ถึงฤดูกาลเที่ยวอุทยานอีกแล้ว! ใครๆ ก็อยากจะไปหายใจให้เต็มปอด ปล่อยตัวปล่อยใจให้แมกไม้โอบกอดคุณ ถ้าการกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเป็นเรื่องจำเป็น คุณเองกลับทำอะไร ‘เกินความจำเป็น’ ต่อธรรมชาติหรือเปล่า? จริงหรือที่ป่าและขุนเขาจะพร้อมต้อนรับคุณอยู่เสมอ เมื่ออุทยานต้องรับมือนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อเสพธรรมชาติ แต่ก็มักทิ้งอะไรไม่น่ารักไว้ข้างหลังเสมอ ถ้าคุณมีใจรักธรรมชาติจริง 10 ข้อเท็จจริงนี้คุณทราบแล้วหรือยัง?
The MATTER ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน บุกป่าผ่าดงไปกับสัตวแพทย์ชื่อดังผู้เปรียบเสมือนกระบอกเสียงแห่งพงไพร หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่น่าจะเป็นสัตวแพทย์รักษา ‘สัตว์ป่า’ สายตรง และเป็นผู้เห็นความทุกข์ทรมานของพวกมันในแบบ first hand ที่ใกล้ชิดที่สุด ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ปราศจากความรู้และความมักง่ายของผู้คนที่อ้างตัวเองว่า ‘รักธรรมชาติ’ มักตกไปที่หมอล็อตนี่เอง
“ผมจะเลือกรักษาเป็นสิ่งสุดท้ายเสมอ” หมอล็อต ตอบหนักแน่น ชัดเจน
ทำไมสัตวแพทย์ถึงเลือก ‘รักษา’ เป็นสิ่งสุดท้าย แล้วตัวคุณเองจะแตกต่างจากคนที่แอบอ้างว่ารักธรรมชาติเพียงแค่ลมปากอย่างไร? พบ 10 ข้อเท็จจริงของพงไพรที่หมอล็อตอยากให้คุณรู้
1. พลาสติก เพชฌฆาตเงียบ
ไม่มีอะไร ‘ฆ่า’ ได้เลือดเย็นเท่าพลาสติก มันคือมือสังหารอันดับต้นๆ ที่ค่อยๆ ฆ่าสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่สะเทือนขวัญมากที่สุด และแทบไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนมีโอกาสเห็นเบื้องหลัง สัตว์ป่าเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะกวางและช้าง ล้วนมีขยะพลาสติกอัดแน่นอยู่ในกระเพาะอาหาร ช้างอาจดีหน่อยที่มันสามารถขับถ่ายเอาพลาสติกออกจากร่างกายได้จำนวนหนึ่ง (แต่กินเข้าไป 100% ก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาหมด) แต่กวางดูไร้หนทางที่สุด ทุกครั้งที่ทีมสัตวแพทย์ผ่าท้องกวางออก จะพบกับก้อนขยะที่กวางย่อยสลายไม่ได้ ทำให้มันมีอายุขัยสั้นลง มีอาการทุพโภชนาการเกือบทุกตัวที่คุณพบ
จุดกางเต็นท์เป็นบริเวณที่มีขยะมากที่สุด แม้อุทยานจะทำจุดทิ้งขยะที่เป็นลูกกรง เพื่อป้องกันสัตว์ป่าคุ้ยขยะ แต่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็ยังทิ้งขยะนอกเต็นท์ ซึ่งเป็นความละเลยที่ไม่น่าให้อภัย
