เมื่อไม่นานมานี้ ได้อ่านความเห็นของนักเขียนคนหนึ่งที่เคยสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ โดยสิ่งที่เขาสื่อสารออกมานั้น บ่อยครั้งเป็นประเด็นที่แหลมคม และก่อให้เกิดข้อถกเถียงค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังไม่ค่อยได้เห็นการสื่อสารในประเด็นที่ ‘แหลมคม’ ของนักเขียนดังกล่าวอีกแล้ว แม้จะยังสื่อสารโดยใช้โซเชียลมีเดียอยู่ แต่ก็สังเกตพบว่าเขาเลือกแพลตฟอร์มที่จะสื่อสารมากขึ้น เช่น ไม่ใช้ทวิตเตอร์แล้ว หรือหากใช้เฟซบุ๊ก ก็เลือกสื่อสารเฉพาะกลุ่มเพื่อน หรือไม่หากเปิดเป็นพับลิก ก็จะเป็นประเด็นที่ไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงทางความคิดใดๆ อีกแล้ว เช่น เป็นเรื่องอาหารการกินหรือสัตว์เลี้ยงต่างๆ เสียมาก
แม้จะสงสัยว่าทำไมเขาถึงเลือกสื่อสารแบบที่ว่า แต่ก็ไม่เคยถามเขาไป เพิ่งมาถึงบางอ้อเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อเขาโพสต์แกมบ่นในกลุ่มเพื่อนว่า – ตอนนี้เขาเขียนหนังสือไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว เพราะทุกครั้งที่จะเขียนอะไร จะรู้สึกเหมือนมีคนกลุ่มใหญ่คอยตาม ‘ชำแหละ’ ถ้อยคำของเขาออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วเอามาด่า
นอกจากนักเขียนคนดังกล่าวแล้ว ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีความเห็นของนักเขียนและบรรณาธิการอีกคนหนึ่งที่บอกว่า ในโลกทวิตเตอร์นั้น เขารู้สึกเหมือนทุกคนกำลัง ‘ตะโกน’ ใส่กันอยู่ตลอดเวลา มันจึงเป็นโลกที่ไม่มีใคร ‘ฟัง’ ใคร
สองความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคนอีกไม่น้อยทีเดียว ที่บอกว่า ‘โลกแห่งการฉอด’ นั้น อาจไม่ใช่โลกที่ ‘เวิร์ก’ สักเท่าไหร่
มันเหมือนเรากำลังสร้างโลกแบบพาราสาวัตถี
ที่ ‘ใครไม่มีปรานีใคร’ ขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย
เนื่องจากในโลกแบบนี้ไม่มีใครฟังใคร ดังนั้น หากใครพูดอะไรเบาๆ ก็จะไม่มีใครได้ยิน ทุกคนจึงต้องพยายามทำตัวเขื่อง แม้จะเป็นการสื่อสารแบบ Text-Based คือไม่ได้มีเสียงจริงๆ แต่วิธีเขียนวิธีสื่อสารในโลกแบบนี้ เราจะพบท่าทีของการ ‘ตะโกนเสียงดัง’ ได้อยู่ตลอดเวลา เช่นการใช้คำที่ ‘แรง’ ในความหมาย เพื่อขยาย (amplify) ความรู้สึกข้างในให้ท่วมท้นใหญ่โตขึ้นกว่าที่เป็นจริง แล้วใช้ความแรงของคำนั้นๆ เพื่อขับเน้นประเด็นที่ตัวเองนำเสนอ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวคัดค้านความเห็นตั้งต้น) ให้ฉูดฉาดจนบางครั้งเกินจริงขึ้นมา เพื่อให้สิ่งที่พูดออกไปนั้น ดึงดูดความสนใจ และจะได้มีคนฟัง ไม่ว่าจะฟังเพราะชอบหรือเพราะชิงชังหมั่นไส้ก็ตามที
ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้วิธีนี้เพียงฝ่ายเดียว ข้อถกเถียง (arguments) ก็อาจจะจบลงไม่ยากนัก โดยฝ่ายที่ใช้ความ ‘แรง’ อาจคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายชนะ และอีกฝ่ายยอมศิโรราบไป แต่เท่าที่เห็น เราจะพบว่าแทบทุกคนใช้วิธีการเดียวกันในการโต้ตอบ นั่นคือใช้ความ ‘แรง’ ตอบโต้กับความ ‘แรง’ เพื่อดึงดูดผู้สนับสนุนตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการแบบนี้คือการแบ่งเป็นสองขั้วตรงข้าม โดยลดทอนความซับซ้อนของอีกฝ่าย โดย ‘เลือกหยิบ’ อะไรบางอย่างในข้อถกเถียงที่บกพร่องผิดพลาดมาขยายให้ใหญ่ขึ้น แล้วส่งเสียงดังชี้ไม้ชี้มือให้คนอื่นเห็นความบกพร่องนั้นโดยละเลยข้อดีที่อาจมีอยู่ในข้อถกเถียง
คำว่า ‘ชำแหละ’ และ ‘ตะโกน’ ของนักเขียนสองคนที่ว่ามาข้างต้น – จึงเป็นคำที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างมาก
ที่สำคัญก็คือ วิธีสื่อสารแบบนี้แพร่หลายไปทั่ว จนมักทำให้เกิดอาการ ‘แพ้ไม่ได้’ ขึ้นมา ยิ่งแรงมาก็ต้องยิ่งแรงกลับ ยิ่งถ้าใครเป็นคนดังหน่อยก็จะต้องรักษาตัวให้ดี ไม่สามารถพลาดอะไรได้เลย เพราะในโลกแบบนี้ การ ‘โค่นคนดัง’ ได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคิดไปเองว่าโค่นได้) จะเป็นเหมือนการเล่นเกมสะสมแต้ม ‘ความเสียงดัง’ ให้กับตัวเองมากขึ้นไปทีละเล็กละน้อย โดยแต้มนี้สามารถนำไปแลกเป็นกลุ่มผู้ติดตามที่คิดเหมือนกับตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ จึงเป็นการพยายามขยาย ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ หรือ echo chamber ให้ใหญ่ขึ้น แต่กระนั้นก็ยังเป็นเพียงเสียงก้องในห้องแคบอยู่ดี
ในระยะหลัง เราจะพบเห็นหลักการหรือ ethos หนึ่ง
ได้บ่อยครั้งขึ้น มันคือหลักการ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’
นั่นคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ‘ทน’ ต่อความแรงที่อีกฝ่ายใส่มา แต่จะตอบโต้ไปด้วยความแรงที่เท่ากันหรือมากกว่า โดยมีกองเชียร์คอยสาสะใจอยู่ข้างๆ
โดยส่วนตัวไม่ได้เห็นแย้งอะไรกับอาการ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’ ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปดักตีดักทำร้ายกัน จะ non-pc ก็ได้ จะ pc จ๋าจนกลายเป็นอนุรักษ์นิยมจัดก็ได้ทั้งนั้น การ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’ ด้วย ‘เสียงดังกว่า’ ซึ่งหมายถึงทั้งด่าได้ในแบบที่ตัวเองคิดว่าเจ็บกว่า หยาบกว่า สาสะใจกว่า รวมทั้งสามารถดึงดูดกองเชียร์มาร่วมด่าด้วยได้มากกว่า – จึงเป็นเรื่องปกติไปแล้วของโซเชียลมีเดีย และมีข้อดีตรงที่ทำให้เราได้เห็น ‘จิตใต้สำนึกร่วม’ ของคนอย่างที่ไม่อาจเห็นได้ในโลกจริง
ในหมู่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไทยระยะหลัง เราจะได้ยินคนบ่นถึง ‘ทวิตเตอร์สมัยก่อน’ ว่ามันเคยเป็นดินแดนที่ดีงาม ผู้คนทักทายกันด้วยดี แต่ปัจจุบัน ทวิตเตอร์เหมือนเป็นดินแดนแดงเดือดที่ต้องเอาเลือดของอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองมาละเลงเท้าอยู่ตลอดเวลา เฟซบุ๊กเองก็เช่นเดียวกัน กับหลายข้อถกเถียง เราก็จะเห็น ‘ความแรง’ ของมันได้ชัดเจน ซึ่งอาจแตกต่างไปจากเจตนารมณ์ในการก่อตั้งเฟซบุ๊คขึ้นมาเพื่อให้เป็นการเชื่อมโยงมนุษย์กับมนุษย์ก็ได้
