โลกหมุนไวขึ้นเรื่อยๆ และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา จนบางทีก็รู้สึกว่าเดินตามโลกไม่ค่อยทัน ช่วยสรุปมาเลยได้ไหมว่า เทคโนโลยีอะไรบ้างที่เราควรรู้จัก อันไหนที่จะเปลี่ยนโลก หรือสิ่งไหนที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเรา?
World Economic Forum จัดให้! เพราะนี่คือ 10 เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังมาในปีนี้ และจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นความหวังในการแก้ปัญหาหลายอย่างที่เราจะต้องเผชิญได้อย่างยั่งยืน
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : www3.weforum.org
1. พลาสติกชีวภาพ (bioplastics for a circular economy) : ปัจจุบันนี้ พลาสติกทั้งหมดบนโลกถูกนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 15% ส่วนที่เหลือก็ถูกเผาหรือทิ้งอยู่ตามที่ทิ้งขยะ พลาสติกชีวภาพจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนพยายามใช้ แต่ยังติดปัญหาว่ามันไม่แข็งแรงพอสำหรับการใช้งาน ล่าสุดจึงมีการแก้ปัญหาด้วยการใช้เซลลูโลสหรือลิกนิน (กากใยจากของเสียทางการเกษตร) มาช่วยเพิ่มความแข็งแรงของวัสดุ ทำให้พลาสติกชีวภาพน่าจะเป็นทางออกสำคัญสำหรับอนาคตของเรา
2. หุ่นยนต์ที่เป็นเพื่อนกับมนุษย์ (social robots) : หุ่นยนต์ในปัจจุบันนี้สามารถรับรู้เสียง สีหน้า และอารมณ์ของคนได้ สามารถแปลคำพูดและท่าทาง รวมถึงรู้จักที่จะสบตาคน หุ่นยนต์เหล่านี้จะกลายมาเป็นผู้ช่วยและเพื่อนในชีวิตประจำวันของเรา คอยช่วยเราดูแลผู้สูงอายุ สอนหนังสือเด็ก ช่วยเราทำงานต่างๆ หรือแม้แต่เป็นเพื่อนเรายามเหงาได้
3. เมทัลเลนส์ (Metalenses) : เลนส์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังถูกจำกัดการใช้งาน ด้วยวิธีการตัดและทำโค้งแบบดั้งเดิม แต่ความก้าวหน้าทางฟิสิกส์ ได้ช่วยสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘เมทัลเลนส์’ ขึ้นมา เป็นเลนส์ที่มีขนาดเล็ก บาง และเบากว่าเดิม ทำให้ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจมีขนาดเล็กลง โดยที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น
4. การยับยั้งโปรตีนที่ผิดปกติ (disordered proteins as drug targets) : โรคร้ายต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็ง เกิดจากโปรตีนที่เรียกว่า Intrinsically Disordered Proteins ( IDPs) โปรตีนชนิดนี้ไม่เหมือนโปรตีนปกติตรงที่ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ทำให้มันสามารถเปลี่ยนรูปได้ และส่งผลให้การรักษาไม่สำเร็จ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์หาทางยับยั้งการเปลี่ยนรูปนี้ได้นานพอที่จะทำการรักษาได้แล้ว
5. ปุ๋ยอัจฉริยะ (smarter fertilizers) : ปุ๋ยในปัจจุบันยังมีส่วนผสมของแอมโมเนีย ยูเรีย และโปแตสเซียมที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ แต่ปุ๋ยรุ่นใหม่นี้ใช้ไนโตรเจนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า รวมถึงทำให้พืชดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าด้วย
6. การประชุมทางไกลร่วมกัน (collaborative telepresence) : แม้จะมีแอพพลิเคชั่นมากมาย แต่การประชุมผ่านวิดีโอในปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยได้ผลดีนัก ส่งผลให้การทำงานแบบ remote working เกิดขึ้นไม่ได้ในหลายๆ ที่ เทคโนโลยีล่าสุดจึงนำ AR กับ VR มารวมกัน ประกอบกับเซ็นเซอร์ล้ำสมัยรวมกับเทคโนโลยี 5G เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่กันคนละทวีปสามารถจับมือทักทายกันได้เสมือนจริง หรือแม้แต่หมอก็สามารถตรวจคนไข้ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ตรงหน้าจริงๆ ก็ตาม
7. บล็อกเชนติดตามอาหาร (advanced food tracking and packaging) : ในแต่ละปี มีคน 600 ล้านคนทั่วโลกบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการค้นหาต้นตอของการปนเปื้อนนั้น เมื่อก่อนอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันหรือสัปดาห์ แต่ตอนนี้กระบวนการนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่นาที ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามกระบวนการขนส่งอาหาร นอกจากนี้ เซ็นเซอร์ในกล่องอาหาร ยังช่วยระบุวันหมดอายุได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิตอาหารได้อีกด้วย
8. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ปลอดภัยขึ้น (safer nuclear reactors) : จริงๆ แล้วพลังงานนิวเคลียร์ดีมากตรงที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่คนมักจะกลัวเพราะมีโอกาสที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะระเบิดได้ แต่เทคโนโลยีใหม่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดความร้อนในเครื่องลง และไม่ก่อให้เกิดไฮโดรเจน ทำให้นิวเคลียร์นั้นเป็นพลังงานที่ปลอดภัยขึ้นมาก
9. ระบบการเก็บข้อมูลใน DNA (DNA data storage) : การจัดเก็บข้อมูลนั้นใช้พลังงานสูง และด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาลอย่างทุกวันนี้ ถ้าเรายังใช้วิธีเก็บแบบเดิมอยู่ เรามีแนวโน้มที่จะไม่มีที่เก็บข้อมูลเพียงพอ ล่าสุดจึงมีงานวิจัยทดลองเก็บข้อมูลใน DNA ซึ่งพบว่าใช้พลังงานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงมีความสามารถในการจัดเก็บสูงกว่ามาก มีการประมาณกันว่าลูกบาศก์ DNA ขนาดหนึ่งตารางเมตร จะสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดที่มีบนโลกในระยะเวลาหนึ่งปีไว้ได้
10. แหล่งจัดเก็บพลังงานหมุนเวียน (utility-scale storage of renewable energy) : หนึ่งในปัญหาของพลังงานหมุนเวียนคือการจัดเก็บพลังงาน แบตเตอรี่เองก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ และในอีกทศวรรษต่อจากนี้ จะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญเมื่อแบตเตอรี่ได้รับการพัฒนาจนดีพอที่จะจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ได้