2. อย่าให้อาหารสัตว์ในทุกกรณี
ฮัลโหล! เธอไม่ใช่สโนวไวท์ซะหน่อย ที่จะมีสัตว์ป่ามาเดินตามต้อยๆ เหมือนในนิทาน แม้พวกมันจะทำตัวเป็นมิตรขนาดไหน ก็ไม่ใช่เหตุผลที่คุณต้องให้อาหาร เขาใหญ่เป็นอุทยานที่สัตว์ป่ามักอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มาก แต่บอกเลยนั่นว่า ‘ไม่ใช่สัญญาณที่ดี’ การที่คุณให้อาหารเป็นการเร่งให้สัตว์ป่าเสียนิสัย และเชิญชวนให้สัตว์ป่าอื่นๆ พากันเฮโลออกจากป่าอันแท้จริงเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แย่งชิงพื้นที่ระหว่างสัตว์ป่าและมนุษย์ เป็นจุดชนวนให้ปัญหาใหญ่ๆ ตามมาอีกเป็นโขยง
สัตว์ป่าจะเสียพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างถาวรหากเข้ามาขออาหารกิน ทีมสัตวแพทย์พบว่า สัตว์ป่าเหล่านี้ล้วนขาดสารอาหารที่มันควรจะหาได้เองตามแหล่งธรรมชาติ แต่เลือกไปกินขนมมนุษย์ที่มีปริมาณโซเดียมสูง ทำให้พวกมันเป็นโรคไต ร่างกายอ่อนแอ และตายในที่สุด
สัตว์ป่าบางชนิดติดใจรสชาติ และมักทำอะไรบ้าบิ่นขึ้นเรื่อยๆ เช่นการบุกรื้อเต็นท์นักท่องเที่ยว ทำร้ายมนุษย์เพื่อแย่งชิงอาหาร วิ่งทะยานสวนรถอย่างกล้าได้กล้าเสีย เพราะคิดว่า เดี๋ยวคนจะจอดชะลอให้อาหาร
กวางยังเป็นตัวอัญเชิญนักล่าทางอ้อมโดยเฉพาะ ‘หมาใน’ ที่ดุร้าย อาจเข้ามาหากินในพื้นที่กางเต็นท์มากขึ้น อาจเลวร้ายถึงขั้นทำร้ายนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งแพร่กระจายโรค
3. เสียงดัง ทำให้ป่าเตลิด
มันเป็นมารยาทที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เมื่อคุณมาเที่ยวธรรมชาติ หลายคนคิดว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไร ต่างตะโกนโห่ร้อง หรือขนคาราโอแกะมาทั้งคันรถ ราวกับอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่จัดคอนเสิร์ต
เรื่องเสียงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากๆ แม้หูคุณจะบอกว่าไม่ดัง แต่หูของสัตว์ป่าแตกต่างจากคุณมาก พวกมันสามารถรับความถี่ที่หูของมนุษย์ไม่ได้ยิน จากโครงการศึกษาวิจัย ‘แนวระวังภัยสัตว์ป่า โดยกำแพงคลื่นความถี่และระบบสื่อสาร โทรคมนาคม’ พบว่า สัตว์ป่าสามารถได้ยินเสียงในช่วงคลื่นความถี่ประมาณ 17 เฮิรตซ์ ถึง 100 กิโลเฮิรตซ์ โดยเฉพาะช้างเป็นสัตว์ที่รับสัญญาณคลื่นต่ำช่วงมาก 12 – 24 เฮิรตซ์ ในขณะเสียงที่คนรับรู้ได้อยู่ในช่วงคลื่น 20-20000 เฮิรตซ์
