ไม่ว่าเมื่อไหร่ ห้วงอากาศก็เป็นหนึ่งในปริศนาที่เราต่างอยากรู้และตื่นเต้นไปกับมันอยู่เสมอ
แม้ว่าจะมีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่เคยขึ้นยานทะลุชั้นบรรยากาศออกไปนอกโลก แต่เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ดาราศาสตร์’ ก็มักเรียกความสนใจจากผู้คนได้อยู่เสมอ และแทบทุกครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวความคืบหน้าในเรื่องนี้ จินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเคยเห็นกันมาจากภาพยนตร์ หรือจากที่ไหนก็ตาม ก็มักจะมาโลดแล่นอยู่ในหัวเราไปด้วยเช่นกัน
อย่างเมื่อเร็วๆ มานี้ มีการค้นพบก๊าซฟอสฟีนอยู่บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ คู่แฝดของโลก ซึ่งการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกก็เป็นได้ และนั่นจะเป็นข้อพิสูจน์ชิ้นสำคัญว่า มนุษยชาติไม่ได้อยู่เดียวดายในห้วงอวกาศนี้
การค้นพบในครั้งนี้เป็นอย่างไร เรื่องราวของดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับมนุษย์เรามากน้อยแค่ไหน รวมไปถึง การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง? The MATTER ได้พูดคุยกับ มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในไทย จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้กัน
เล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่
ผมเป็นนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ภาคทฤษฎี ตัวงานจริงๆ ของนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็คือนักวิจัย ผมทำวิจัยภาคทฤษฎีเรื่องของพลังงานมืด สสารมืด จักรวาลทำงานอย่างไร โลก และเอกภพ อันนี้คืองานวิจัยที่เคยทำมา
แต่ว่าช่วงหลัง ผมทำเรื่องของการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นส่วนมาก หลายคนน่าจะรู้จักดี เรามีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เพิ่งอายุเกิน 10 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้เอง จริงๆ ค่อนข้างใหม่มาก ก่อนหน้าที่สถาบันจะตั้ง เราไม่มีอะไรเลยเกี่ยวกับด้านดาราศาสตร์ ไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น จำนวนนักดาราศาสตร์ในไทยยังมีแบบนับมือได้ด้วยซ้ำ ถ้าถามคนก็รู้จักแค่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ แล้วก็ไม่มีอะไรอีกแล้ว เราไม่มีสมาคมนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ไม่มีหน่วยงานทางด้านวิจัยที่ทำวิจัย หลายปีก่อนก็ไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนด้านดาราศาสตร์จริงจัง
สถาบันก็เลยให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการ outreach ก็คือการบริการวิชาการ และก็สื่อสาร จริงๆ ตอนนี้ แผนก outreach เป็นแผนกที่ใหญ่ที่สุด หน้าที่หลักของเราก็คือ วิจัย เพราะเราเป็นสถาบันวิจัย แต่งานวิจัยมันไปควบคู่กันกับสังคมที่มองเห็นถึงความสำคัญทางด้านการวิจัย เพราะฉะนั้น การที่ทำให้ประชาชนมี appreciation หรือรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์มันเจ๋ง ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญ
คิดว่าการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เป็นยังไงบ้าง?
ตามข่าวที่เราเห็นกัน มีเรื่องพญาลิง พญานาค ตักน้ำสีชมพูที่ผุดขึ้นมาจากดินไปดื่ม แน่นอนว่า มันมีปัญหาพอสมควร เรื่องของความเชื่อเป็นอุปสรรคค่อนข้างสำคัญ อย่างสมมติเราเจอสิ่งแปลกๆ แต่มันไปเกี่ยวโยงกับความเชื่อของคน จะไปขอมาสำรวจตรวจดู เขาก็ไม่อยากให้ เพราะเขาจะเอาไปเลี่ยมพระ เบื้องต้นก็มีปัญหาประมาณนี้
เราไม่ได้ต้องการจะประกาศสงครามกับความเชื่อ ความเชื่อมันก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ในขณะเดียวกันเราต้องการจะนำเสนอในอีกมุมมองนึง โอเคเราบอกว่าเราเป็น outreach ด้านดาราศาสตร์ แต่สิ่งที่เราทำคือ science outreach ดาราศาสตร์เหมือนเป็นแค่ตัวล่อเฉยๆ เพราะว่าถ้าคุณเอากล้องจุลทรรศน์ไปตั้งกลางตลาด แล้วถามว่ามีใครอยากดูอะมีบาไหม อาจจะไม่ค่อยเท่าไหร่ หรือถ้าเราไปตั้งแล็บทดลองฟิสิกส์ แล้วถามว่ามีใครอยากเรียนรู้ฟิสิกส์ไหม คงไม่มีใครสนใจอีกเหมือนกัน แต่ถ้าเราเอากล้องดูดาวไปตั้ง ไม่ต้องทำอะไรเลย คนก็อยากมาดู เพราะหลายคนสนใจการดูดาว ดาราศาสตร์เลยเป็นเครื่องมือในการ outreach วิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดแล้ว
ฉะนั้น เป้าหมายหลักๆ ของเราคือทำให้คนสนใจวิทยาศาสตร์ เขาเรียกว่า scientific literacy ทุกวันนี้มีเรื่องของ fake news เยอะ แล้วจะทำอย่างไรให้คนเห็นข่าวบางอย่างแล้วฉุกคิดได้ว่า เฮ้ย มันไม่น่าจะใช่นะ หรือทำยังไงให้เวลาเขียนข่าววิทยาศาสตร์ แล้วจะไม่ทำให้คนรู้สึกว่า ‘อะไรวะ ไม่รู้เรื่องเลย’ ทำให้เขาพอเข้าใจได้ในระดับนึง อย่างเช่น การเจอสัญญาณว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ ก็อยากให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย มันเจ๋งหรือไม่เจ๋ง เพราะอะไรถึงคิดอย่างนั้น อันนี้คือเป้าหมายสำคัญที่เราพยายามจะทำของ scientific literacy มากกว่า
คำว่าดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร?
