หนึ่งในบทสนทนาที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงหลังคือเรื่องของสื่อ ว่าเมื่ออินเทอร์เนตและโซเชียลเนตเวิร์กเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์การเสพข่าวแบบเดิมๆ แล้ว สื่อเก่า (ที่มีลักษณะเป็นสถาบัน) ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอื่นๆ ควรปรับตัวอย่างไรเพื่อรับคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้
ในประเทศไทยเอง เราได้เห็นการปรับตัวของสื่อหลายค่าย บางเจ้าก็หันมาตีข่าวบนโซเชียลมากขึ้น มีการใช้สื่อใหม่ๆ เช่นโซเชียลวิดีโอ (วิดีโอที่มีลักษณะ ‘เล่าข่าว’ เป็นตัวหนังสือประกอบภาพเคลื่อนไหว) ผู้สื่อข่าวอย่างเช่นคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็ไม่ต้องพึ่งพาช่องหลักในการนำเสนอข่าวอีกแล้ว แต่เสนอผ่านทางช่อง Facebook Live ของตนเอง (ซึ่งก็อาจได้คนดูมากกว่าด้วยซ้ำ) สื่อสิ่งพิมพ์หลายเจ้าก็ปิดตัวไป หรือปรับตัวขึ้นมาบนอินเทอร์เนตอย่างเต็มรูปแบบ เราได้เห็นสำนักข่าวออนไลน์ใหม่ๆ เช่น The MATTER, The Momentum และเจ้าอื่นๆ ที่กำลังจะเปิดตัวอีกมากเช่น 101.space ของเครือ 101% ที่มีอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์, โตมร ศุขปรีชา และสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม เป็นทีมงานหลัก ทั้งหมดก็พยายามสร้างจุดแข็งที่แตกต่างจากสำนักข่าวที่มีมาก่อนหน้า
ไม่นานมานี้ (เดือนมกราคม) หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง The New York Times ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1851 ได้ตีพิมพ์ (จริงๆ จะใช้คำว่าตีพิมพ์ก็ไม่ถูกนักนะครับ เพราะเป็นการลงบนความบนอินเทอร์เนต) บทความชื่อ Journalism that Stands Apart หรือ “การทำข่าวที่โดดเด่น” ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากกลุ่มศึกษา 2020 (เป็นกลุ่มศึกษาที่มองไปยังอนาคตของสื่อ ประกอบด้วยนักข่าวทั้งหมดเจ็ดคน) เพื่อค้นหาวิธีทำข่าว หรือสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ นี่เป็นรายงานที่น่าสนใจ และน่าศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงานของตน
จากอดีตสู่อนาคต วิสัยทัศน์และความเข้าใจที่ตรงกันคือเรื่องสำคัญ
รายงานฉบับนี้เริ่มต้นที่การประเมินสถานการณ์ของ The New York Times ว่าอยู่ในจุดที่ดีในการปรับตัว แต่ก็ยังอาจเผชิญความเสี่ยง หากปรับตัวไม่เร็วพอ เขาพูดถึงระยะสองปีที่ผ่านมา ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้นอีก
ทีมศึกษาเน้นย้ำภารกิจของ The New York Times ว่าจะต้องเป็นแหล่งข่าวที่ผู้อ่านรู้สึกว่า เชื่อถือได้ ชัดเจนแม่นยำ และสลักสำคัญ (authoritative, clarifying and vital) และบอกว่าโมเดลธุรกิจยังคงเป็นแบบรับสมัคร (subscription first) อยู่ สิ่งนี้ทำให้ The New York Times แตกต่างจากสื่ออื่นๆ เพราะ “ไม่จำเป็นต้องหวังให้คนคลิกมากที่สุดแล้วขายโฆษณาราคาถูก เขาไม่ต้องการจะแข่งขันด้านเพจวิวแต่จะแข่งขันด้าน “การทำข่าวที่มีคุณภาพมากจนคนหลายล้านคนบนโลกรู้สึกว่าคุ้มค่าที่ต้องจ่ายเงินเพื่ออ่าน”