ดังนั้นเสียงที่คุณบอกไม่ดัง มันจึงดังมากสำหรับสัตว์ โดยเฉพาะ ‘เสียงที่ดังขึ้นอย่างฉับพลัน’ ทำให้สัตว์ป่าตกใจ บางตัวคิดว่ามนุษย์คุกคามและเข้ามาทำร้าย หรือเป็นการขับไล่สัตว์ออกจากพื้นที่หากิน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเข้มงวดกับเหล่า Bigbike แต่งท่อดังๆ ดีไม่ดีช้างป่าจะงัดเอา
4. จำกัดความเร็วเป็นเรื่องจำเป็น
หลายคนคงถูกอกถูกใจกับถนนขาขึ้นอุทยานเขาใหญ่ที่เรียบเนียน น่าเทโค้งแบบ MOTO GP หรือดริฟท์ลงเขาแบบรถขนเต้าหู้ Initial D แต่พวกเขาล้วนลืมไปว่ามีสัตว์ป่าใช้ถนนร่วมกับมนุษย์ด้วย ภาพบาดใจที่มักเห็นบ่อยครั้งคือ ซากสัตว์ป่าเลือดอาบนอนเป็นซากกลางถนน
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กำหนดให้ใช้ความเร็วบนถนนไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัตินั้นคุณควรขับให้ต่ำกว่า เพราะมีงานวิจัยระบุว่า แม้คุณจะขับด้วยความเร็วที่ 60 กิโลเมตรเป๊ะๆ ก็ตาม แต่หากชนเข้ากับกวางน้อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แรงปะทะจะเท่ากับ 2.5 ตัน หรือพอๆ กับฮิปโปฯพุ่งชนด้วยความเกรี้ยวกราด หากกวางไม่ตายทันที มันจะบาดเจ็บหนักจากอวัยวะภายในกระทบกระเทือนและเสียชีวิตในภายหลัง
ดังนั้นคุณจึงควรเคร่งครัดเรื่องความเร็ว หากใครตีนผีมากๆ ก็จำเป็นต้องติเตียน ระลึกไว้ทุกวินาทีว่า ‘สัตว์ป่าทุกชนิดใช้ถนนร่วมกับคุณ’
5. ไฟป่าไม่ได้แย่เสมอไป
ไฟกำลังไหม้ป่า! เจ้าหน้าที่ทำอะไรกันอยู่? จะเผาให้วอดทั้งเขาเลยหรือ? สัตว์ป่าจะอยู่ที่ไหน? เรื่องไฟฟืนมักเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดมากที่สุดของกลุ่มนักท่องเที่ยวอุทยาน เพราะหากเรามองด้วยตาเนื้อแล้ว ไฟกำลังเผาผลาญเอาความอุดมสมบูรณ์ไป
แต่แท้จริงแล้ว ไฟป่าอาจไม่น่ากลัว หากไฟนั้น ‘สามารถควบคุมได้’ การเกิดไฟป่าเป็นปรากฏการณ์จำเป็นตามธรรมชาติที่ต้องมี ปัจจุบันในอุทยานหลายแห่งเกิด ‘ป่าล้อมทุ่ง’ พื้นที่ป่าทึบค่อยๆ กินพื้นที่โล่งเรื่อยๆ แต่ กวาง วัวแดง กระทิง นั้นต้องการที่โล่ง
ป่าบางประเภทต้องเกิดไฟ พันธุ์ไม้หลายชนิดทนต่อไฟ ถ้าไม่เกิดไฟ มันจะรักษาสภาพป่านั้นไว้ไม่ได้ อย่างป่าเต็งรัง ถ้าเรารักษาไม่ให้เกิดไฟป่าเลย ไม้เต็งไม้รังจะสูญไปหมด เนื่องจากหญ้าจะขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นพืชสายพันธุ์รุกราน อย่าง ‘ต้นสาบเสือ’ จะเข้าแทนที่พืชหลักที่เป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่า