จริงๆ ดาราศาสตร์เขาว่ากันว่า อาจจะเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด เพราะว่าสิ่งแรกๆ ที่มนุษย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ก็คือการสังเกตการณ์ขึ้นตกของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แล้วก็ดวงดาว แล้วพอเราเริ่มสังเกตเห็นการเคลื่อนที่ที่ของกลุ่มดาว ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ได้ ก็เริ่มหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง และค้นพบว่า ตำแหน่งของดวงอาทิตย์กับกลุ่มดาวสัมพันธ์กันกับการเกิดของฤดูกาล เราค้นพบว่า 1 ปี มี 365 วัน เพราะดาราศาสตร์ เราสามารถทำปฏิทินได้เพราะดาราศาสตร์ แล้วปฏิทินเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันนำมาซึ่งการปฏิวัติเกษตรกรรม กสิกรรม มันทำให้เราวางแผนได้ว่าเราต้องเริ่มหว่านเมล็ดเมื่อไหร่ เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ แล้วพอเราเริ่มหว่านเมล็ดได้ เราผลิตอาหารได้ เรามีอาหารเหลือพอที่จะกิน ทำให้เรามีเวลาเหลือที่เอาไปประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มากมาย เพราะงั้นดาราศาสตร์จริงๆ มันสำคัญอย่างมาก ควบคู่ไปกับชีวิตประจำวันเรา
ทุกวันนี้เราก็ยังอิงนาฬิกาเราตามดาราศาสตร์ เรานัดเจอกันตอนเที่ยง หมายความว่าตอนที่ดวงอาทิตย์อยู่จุดสูงสุดบนท้องฟ้า เวลาเรายึดตามว่า 1 เดือนมี 30 วัน ใกล้เคียงกับ 1 รอบของดวงจันทร์ และ 1 ปี ก็มี 365 วัน เพราะงั้นทุกอย่างมันเป็นดาราศาสตร์ทั้งนั้น และโดยประวัติศาสตร์มันมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชีวิตเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
แต่ทำไมบางคนถึงมองว่า ดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว
ในยุคนี้ดาราศาสตร์มันกลายเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากขึ้น ทั้งๆ ที่มันใกล้ตัว เพราะเราชินเสียจนเรามองข้ามมันไปแล้ว แต่จริงๆ แล้วถ้าพูดง่ายๆ เลย ดาราศาสตร์มันก็คือศาสตร์ในการศึกษาของที่ไม่มีวันไปถึง แตกต่างกับชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ที่เราสามารถทำในห้องทดลองได้ เรากำลังศึกษาอะไรที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ แต่ดาราศาสตร์คือการศึกษาที่เรายังไม่รู้ เรายังไม่เห็น เราเดินทางไปไม่ได้ มันมีความท้าทายแตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวดาราศาสตร์เองถึงมันจะดูไกลตัว แต่ว่าการผลักดันทางดาราศาสตร์ เราเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า การให้ได้มาซึ่งความเข้าใจบางอย่างในทางดาราศาสตร์ มันทำให้เกิด spin-off เทคโนโลยีจำนวนมากมาย ซึ่งมีผลอย่างมากกับชีวิตประจำวัน อย่าง Wi-fi ภาพ .jpeg อินเตอร์เน็ต ไมโครเวฟ GPS ดาวเทียมที่เราใช้ทุกวันนี้ หรือกล้องถ่ายรูปที่เราถ่ายภาพอยู่ในโทรศัพท์ของเรา ก็เป็นผลผลิตจากทางดาราศาสตร์ทั้งนั้น เพราะงั้น ตัว spin-off มันนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่มีผลกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมากมาย
นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีต่างๆ สุดท้ายแล้ว ในระยะไกลอีก 1 ล้านปีข้างหน้า ถ้ามนุษยชาติยังอยู่เราจะไปไหน เป้าหมายของเราคืออะไร เป้าหมายของเราคือต้องการทำความเข้าใจในธรรมชาติ จักรวาลที่เราอาศัยอยู่ ตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่มนุษย์คนแรกที่ดูว่าดวงอาทิตย์ขึ้นตกยังไง เราต้องการจะเข้าใจในจักรวาล เพราะงั้นความฝันสุดท้ายของมนุษยชาติก็คือ ผมมองว่ามันคือการเข้าใจทุกอย่างในจักรวาล
แน่นอนว่าเราต้องค้นพบเทคโนโลยีที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถทำความเข้าใจซึ่งนำไปสู่จุดหมายสุดท้ายไปพร้อมๆ กันได้ เราไม่จำเป็นต้องเลือก และเรามีคนที่พัฒนาเทคโนโลยีให้ชีวิตดีขึ้น พร้อมๆ กับคนที่ไขความลับ ความเข้าใจของจักรวาลไปพร้อมๆ กันด้วย ไม่ผิดอะไร และเราต้องไม่ลืมด้วยว่า หลายๆ อย่างที่อาจจะฟังดูไม่มีประโยชน์ด้วยในตอนแรกๆ อย่างทฤษฎีสัมพันธภาพของไอสไตน์ รู้ไปทำไมว่าเวลา นาฬิกามันเดินถอยหลังอย่างที่เราไม่มีวันสัมผัสได้ ปรากฏว่า ทุกวันนี้ถ้าเราไม่รู้จักทฤษฎีสัมพันธภาพ ดาวเทียม GPS เราจะใช้ไม่ได้เลย
เรื่องการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ มันเกี่ยวข้องกับสัญญาณการค้นพบสิ่งมีชีวิตอย่างไร
สิ่งที่ค่อนข้างแน่ใจว่าเราค้นพบ ก็คือฟอสฟีน ไม่ใช่แค่จากกล้องเดียว แต่จากกล้องสองกล้องซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และค้นพบในลักษณะที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ แล้วช่วงคลื่นที่เราพบ เราพบสเปกตรัมของมัน เราไม่ได้พบตัวฟอสฟีนจริงๆ แต่ว่าในช่วงสเปกตรัมนั้น เรายังไม่รู้จักธาตุอื่น หรือสารประกอบอื่นที่สร้าง absorption ในลักษณะนั้นได้ เพราะงั้นเราค่อนข้างแน่ใจว่า เราเจอฟอสฟีนบนดาวศุกร์
