ข้อถกเถียงเรื่อง ‘รัฐ’ กับ ‘ศาสนา’ ควรจัดวางบทบาทระหว่างกันอย่างไร หรือควรให้สองสิ่งนี้เข้ามากำกับควบคุมกันอย่างไร ในด้านหนึ่งฟังดูเป็นเรื่องเก่า
แต่ถ้ามองในสเกลเวลาที่ใหญ่ไปกว่ายุคร่วมสมัย เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ ‘ใหม่’ พอสมควรเลยทีเดียว เพราะในสมัยโบราณ ก่อนหน้าจะมี ‘ศาสนา’ อย่างที่เรารู้จักและให้นิยามกันในปัจจุบัน บางภูมิภาคในโลกเคยสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีศาสนา
และภูมิภาคหนึ่ง ก็คือดินแดนที่ปัจจุบันอยู่ในแถบประเทศปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอินเดียบางส่วน
ใช่ – อัฟกานิสถาน, ดินแดนที่กำลังเกิดความขัดแย้งใหญ่ในแนวคิดเรื่องรัฐกับศาสนานี่แหละ
ข้อมูลใหม่ (ที่จริงก็ไม่ได้ใหม่มากนัก) อันหนึ่ง ที่หนังสือ Metropolis: A History of the City, Humankind’s Greatest Invention อันเป็นหนังสือที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของ ‘เมือง’ ในโลกนี้ เขียนโดย เบน วิลสัน (Ben Wilson) ได้นำเสนอ ‘ภาพ’ ของดินแดนในแถบนั้นในแบบที่หลายคนไม่เคยนึกถึง
อารยธรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ว่า คืออารยธรรมโบราณที่เคยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในช่วงสามถึงห้าพันปีก่อน เรียกว่า Indus Valley Civilization หรืออารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ
หนังสือเล่มนี้เล่าไว้ว่า อารยธรรมนี้มีความ ‘ล้ำ’ ในหลายมิติ ล้ำถึงขนาดที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ยูโทเปีย’ ได้เลยทีเดียว
ไม่ใช่ ‘ล้ำ’ แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ยัง ‘ล้ำ’ เรื่องอุดมการณ์และความคิดด้วย คือแสนสุขสงบ แตกต่างอารยธรรมโบราณอื่นๆ ไม่ว่าจะเมโสโปเตเมียหรืออะไร ที่เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟัน โดยอารยธรรมที่ว่านี้ กระจายอยู่ในพื้นที่กว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตร (คือใหญ่กว่าประเทศไทยสองเท่า) ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอินเดีย เมืองเหล่ารวมๆ แล้วมีคนอยู่มากถึงราวห้าล้านคน
มีการค้นพบที่ตั้งถิ่นฐาน (ที่เป็นทั้งหมู่บ้านและเมืองเล็กใหญ่) มากกว่า 1,500 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่กว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตรที่ว่า พบว่าเมืองเล็กและเมืองใหญ่เหล่านี้มีความก้าวหน้ามาก และสร้างขึ้นตามจุดยุทธศาสตร์บนเส้นทางการค้า เช่นริมชายฝั่งและตามเส้นสายสาขาของแม่น้ำ
เมืองใหญ่ๆ ที่เรารู้จักชื่อกันในปัจจุบัน มีอาทิ ฮารัปปา (Harappa) โมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-Daro) ราคิการ์ลี (Rakhigarhi) โดลาวิรา (Dholavira) และแกนเวริวาลา (Ganweriwala) ซึ่งแต่ละเมืองจะมีมีประชากรหลักแสนคน ถือว่าเป็นเมืองที่ใหญ่เอาการ หลายคนเรียกอารยธรรมเหล่านี้ง่ายๆ ว่าอารยธรรมฮารัปปันตามชื่อเมืองฮารัปปา