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่เขายกขึ้นมาคือ “เรามีนักข่าวที่เขียนโปรแกรมได้มากที่สุดในโลก” ในทัศนะของผมนี่เป็นสิ่งที่สำคัญในอนาคต โปรแกรมออกแบบจำนวนมากที่ทำงานกับข้อมูลจะทำงานได้ดีที่สุด เมื่อโปรแกรมเมอร์ผู้ออกแบบมีความเข้าใจในข่าวหรือมีความเป็นนักข่าวอยู่ในตัว
โปรแกรมเมอร์ที่ทำงานข่าว ควรเรียนรู้เรื่องข่าว และนักข่าวที่ทำงานในยุคนี้ก็ควรเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม
ทีมศึกษาประเมินว่านโยบายนี้ของไทมส์ให้ผลดี โดยอ้างจำนวนผู้อ่าน การอ้างถึงจากแหล่งข่าวอื่นๆ และรายได้ซึ่งรายได้จากจำนวนผู้อ่านสวนทางกับรายได้จากโฆษณาสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายหลักที่เน้นผู้อ่านมากกว่าเพจวิว
อะไรที่ต้องเปลี่ยน
ทีมศึกษารู้สึกว่าเขายังไม่ได้สร้าง “ห้องข่าว” ที่สามารถตอบสนองต่อความฝันที่อยากไปให้ถึงได้ และบอกว่า จะต้องเพิ่มจำนวนคนอ่าน (ที่จ่ายเงิน) ให้ได้มากๆ ก่อนปี 2020 พวกเขาคิดว่าการที่พุ่งเป้าไปที่ผู้อ่านนี้จะทำให้ไทมส์มีธุรกิจด้านโฆษณาที่แข็งแกร่งในภายหลัง
ไทมส์คิดว่าตนเองชนะในสมรภูมิการทำข่าว (winning at journalism) แต่ก็คิดว่ายังชนะไม่เพียงพอสำหรับความยั่งยืนในอนาคต พวกเขายังไม่ได้ทำข่าวโดยการใช้เครื่องมือการเล่าเรื่องที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และจะต้องค้นหาวิธีการทำข่าวรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต โดยเสนอความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นสามด้าน ดังนี้:
ด้านการรายงานข่าว
ปัจจุบัน ไทมส์รายงานข่าวประมาณ 200 ชิ้นต่อวัน แต่ทีมก็ประเมินว่าในจำนวน 200 ชิ้นนี้มีข่าวที่ไม่สำคัญ ไม่มีผลกระทบอะไร และทำให้ไทมส์ดูเป็นจุดหมายที่ไม่มีราคา
ตัวอย่างข่าวที่พวกเขารู้สึกว่าไม่สำคัญ เช่น ข่าวที่เป็นการอัพเดทจากเหตุการณ์เดิม (incremental) ที่หาอ่านที่ไหนก็ได้ คอลัมน์และสกู๊ปที่ไม่มีความเร่งด่วน หรือข่าวที่ใช้น้ำเสียงแบบทางการที่ไม่ชัดเจน และทำให้กลุ่มคนอ่านอายุน้อยหมดความสนใจ ข่าวที่เป็นตัวหนังสือเป็นพรืด แทนที่จะใช้กราฟหรือวิดีโอที่อาจเล่าเรื่องได้ดีกว่า
จากการสำรวจพบว่าข่าวที่มีคนอ่านน้อยที่สุด (poorly read) นั้นเป็นข่าวที่ “เหมือนจะต้องทำ” เพื่ออัพเดทเฉยๆ นี้เอง (เขาใช้คำว่า dutiful คือเหมือนจะต้องทำ เหมือนจะเป็นหน้าที่) แต่ทีมศึกษารู้สึกว่าข่าวพวกนี้ไม่ถึงมาตรฐานของสิ่งที่พวกเขาคาดหวังเลย
พวกเขาเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงด้านการรายงานข่าวไว้ดังนี้
1. ข่าวจะต้องสื่อสารด้วยภาพมากขึ้น