ที่ตามมาก็คือ ฟอสฟีนมันไปอยู่บนดาวศุกร์ได้ยังไง มันเป็นโมเลกุลที่เราไม่คิดว่าควรจะไปอยู่บนนั้น เพราะอย่างแรกคือฟอสฟีนมันสลายตัวโดยธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมของดาวศุกร์ เพราะงั้นการที่เราพบฟอสฟีนในปริมาณขนาดนั้นบนดาวศุกร์ แสดงว่ามันต้องมีแหล่งกำเนิดบางอย่างกำลังผลิตฟอสฟีนอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เมื่อหลายล้านปีที่แล้ว ซึ่งกลไกในการผลิตฟอสฟีนที่เรารู้จักทั้งหมดบนโลกของเรา มันมีกลไกผลิตได้แค่ 2 ทาง ก็คือ ในทางอุตสาหกรรม และเกิดขึ้นจากจุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถผลิตฟอสฟีนได้ ซึ่งเราตัดทิ้งข้อแรกไป เพราะดาวศุกร์คงไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแน่ๆ หรือถ้ามีก็คงเป็นเรื่องใหญ่
คำอธิบายเดียวที่เรามีตอนนี้ก็คือ ฟอสฟีนถูกผลิตขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตเท่านั้น คำถามสำคัญของเรื่องการตามหาสิ่งมีชีวิต เราจะรู้ได้ยังไงว่าดาวดวงนี้มีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง มันไม่ใช่เรื่องที่หาคำตอบได้ง่ายๆ ถ้าสิ่งมีชีวิตคล้ายโลกของเรา โอเคเรายังพอตอบได้ เรารู้ว่าบรรยากาศโลกเราเป็นยังไง แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ ซักเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว เราสังเกตบรรยากาศโลก เราจะพบว่า สภาพบรรยากาศ สภาพแวดล้อมมันไม่เหมือนปัจจุบันนี้เลย อากาศไม่เหมือนกันเลย เพราะงั้นแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตคล้ายโลกเราก็ยังแตกต่างกันได้พอสมควร ว่าเราจะต้องเจออะไรยังไงบ้าง แล้วถ้าสิ่งมีชีวิตมันไม่เหมือนกับโลกของเราล่ะ เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันมีสิ่งมีชีวิตอยู่ อันนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างนึง
วิธีนึงที่เราจะยืนยันได้ก็คือ ถ้าเราเจอสารประกอบบางอย่างที่มันไม่ควรจะอยู่บนนั้น ที่มันไม่มีกระบวนการเกิดขึ้นในธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นได้ยากมากในธรรมชาติ แล้วอยู่ดีๆ มันมีอะไรบางอย่างผลิตขึ้นมาก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีสิ่งมีชีวิต เราเรียกสารประกอบพวกนี้ที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า Biomarkers ซึ่งฟอสฟีนก็ถูกเสนอเป็น Biomarkers อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่จะมีการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ แล้วพอค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ ก็เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าดาวศุกร์อาจจะมีสิ่งมีชีวิต แต่ต้องย้ำว่าเรายังไม่มีคำอธิบายอื่นที่จะบอกว่า มีฟอสฟีนอยู่บนดาวศุกร์ได้ยังไง นอกไปจากสิ่งมีชีวิต
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรายืนยันว่ามีสิ่งมีชีวิตแล้ว ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือ น่าจะมีกลไกบางอย่างที่เรายังนึกไม่ออก ที่สามารถผลิตฟอสฟีนบนดาวเคราะห์หินได้ อันนี้เรายังไม่รู้ แต่ตราบใดที่เรายังหาไม่เจอ อีกความเป็นไปได้หนึ่งก็ละเลยไม่ได้ เพราะถ้าเรามัวแต่บอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มี เราหามันไม่เจอ ปรากฏว่ามันอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ตรงนั้นก็ไม่ แต่เราไม่เชื่อ เพราะงั้นเราต้องเปิดรับความเป็นไปได้ทุกอย่าง จนกว่าจะมีหลักฐานที่ดีกว่านี้
ก่อนหน้านี้มันมีการค้นพบสารที่เป็นหนึ่งใน Biomarkers ในดาวเคราะห์อื่นมากน้อยแค่ไหน
ก็มีบ้าง แต่ความหมายของ Biomarker ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างเราเคยค้นพบออกซิเจนอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เราก็ตื่นเต้นเพราะว่าออกซิเจนบนโลกมันผลิตจากสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ แต่เราก็มาพบว่าจริงๆ ออกซิเจนมันก็ไม่ได้ผลิตยากขนาดนั้น มันสามารถเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ แล้วออกซิเจนจริงๆ ก็ทำปฏิกิริยา แล้วหายไปได้เหมือนกัน แต่ว่ามันสามารถจะมีปรากฎการณ์บางอย่างในธรรมชาติที่ผลิตออกซิเจนมาชั่วคราวได้
ผมว่าถ้าพูดถึงเรื่องของการค้นพบ Biomarkers การค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์เนี่ย อาจจะเป็น Biomarkers ที่มีหลักฐานหนักแน่นที่สุดแล้วที่เราเคยเจอมาก็ได้ หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ เรายังไม่ค้นพบสิ่งมีชีวิต แต่ว่าการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ อาจจะเป็นสิ่งที่ใกล้กับการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่สุด เท่าที่เราเคยเจอมาก็ได้
แล้วนิยามของคำว่าสิ่งมีชีวิต คืออะไร
อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญ เราจะนิยามสิ่งมีชีวิตว่าอย่างไร มันไม่มีคำตอบง่ายๆ เลย นิยามของสิ่งมีชีวิตก็มีหลายอย่าง เช่น ต้องเพิ่มจำนวนได้ ต้องมีเมตาบอลิซึม ต้องมีการจัดระเบียบ เป็นต้น
แต่ถ้าเราถามผู้คนเกิน 90% จะนึกถึงเอเลี่ยน นึกถึงมนุษย์ต่างดาวตัวสีเทาๆ เขียวๆ ตากลมๆ สีดำๆ มีแขนขา มนุษย์เรามีไบแอสอยู่แล้วที่เราจะมีมุมมองอะไรเริ่มจากคล้ายๆ ตัวเราเอง ขนาดเรานึกถึงมนุษย์ต่างดาวเรายังคิดว่า ต้องมีตาสองตา มีแขนสองแขน มีขาสองขา ทั้งๆ ที่สิ่งมีชีวิตบนโลกของเรามีสัตว์อยู่แค่ไม่กี่ตัวเท่านั้นที่มีแขนสองแขน ขาสองขา อย่างแมลงเองก็มีตาจำนวนเยอะแยะ แต่เราก็ยังยึดติดแต่กับภาพของตัวเอง แล้วนี่แค่นับเฉพาะสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรานะ เรายังไม่ได้นึกถึงแมลง เราไม่ได้นึกถึงในน้ำ เราไม่ได้นึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพแวดล้อมบนดาวดวงอื่นซึ่งมันอาจจะพิสดารมากเสียจนเราไม่รู้จะจินตนาการอย่างไร