โดยมีการขุดค้นพบซากเมืองเหล่านี้เมื่อราวร้อยปีที่แล้ว
ในทศวรรษ 1920s แต่ก็ยังมีปริศนาลี้ลับหลายอย่าง
archaeology ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
นักโบราณคดีพบว่า อารยธรรมนี้เต็มไปด้วยสินค้าที่หรูหรา มีทองคำ เงิน ไข่มุก เปลือกหอย ดีบุก ทองแดง อัญมณี งาช้าง โดยเฉพาะเรื่องการเป็นช่างอัญมณีนี่ลือชื่อมาก เพราะมีหลักฐานว่า พ่อค้าฮารัปปันเดินทางไปค้าขายอัญมณีกันถึงเมโสโปเตเมีย
เมืองในเมโสโปเตเมียอย่าง อัคคาด อูรุก เออร์ และลากาซ มีความต้องการอัญมณีเหล่านี้สูงมาก ทั้งกษัตริย์ พระ และชนชั้นนำ ต่างปรารถนาของหรูหราจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุกันทั้งนั้น
ตอนแรกนักโบราณคดีคิดว่า เป็นพ่อค้าเหล่านี้นี่เอง ที่นำความเจริญแบบเมโสโปเตเมียกลับไปเผยแพร่ในแถบลุ่มน้ำสินธุ ทำให้เกิดความเป็นเมืองขึ้นมาที่นั่น เพราะระบบแม่น้ำสินธุนั้นคล้ายกับแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส (รวมไปถึงแม่น้ำเหลืองของจีน และแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ด้วย) คือทำให้เกิดการเพาะปลูกแล้วได้อาหารส่วนเกินเยอะ เมืองจึงร่ำรวยขึ้นมา แล้วก็น่าจะเกิดเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า มีระบบการเขียนและช่างฝีมือเกิดขึ้น
แต่ปรากฏว่า นักโบราณคดีกลับพบว่าในขณะที่เมืองของเมโสโปเตเมียมักจะเกิดอาการ ‘เสื่อมถอย’ หรือพินาศกันไปอย่างรวดเร็ว เพราะเมืองแถบนั้นมักจะฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดการทำลายเมือง และมีร่องรอยของสงครามให้เห็นชัดเจน แต่เมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุกลับไม่มีเรื่องสงครามแบบนี้เลย ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่พบหลักฐานว่าคนทั่วๆ ไปมีการครอบครองอาวุธ (จะมีก็แต่คนที่ต้องออกไปล่าสัตว์หรือป้องกันตัวเท่านั้น) แล้วตามซากบราณสถานที่มีการวาดภาพโน่นนั่นี่ ก็ไม่มีภาพวาดศึกสงครามใดๆ ที่แสดงร่องรอยของการต่อสู้อยู่เลย
ยิ่งไปกว่าน้น ในแง่สาธารณูปโภคและวิศวกรรม พบว่าอารยธรรมฮารัปปันก้าวไกลล้ำกาลเวลามาก เช่นว่าเมืองใหญ่ๆ จะสร้างขึ้นบนแท่นอิฐมหึมา เพื่อจะได้ยกสูงขึ้น ป้องกันน้ำท่วมเวลาน้ำเอ่อท้น เพราะอารยธรรมนี้อยู่ในลุ่มแม่น้ำ จึงออกแบบเมืองให้สอดรับกับธรรมชาติ
ประมาณว่า เมืองอย่างโมเฮนโจ-ดาโร ต้องใช้เวลาทำงาน 4 ล้านชั่วโมงในการก่อสร้าง เช่น จะมีทางสัญจรหลักตัดกันเป็นมุมฉากตรงเป๊ะแบบกริด คือเหมือนนิวยอร์กในปัจจุบัน ขนาดอารยธรรมที่ถือกันว่าสุดยอดอย่างกรีกโบราณ (ที่เกิดทีหลัง) นั้น มหานครอย่างเอเธนส์ยังไม่มีการออกแบบเมืองได้ดีงามเท่าเลย
ถนนที่เป็นกริดแบบนี้จะแบ่งเมืองออกเป็นย่านๆ โดยมีการวางผังตั้งแต่ขนาดถนนใหญ่ ถนนเล็ก ไปจนถึงหน้าตาและขนาดของบ้าน ไล่ลงไปถึงขนาดของก้อนอิฐที่อาคารแต่ละแบบใช้ก้อนอิฐไม่เหมือนกัน แต่ที่น่าทึ่งที่สุด ไม่ใช่อาคารสูงใหญ่ตระหง่านเสียดฟ้าที่ไหน ทว่าเป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน
นั่นคือระบบระบายน้ำเสีย!
