มีนาคม 2023 เธอในฐานะผู้สื่อข่าววิดีโอของสำนักข่าว Reuters เดินทางข้ามพรมแดนโปแลนด์ สู่กรุงเคียฟ เพื่อไปทำข่าวการสู้รบในภูมิภาคดอนบาส – หรือก็คือ แนวหน้าของสงครามยูเครน
นั่นหมายความว่า เธอได้เข้าถึงใจกลางของความขัดแย้งที่โลกกำลังให้ความสนใจในขณะนั้น เพื่อส่งข่าวสารออกมาให้คนทั้งโลกได้รับรู้ ภายหลังจากที่รัสเซียเคลื่อนพลเข้าสู่เขตแดนของยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จนยกระดับกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ที่มีแนวหน้าอยู่ที่ดอนบาส ทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งครอบคลุมแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์
“เป็นความฝันสูงสุดของการทำงาน” เธอพูดถึงการได้ไปทำงานในฐานะสื่อมวลชน ในพื้นที่สงคราม (war zone) อย่างยูเครน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นี่คือเป้าหมายสูงสุดในหน้าที่การงานของเธอ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำตามฝันนั้น ในฐานะนักข่าวที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอันหลากหลายในอาชีพ จนเกือบจะยอมแพ้หลายครั้ง, ในฐานะผู้หญิง ที่รายล้อมด้วยเพื่อนร่วมอาชีพเพศชาย ตามมาด้วยคำดูถูกเหยียดหยาม หรือกระทั่งเข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศ
ไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์ Civil War (2024) ที่บอกเล่าชีวิตของนักข่าวภาคสนาม โดยเฉพาะบทบาทของช่างภาพผู้หญิง ต่อไปนี้คือเรื่องราวของช่างภาพข่าวในชีวิตจริงที่บุกทะลวงเข้าไปทำข่าวในแนวหน้าของสงคราม – ยิ่งกว่านั้น เธอสำเร็จในการฝ่าแนวหน้าของอคติทางเพศ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นช่างภาพข่าวหญิงคนแรกๆ ของเมืองไทย
ชื่อของเธอคือ กวาง—จิราพร คูหากาญจน์
1.
ช่างภาพข่าวหญิง
มีพื้นเพมาจาก จ.กาญจนบุรี และจบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เด็ก เธอฝันอยากเป็นนักข่าว แต่จุดเปลี่ยนคือการได้มาเรียนวิชาการถ่ายภาพวารสารศาสตร์ (photo journalism) ในมหาวิทยาลัย จึงค้นพบว่าเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจมากกว่า
นั่นจึงทำให้เธอหันเห และได้มาฝึกงานตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่ Bangkok Post ก่อนจะได้ทำงานในฐานะช่างภาพข่าวกับ Bangkok Post เป็นที่ทำงานที่แรกในชีวิต การได้เข้ามาทำงานเป็นช่างภาพข่าวที่หนังสือพิมพ์หัวดังกล่าวทำให้เธอ “น่าจะเป็นผู้หญิงคนแรกของ Bangkok Post และน่าจะเป็นคนแรกๆ ของเมืองไทย” จิราพรเล่ากับ The MATTER
“เราก็ว่าเราทำได้ดีนะ” จิราพรมองย้อนกลับไปในเส้นทางอาชีพ “เราว่าเราปรับตัว (adapt) ได้สูง เราว่าเราเรียนรู้ได้เร็ว เขาสอนให้เราบินโดรน เขาสอนให้เราดำน้ำลึก (scuba diving) เขาให้เราทำอันนั้นทำอันนี้ ตอนแรกในใจรู้ว่าทำไม่ได้หรอก แต่ก็บอกว่า อ๋อ ทำได้ค่ะๆ พร้อมเรียนรู้ค่ะๆ”