โดยยกสถิติการแชร์ข่าวที่มีการสื่อสารด้วยภาพ พวกเขามองว่า ปัญหาเดิมของการรายงานข่าวที่ผ่านมาคือนักข่าวไม่ได้เรียนรู้ หรือไม่มีความสามารถพอที่จะใส่ภาพที่เหมาะสมลงในข่าว เช่น ข่าวรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กในปี 2016 ที่ไทมส์ก็ถูกล้อเลียนเพราะไม่ใส่แผนที่ใต้ดินไว้ด้วย การขาดการสื่อสารด้วยภาพที่เหมาะสม อาจเป็นผลลัพธ์จากระบบจัดการคอนเทนต์ของไทมส์ด้วย (ชื่อว่า Scoop) ที่ทำให้การใส่ภาพเป็นความจำเป็นหลังๆ (afterthought) ซึ่งฝ่ายโปรแกรมของไทมส์ก็เริ่มใช้เครื่องมือชื่อว่า Oak เพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหานี้
พวกเขาคิดว่าจะต้องฝึกอบรมทั้งนักข่าวและบรรณาธิการ ในเรื่องการสื่อสารด้วยภาพ และช่างภาพ, คนถ่ายวิดีโอ, และฝ่ายกราฟิกจะมีบทบาทสำคัญในการปรับตัวนี้
2. ข่าวจะต้องใช้การผสมผสานสื่อดิจิทัลให้ดีกว่านี้
ทีมศึกษายกตัวอย่าง “ข่าวเด่นประจำวัน” (daily briefing) ที่พวกเขารู้สึกว่าประสบความสำเร็จมาก มีผู้ติดตามจำนวนมาก นี่เป็นนวัตกรรมที่ควรใช้ให้มากกว่านี้ ควรทำให้เกิดมากกว่านี้ พวกเขาคิดว่านักข่าวควรใช้สื่ออย่างเช่นจดหมายข่าว การแจ้งเตือน FAQ (คำถามที่ถามบ่อย) ตารางคะแนน เสียง ภาพ และสื่ออื่นๆ เพื่อช่วยในการรายงานข่าวมากขึ้น
ที่น่าสนใจคือพวกเขาคิดว่า การใช้สื่อพวกนี้จะทำให้ไทมส์มีความ “เป็นสถาบัน” ลดลง และมีความเป็น “บทสนทนา” (conversational) มากขึ้น ซึ่งปกติแล้วนักข่าวของไทมส์ก็ใช้สไตล์บทสนทนาในการเล่าข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย โทรทัศน์และวิทยุอยู่แล้ว และสไตล์บทสนทนาก็เป็นธรรมชาติของอินเทอร์เนต
3. เราต้องทำข่าวสกู๊ปด้วยวิธีใหม่ๆ และทำ ‘บริการ’ ให้มากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ไทมส์ได้ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่นเปิดหน้าสูตรอาหาร Cooking (ซึ่งสามารถสั่งซื้อเครื่องปรุงและส่วนประกอบได้ทันที) และเปิดหน้า Watching แนะนำรายการโทรทัศน์ ซึ่งเซคชั่นไลฟ์สไตล์พวกนี้ เดิมทีเกิดมาเพื่อหาโฆษณาอยู่แล้ว นี่เป็นเป้าหมายที่เกิดมาตั้งแต่ปี 1970 แต่ว่าทีมศึกษารู้สึกว่าตอนนี้เป้าหมายก็ไม่ได้เคลื่อนไปจากเดิมเลย
พวกเขาประเมินว่าผู้อ่านต้องการคำแนะนำในเรื่องต่างๆ จากไทมส์อยู่แล้ว พวกเขาจึงต้องทำงานเพื่อสนองความต้องการนี้ให้ดีขึ้น
4. ผู้อ่านจะต้องมีส่วนมากขึ้นในการรายงาน
ไทมส์บอกว่าตนเองมีส่วนคอมเมนต์ที่ “อัธยาศัยดีและประสบความสำเร็จมากที่สุด” เป็นอันดับต้นๆ ของวงการข่าว แต่ก็ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมมากเพียงพอ จึงต้องมีความพยายามในส่วนนี้มากขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างสังคมผู้อ่าน
ด้านพนักงาน
ไทมส์จะต้องปรับความสามารถของพนักงานให้เหมาะกับเป้าหมายระยะยาวของตนเพื่อดึงผู้อ่านที่พร้อมจ่าย และเพื่อเป็นแหล่งข่าวที่มีอิทธิพลมากที่สุด โดย