โดยส่วนตัวเห็นว่า อาการ ‘ฉอด’ กันด้วยถ้อยคำแรงๆ ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กนั้น ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการเผยแสดงของ ‘จิตใต้สำนึกร่วม’ ของผู้คนในสังคม ถ้ามองดูฉากหน้า เราอาจจะเห็นว่าคนในสังคมไทยนั้นเรียบร้อย น่ารัก ยิ้มง่าย เจอหน้ากันก็ทักทายด้วยดี แต่เราไม่มีโอกาสรู้ ‘ลึก’ ลงไปถึงก้นบึ้งความคิดของคนที่เรากำลังพบหน้าอยู่ได้เลยว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่
แต่โซเชียลมีเดียทำหน้าที่ ‘เปิด’ ให้เราเห็นจิตใต้สำนึกร่วมเหล่านี้ ด้วยการสามารถด่ากราด ใช้คำประเภทที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันนอกโลกออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากถ้อยคำที่เต้นเร่าอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเราเอง และโซเชียลมีเดียก็เปิดโอกาสให้คำเหล่านั้นได้กระโดดโลดเต้นแสดงออกออกมา
การได้เห็นจิตใต้สำนึกร่วมขนาดใหญ่คลี่ตัวออกมาแบบนี้เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยที่ว่ากันว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ในเปลือกนอก แท้จริงแล้วมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง แต่มันคือ ‘โอกาสที่จะได้เห็น’ ในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเท่านั้น และเมื่อเห็น เราก็สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ดีขึ้น มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตดูให้ดีๆ เราจะเห็นว่าพวก ‘ตัวแม่’ ที่เป็นเหมือนดาวเด่นและใช้ ethos แบบ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’ นั้น โดยมากมักมีลักษณะ ‘สบายๆ’ กับการด่า คืออาจแสดงอาการ ‘ปรี๊ดแตก’ ในช่วงหนึ่งให้ระบือลือลั่นเหมือนบอสปล่อยท่าอัลติเมต แต่แล้วอีกสักพักก็ ‘เปลี่ยนปาง’ กลายเป็นคนอารมณ์ดีหรือกระทั่งมีอารมณ์ขันได้ด้วยซ้ำ นั่นเพราะคนเหล่านี้แข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับสภาวะแบบนี้ได้ ไม่ได้ปล่อยให้สภาวะเช่นนี้เข้ามาครอบงำตัวเอง แต่กับคนอีกจำนวนมากที่ไม่แข็งแรงมากพอ หรือไม่สามารถถอนตัวถอนสภาพจิตใจออกจากการ ethos ดังกล่าวได้ ก็อาจเกิดอาการ ‘โกรธ’ ขึ้นมาได้จริงๆ และอาจเป็นความโกรธแบบเรื้อรัง (chronic anger) ที่ส่งผลไปถึงกลไกการทำงานของร่างกายและสมองได้ด้วย
ปรากฏการณ์ความโกรธที่เกิดจากโซเชียลมีเดียนี้ไม่ใช่ของใหม่ เคยมีผู้เขียนถึงเรื่องทำนองนี้เอาไว้บ่อยครั้ง เช่นบทความ Why I Quit Twitter ของ Jessica Lynn หรือ Why Does Twitter Feel So Angry? โดย Chris Gayomali ใน Fast Company หรือ Why Social Media Makes Us So Angry, And What You Can Do About It โดย Amy Fleming ใน Science Focus เป็นต้น
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ความโกรธในโซเชียลมีเดียเหล่านี้
ส่งผลต่อความโกรธในโลกภายนอกด้วยหรือเปล่า?