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าหลายพันปีก่อน เมืองในอารยธรรมนี้มีระบบจัดการของเสียจากร่างกายมนุษย์วันละเป็นตันๆ อย่างจริงจังแล้ว โดยช่างก่อสร้างของเมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุใส่ใจกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ทุกๆ บ้านมีระบบส้วมที่ใช้น้ำราด ซึ่งก็ต้องบอกว่า ขนาดลอนดอนหรือปารีสในศตวรรษที่ 18 ยังไม่มีแบบนี้เลย แม้ยุโรปจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมในศตวรรษที่สิบเก้าแล้ว แต่คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดของเมืองแมนเชสเตอร์ในทศวรรษ 1850s ก็ต้องใช้ส้วมสาธารณะร่วมกันกับคนอีกร้อยคน แต่ในโมเฮนโจ-ดาโรและฮารัปปา ของเสียจากส้วมในบ้านเรือนจะถูกทิ้งผ่านท่อดินเผาลงสู่ท่อระบายใต้ถนนเล็ก แล้วไหลเข้าสู่ระบบท่อระบายของเสียใต้ดินขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ถนนสายหลัก ท่อระบายขนาดใหญ่เหล่านี้ใช้แรงโน้มถ่วงเพื่อกวาดล้างเอาความโสโครกออกไปนอกกำแพงเมือง ทั้งยังใช้กำจัดน้ำเสียจากห้องน้ำของทุกๆ บ้านด้วย
ดูคล้ายกับว่า ความสะอาดของเมืองคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไม่ใช่วิหารของเทพเจ้า ไม่ใช่อำนาจทางศาสนา
และไม่ใช่อำนาจของระบบเจ้าขุนมูลนายที่ไหน
หนังสือเล่มนี้บอกว่า ในอารยธรรมนี้ ไม่มีหลักฐานโดยตรงที่แสดงให้เห็นการปกครองหรือระบอบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนายอย่างที่เรามักคิดกันว่ามนุษย์สมัย ‘โบราณ’ มักจะเป็นกัน เมืองของชาวฮารัปปันไม่มีพระราชวังหรือวิหาร ไม่มีพีระมิดหรือพีระมิดขั้นบันไดใหญ่โต ที่น่าสนใจก็คือ หนังสือเล่มนี้บอกว่าที่จริงแล้วไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่ามี ‘พระ’ หรือ ‘กษัตริย์’ เลยด้วยซ้ำ
เฮ้ย! มันก้าวหน้ายิ่งกว่าโลกปัจจุบันเสียอีก!
นั่นทำให้อาคารสาธารณะสำคัญๆ มีขนาดเล็ก ไม่ต้องมาใหญ่โตมหึมา และสร้างขึ้นสำหรับประชาชนทั่วไปในรูปของยุ้งฉาง โกดัง สภาเมือง โรงอาบน้ำ ตลาด สวน และท่าเรือ แถมยังไม่พบด้วยว่าอารยธรรมนี้มีทาสหรือมี ‘ลำดับชั้นทางสังคม’ ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน เพราะข้าวของในบ้านไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ที่น่าทึ่งมากก็คือ พวกเมืองโบราณต่างๆ มักจะล่มสลายเพราะการฆ่าฟันรบพุ่งกัน แต่เชื่อกันว่า เมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุเหล่านี้ไม่ได้ถูกใครเข้ามาฆ่าฟัน แต่มันถูกทิ้งร้างตั้งแต่ราว 1,900 ปีก่อนคริสตกาล โดยไม่มีสัญญาณบอกว่ามีเหตุหายนะ ถูกคนต่างถิ่นรุกราน หรือมีคนตายเยอะๆ เชื่อกันว่าประชากรต่างทิ้งเมืองไปเองเพราะอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทำให้กระบวนการทิ้งเมืองนั้นเป็นไปแบบสงบ และมีลักษณะอุดมคติพอๆ กับกระบวนการสร้างเมืองเลยทีเดียว
ผ่านมาอีกหนึ่งถึงสองพันปี คราวนี้เกิดความรุ่งเรืองใหม่ขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ คือราว 256 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงราว ค.ศ.100 (ตกราวๆ สามร้อยห้าสิบปี) ดินแดนในแถบอัฟกานิสถานก็บังเกิดความเฟื่องฟูครั้งใหม่
แต่คราวนี้เป็น ‘นครรัฐ’ (Polis) ในแบบกรีก!