1. จะต้องมีการฝึกฝนอบรมพนักงานโดยเร็วที่สุด เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ
2. จะต้องจ้างนักข่าวภายนอกคุณภาพดีให้รวดเร็วกว่านี้
ไทมส์คิดว่าจุดอ่อนของตนคือไม่มีนักข่าวที่สามารถสื่อสารด้วยภาพ (visual journalist) มากพอ ดังนั้นจะต้องจ้างจากภายนอก เพื่อขยับตนเองจากสื่อที่โฟกัสทางด้านสิ่งพิมพ์ มาเป็นสื่อที่โฟกัสในสื่อผสมทุกๆ อย่าง
เดิมที ไทมส์บอกว่าการรายงานของตนนั้นบางชิ้นนั้น “แค่ดีกว่าที่อื่นก็พอแล้ว” แต่ตอนนี้ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว “อินเทอร์เนตโหดร้ายกับของคุณภาพกลางๆ” จึงต้องพิจารณาคุณภาพของทั้งตัวข่าวและแพคเกจที่สื่อสารออกไปใหม่
3. จะต้องมีความหลากหลายของพนักงานในห้องข่าว ทั้งผู้หญิง คนผิวสี และคนที่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง ทั้งยังต้องจ้างนักข่าวอายุน้อย และนักข่าวที่ไม่ใช่อเมริกันเพิ่มขึ้นด้วย
4. จะต้องเปลี่ยนวิธีการคิดกับฟรีแลนซ์ ขยายบางส่วน ลดบางส่วน
ไทมส์บอกว่างานฟรีแลนซ์ เช่น คอลัมน์ต่างๆ นั้นดึงคนอ่านได้มากกว่างานที่พนักงานประจำของไทมส์เขียนเองมาก แต่ว่าที่ผ่านมาไทมส์ก็ใช้ฟรีแลนซ์เพื่อรายงาน “ข่าวที่ดูเหมือนจะจำเป็น” (obligatory) มากเช่นกัน เช่นมีนักข่าวฟรีแลนซ์ประจำในทุกรัฐ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนแปลง
ด้านการทำงาน
1. ทุกแผนกจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เข้าใจตรงกัน
ทั้งแผนกเก่าและแผนกที่เกิดขึ้นใหม่จะต้องเข้าใจการทำข่าวในยุคดิจิทัล และจะต้องไม่สามารถทำข่าวแบบทำไปวันๆ ได้แล้วเหมือนตอนทำสิ่งพิมพ์ แต่จะต้องทำข่าวแบบแอคทีฟ (proactive) โดยแบ่งเป้าหมายชัดเจนเป็นสามส่วน
การทำข่าว ทีมจะทำข่าวอะไรและไม่ทำข่าวอะไร ในรูปแบบไหน จะต่างจากคู่แข่งในเรื่องเดียวกันได้อย่างไร
ผู้อ่าน ใครคือผู้อ่านของทีม ผู้อ่านจะพบและจะอ่านข่าวนี้อย่างไรและเมื่ออ่านข่าวนี้แล้วจะทำให้กลับมาอ่านไทมส์อีกหรือไม่ อะไรคือความสำเร็จของการรายงานข่าวและตัววัดผลคืออะไร
การดำเนินการ ทีมต้องการความสามารถด้านไหนเพิ่ม และสัดส่วนของทีมงานต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร
2. จะต้องตั้งเป้าหมายและมีตัวชี้วัด
ทีมศึกษายกตัวอย่างของเซกชั่น Cooking ว่าถึงแม้จะตั้งเป้าหมายอย่างแกนๆ ไม่ชัดเจน ก็สามารถทำให้เซคชั่นนั้นประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนมีความคิดที่ตรงกันว่าอะไรใช่ และอะไรไม่ใช่ ไทมส์ต้องมีตัดชี้วัดที่ดีในการบอกว่าทีมไหนประสบความสำเร็จ และทีมไหนไม่ (เพื่อที่จะแก้ไขได้)
3. จะต้องเปลี่ยนนิยามความสำเร็จ