มีการสำรวจของ Gallup ที่เรียกว่า Golbal Emotions Report ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 และพบว่าคนเราโกรธเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการทำสงครามนั้นจะมีความโกรธมากกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งหากมองในแง่ของสงคราม เราจะพบว่าการอยู่ในโลกแบบ ‘ด่ามา-ด่ากลับ’ หรือเสพสื่อดังกล่าว ก็มีลักษณะแบบเดียวกับการอยู่ในพื้นที่สงครามเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้เป็นสงครามทางกายภาพ แต่เป็นสงครามในการถกเถียงกันไปมา ซึ่งนักจิตบำบัดอย่าง แอรอน บาลิค (Aaron Balick) บอกว่าความโกรธน้ันอาจมีลักษณะคล้ายๆ โรคระบาดได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถเห็น ‘คนโกรธกัน’ ได้ง่ายขึ้น (ในโลกของโซเชียลมีเดียนั้น เราแสดงความโกรธได้ง่ายกว่าโลกจริงมาก) เราก็อาจรู้สึกว่าความโกรธเหล่านั้นคือเรื่องธรรมดาสามัญ และเราก็ชอบธรรมที่จะแสดงความโกรธแบบเดียวกันออกไปได้ด้วย
ในหนังสือ Metropolis ของ เบน วิลสัน (Ben Wilson) เขาเล่าถึงเมืองในยุโรปหลายเมืองช่วงศตวรรษที่ 15-16 ที่ผู้คนเพิ่งหลั่งไหลล้นหลามเข้ามาอยู่ในเมือง พบว่าอาชญากรรมที่เกิดจากความ ‘หัวร้อน’ หรือบันดาลโทสะ เช่นคนพูดจาไม่ถูกหู ก็ชักมีดมาเสียบแทงกันตาย เป็นอาชญากรรมที่พบมากที่สุดในเมืองใหญ่ของยุโรปยุคนั้น ทั้งลอนดอน ปารีส และเมืองอื่นๆ (เช่นเมืองลูเบ็คที่ถือเป็นเมืองใหญ่ในเยอรมนียุคโน้น) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้คนได้ ‘เห็น’ กันและกันโดยไม่ได้รู้จักกัน แตกต่างไปจากการอยู่ในชนบทที่รู้ว่าใครเป็นใคร และผู้คนไม่ได้แออัด การทำร้ายกันแบบนี้จึงเกิดขึ้นน้อยกว่า อาชญากรรมมักจะเป็นการลักขโมยมากกว่าการทำร้ายกันด้วยความหัวร้อน
มีผู้วิเคราะห์ว่า โลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบันก็อาจเป็นแบบเดียวกันได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น มีการสำรวจการเดินทางทางรถยนต์ที่เรียกว่า Motoring Report ของอังกฤษ พบว่าการทำร้ายกันทางกายบนท้องถนน (อย่างที่เรียกว่า road rage ที่ไปไกลถึงการทำร้ายร่างกายกัน) เพิ่มสูงขึ้นในปีหลังๆ
นักประวัติศาสตร์อย่าง บาร์บารา โรเซนไวน์ (Barbara Rosenwein) เคยบอกไว้ว่า ความโกรธถูกทำให้กลายเป็นเรื่องทั่วไป (generalised) และความโกรธของคนแต่ละคนกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม (virtuous) ในสายตาของคนคนนั้นไปแล้ว
แน่นอน เราบอกไม่ได้หรอกว่า โซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุโดยตรงของความโกรธในโลกกายภาพ แต่นักจิตบำบัดอย่าง แอรอน บาลิค ผู้เขียนหนังสือ The Psychodynamics of Social Networking คิดว่ามันน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะการที่เราพบเห็นความโกรธหรือความแรงในโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ก็เหมือนคน ‘ถูกแทง’ อยู่ตลอดเวลา แผลจึงเปิดอยู่ตลอดเวลา และนั่นทำให้สภาวะทางจิตของเราเครียด (เขาใช้คำว่า มี high stress) อยู่เสมอ
ethos ประเภทที่ ‘ชำแหละ’ ถ้อยคำ แล้ว ‘เลือก’ เฉพาะบางส่วนมา ‘ตะโกนด่า’ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตั้งคำถามต่อเนื่องว่ามันจะนำพาสังคมไปสู่อะไร และเราจะสามารถพูดคุยกันถึงเรื่องที่แหลมคมมากๆ ให้เกิดผลลัพธ์เชิงสร้างสรรค์ขึ้นได้จริงๆ หรือ