มันเป็นข้อจำกัดอย่างนึงว่าเรามีไบแอสที่จะมองอะไรโดยเริ่มจากการมองสิ่งที่คล้ายตัวเองก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ก็เป็นอะไรอย่างนึงที่มันอาจจะท้าทายความเข้าใจของเราถึงสิ่งมีชีวิตก็ได้ เพราะเราไม่คิดว่ามันน่าจะมีอยู่ได้บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ถึงบนพื้นผิวของดาวศุกร์จะร้อนเกินไป เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันร้อนถึงขั้นที่หลอมตะกั่วได้ เพราะว่าก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าสูงขึ้นมา ถ้าวัดความกดอากาศแล้วอุณหภูมิมันอาจจะพอเหมาะ เพียงพอ อุณภูมิประมาณ 30 องศา ไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไหร่ แต่ว่ามันก็มีเมฆที่เป็นกรดซัลฟิวริก 90% ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั่วโลกก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
ถ้ามันมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์ที่จะผลิตฟอสฟีนจริงๆ มันจะต้องเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่เหมือนกับที่เรารู้จัก เรานึกไม่ออกว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง มันจะอยู่รอดปนกับซัลฟิวริกได้ยังไง หรือบางทีมันอาจจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตก็ได้ อาจจะเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่มันซับซ้อนก็ได้ ถ้าเราลองคิดดูดีๆ แล้ว สิ่งมีชีวิตมันก็แค่ปฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อนมากๆ เหมือนผมหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป แล้วผมก็เอาออกซิเจนออกมา ถ้าผมมีปฏิกิริยาทางเคมีที่ซับซ้อนมากๆ จนสามารถเพิ่มจำนวนได้ ตรงไหนคือเรียกว่าสิ่งมีชีวิต ตรงไหนเรียกว่าสิ่งไม่มีชีวิต
คำถามนี้เราน่าจะต้องกลับมาถามตัวเองหลายๆ ครั้ง เมื่อเราค้นพบเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตนอกโลกมากขึ้น เราไม่รู้จริงๆ ว่านิยามที่ถูกต้องจะต้องเป็นยังไง เราสามารถนิยามได้ แต่มันก็เป็นนิยามที่อิงจากสิ่งมีชีวิตบนโลก
ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ประพฤติตัวคล้ายสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะทำให้เรากลับมานั่งคิดกันจริงจังอีกทีว่า เราควรจะนิยามสิ่งมีชีวิตว่ายังไงกันแน่ มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง เอาง่ายๆ อย่างโคโรนาไวรัส ทุกวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่า เราควรเรียกมันว่าสิ่งมีชีวิตดีไหม เพราะว่าไวรัสมันมีแค่ก้อนโปรตีน ก้อนไขมันที่หุ้มด้วยสารพันธุกรรม แล้วถ้าสภาพแวดล้อมพอเหมาะมันก็เพิ่มจำนวนไปได้เรื่อยๆ ภายในเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่แล้วเราเรียกมันว่าสิ่งมีชีวิตดีไหม ไม่มีใครตอบได้ บางคนบอกว่ามันมีชีวิต แต่บางคนก็บอกว่ามันไม่มีเมตาบอลิซึมนะ เราจะเรียกว่ามันมีชีวิตดีไหม
ส่วนตัวเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกจริงไหม?
ผมว่ามีนะ เราแค่ยังไม่เจอ อันนี้ส่วนตัวเลย ไม่ได้อ้างอิงจากหลักฐานอะไร ขอยกโควทเจ๋งๆ มาว่า จักรวาลมันใหญ่ขนาดนี้ ถ้ามันมีแค่เรามันจะมีไปทำไมตั้งเยอะแยะ น่าจะเปลืองพื้นที่ไปมากถ้ามีแค่เรา
อันนี้ผมตั้งข้อสังเกตนิดนึงว่า มันเป็นมุมมองที่น่าสนใจสำหรับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผมว่าคนไทยเราค่อนข้างโอเคกับการมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกเราไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ผมเชื่อว่า ถ้าถามคนทั่วๆ ไป เขาก็คิดว่าน่าจะมีกันด้วยซ้ำ น่าจะมี เพียงแต่เรายังไม่เจอ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันเล็กน้อยกับทางฝั่งตะวันตก ซึ่งเขาให้ความสำคัญกว่า เอาจริงๆ สมมติถ้าเราเจอเอเลี่ยนวันนี้ พรุ่งนี้ คนไทยอาจจะเฉยๆ ด้วยซ้ำ อาจจะมองว่า เจอแล้วเหรอ ยินดีด้วยนะ เพราะเราก็อยู่กับความคิดว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรแปลกๆ อยู่บนโลกนี้ตั้งเยอะ มีเอเลี่ยนเดินออกมา คนก็ค่อนข้างเชื่ออยู่แล้วว่ามีเอเลี่ยนอยู่ area 51 เราอาจจะไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีเอเลี่ยนมาพรุ่งนี้เลย ชาติตะวันตกน่าจะแตกตื่นกันพอสมควร ซึ่งอันนี้พูดจากความเห็นส่วนตัวนะ แต่ผมว่าหลักๆ ปัจจัยที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ถ้าศาสนาพุทธหรือความเชื่อบางอย่างก็โอเค ก็มีไปสิ แต่ขณะเดียวกันศาสนาที่เป็นเทวนิยม หรือที่พระเจ้าอยู่ เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก สร้างจักรวาลนี้ขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ เพราะฉะนั้นการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่มีทรงภูมิปัญญาอื่นนอกเหนือไปจากมนุษย์ มันท้าทายความเชื่อหลักของศาสนา ทำให้ไอเดียเรื่องการค้นพบสิ่งมีชีวิตของชาติตะวันตกกับชาติตะวันออก ค่อนข้างมีนัยยะสำคัญที่แตกต่างกันออกไป อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ แต่ผมมองว่ามันก็เป็นคำถามที่สำคัญ
แปลว่า การเชื่อเรื่องสิ่งมีชีวิตนอกโลก เกี่ยวพันกับเรื่องของความเชื่อในสังคม?