แต่ในฐานะ ‘ช่างภาพข่าวผู้หญิง’ สิ่งที่ตามมามีทั้งข้อดี และอุปสรรค
“ข้อดีของมันคือ ทุกคนจะเอ็นดู ทุกคนจะเรียกว่า น้องกวาง จนถึงทุกวันนี้ [อายุ] 30 กว่าแล้วยังเรียกน้องกวางอยู่เลย ในวงการทุกคนยังเรียกว่าน้องกวาง เราก็บอกพี่เขาว่า พี่คะ เลิกเถอะค่ะ ไม่ใช่น้องกวางแล้ว มันมีคนใหม่มาเต็มแล้ว เขายังบอกว่า ไม่เป็นไร ยังเป็นน้องกวางของพี่ๆ อยู่
“ข้อเสียคือ เขาไม่จริงจังกับเรา เขาคิดว่า เรามาทำงานแบบเล่นๆ เขาคิดว่า โอ๊ย หน้าแบบนี้ มาแป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็ไปแล้ว ก็มีหลายคนมาพูดกับเราตอนเราเริ่มงานแรกๆ ว่า เนี่ย มาแป๊บเดียว เดี๋ยวปีสองปี มันก็ไปเรียนต่อแล้ว เดี๋ยวมันก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว
“หรือว่ามันก็มีนักการเมืองมาพูดจาไม่ดีกับเรา หรือคนที่เราเคยไปเจอ ก็จะมีการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) มาจับหน้าอก จับก้นเราก็มี อันนี้มันคือข้อเสียของการเป็นผู้หญิงที่ทำงานในหมู่ผู้ชาย คือเราเป็น 1% ในจำนวนผู้ชายทั้งหมด
“โดยเฉพาะในวงการช่างภาพข่าว [จะพูดกันว่า] เฮ้ย น้องนมเล็ก น้องตูดแฟบว่ะ น้องอย่างนั้น น้องอย่างนี้ คือเราเจอมาหมดเลยนะ โอ๊ย น้องกวาง ทำไมนมเล็กจัง เราโดนมาหมดเลยนะ เฮ้ย ทำไมเมื่อไหร่น้องจะไปทำนม เราก็โดนมาหมดแล้ว ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันหนัก
“เราว่ามันน่าเสียใจ ตรงที่ว่า เราไม่ได้รับการยอมรับมากขนาดนั้น แต่เราว่า สุดท้ายแล้ว ความอดทน ฝีมือของเรา มันจะเป็นตัวพิสูจน์เอง”
เธอเล่าต่อว่า “เราไม่เคยบอกว่า เฮ้ย วันนี้เราเป็นประจำเดือน เราทำงานไม่ได้ เราไม่เคยพูดคำนั้นออกมาจากปากเราเลย ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียว เราไม่เคยพูดว่าวันนี้เราปวดท้องประจำเดือน อะไรก็แล้วแต่ เราไม่เคยมีคำนั้น ถามใครก็ได้ 10 ปีของการทำงาน ไม่เคยออกจากปากเรา เพราะเราไม่เคยให้เพศสภาพเป็นข้อจำกัดของการทำงานของเรา”
จิราพรเปิดใจว่า ในเส้นทางของการทำข่าว เธอเคยคิดอยากจะล้มเลิกหลายครั้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นในตัวเอง ที่เธอบอกว่า “จะไม่หยุดจนกว่าจะได้ [ทำตาม] เป้าหมายที่ตั้งไว้” ทำให้เธอยังคงทำงานอยู่ในเส้นทางนี้ และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ นั่นคือ การทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศ รวมถึงการได้ทำข่าวในพื้นที่สงคราม ดังเช่นสมรภูมิยูเครน
ขณะทำงานอยู่ที่ Bangkok Post เธอควบงานเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง TNN ต่อมา จึงย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าววิดีโอ (Video Journalist) ที่ BBC Thai ก่อนจะได้ทำงานที่สุดท้ายกับ Reuters ในฐานะผู้สื่อข่าววิดีโอและโปรดิวเซอร์ เริ่มตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งลาออกมาเมื่อปี 2023 เพราะได้ทำตามฝันที่กล่าวไปข้างต้นได้สำเร็จ
2.
