ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ของทางการแห่งหนึ่งซึ่งโฆษณาเสียดิบดีว่าเพิ่งจะมีการปรับปรุงใหม่ โดยนำเอา ‘เทคโนโลยี’ ใส่เข้ามาในการนำเสนอด้วย
การปรับปรุงเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกินหนึ่งปีก่อนหน้าที่ผมจะมีโอกาสไปเที่ยว แต่แล้วพอเดินเข้าไปในนั้น ผมก็ต้องตกตะลึง
เปล่าครับ – ไม่ใช่เพราะ ‘เทคโนโลยี’ ในนั้นมันล้ำหน้ามากหรอกนะครับ
แต่เพราะอุปกรณ์ ‘ไฮเทค’ ทั้งหลายน่ะ – มัน ‘เสีย’ ต่างหากล่ะครับ
ใช่แล้ว – ‘เสีย’ ทั้งที่เพิ่งผ่านมาไม่ถึงปี และทั้งที่ใช้งบประมาณในการปรับปรุงไปมหาศาล ด้วยมุ่งหวังจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์หรือ ‘สถานที่ให้ความรู้’ ในแนวทางนี้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
เจ้าหน้าที่บอกผมว่า ที่อุปกรณ์เสียนั้น เป็นเพราะไม่มีบุคลากรมาดูแล ช่างเฉพาะทางจะมาซ่อมเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้มีคนมาคอยแนะนำการใช้งานกับผู้เข้าเยี่ยมตลอดเวลา เมื่อมีการใช้งานไม่ถูกที่ถูกทาง รวมถึงการออกแบบอุปกรณ์พวกนั้นไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับความทนทานระดับ ‘มหาชน’ สุดท้ายอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายก็เสียหาย ต้องรอช่างมาซ่อมตามวาระ โดยไม่มีงบประมาณฉุกเฉินสำหรับใช้ซ่อมชั่วคราวด้วย
ด้วยเหตุนี้ วาทะ ‘ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ’ จึงเป็นได้เพียงคำโฆษณาที่ไม่จริง และผมก็ไม่อยากให้มันจริงด้วย เพราะถ้า ‘ดีที่สุดแห่งหนึ่ง’ ของไทยมันดีได้แค่นี้ ก็ต้องบอกว่าประเทศนี้น่าสงสารเหลือเกิน ดังนั้น ผมจึงได้แต่ภาวนาให้นี่เป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นจริง
ที่จริงแล้ว เราน่าจะเคยเห็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่ต้องการสื่อสารความรู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย แต่เครื่องเคราในนั้นกลับชำรุดเสียหายจนไม่น่าสนใจอยู่หลายแห่งใช่ไหมครับ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่ให้ความรู้ของไทยที่เดียวเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์การพยายามนำ ‘เทคโนโลยี’ มาใส่ไว้ในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ให้ความรู้ของโลกนี้ ได้ผ่านการ ‘ลองผิดลองถูก’ กันมานานแสนนาน จนถ้าไม่แน่จริง บางพิพิธภัณฑ์ก็เลือกใช้ ‘เทคโนโลยีเก่า’ มากกว่าจะหันมาหาความอินเทอร์แอ็กทีฟของเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการการดูแลรักษาค่อนข้างมาก
ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติหรือ Museum of Natural History ของนิวยอร์ก (ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum) ยังเลือกใช้หุ่นจำลองที่เรียกว่า ‘ไดโอรามา’ (Diorama) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้พยายามต้อง ‘ใส่’ เทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปในทุกจุด เพราะอาจเกิดการชำรุดเสียหายได้ หรือถ้าจะใส่เข้าไป ก็ต้องใส่เข้าไปโดยมีการรีเสิร์ชมาแล้วอย่างถึงพร้อมว่าจะสอดคล้องกับการใช้งาน เป็นประโยชน์ ทนทาน มีคุณสมบัติที่เรียกว่า