ใช่ ความเชื่อมีผล ยังไงเราก็ยังเป็นมนุษย์ ต่อให้นักวิทยาศาสตร์เอง เราก็ยังเป็นมนุษย์ เราทำอะไรด้วยความเชื่ออยู่แล้ว การพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้อยู่ลำพังในจักรวาลนี้ อาจจะสำคัญกว่าสำหรับชาติตะวันตกที่ถูกปูพื้นฐานมาด้วยว่าเราอยู่ลำพังอยู่แล้ว ในขณะที่ไทยเรา เราค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่า เราค่อนข้างเชื่อว่ามีเทวดา มีชาติ ภพภูมิอะไรต่างๆ มากมาย สิ่งมีชีวิตต่างดาว เลยไม่ได้กลายเป็นเรื่องแปลกอะไรขนาดนั้น
คิดว่า การตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกเป็นเรื่องสำคัญไหม
ยังไงก็สำคัญ แน่นอนว่า อันดับแรกการตามหาทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ลำพัง ต่อให้ลึกๆ เราอาจจะเชื่ออยู่แล้วว่ามันมีสิ่งมีชีวิตอื่น แต่การยืนยันมันทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทั้งมุมมองที่เรามองกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ที่เรามองกับโลก มองกับจักรวาล มันมีปัจจัยทางปรัชญาที่พอสมควร
นอกจากนั้นแล้ว การที่เราพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก มันก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือมันอาจจะบอกอะไรได้กับชีววิทยาบนโลกใบนี้ อย่างสมมติว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์จริงๆ ซึ่งผลิตฟอสฟีนได้ แล้วอยู่ในสภาพที่มีกรดซัลฟิวริกด้วย มันอาจจะให้ความรู้เราเกี่ยวกับปรากฏการณ์ปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้ อาจจะบอกอะไรเราเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราด้วยก็ได้ แน่นอนว่ายังไงมันบอกอะไรเรามากกว่าเดิม สิ่งมีชีวิตบนโลกมันก็เป็นแค่ data point หนึ่งอัน มันเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ถ้าเราเจอตัวอย่างมากกว่านี้ แน่นอนว่าเราจะเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกว่าเราอาจจะเจออะไรที่ประหลาดมาก เราอาจจะต้องท้าทายนิยามของคำว่าสิ่งมีชีวิตใหม่ก็ได้ ยังไงก็ท้าทายแน่นอน
มองเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่ายังไงบ้าง
ทุกวันนี้คนเข้าใจความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วเรายังจับคนไปเผาเพราะเชื่อว่าเป็นแม่มดอยู่เลย มีคนคิดอะไรแปลกๆ นิดนึง ทำอะไรแปลกๆ หรือมีคนป่วยทางจิตเราก็เอาไปเผาแม่มดอยู่เลย เวลาเราพูดถึงความก้าวหน้า เรามักจะนึกถึงเทคโนโลยี แต่มันมีความก้าวหน้าทางสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งมันก็ต้องค่อยๆ พัฒนากันขึ้นไป ไม่ได้มีทางลัด การพัฒนาทางสังคมมันก็สัมพันธ์กับการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้วย
ถ้าเกิดคนเราคิดว่า เราจะส่งคนออกไปนอกโลกทำไม ในเมื่อเรายังมีคนหิวโซอยู่ในบ้านของเรา เราก็คงไม่มีโครงการอวกาศ ถ้าสังคมเราเริ่มพัฒนาขึ้นไป เรามีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ พร้อมๆ กับความเข้าใจในสังคมที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาสภาวะยากจน และสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ก้าวกระโดดได้
แม้กระทั่งการเมืองเอง ไม่ได้พูดถึงการเมืองปัจจุบัน แต่อย่างในสหรัฐฯ พยายามจะสร้างเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขุดอุโมงค์ไว้แล้ว ถมกันไปเป็นหลายพันล้านเหรียญ แต่ทุกวันนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะว่าการเมืองไปไม่รอด กลายเป็นว่าเทคโนโลยีเราเพียงพอ วิทยาศาสตร์เราเพียงพอ วิศวกรเราทำได้ แต่ว่าความก้าวหน้าทางการเมืองของเรายังไม่เข้มแข็งพอที่จะสามารถแบกโปรเจกต์ระดับใหญ่ขนาดนั้น ข้ามผ่านสมัยประธานาธิบดีหลายสมัยได้ ก็กลายเป็นปัญหาทางการเมืองเองที่หยุดยั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไป ซึ่งก็เป็นอะไรที่เราต้องควบคู่กันไป
มันเกี่ยวพันกันทุกด้าน
ใช่ครับ เกี่ยวพันกันหมด จริงๆ นักวิทยาศาสตร์เองก็ทำงานจากเงินสนับสนุนจากประชาชน เพราะงั้นเราจะบอกว่า เราอยู่เหนือการเมืองไม่ได้
แต่หลายคนก็มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนกัน
ผมว่ามันมีสองอย่าง คือเราไม่ควรจะเอาวิทยาศาสตร์ไปตอบสนองขั้วการเมืองใดขั้วการเมืองหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะเล่นการเมืองเสียเอง แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับว่างานของเราได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน เราก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยที่เราจะสนับสนุนเงินมากมายให้กับโครงการใหญ่ มันก็ไปไม่ได้
แต่ผมมองว่าก็เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์เช่นกันที่เราจะทำให้ประชาชนมองเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญ เพราะงั้นมันควบคู่กัน แต่ยุคนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นว่าต่อให้นักวิทยาศาสตร์ไม่อยากไปเกี่ยวกับการเมือง แต่การเมืองมันก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาทางวิทยาศาสตร์หลายๆ อย่าง เรื่องของโลกร้อนเป็นประเด็นที่สะท้อนได้ดีมาก เพราะมันเห็นชัดเจนว่าเราอยู่ไม่ได้ ต่อให้เราจะหนียังไงก็ตาม แต่วิทยาศาสตร์ก็ชี้ให้เราเห็นชัดเจนว่า มนุษย์เรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สภาพอากาศของโลกในอัตราที่รวดเร็วเกินกว่าที่มันควรจะเป็น แต่ว่าการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มคิดว่า เราอยู่เหนือการเมืองไม่ได้แล้ว
