การสังหารหมู่ด้วยวิธี “กราดยิงในที่ชุมชน” (Mass shooting) กำลังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มก่อการร้าย IS
เพราะมันสร้างผลกระทบต่อจิตใจคนหมู่มาก ภาพข่าวที่ปรากฏมักเป็นฉากนองเลือด ร่องรอยกระสุนอาวุธสงคราม และกองศพที่นอนฟุบตามทาง ล้วนทำร้ายจิตใจผู้คนที่พบเห็นได้สาหัสไม่ต่างจากเหยื่อที่อยู่ในเหตุการณ์
พวกเราพึ่งผ่านเหตุการณ์กราดยิงในคลับชาวรักร่วมเพศในเมือง Orlando
แต่เมื่อวานกลับมีเหตุการณ์เลวร้ายไม่แพ้กัน เมื่อกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น ISIL (Islamic State of Iraq and the Levant) ใช้มือปืน 3 รายเปิดฉากยิงและระเบิดพลีชีพกลางสนามบิน Ataturk ในเมืองอิสตันบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย และบาดเจ็บนับร้อย จนนายกรัฐมนตรีของตุรกี Binali Yildirim ออกมายอมรับว่า เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของชาติ เพราะสนามบิน Ataturk มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 3 ของยุโรป
ผู้คนบริสุทธิ์เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “ทำอย่างไรจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์การรอด หากอยู่ท่ามกลางการสังหารหมู่?”
งานวิจัยหลายชิ้นพยายามหาความเป็นไปได้ต่างๆ เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน ทีมวิจัยศึกษาตัวอย่างจากสถิติผู้รอดชีวิต ช่วงเวลาที่มือปืนเริ่มกราดยิงผู้คน รูปแบบของอาคารที่เกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่ตำรวจรับมือกับฆาตกรอย่างไร
ในสหรัฐอเมริกาเองได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าทำการฝึกฝนพนักงานตามหน่อยงานต่างๆ เพื่อให้เข้าใจหลักแนวคิดการเอาตัวรอดเบื้องต้น ที่ไม่ต่างจากการฝึกอบรมหนีไฟ
The MATTER จึงอ้างอิงกฎที่ออกแบบโดย The Department of Homeland Security ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาปรากฏการณ์นี้มาเป็นเวลานาน และพยายามแนะนำให้ผู้คนสร้างโอกาสรอดมากขึ้นกว่าเดิม (ทั้งนี้การให้ “ดาว” เป็นมุมมองของผู้เขียนเอง ไม่มีการตีค่าเป็นตัวเลขที่ชัดเจนแต่อย่างใด เพราะในสถานการณ์จริงปัจจัยต่างๆล้วนมีผลต่อการเอาตัวรอดของคุณทั้งหมด)
กฎเหล็ก 3 ข้อ
“หนี – ซ่อน – สู้” – (Run, Hide, Fight)
พื้นฐานการเอาชีวิตรอดมีหัวใจหลักๆเพียง 3 ข้อ เมื่อสติสัมปชัญญะของคุณ รู้ว่าควรหนีไปทางไหนเร็วที่สุด นั้นก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณมีโอกาสรอดมากขึ้น
หนี (RUN)
เมื่อเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น คุณควรใส่ใจตำแหน่งที่มาของเสียง นั้นหมายความว่ามีเหยื่อรายแรกถูกยิงโดยไม่ทันตั้งตัว พยายามสังเกตอาวุธที่ผู้ก่อการร้ายใช้ก่อเหตุและตำแหน่งที่เขาอยู่ จากนั้นพยายามหาสัญลักษณ์ที่บ่งบอก “ทางออกที่ใกล้ที่สุด” โดยปกติอาคารมักมีทางออกหลายทางที่คนทั่วไปมักไม่รู้ เช่น ครัว หน้าต่าง ประตูหนีไฟ หลีกเลี่ยงการวิ่งสวนทางกับตำแหน่งที่มือปืนอยู่ และอย่าไปออในบริเวณคอขวดตรงทางออกกับคนหมู่มาก
ระหว่างวิ่งหนีให้ใช้ เสา กำแพง โต๊ะ หรือสิ่งของต่างๆ เพื่อบดบังวิถีกระสุน เพราะผู้ก่อการร้ายมักเลือกเป้าหมายที่ยิงง่ายที่สุดก่อนเสมอ ดังนั้นจงไม่เป็นเป้าที่สะดุดตา อยู่ภายใต้ที่กำบังตลอดเวลา รู้ทิศทางที่จะนำไปสู่ทางออก และออกจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด หากช่วยเหลือใครได้ให้นำพวกเขาออกมาด้วย