นักข่าวสงคราม
“ตอนจุดนั้น เราว่าเป้าหมายมันชัด เป้าหมายมันชัดจนมันกลบเสียงที่เหลือไปหมดเลย ความหมายของชีวิตตอนนั้นคือ ทำอะไรก็ได้ให้ไปถึงจุดหมายตรงนั้น” จิราพรเล่า
เมื่อสงครามในยูเครนปะทุขึ้น จิราพรแจ้งกับหัวหน้าต้นสังกัดที่ Reuters ขออาสาสมัคร จึงถูกส่งไปอบรมการทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร (hostile environment training) ซึ่งจัดขึ้นที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศใกล้เคียงกับยูเครนมากที่สุด
เวลาล่วงเลยจนกระทั่งเดือนมีนาคม 2023 มาถึง จิราพรเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปรอลุ้นวีซ่าเอาหน้างานที่กรุงวอร์ซอประเทศโปแลนด์ จากนั้นจึงเดินทางข้ามพรมแดน 12 ชั่วโมง เข้าสู่กรุงเคียฟ ปลายทางของเธอคือภูมิภาคดอนบาสในภาคตะวันออกของยูเครน ที่เธอจะใช้เวลาทำงานที่นั่นทั้งหมด 1 เดือนกว่า
“ห่างกับรัสเซียแบบเล็กน้อยมาก ก็ไปถ่าย เขาก็ยิงปืน เขาก็สู้รบกัน แล้วก็คุยกับทหาร” เธอเล่า
ในแนวหน้า จิราพรตื่น 6 โมงเช้าทุกวัน เพื่อไปทำงานจนถึง 5 โมงเย็น วัฏจักรคงอยู่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนกว่า ได้สัมภาษณ์ทั้งทหารชั้นปฏิบัติการ ผู้บัญชากรกองทัพของยูเครน ประชาชนทั่วไปที่หลบภัย นักบุญที่คอยช่วยเหลือผู้คน กระทั่งประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy)
“ทั้งวันมันก็อยู่ด้วยโหมดการเอาชีวิตรอด (survival mode) จริงๆ มันก็คือความเครียดทั้งวัน” เธอว่า
“เราว่า เราน่าจะเป็นเหมือนนักข่าวหลายๆ คน ที่เป้าหมายของเขาก็คือการไปสงคราม” จิราพรบอกกับเรา “เรารู้สึกว่า การที่เราได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เราอยู่ในความโกลาหล (chaos) แต่เราสามารถที่จะจดจ่อได้มากที่สุด เราสามารถนิ่งได้มาก
“จริงๆ เราก็ถามตัวเองว่า จุดเริ่มต้นมันมาจากไหน” เธอเปิดใจ
สำหรับเธอ นักข่าวที่ทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งทุกคนที่มีเป้าหมายคือการแก้ ‘ปมภายนอก’ หรือก็คือ แก้ปัญหาภาพใหญ่ จากการที่พวกเขาห่วงใยโลก หรือห่วงใยสังคม แต่ในมุมมองของเธอ การแก้ปมภายนอกก็เป็นสิ่งที่มาทดแทนการ ‘ปมในใจ’ อะไรบางอย่างของตัวเองด้วย
พิจารณาในระดับหนึ่ง เธอบอกว่ามาจากการได้ดูภาพยนตร์เรื่อง A Thousand Times Good Night (2013) ที่เล่าเรื่องราวของช่างภาพข่าวหญิงในพื้นที่สงครามที่อันตราย ซึ่งเธอบอกว่า อาจจะเป็นการดูภาพยนตร์ที่ “เปลี่ยนชีวิตเลยก็ได้” และสร้างแรงบันดาลใจให้ต้องไปอยู่ตรงจุดนั้น
แต่เมื่อเราถามลึกลงไป ก็พบว่า อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ได้เผชิญกับความอยุติธรรมในวัยเด็ก ที่กลายเป็น ‘ปมในใจ’ ของเธอ
“คือเราโตมาจากครอบครัวที่แม่เป็นคนมอญ ที่มาจากพม่า แล้วเรารู้สึกว่า การที่เขาเป็นเหมือนผู้อพยพ มันขาดหลายอย่างในชีวิต ไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียม
“ตาของเราก็เป็นผู้อพยพเหมือนกัน เป็นคนมอญที่อาศัยอยู่ที่สังขละบุรี เราจำได้ว่า มีครั้งหนึ่ง ตอนเด็กๆ เขาถูกตำรวจซ้อม แล้วเขาถูกจับ ตอนนั้นพ่อแม่ก็คุยกัน คือเขาถูกตำรวจซ้อม ถูกจับ แล้วก็ถูกยัดข้อหาว่าค้าไม้ แล้วตำรวจเรียกเงิน 2 แสนเพื่อให้ปล่อย
“พ่อแม่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ทำไมถึงจะต้องจ่ายในเมื่อไม่ได้ทำ ก็เลยไม่จ่าย ตาก็ติดคุก แล้วเราก็จำได้ตั้งแต่เด็กเลย ตอนนั้นคือประถมเลยนะ เรารู้สึกว่าอืม โลกนี้มันไม่ยุติธรรมเนอะ เราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้มันมีความยุติธรรม มันก็เป็นอะไรที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็กว่า แล้วเราทำอะไรได้บ้าง”
เมื่อถามว่า อะไรคืออุดมการณ์ส่วนตัวที่ผลักดันให้มาทำอาชีพสื่อมวลชน เธอตอบไม่ต่างจากข้างต้น “เราเป็นนักข่าวเพราะว่าเราอยากเห็นความถูกต้องและความเท่าเทียม เราอยากให้เสียงกับคนที่ไม่มีเสียง”
3.