ถ้าใครติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นี่เป็นครั้งแรกในรอบร้อยกว่าปีตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสาร Scientific American ที่นิตยสารนี้ออกมาระบุว่า เขาสนับสนุนโจ ไบเดน เพราะโดนัลด์ ทรัมป์เป็นปฏิปักษ์ต่อวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง หรือเรื่องโคโรนาไวรัสเอง ก็มีหลักฐานที่เราเห็นกันชัดๆ ว่าทรัมป์พยายามจะบอกว่า มันไม่มีอะไร ด้วย political agenda ที่ต้องการจะรักษาภาพลักษณ์
ผมว่าเราเห็นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เราพยายามพูดถึงเรื่อง fact แต่ว่า fact ไม่ใช่สิ่งที่สื่อสารได้ดีที่สุดกับมนุษย์เสมอไป เพราะมนุษย์เรายังไม่ได้ mature ขนาดนั้นที่เราจะสามารถมอง fact ตรงๆ โดยไม่เอาไบแอสของตัวเองไปเกี่ยวข้องได้ เรามาได้ไกลแล้วนะ จากยุคกลางที่จับคนไปถ่วงน้ำ จากที่มนุษย์เคยจับกาลิเลโอเพราะเขาพูดไม่ตรงกับคำสอน แต่ก็ยังมีอีกมากที่เราต้องพัฒนา เพราะเราก็เป็นมนุษย์ เรายังมีไบแอส ผมเชื่อว่าสังคมมันต้องค่อยๆ พัฒนาควบคู่กันไป
การตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกดูไม่ใช่ภารกิจสำหรับคนไทยเท่าไหร่ คิดเห็นอย่างไรบ้าง และมองว่าคนไทยสามารถไปตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ไหม
โดยพื้นฐานวัฒนธรรมแล้ว เราอาจจะให้ความสำคัญกับคำถามนี้ไม่เท่ากับต่างชาติ เพราะเรารู้สึกว่ามันก็มีอยู่แล้ว จะตามหาไปทำไม โดยทั่วๆ ไปผมคิดว่า เรามองว่า การเจอ มันไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับเราเท่าไหร่
ส่วนเรื่องบทบาทของคนไทย จริงๆ เรายังใหม่กับเรื่องวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์มาก เราเพิ่งมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ได้แค่ 10 กว่าปีเท่านั้นเอง นักวิจัย นักดาราศาสตร์ในประเทศเรายังมีน้อยมาก เรายังมีอยู่ไม่เยอะ ค่อนข้างน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ว่าเราเติบโตเร็วมากจริงๆ มาไกลมาภายใน 10 ปีที่ผ่านมา เรามีกล้องโทรทรรศน์ทั้ง optical และ radio ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะงั้นความศักยภาพมันมีแน่นอน
นอกจากเรื่องตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก อีกเรื่องที่ถูกพูดถึงก็คือการย้ายไปอยู่ดาวอังคาร
ดาวอังคารเป็นเป้าหมายหนึ่งถ้าเราจะย้ายไปอยู่ที่ไหนซักที่นึง เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ เลย แต่การย้ายไปอยู่ยังเป็นเรื่องห่างไกล อันดับแรกคือเราต้องไปเยือนให้ได้ก่อน เชื่อไหมว่า ตั้งแต่โครงการ Apollo จบไป มนุษย์ยังไม่เคยได้ไปเยือนวัตถุใดๆ อีกเลยนอกจากโลก ไกลสุดที่เราไปมากกว่านั้นก็คือสถานีอวกาศนานาชาติ เรายังไม่เคยกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกทีเลย
มันกลับมาที่เรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องของการเมืองพอสมควร เพราะตอนนั้นที่เราลงทุนกันไป เพราะมันมีการแข่งขัน และสงครามเย็น ซึ่งช่วงสงครามเย็นทำให้เกิดการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่สำคัญของมวลมนุษยชาติเลย เรายังไม่ได้กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลยนับจากช่วงสงครามเย็น กระทั่ง เครื่องบินที่บินเร็วที่สุดก็ถูกผลิตในยุคสงครามเย็น เพราะว่าความจำเป็นที่จะต้องหาเครื่องบินที่เร็วขนาดนั้นเพื่อหลบหนีมิสไซส์ ไปสอดแนมรัสเซียได้ มันไม่จำเป็นต้องทำอีกต่อไป เราใช้ดาวเทียมสอดแนมแทนได้ เพราะงั้นมันไม่มีความจำเป็นต้องทำ
จะเห็นได้ว่าช่วงยุคสงครามเย็นมันมีเทคโนโลยีต่างๆ มากมายซึ่งถูกผลักดันโดยความจำเป็นทางด้านการเมือง เราหนีไม่พ้นการเมืองจริงๆ
แล้วเป้าหมายของการไปยังดาวดวงอื่นในตอนนี้ คืออะไร
ตอนนี้ สถานการณ์สภาพแวดล้อมมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สาเหตุที่เราไม่กลับไปดวงจันทร์ เพราะว่ามันไม่มีความจำเป็น แต่เราก็เริ่มกลับมามองที่จะกลับไปใหม่อีกรอบแล้ว ถ้าเราจะไปดาวอังคาร เป้าหมายถัดไปที่เราจะกลับไปเหยียบคือดาวอังคาร แต่ก่อนที่เราจะไปดาวอังคารได้ เราต้องกลับไปเหยียบดวงจันทร์ก่อน เพราะมันนานไปแล้ว เราต้องพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เราพัฒนามานี้มันยังสามารถส่งคนไปดวงจันทร์ได้อยู่ ก่อนที่เราจะไปดาวอังคาร เพราะดาวอังคารมันไกลมาก
เทคโนโลยีเราค่อนข้างโอเคมากแล้ว ส่งหุ่นยนต์ไปดาวอังคารได้ แต่ปัญหาหลักของดาวอังคารคือมันใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์ เรามีความต้องการค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่แค่ทางด้านอาหาร การกิน ขับถ่ายของเสีย แต่รวมถึงสภาพจิตใจของคนเราที่ต้องทนต่อการเดินทางที่ยาวนาน อย่างทีมหมูป่า 13 คนอยู่ในถ้ำที่ห่างออกไปไม่ถึงกิโลฯ เราต้องไปช่วยเหลือยังยากขนาดนั้นเลย การส่งคนไปดาวอังคารไม่มีทางง่าย มันเป็นความท้าทายอีกระดับนึงเลย
ย้อนกลับมาที่ชีวิตส่วนตัว เข้ามาทำงานด้านดาราศาสตร์นี้ได้อย่างไร
ตอนนั้น ผมจบ ป.โทมา กลับมาทำงานเมืองไทย แล้วปรากฏว่าแทบไม่มีใครจบทางด้านดาราศาสตร์ในประเทศไทยเลย แต่ว่าเรามีการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์เยอะ แล้วคนที่ทำงานด้านดาราศาสตร์อยู่ก็ไม่ได้มีใครที่มีประสบการณ์ด้าน outreach แบบจริงๆ จังๆ เข้ามาแล้วเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ค่อนข้างสำคัญ เรามีครูดาราศาสตร์ ความสนใจอะไรมันกำลังพุ่งทะยานขึ้นไป ก็เลยหันมาทำทางด้านนี้