resilience คือปรับตัวกลับเข้าสู่สถานะปกติได้ถ้ามีคนเล่นซนจนเกิดความเสียหาย แต่ในเบื้องต้นก็ไม่ควรจะซับซ้อนไฮเทคล้ำยุคเกินไป จนเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายและซ่อมแซมได้ยาก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Darwin Center ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของลอนดอน ที่นี่เป็นอาคารรูปแบบ ‘โคคูน’ (cocoon) คือเป็น ‘รัง’ ที่ต้องเดินวนเข้าไปภายใน ออกแบบโดยสถาปนิกชาวสแกนดิเนเวียอย่าง CF Møller ที่นี่เก็บรักษาตัวอย่างของสัตว์เอาไว้มากกว่า 17 ล้านตัวอย่าง และตัวอย่างพืชมากกว่า 3 ล้านตัวอย่าง
แน่นอน Darwin Center นั้นถึงพร้อมด้วยงบประมาณและเทคโนโลยี แต่กลับเลือกใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อย่างบัตร RFID ที่ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึง ‘คลัง’ ของตัวอย่างต่างๆ ได้แบบออนไลน์ คือพกบัตรที่ว่า ลงทะเบียน แล้วเดินผ่านอะไรก็สามารถสแกนบัตรบริเวณนั้น จึงได้ข้อมูลเข้ามาเต็มๆ แถมยังสามารถเลือกเซฟกลับไปเป็นบันทึกส่วนตัวที่บ้านได้โดยไม่ต้องจดด้วย ที่สำคัญก็คือ RFID นั้นไม่เสียง่ายๆ จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบ ‘พอเพียง’ และสอดคล้องกับเนื้อหา เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริงขึ้นมา
ว่าแต่ว่า – ปัจจุบันนี้มีโลกออนไลน์แล้ว เรายังต้องมีพื้นที่จริงทางกายภาพอีกหรือ?
ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีของ Darwin Center ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า อ้าว! ก็ในเมื่อความรู้อยู่ในโลกออนไลน์แล้ว สามารถเสิร์ชได้เลย แล้วทำไมยังต้องมา ‘เดิน’ คอยสแกนโน่นนี่ในสถานที่จริงอีกเล่า
ถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า – ในโลกแห่งอนาคต พื้นที่ความรู้ที่มีลักษณะทางกายภาพจริงๆ กำลังจะ ‘ตาย’ หรือเปล่า?
ในหนังสือชื่อ City of Bits ของสถาปนิกอย่าง บิล มิตเชลล์ (Bill Mitchell) จาก MIT เขาเชื่อมโยงและเปรียบเทียบลักษณะของเมืองที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารหลั่งล้นท้นท่วมอยู่ในอากาศ (จนบางคนบอกว่าข้อมูลพวกนั้นทำให้เกิด ‘สังคมก้มหน้า’ ที่ผู้คนไม่สนใจคนรอบข้างขึ้นมา) เข้ากับวิธีออกแบบเมืองในศตวรรษที่ 19 ของ Haussamann
จอร์จ ยูจีน เฮาส์แมน (Georges-Eugène Haussmann) หรือที่หลายคนเรียกง่ายๆ ว่า ‘บารอนเฮาส์แมน’ เป็นผู้ที่ ‘ออกแบบ’ กรุงปารีสเสียใหม่ ด้วยการรื้อซอกเล็กซอกน้อย แล้วแทนที่ด้วย ‘ตัวเชื่อม’ เมืองที่โอ่อ่าอลังการและใช้งานได้จริง ตั้งแต่ถนนเส้นใหญ่ๆ อย่าง Avenue ต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบอาคารแบบเฮาส์แมนที่เราเห็นกระจายอยู่ทั่วกรุงปารีส สวนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะต่างๆ (เช่น โรงโอเปร่า โรงละคร หอสมุด ฯลฯ) รวมไปถึงการออกแบบสาธารณูปโภคอย่างเช่นระบบน้ำประปา (เช่น การสร้างท่อส่งน้ำจากนอกเมืองเข้ามาในเมือง)
ดังนั้น บารอนเฮาส์แมนจึงเป็นเหมือน ‘บิดา’ แห่งการ ‘สร้างเมือง’ ที่คำนึงถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ และทำให้ปารีสกลายเป็นมหานครอันยิ่งใหญ่และงดงามมาจนถึงปัจจุบัน
