อินเดียน่า โจนส์ แห่งยุคดิจิตอล ‘โบราณคดี’ จะไม่โบราณอีกต่อไป เมื่อนักสำรวจใช้เลเซอร์ชี้เป้าอาณาจักรที่หายไปอย่างแม่นยำ
ไม่กี่วันที่ผ่านมา แวดวงโบราณคดีทั่วโลกต่างฮือฮากับหลักฐานการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ประจำปี เมื่อกลุ่ม Cambodian Archaeological Lidar Initiative พบโบราณสถานที่หายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์โลก มันคือ เมืองโบราณของอาณาจักรขอมอายุกว่า 900 – 1,400 ปี ฝังตัวในป่าลึกห่างจาก ‘นครวัด’ เพียงไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งเมืองโบราณที่ว่ามีขนาดสูสีกับเมืองพนมเปญเลยทีเดียว! ถ้าใหญ่ขนาดนั้นทำไมไม่เจอตั้งนานแล้วล่ะ? ก็เพราะป่าดิบชื้นและโคลนดินที่ทับถมกันกว่าพันปี ทำให้การค้นพบด้วยวิธีการเดิมๆเป็นเรื่องยาก จนเกือบเป็นไปไม่ได้เลย
อินเดียน่า โจนส์ ยุคดิจิตอล
หากแต่การค้นพบครั้งนี้ ทีมสำรวจไม่ได้บุกป่าฝ่าดงแบบ ‘อินเดียน่า โจนส์’ ที่ต้องดั้นด้นไปในป่าลึก ถือมีดพร้า ขวาน ปืน เพื่อตัดถางเถาวัลย์รกชัฏ เผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายนานาชนิด หรือโชคร้ายโดนไข้ป่าเล่นงาน นี่ยังไม่รวม ‘กับระเบิดสังหารบุคคล’ ที่ฝังไว้ตั้งแต่ยุคเขมรแดงอีก ล้วนแล้วแต่จะทำให้คุณจบทริปสำรวจ (และจบชีวิต) ในเวลาเพียงไม่กี่วัน อุปสรรคอันทรหดทำให้นักโบราณคดีเกิดอาการแหยง หากต้องเสี่ยงชีวิตเข้าสำรวจป่าเขมรที่ไม่แกร่งจริงอยู่ไม่ได้
แต่ในศตวรรษนี้ พวกเรามีวิธีที่ฉลาดกว่าและไม่เปลืองแรงแบบในอดีต เมื่อเราสามารถใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนพื้นที่ราวกับจับเครื่องสแกนเนอร์ไปไว้บนอากาศ หรือที่เรียกว่า ‘LiDAR’ ซึ่งย่อมาจาก ‘Light detection and ranging’ (ตรวจจับแสงและระยะ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสำรวจภูมิประเทศแบบใหม่ เผยให้เห็นโครงสร้างอันซับซ้อนของโบราณสถานที่ถูกปกคลุมในป่าลึกได้ง่าย โดยไม่ต้องเสี่ยงเดินเท้าแหวกป่าเข้าไปถึงที่
การค้นพบโบราณสถานครั้งนี้ ใช้เวลาเพียง 3 ปี เท่านั้น คือตั้งแต่ปี 2012-2015 นำโดยนักโบราณคดี Damian Evans และทีมวิจัย ติดตั้งเทคโนโลยี LiDAR ไว้บนเฮลิคอปเตอร์ เพื่อทำแผนที่ขนาด 2,230 ตารางกิโลเมตร ที่ความแม่นยำสูงถึง 150 มิลลิเมตร ทำให้พวกเขาสามารถระบุรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่ถูกฝังอยู่ในดินและอนุสาวรีย์หินสุดบรรเจิด นอกจากนั้นยังคลายปริศนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขมรโบราณที่อยู่รายรอบนครวัด ผ่านร่องรอยคูคลอง ถนน และเหมืองหินที่มีอายุหลายพันปีอย่างแจ่มชัด
LiDAR ทำให้วงการโบราณคดีกลับมาคึกคัก
เทคโนโลยี LiDAR เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กับยุคแรกของการสำรวจอวกาศในปี 1970 โดยวัตถุประสงค์แรกคือการใช้มันในภารกิจ Apollo 15 เพื่อทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ LiDAR คือความก้าวหน้าของเลเซอร์ (Laser) ในการวัดระยะความแม่นยำสูง ซึ่งในปัจจุบันเราได้ปรับแต่งมันให้ทำงานร่วมกับระบบ GPS ได้ไม่ยาก และติดตั้งเข้ากับอากาศยานชนิดต่างๆ ทั้งเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติ โดยการบินผ่านพื้นที่อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
นักโบราณคดีทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับ LiDAR กันยกใหญ่ เพราะมันเป็นพระเอกขี่ม้าขาวทำให้งานสำรวจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น แม้พื้นที่นั้นจะมีขนาดมโหฬาร แต่การกราดเลเซอร์แต่ละครั้งทำให้ทีมสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่ได้แบบ ‘ทะลุปรุโปร่ง’ แน่นอนว่า ร่มไม้ใบหญ้าที่บดบังทัศนวิสัยไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
มุมมองใหม่ไฉไลกว่า
การค้นพบครั้งสำคัญเป็นการปัดฝุ่นองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เขมรโบราณอีกตลบ มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการสำรวจโบราณสถานสำคัญในแถบประเทศเส้นศูนย์สูตรที่ร้อนชื้นและยากต่อการสำรวจ ซึ่ง LiDAR อาจถูกปรับใช้ในภารกิจสำรวจอารยธรรมอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ‘อาณาจักรศรีวิชัย’ ในแถบสุมาตรา ‘บุโรพุทโธ’ ในหมู่เกาะชวา และแม้แต่พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าทึบอย่างคองโกและเบนินในแอฟริกา
นอกจากภารกิจสำรวจทางโบราณคดี LiDAR อาจถูกปรับมาใช้ในงานสำรวจสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิประเทศ เพราะเลเซอร์มีความสามารถจำแนกความแตกต่างของพรรณพืชได้ละเอียดยิบ เป็นอีกหนทางในการศึกษาว่าระบบนิเวศมีความผูกพันกับจำนวนประชากรอย่างไร นั่นจะทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติบอบบางแค่ไหน
แพงไหม อยากลอง
แน่นอน ด้วยศักยภาพอันน่าตื่นเต้นของ LiDAR ทำให้มันมีค่าตัวอยู่ในระดับ ‘โขกสับ’ พอสมควร แม้โครงการสำรวจกัมพูชาจะได้รับทุนสนับสนุนจาก European Research Council มาก้อนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่พอเจียดค่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ที่ต้องบินผ่านพื้นที่อันห่างไกลซึ่งจำกัดระดับความสูงเพียง 800 เมตร แล้วไอ้ที่หน้าปวดหัวที่สุดคือรัฐบาลกัมพูชาก็มีกฎหมายห้ามบินในหลายพื้นที่ สร้างความยากลำบากในการสำรวจ
แน่นอนว่า ‘Life will find the way’ ฉันใด LiDAR ก็ต้องมีทางออกฉันนั้น เมื่อในอนาคตมีโครงการปรับปรุงเทคโนโลยีเลเซอร์ให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถติดตั้งไว้บน ‘โดรน’ (Drone) ลำเล็กๆ ได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณและเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเป็นอิสระกว่า
และเพื่อความผิดพลาดที่น้อยที่สุด ทีมสำรวจจึงต้อง ‘ตีความ’ ภาพสแกนพื้นที่อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ลดความผิดเพี้ยนในการระบุโครงสร้าง เช่น บางสถานที่ดูมีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ แต่กลับถูกสร้างในสมัยใหม่ ถ้าไม่ชัวร์จริงๆ อาจขายหน้าได้หากไปบอกว่าบ้านคนเป็นโบราณสถาน
มันน่าตื่นเต้นที่เราเห็นจะเทคโนโลยีชื่อเซ็กซี่นี้สำแดงฤทธิ์ในการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก
พวกเราล้วนมีความเป็น ‘อินเดียนน่า โจนส์’ แอบแฝงอยู่ แต่จะดีกว่าหากสำรวจแล้วไม่เจ็บตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cambodian Archaeological Lidar Initiative