ไทมส์คิดว่าที่ผ่านมาตนค่อนข้างประสบความสำเร็จในด้านการรายงานข่าวที่สำคัญ (resonate) กับผู้อ่าน และไม่ทำข่าวคลิกเบต แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแปลง โดยทีมงานต้องคิดว่าเพจวิว ไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป ไทมส์เป็นสื่อที่เน้นการสมัครสมาชิก ไม่ใช่เพจวิว
ไทมส์บอกว่า “เรื่องที่ได้ 100,000-200,000 เพจวิว แต่ผู้อ่านรู้สึกว่าอ่านแล้วได้อะไร และหาไม่ได้จากที่อื่น มีค่ามากกว่าเรื่องสนุกๆ ที่ไวรัล แต่ไม่ดึงสมาชิกใหม่ๆ”
4. จะต้องให้ความสำคัญกับการอีดิตในส่วนที่ผู้ใช้เห็นมากขึ้น (front-end)
กลุ่มศึกษาให้ค่ากับการอีดิตมากเพราะการสะกดและแกรมม่าร์อาจส่งสารผิดๆ กับผู้อ่าน ทำให้ข่าวชิ้นนั้นลดค่าลง แต่กลุ่มศึกษาก็รู้สึกว่าปัจจุบันการอีดิตบางส่วนทำไปโดยไม่จำเป็นนัก เช่น การย้ายย่อหน้าขึ้นลง หรือลบย่อหน้า ซึ่งน่าจะใช้เวลามาอีดิตกับ “ความหมาย” (conceptual) ของบทความมากกว่า เช่น ทำให้บทความคมขึ้น หรือตั้งคำถามว่ารายงานข่าวนี้ควรสื่อออกไปในลักษระไหน
5. ห้องข่าวกับทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์จะต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
ไทมส์คิดว่าเพื่อจะให้ตนเป็นจุดหมายสำหรับคนอ่านข่าวในยุคโซเชียลมีเดียนั้น ประสบการณ์การอ่าน การดู และการฟังข่าวจากไทมส์จะต้องดีเท่าๆ กับตัวข่าวเอง ซึ่งจะทำได้หากห้องข่าวกับทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
ที่ผ่านมาห้องข่าวให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะสั้น (เช่นจะทำข่าวในวันนี้ให้ดีได้อย่างไร) ส่วนทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะยาว (อะไรคือการเสพข่าวในอนาคต) ซึ่งเมื่อทำงานไม่ใกล้ชิดกันก็ทำให้ไม่พัฒนา ตัวอย่างเช่นหน้าโฮมเพจของไทมส์นั้นมีดีไซน์คงที่มาเป็นทศวรรษแล้ว
6. จะลดความสำคัญของหนังสือพิมพ์ฉบับเล่มลง แต่ก็ต้องทำให้มันดีขึ้นด้วย
กลุ่มศึกษายังให้ความสำคัญกับหนังสือพิมพ์ฉบับเล่ม แต่ก็คิดว่าต้องไม่ให้มันมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจทำได้อย่างเช่นตอนนี้มีการตั้ง “กลุ่มพิมพ์” (print hub) ขึ้นมาเพื่อทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น (และลดภาระของทีมข่าวอื่นๆ ลง)
กลุ่มศึกษาคิดว่าการที่ไทมส์จะตั้งทีมเพื่อครอบคลุมข่าวเฉพาะด้านเช่น ทีม climate change หรือทีม gender นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง
ทั้งหมดทั้งปวง กลุ่มศึกษา 2020 คิดว่าไทมส์อยู่ในจุดที่ดีกว่าสื่ออื่นๆ ในการปรับตัว และพวกเขามีศักยภาพเพียงพอในการเป็นสื่อที่แข็งแรง ใหญ่ และมีอิทธิพลมากขึ้นในอนาคต แต่ก็ยังย้ำเตือนว่าความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น และจบท้ายบทวิจัยด้วยการเร่งเร้าให้ทุกทีมปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะความท้าทายในปัจจุบันนั้นยากเย็นกว่ายุคสิ่งพิมพ์มาก ด้วยการปฏิวัติดิจิทัลนั่นเอง
เรียบเรียงจาก www.nytimes.com