**ห้องน้ำเป็นตัวเลือกที่แย่ที่สุด ในกรณี Orlando มือปืนมักล่าคนที่เหลือที่ในห้องน้ำ ซึ่งมักถูกออกแบบเป็นทางตัน**
ซ่อน (Hide)
โดยสถิติแล้วตำรวจจะมาถึงที่เกิดเหตุราว 3 นาที ก่อนสนธิกำลังเพื่อจัดการกับมือปืน ซึ่งระหว่างนี้หากคุณไม่สามารถหนีได้ทัน คุณยังมีโอกาสที่จะซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบ หลบในห้องที่มืด ปิดไฟทุกดวง ปิดเสียงโทรศัพท์ เคลื่อนไหวโดยใช้เสียงน้อยที่สุด และล็อคประตูห้องหรือหาของหนักๆมาขวางประตู เนื่องจากมือปืนส่วนใหญ่จะไม่พังประตูที่ล็อคไว้ เพราะเขาเองก็มีเวลาอยู่น้อยเช่นกัน โดยเฉลี่ยเหตุการณ์กราดยิงในที่ชุมชนมักกินเวลา 10 – 15 นาที
“การแกล้งตาย” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เหยื่อหลายคนใน Orlando รอดมาได้จากการแกล้งตายปะปนกับศพรายอื่นๆ แต่ในบางกรณีที่เคยเกิดขึ้น มือปืนก็เลือกกราดยิงศพด้วยเช่นกัน การแกล้งตายจึงเป็นตัวเลือกท้ายสุด หากคุณทำอะไรไม่ได้แล้วนอกเหนือจากนี้
สู้ (Fight)
ตัวเลือกสุดท้ายของการเอาตัวรอด คุณอาจจะต้องปกป้องชีวิตตัวคุณเองด้วยการสู้กับมือปืน หาสิ่งของที่อาจนำมาเป็นอาวุธได้ ท่อเหล็ก ถังดับเพลิง ขวดแก้ว มือปืนต้องพึงพา 3 สิ่งในการเลือกเป้าหมายสังหาร ทัศนวิสัย (Vision) การหายใจ (Respiration) และอาวุธ (Weapon) จงมุ่งทำลาย 3 ปัจจัยนี้ของมือปืน หากคุณเป็นผู้พกพาอาวุธ การควักปืนและออกล่าฆาตกรด้วยตัวคุณเองอาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจแยกแยะคุณจากมือปืนได้ลำบาก ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ อย่าขัดขวางและเรียกร้องความช่วยเหลือใดๆ เพราะภารกิจอันดับหนึ่งของพวกเขาคือการหยุดยั้งผู้ก่อเหตุให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่ได้เข้าช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลคุณแต่อย่างใด นั้นจะเป็นหน้าที่ของทีมแพทย์กู้ภัย ซึ่งจะเข้าถึงพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อ มือปืนถูกหยุดยั้งแล้ว
3 ขั้นตอนดูเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจง่าย แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงคนส่วนใหญ่มักจิตใจกระเจิดกระเจิง และกรีดร้องอย่างเสียสติ นั้นทำให้เขากลายเป็นเป้าที่เรียกร้องความสนใจจากมือปืน เพราะพวกมันยิ่งรู้สึกยินดีและมันมือเมื่อพวกเราตื่นกลัว
ทาง The Department of Homeland Security พยายามเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปสู่ประเทศทวีปอื่นๆทั่วโลก ที่เสี่ยงต่อเหตุเปิดฉากยิงในที่สาธารณะทั้งจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายและคนเสียสติ
และพวกเราเองก็ควรติดตามข่าวสารและแนวโน้มของการก่อการร้ายที่อาจเกิดในแต่ละประเทศที่คุณจะท่องเที่ยว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะอยู่ในเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่สำคัญคือการครองสติให้ครบตลอดรอดฝั่ง เพราะในวินาทีที่เลวร้ายที่สุด ก็มีทางเลือกทางรอดรอคอยอยู่เสมอ
อ้างอิง
http://www.activeshooter.lasd.org/