การเผาป่าโดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมช่วยเคลียร์พื้นที่ ทำให้หญ้าระบัดงอกขึ้นใหม่ เป็นแหล่งอาหารจำเป็นของสัตว์ป่า ดังนั้นหากพบไฟป่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเป็นไฟป่าธรรมชาติ อาจเป็นการเผาป่าจากหน่วยควบคุมไฟป่าก็ได้
6. ป่าที่ดีต้องมีหลายเฉดสีนะเธอ
ถ้าคุณมองไปยังป่าทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตาโดยที่ไม่มีอะไรคั่นแซม พึงสังหรณ์ใจได้เลยว่า ‘ป่ากำลังเจอปัญหา’ ความเขียวเป็นปื้นๆ เป็นลางไม่ดีของสุขภาพป่า และสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าเช่นกัน
‘ทุ่งหญ้า’ คือครัวแห่งป่า ไม่ได้เอาไว้ทำสนามกอล์ฟ แต่ยอดอ่อนของหญ้าเป็นอาหารสำคัญของสัตว์หลายชนิด สัตว์เหล่านี้จะเข้ามากินอาหารในทุ่งหญ้าแล้วกลับไปนอนพักในป่า ใช้ร่มเงาป่ากำบังตัว ฝูงกวางหรือกระทิงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พอตกกลางคืนหรือช่วงเย็นๆ ก็จะออกมากินหญ้าในทุ่ง ความโล่งเตียนเป็นสิ่งดึงดูดให้มันออกมา
เพราะลักษณะทางกายภาพของสัตว์ที่มีเขา ทำให้มันไม่สะดวกที่จะหากินในป่าทึบ เขามักไปเกี่ยวกิ่งไม้ ทำให้มันหากินไม่ได้ การรักษาพื้นที่ทุ่งหญ้าจึงมีความจำเป็นมาก ถึงขั้นกำหนดความอุดมสมบูรณ์ของป่าทีเดียว
7. กวางผีดิบแห่งเขาใหญ่
ใครๆ ก็อยากใกล้ชิดฝูงกวางที่ไม่กลัวคนเลยของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยากจะไปลูบหัวใกล้ๆ แต่ไหง ‘หนอนและแมลงวัน’ ถึงตอมคอกวางจนดูน่าสะอิดสะเอียน แถมมีกลิ่นเหม็นฉุนอีกต่างหาก ทำไมอุทยานดูแลสัตว์ป่าทิ้งขว้างเช่นนี้? สัตวแพทย์ไม่ทำงานกันหรือไง?
หมอล็อตเรียกกวางพวกนี้ว่า ‘กวางซอมบี้’ เพราะพวกมันเหมือนตายไปแล้วจากธรรมชาติ มีเพียงร่างที่ฝืนแรงโน้มถ่วงรอคอยวันตายในอีกไม่นานเท่านั้น กวางมีรูบริเวณคอที่มีกลิ่นฉุนของฟีโรโมนในการดึงดูดเพศ และบอกอัตลักษณ์ภายในฝูง ในขณะเดียวกันก็ยังดึงดูดแมลงวันให้มาวางไข่ ทำให้กวางติดเชื้อและมีภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากกวางชะโงกคอไปกินขยะในถังที่มีแมลงวันตอมชุกชุม
ปัจจัยที่ทำให้กวางเป็นซอมบี้ ก็มาจากความมักง่ายของมนุษย์ที่ทิ้งขยะไม่มิดชิดที่ทางอุทยานจัดไว้ให้ ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าที่คิด
8. Selfie กับสัตว์ใครๆ ก็ทำกันไม่ใช่หรือ?
ถ้าไม่ถ่ายรูปคู่กับสัตว์ เดี๋ยวจะไม่มีสิ่งพิสูจน์ว่ามาเที่ยวอุทยาน ก็ต้องเอาหน้าไปแนบใกล้ๆ กันหน่อย บังเอิญเห็นช้างป่ากำลังข้ามถนนพอดี วิ่งไปถ่ายรูปคู่ด้วยก็ไม่เลว?
