ดเจีย ต้นอาเคเชีย ส้ม และกุหลาบแดง เวลาตึกๆ ก็จะปีนไปเดินเล่นในส่วน Outdoor ของศูนย์วิจัย และนั่งตากแดดยามเช้า บางครั้งก็จะชอบทำห้องรกๆ และนอนกลิ้งไถไปมา
8. Project Koko เพื่อสรรพสัตว์
Project Koko เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยด้านการสื่อสารระหว่างคนกับสัตว์ที่มีระยะเวลาโครงการมากที่สุดในโลก จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นมูลนิธิ The Gorilla Foundation โดยมีพันธกิจที่หลากหลายไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นวิจัยอย่างเดียว แต่ยังพยายามสื่อสารไปสู่สังคมเรื่องวิกฤตด้านความหลากหลายทางชีววิทยา โคโครับหน้าที่เป็น ‘ทูตสันติไมตรีแห่งสรรพสัตว์ใกล้สูญพันธุ์’ ออกสื่อเพื่อย้ำเตือนมนุษย์ที่หลงลืมสรรพชีวิตอื่น
โดยมีหลักการสำคัญต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเมตตา เห็นอกเห็นใจ และมองถึงผลกระทบที่กระบวนการวิทยาศาสตร์อาจบั่นทอนสวัสดิภาพสัตว์ ดังนั้นโครงการจึงไม่ได้โฟกัสไปแค่กอริลล่าอย่างเดียว พวกเขายังพยายามสร้างการรับรู้สวัสดิภาพสัตว์ในวงศ์ลิงใหญ่ (Great ape) ทั้งโบโนโบ ชิมแปนซี อุรังอุตัง ซึ่งเราล้วนแชร์ลักษณะทางกายภาพและจิตใจร่วมกัน
แม้โคโคได้จากทุกคนไปแล้ว แต่เธอได้สัมฤทธิ์ผลในการสื่อสารว่า “มนุษย์และทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความอ่อนโยน”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Koko & The Gorilla Foundation
Koko, the beloved gorilla who communicated through sign-language, dies at age 46
Koko’s Tribute to Robin Williams
youtube.com/watch?v=I9I_QvEXDv0
Koko the Gorilla Use Sign Language in This 1981 Film
youtube.com/watch?v=FqJf1mB5PjQ
Illustration by Waragorn Keeranan