จริงๆ งานของเรานอกจากให้ความรู้แล้ว ก็มีการจัดตั้งกล้องดูดาว กิจกรรมต่างๆ มีจัดค่ายเยาวชน ถ้าคนต้องการวิทยากร เราก็ตอบรับได้ รวมถึง การอบรมครูทั่วประเทศ เอาจริงๆ เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีครูดาราศาสตร์เยอะที่สุดในโลกแล้ว เพราะว่า นอกจากเราแล้ว เท่าที่ผมทราบมา ในโลกเราก็มีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นเองที่มีดาราศาสตร์เป็นวิชาภาคบังคับในโรงเรียน ส่วนมากอาจจะมีเป็นวิชาเลือก แต่ก็ไม่ได้ทุกอัน หลักๆ ที่เป็นภาคบังคับเลย มีแค่ประเทศไทยกับอุรุกวัย
ถือว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่
ไม่รู้เหมือนกัน มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเรามีนักเรียนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ขึ้นมาเยอะเลย ข้อเสียคือ มันเพิ่งมีเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ เราไม่มีครูดาราศาสตร์เลย อยู่ดีๆ เรามีครูดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งครูเหล่านี้แน่นอนว่าไม่มีประสบการณ์ทางด้านดาราศาสตร์มาก่อน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนมันก็เลยไม่ได้ทำได้เต็มที่เท่าไหร่
แล้วก็มีนักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์เยอะ ก็เป็นเรื่องที่ดี การที่มันกลายเป็นวิชาบังคับ มีฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ดาราศาสตร์ คณิต ก็กลายเป็นว่า มันเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกที่เด็กคิดว่าต้องเลือก โดยที่เขาไม่ได้รู้จักจริงๆ ว่าดาราศาสตร์คืออะไรกันแน่ เขาแค่อิงจากประสบการณ์ที่เรียนในโรงเรียนแล้วก็คิดว่า อันนี้ล่ะมั้ง ซึ่งจริงๆ ในการงานสายอาชีพมันแตกต่างกันพอสมควร อันนี้ก็เป็นข้อเสียอย่างหนึ่ง คนอยากเป็นนักดาราศาสตร์เยอะ เป็นข้อดี และก็เป็นข้อเสียเช่นกัน ถ้าเกิดว่าเขายังไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง
ส่วนตัวชอบเรื่องราวด้านดาราศาสตร์มาตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่เด็ก ผมชอบเวลาที่ผมเจออะไรบางอย่างแล้วผมสามารถอธิบายได้ พอได้มาเรียนวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่า มันให้คำอธิบายกับเราได้ ก็ยิ่งชอบมากขึ้น แต่ตอนอยู่มัธยม ผมเกลียดฟิสิกส์ เพราะผมรู้สึกว่ามันเรียนแล้วไม่เห็นอธิบายอะไรได้เลย เรียน vectorเรียนไปทำไม ตอนจบ ม.ปลายมาผมก็อยากเป็นนักเคมี พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเรียนภาคเคมี แล้วค่อยมาค้นพบว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้เกลียดฟิสิกส์ แต่ผมเกลียด ‘ฟิสิกส์ ม.ปลาย’
สิ่งที่ผมชอบคือการอธิบาย คิดว่าเคมีมันก็ให้คำอธิบายได้ แต่ว่าพอเรียนลึกไป ในทางเคมีเองมันก็มีหลายๆ อย่างที่ในตัววิชามันไม่ได้สนใจจะอธิบายเพราะมันเป็นคนละมุมกัน แล้วสำหรับผมมุมของฟิสิกส์มันเป็นสิ่งที่ผมสนใจ อยากได้คำอธิบายมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าอะไรดีกว่าอะไร มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ผมต้องการคำอธิบาย เคมีมันไม่สามารถตอบได้ ผมก็เลยค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในภายหลัง
อย่างที่บอกว่า ไม่ชอบฟิสิกส์ ม.ปลาย หมายถึงอะไร
อาจจะต้องเติมไปด้วยว่า ฟิสิกส์ ม.ปลาย บ้านเรา ทุกคนน่าจะเข้าใจกันดี ประสบการณ์การเรียนที่มันไม่ได้ตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่าง ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม ไม่เข้าใจ มันมีหลายๆ ปัจจัย อย่างเวลาผมมาสอนเด็กๆ ก็ต้องลดทอนความยากหลายๆ อย่างลง ต้องอธิบายให้มันง่ายๆ ซึ่งการอธิบายให้มันง่ายๆ ก็ต้องข้ามบางอย่างไป
แต่ทีนี้ในเรื่องของหลักสูตรบางทีมันมีพื้นฐานบางอย่าง อย่างเวกเตอร์มันก็เป็นพื้นฐานที่เอาไว้อธิบายต่อ ซึ่งบางทีทั้งตัวหลักสูตรและผู้สอนเองอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการอธิบายให้นักเรียนฟังว่า เรารู้ไปทำไม ทุกคนน่าจะเคยเจอประสบการณ์นี้ ถามอาจารย์ว่าเราจะรู้ไปทำไม แล้วอาจารย์ก็ตะคอกกลับมา แต่ว่า นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด นักเรียนทุกคนก็อยากจะรู้ว่าเราเรียนไปทำไม จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายบางอย่างที่ซับซ้อน แม้กระทั่งตัวผมเอง ทุกวันนี้ถ้ามีคนถามว่าเรียนไปทำไม บางทีผมยังตอบยากเลย บางทีมันก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญจริงๆ แล้วจะอธิบายว่าจะเอาไปทำอะไรได้ มันก็ซับซ้อนเกินไป เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพูดยาก แต่ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ซึ่งที่จริงทุกประเทศก็มีปัญหานี้แหละ แต่ก็ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าบ้านเราอาจจะมีปัญหาหนักกว่าหน่อย
มันคือการที่เราบอกเด็กได้ไม่ชัดเจนว่า จุดประสงค์การเรียนรู้คืออะไร
ผมมองว่าอย่างนั้น มันไม่ได้สื่อสารถึงจุดประสงค์ของการเรียนไปอย่างชัดเจนเท่าที่ควร คนเราเวลาสนใจเรียนรู้อะไร อย่างผมเอง ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์มันน่าสนใจ คือมันเอาไปอธิบายอะไรต่อได้ แต่ถ้าเรียนแบบ เรียนๆ ไปเถอะ อย่าถามมากเลย มันไม่น่าสนใจหรอก แน่นอนอยู่แล้วว่ามันจะยากที่จะสนใจ แล้วผมก็แอนตี้ การที่เรามีคำถามแล้วอาจารย์ตอบไม่ได้ แล้วเขาก็จะโกรธ ไม่ชอบ โมโหเราใส่
คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์