ยิ่งคุณใช้พื้นที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องเคารพ ‘พื้นที่’ ระหว่างกันให้มากเท่านั้น ในธรรมชาติสัตว์เหล่านี้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ต้องทิ้งระยะห่างโดยเฉพาะช้างป่า สัตว์ใหญ่ที่มีความระแวดระวังภัยสูง ช้างป่ามีระยะระวังภัย (fright distance) ที่ 50 เมตร หากอะไรใกล้มันเกินไป ถือเป็นภัยคุกคามและมักลงเอยด้วยหายนะทั้งสิ้น
สัตว์ป่าเองเป็นพาหะของโรคติดต่อ (คุณเองก็เป็นพาหะที่อาจนำโรคมาติดสัตว์ป่าด้วย) การสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรงโดยที่คุณไม่รู้ว่ามันป่วย เพิ่มโอกาสที่คุณจะนำโรคไปแพร่ในเมืองหลวงเมื่อจบทริป
มนุษย์ก็เช่นกันมีระยะความสนิท หากพยายามสนิทไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นภัยที่มีฝั่งใดฝั่งหนึ่งเจ็บตัว ธรรมชาตินั้นเรียบง่าย ภายใต้ความซับซ้อน หากเราเข้าใจและเคารพ ‘พื้นที่’ ซึ่งกันและกัน
9. ปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าป่า หายนะของพันธุกรรม
คนเรามักคิดง่ายๆ ด้วยสมการชั้นเดียว “หากเลี้ยงไม่ไหวก็ปล่อยเข้าป่าไปเถอะ” เพราะจากความเชื่อที่ว่า ป่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่พวกมันสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว อุทยานเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งที่มีคนแอบนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยป่ามากที่สุด มีตั้งแต่ หมา แมว นก หนู กระต่าย หรือแม้กระทั่งหมี!
พฤติกรรมนี้สร้างผลกระทบต่อพันธุกรรมอย่างร้ายกาจ หากสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้พวกมันจะตายซึ่งยังไม่หนักหนาเท่ากับมันแพร่พันธุ์ได้ มันอาจผสมพันธุ์กับสัตว์ท้องถิ่นอย่างเช่น กระต่ายเลี้ยงผสมกับกระต่ายป่า กลายเป็นกระต่ายลูกผสม ที่อ่อนแอต่อโรค อาจทำให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ หรือข้ามไปติดกับสัตว์อื่นๆ ได้
แมวอาจปรับตัวโดยเป็นนักล่าจัดการนกสายพันธุ์หายากเป็นอาหาร การนำสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ เข้าไปอาจเหนี่ยวนำให้สัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดรุกราน (Invasive Alien Species) เข้าสู่พื้นที่อุทยานด้วย
10. เลิกอ้างว่า ‘ใจบุญ’
อย่างหนึ่งของคนเอเชียคือมักเชื่อมโยงทุกอย่างด้วย ‘บุญกุศล’ ทำแบบนี้แล้วดีต่อใจ มีเพียงความปรารถนาดีเป็นที่ตั้งโดยปราศจากชุดความรู้ที่จำเป็น เราขนอาหารใส่รถไปแจกสัตว์ เพราะคิดว่าทำบุญทำทาน เราปล่อยสัตว์เลี้ยงในป่าเพราะอยากให้มันคืนสู่ธรรมชาติ จะได้ชื่อว่าตนมีคุณสมบัติเป็นนักอนุรักษ์ติดตัว
แต่งานอนุรักษ์ละเอียดละอ่อนลึกซึ้งกว่านั้นมาก ไม่สามารถมองด้วยการกวาดตาหรือใช้ใจสัมผัสผิวเผิน มันต้องการงานศึกษาทางวิชาการ งานวิจัยที่ทำขึ้นอย่างประณีต และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เชื่อมโยงกัน
หากคุณจะทำอะไรเพื่อเป็นการอนุรักษ์ อย่าลงมือทำอะไรโดยตัดสินใจเพียงคนเดียว ให้เข้าร่วมกลุ่มกับหน่วยงานที่ทางการจัดตั้งขึ้น อย่างน้อยคุณก็ไม่ละเลงหายนะด้วยน้ำมือตัวเองจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อาจจะหมดยุคแล้วที่เราทำอะไรเพียงเพราะความสบายใจ สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยกำลังอยู่ในวิกฤต โดยมีคนเพียงไม่กี่กลุ่มกำลังเผชิญหน้าอย่างลำพัง หากปราศจากผู้คนที่เข้าอกเข้าใจและหวงแหนธรรมชาติ คุณเป็นนักท่องธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ เที่ยวปีใหม่ให้เพลิดเพลินใจพร้อมเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากป่า เจอกันใหม่ปีหน้า เมื่อธรรมชาติต้องการ
ขอขอบคุณ
หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โครงการ USAID Wildlife Asia RTI International
Whynot #Wildlive