ใช่แล้ว กรีกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เอเธนส์นั่นแหละครับ
ระบบการปกครองของกรีกนั้น ต้องเรียกว่ามีลักษณะที่ ‘กระจายอำนาจ’ กันอย่างแท้จริง เพราะเมืองต่างๆ แม้จะมีความเป็นกรีกครบถ้วน มีเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อ และการให้คุณค่าต่างๆ เหมือนกัน แต่ก็กระจัดกระจายอยู่ห่างไกลกัน ก่อเกิด ‘คลื่น’ ของความเป็นเมืองที่หลวมๆ ไม่ได้รวมตัวกันอยู่ใต้การปกครองที่เป็นหนึ่งเดียว นั่นทำให้กรีกแผ่ขยาย ‘เมืองแบบกรีก’ ออกไปได้ไกลมาก โดยเฉพาะเมื่อมีอเล็กซานเดอร์มหาราชคอยยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ก็ยิ่งทำให้เกิด ‘เมืองกรีก’ ผุดขึ้นเต็มไปหมดตามที่ต่างๆ รวมถึงในเอเชียกลางด้วย
ตอนที่อเล็กซานเดอร์มหาราชปราบจักรวรรดิเปอร์เซียได้ พระองค์เดินทัพเข้าสู่อินเดีย ตลอดเส้นทางนับตั้งแต่บัลข่านถึงปัญจาบ นักบุกเบิกชาวกรีกได้สร้างเมืองใหม่ข้ึนมานับสิบๆ แห่ง ความเป็นกรีกทั้งอุดมคติภายในและลักษณะภายนอกต่างๆ จึงประทับอยู่ในเมืองเหล่านี้ ทำให้กลายเป็นเมืองกรีกชัดเจน แม้เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว แต่เมืองเหล่านี้ก็ยังอยู่ และแม้จะมีเมืองแบบนี้ตั้งแต่อิหร่าน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน และปากีสถาน
แต่ที่ที่เป็นแหล่งอารยธรรมที่เรียกว่า
‘อาณาจักรเกรโค-แบคเทรียน (Greco-Bactrian)
ก็คือดินแดนที่ปัจจุบันคืออัฟกานิสถาน
ช่วงหนึ่งถึงสองร้อยปีก่อนคริสตกาล ดินแดนนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มั่งคั่งที่สุดในโลก และมีเมืองเยอะมากจนได้อีกชื่อหนึ่งว่า ‘จักรวรรดิพันเมือง’ เมืองหนึ่งในอัฟกานิสถานตอนเหนือที่เป็นเมืองสำคัญ คือ Ai-Khanoum มีพระราชวังที่มีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างแบบเปอร์เซียกับแบบกรีก มีวิหารที่สร้างถวายเทพซุสแบบกรีก แถมยังมีอะไรที่เป็นกรีกมากๆ อีกหลายอย่าง เช่น มีอะกอราหรือตลาดกรีก มี ‘ยิมเนเซีย’ ที่เอาไว้ออกกำลังกายแบบกรีกๆ แล้วก็มีโรงละครแบบกรีกที่จุคนดูได้ถึงหกพันคนด้วย
เมืองหลายเมืองมีร่องรอยความทรงจำถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์อยู่ในชื่อเมือง เช่น เมืองอเล็กซานเดรีย บูเซพฟาลา (Alexandria Bucephala) ที่ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน ได้ชื่อมาจากม้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ หรือเมืองอเล็กซานเดรีย พรอพธาเซีย (Alexandria Prophthasia) ซึ่งอยู่ระหว่างเฮรัตและกันดาฮาร์ ส่วนนอกอัฟกานิสถานก็มีเมืองอเล็กซานเดรีย เอสชาเต (Alexandria Eschate) ที่อยู่ในหุบเขาเฟอร์กานา (Fergana Valley) ที่ปัจจุบันอยู่ในทาจิกิสถาน หรือเมืองอเล็กซานเดรีย นีเซา (Alexandria Nicaea) ที่อยู่ในปัญจาบ เป็นต้น
หลายคนอาจรู้อยู่แล้วว่า การปั้นพระพุทธรูปได้อิทธิพลมาจากศิลปะกรีก นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามาจากยุคนี้นี่เอง โดยได้อิทธิพลมาจากรูปปั้นเทพอพอลโลของกรีก และมีผู้วิเคราะห์ด้วยว่ามหากาพย์สันสกฤตได้แรงบันดาลใจมาจากมหากาพย์อิเลียดด้วยเหมือนกัน ที่น่าทึ่งมากก็คือ มีหลักฐานว่ามีการอ่านและถกเถียงกันเรื่องงานเขียนของอริสโตเติลอยู่ทั่วเอเชียกลาง
จะเห็นว่า อัฟกานิสถานนั้นถือว่าเป็นดินแดนที่ ‘ทรงคุณค่า’ ในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์โลกอย่างมาก ถ้ามองแค่ในแง่โบราณคดี พื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ยังต้องการการขุดค้นเรียนรู้อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่นักโบราณคดีคิดว่าอารยธรรมในยุคโบราณนั้นอาจมีความเป็น ‘ยูโทเปีย’ มากกว่าที่เราคิด
แม้ว่าในปัจจุบันมันจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้วก็ตาม