ผมอาจจะไบแอส แต่ผมมองว่า มันสนุกเวลาที่เราอธิบายอะไรได้ แล้ววิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องของการตอบคำถาม แทบจะทุกครั้งเวลาที่เราอธิบาย จะเริ่มจากคำถามก่อน มีอะไรสักอย่างที่มันแปลก แล้วเราจะอธิบายมันได้อย่างไร ผมว่านี่คือใจความสำคัญ
ผมเชื่อว่า ต่อให้คนที่ไม่ได้ชื่นชอบวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ แต่เขาก็เข้าใจในตรงนี้ มนุษย์เราโหยหาความพึงพอใจที่ได้จากการสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัวเราได้ 10 ปรากฎการณ์ที่เราต้องการคำอธิบายอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจจะสนใจว่าเอกภพเกิดจากอะไร บางคนอาจจะสนใจว่าทำไมเธอไม่ตอบข้อความ อะไรเหล่านี้มันมีคำอธิบาย ซึ่งโดยธรรมชาติเราต้องการที่จะหาคำอธิบายอยู่แล้ว
เป็นการหาคำตอบ หรือการตั้งคำถาม
มันไปด้วยกันทั้งคู่ เราไม่มีทางหาคำตอบได้ ถ้าเราไม่มีคำถาม คำถามนี้เป็นอะไรที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการศึกษาไทย ถ้าเรามองย้อนกลับไปว่า ที่โรงเรียนฝึกทักษะอะไรให้เราบ้าง ถ้าเราย้อนกลับไปทุกอย่างที่เราทำในโรงเรียน มันเป็นเรื่องของการตอบคำถามทั้งนั้นเลย ทำอย่างไรเราถึงจะเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้ ระหว่าง ก ข ค ง แค่นั้นเอง เราเคยได้มีโอกาสได้ฝึกทักษะในการถามคำถามซักครั้งไหม เคยมีการให้คะแนนไหมว่า เธอถามคำถามได้ดีมากเลย ไม่มี ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มีแต่จะไม่ชอบที่เด็กถามมากเกินไป
ซึ่งมันเป็นอะไรที่สำคัญในการเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้าเราไม่มีคำถาม เราก็ไม่มีคำตอบ เราทำโจทย์ได้ มันก็แค่ทำโจทย์ได้ เหมือนกับถ้าเราอ่านหนังสือซักเล่มนึง แล้วเราเขียนสรุปได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น สรุปเราก็เหมือนกับที่คนอื่นๆ เขาสรุปกันได้ แต่ถ้าเราอ่านหนังสือซักเล่ม แล้วเรามีคำถาม มันอาจจะเป็นคำถามที่ไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ถามก็ได้ ถ้าแปลกใหม่ ยังไงการถามคำถามสำคัญ ซึ่งเรายังทำกันไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่
แล้ววิทยาศาสตร์มันมาทั้งคู่ มันเป็นเรื่องของการถามคำถาม และการพยายามหาคำตอบ ถ้าเราไม่มีคำถาม เราก็ไม่มีคำตอบ ทีนี้คำถามสำหรับเด็กไทยเรายังยากเลยที่จะถามคำถาม ซึ่งคำถามนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น เราจะทำยังไงให้ได้คำตอบมาซึ่งคำถามนั้น
เราฝึกกันแต่ตอบคำถามที่มีคนอื่นเขาถามมาอยู่แล้ว เราไม่ถามคำถามของตัวเองเลย แล้วเราจะไปเรียนรู้วิธีหาคำตอบ ที่ไม่มีใครคนอื่นในโลกเขาถามกันได้ยังไง นี่เป็นเรื่องสำคัญ
การเรียนในห้องเรียนควรปรับอย่างไร
ห้องเรียนเราชัดเจนว่าเราน่าจะต้องพยายามผลักดันให้เราเกิด critical thinking มากกว่านี้ และอีกมากมาย ซึ่งเอาจริงๆ หน่วยงานรัฐทั้งหลายก็เล็งเห็นปัญหานี้อยู่ พยายามจะแก้อยู่ แต่ว่ามันค่อนข้างยาก มันยากลำบากหลายอย่าง ถ้าเราพยายามเอาระบบฝรั่งมาใช้ เราจะเจอว่า บางครั้งวัฒนธรรมมันไม่เหมือนกัน สมมติ ผมเอาคำถามปลายเปิดไปให้นักเรียน นักเรียนคิดว่าอย่างไร อึ้งไปเลย ให้เขียนคำตอบ เอาคำถาม pre-test ไปให้เติมคำ ไปไม่เป็นเลย ถามว่า นักเรียนคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ นักเรียนก็จะหันไปกระซิบกัน คำตอบที่ถูกต้องคืออะไรวะ เพราะว่าเขาไม่เคยฝึกตรงนี้
กลายเป็นว่า มันเป็นเรื่องตลกที่เราไม่มี critical thinking กันจนเราไม่สามารถฝึก critical thinking ได้ มันเป็นปัญหาอย่างนั้นไปแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ ตัวผมเอง ผมต้องทำ workshop เรื่องการทำโครงงานดาราศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่า มันสำคัญมากกับการถามคำถาม นี่ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ผมพยายามจะฝึก
ผมเคยสัมผัสกับตัวเองมาแล้วว่า ระบบที่เราเรียกกันว่า child center หรืออภิปราย ถ้าทำให้ถูกต้องมันดียังไงกับนักเรียน พยายามจะเอามาใช้ ปรากฏว่ามันมีอุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมทางการศึกษาเยอะมาก เราไม่สามารถหยิบมาใช้ได้ทันที มันต้องค่อยๆ ปรับปรุงกันไป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ สำหรับอาจารย์หลายๆ คน ที่พยายามผลักดันเรื่องพวกนี้อยู่ แล้วมันไม่ง่ายเลยจริงๆ เพราะว่านักเรียนเองก็ไม่คุ้นเคย มันเป็นปัญหาที่ฝังรากมาค่อนข้างลึก ไม่ใช่อะไรที่อาจารย์หนึ่งคนจะมาบอกว่า ฉันจะทำอย่างนี้ แล้วนักเรียนจะมาทำตามได้เลย มันเป็นทั้งระบบ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่ายๆ
ผมว่ามันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก เท่าที่เห็นมาผมว่าเรื่องนึงที่คนไทยให้ความสนใจ แล้วก็เห็นตรงกันอันดับตรงๆ ก็คือ การศึกษา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาขึ้นมา เราทุกคนสนใจกันหมด เพราะสำหรับเราการศึกษาคือสิ่งที่จะยกระดับให้เราข้ามชนชั้นไปได้
เราทุกคนก็เล็งเห็นว่ามันมีปัญหา แต่ว่ามันไม่ได้แก้ง่ายๆ เป็นระบบที่หยั่งรากลงไปลึกมากๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาก็เห็นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ๆ แนวความคิดไม่เหมือนกัน และเริ่มออกมาแสดงความไม่พึงพอใจกับระบบการศึกษาที่ตัวเองอยู่ ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี แต่การจะแก้ไขปัญหานี้ ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก และต้องแก้ไขกันทั้งระบบด้วย