อดีตนักข่าว
หลังเดินทางกลับจากยูเครน จิราพรลาออกจาก Reuters รวมถึงเดินออกจากเส้นทางอาชีพสื่อมวลชน เพราะรู้สึกว่าได้ทำตามเป้าหมายจนสำเร็จแล้ว
เมื่อมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่เริ่มทำงานในฐานะช่างภาพข่าวผู้หญิง เธอก็มองว่าสถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น “เราว่ามันเปลี่ยนไปนะ เราว่ามันมีช่างภาพผู้หญิงเข้ามาเยอะมากขึ้นกว่าตอนที่เราเริ่ม
“ซึ่งเราก็ดีใจ เราอยากให้มีแบบช่างภาพผู้หญิงอีกเรื่อยๆ เพราะว่าการมีผู้หญิงเข้ามา มันเป็นอะไรที่สดใส การทำงานมันก็มีความสุขมากขึ้น การมีผู้หญิงมันทำให้มีมุมมองที่แตกต่างของการถ่ายภาพ ผู้หญิงมันจะมีรายละเอียดเล็กน้อย มันจะมีมุมมองที่แตกต่างกับผู้ชาย
“ในความเป็นจริง เราไม่ได้สนใจหรอกว่า ผู้หญิงจะจะเก่งกว่าหรือว่าอะไร สุดท้ายแล้วมันก็ฝีมือ มันวัดกันที่ฝีมือ แต่เราก็เชื่อว่า ในสังคมไทย ในสังคมช่างภาพข่าว มันต้องมีความเท่าเทียมสิ
“เราว่าต้องแก้ที่บริษัท มันควรเปลี่ยนที่ทัศนคติของคนที่จ้างงานว่า ผู้หญิงก็ทำงานได้เหมือนกัน ก็แค่ให้โอกาส”
“มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศสภาพว่า เพศสภาพนี้ทำงานแบบนี้ไม่ได้ หรือเพศสภาพแบบนี้ทำงานแบบนี้ไม่ได้ มันไม่เคยมีข้อจำกัดเลย”
และไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่ต้องเปิดโอกาสให้คนทำงานที่เป็น LGBTQIA+ ด้วย เธอกล่าว
ปัจจุบัน จิราพรกำลังเรียนต่อด้านภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California หรือ USC) ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ โดยหวังจะเข้าสู่การทำงานในวงการภาพยนตร์ เป็นเป้าหมายในชีวิตเป้าหมายใหม่
“ตอนนี้มันเหมือนเราอ่านหนังสือที่เป็นเล่มที่สนุกมากของการเป็นนักข่าว เป็นเล่มที่สนุกที่สุดในชีวิตเลย แต่หนังสือเล่มนั้นปิดลงแล้ว แล้วก็ชอบมีคนให้พูดถึง เราก็ชอบพูดถึง เพราะมันสนุก และน่าจะเป็นเรื่องเล่าไปได้ตลอดชีวิต ต่อให้มีลูกมีอะไรอย่างนี้ ก็คงจะชอบเล่า
“อันนี้มันก็จะเป็นบทใหม่ของชีวิต ที่จะไปเอาความรู้ความสามารถที่เคยมีในหนังสือเล่มนั้น มาใช้กับชีวิตใหม่ เส้นทางใหม่ของชีวิต”
“คุ้ม คุ้มตลอด คุ้มทุกนาที ไม่มีตอนไหนที่ไม่คุ้มเลย ทุกคนที่เจอ คุ้มกับทุกๆ บริษัทที่ไป คุ้มกับทุกงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะว่ามันคือการเรียนรู้” จิราพรพูดถึงอาชีพสื่อมวลชนที่ปิดฉากลงไปแล้วของเธอ