มิตเชลบอกว่า วิธีสร้างเมืองในปัจจุบันก็คล้ายๆ วิธีสร้างเมืองของเฮาส์แมน แต่ว่าไม่ใช่การสร้าง ‘สิ่งที่มองเห็น’ อีกต่อไปแล้ว ทว่าคือการสร้างเมืองที่ ‘ซ้อน’ อยู่กับเมืองอีกทีหนึ่ง คือเป็น invisible city โดยใช้ bits หรือข้อมูลต่างๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั่นแหละครับเป็นตัวเชื่อมโยง ก่อให้เกิด conncectivity แบบที่เรียกว่า hyperconnectivity ขึ้นมา
ในด้านหนึ่ง เมืองคือที่อยู่ของผู้เสพข้อมูล แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองเองก็เป็นที่สร้างหรือ ‘ผลิต’ ข้อมูลขึ้นมาด้วย เพราะเมืองที่การเชื่อมต่อ connectivity อาจต้องการข้อมูล แต่เมื่อมีการเชื่อมต่อแล้ว ก็จะทำให้เกิดข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย มิตเชลล์บอกว่า นั่นทำให้ ‘เมือง’ กลายเป็น city of data คือเป็นแหล่งเสพและผลิต ‘ข้อมูล’ มากมายมหาศาล เกิดจากการที่คนเราไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ที่บ้าน เอาแต่ ‘เสพ’ ข้อมูลความรู้ต่างๆ เท่านั้น แต่การออกมาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ทำให้เกิดการไหลเวียนหรือการ ‘สร้าง’ ข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมามากมายด้วย
นักวางผังเมืองยุคใหม่ที่เรียกว่าเป็น digital urbanist อย่างริค โรบินสัน (Rick Robinson) เคยเขียนเอาไว้ในบทความปี 2016 ชื่อ ‘Why Smart Cities Still aren’t Working for us After 20 Years’ โดยบอกว่า ถ้ามองในแง่ของการค้าและการตลาดแล้ว ผู้ผลิตพยายามสร้างเมืองแบบ smart city ที่ทำให้คนเรามีอายุขัยที่สั้นลง และมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่น้อยลง ตัวอย่างเช่น ผลิตอาหารที่ไขมันสูง น้ำตาลสูง ซึ่งสามารถสั่งได้โดยใช้มือถือโทรเรียก จากนั้นก็มีความพยายามจะส่งสินค้าโดยใช้โดรน ซึ่งจะไปลดการขยับเนื้อขยับตัว ทำให้ทุกคนกลายเป็นเหมือน ‘หุ่นยนต์’ ที่นั่งกินของเหล่านั้นอยู่หน้าจอ รับรู้เรื่องราวต่างๆ เฉพาะจากหน้าจอเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสันทนาการหรือการหาข้อมูลความรู้ โรบินสันบอกว่า นั่นคือปัญหา และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่า smart city ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
คำตอบของเขาก็คือ เราต้องใช้ ‘ข้อมูล’ ในฐานะที่เมืองเป็น city of data มา ‘สร้าง’ พื้นที่สาธารณะและพื้นที่แห่งความรู้สาธารณะต่างๆ ในเมือง โดยมีการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้คนในเมือง ถ้าทำได้แบบนี้ ถึงจะเรียกว่าเป็น smart city จริงๆ คือเป็นเมืองที่มีสมดุลระหว่างการ ‘เสพ’ และการ ‘ผลิต’ ข้อมูล รวมถึงเป็นเมืองที่มีสมดุลระหว่างการ ‘มีชีวิต’ และ ‘ใช้ชีวิต’ ด้วย
มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า มนุษย์ยังต้องการปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับทั้งมนุษย์ด้วยกัน และกับทั้งอาคารสถานที่ (ที่ฝรั่งเรียกว่า Stones and Timber)
ประเด็นสำคัญก็คือ ในความเป็นมนุษย์นั้น เราไม่ได้อยากได้แค่ ‘สถานที่ออนไลน์’ ที่ลื่นไหลไร้รอยต่อแบบที่เรียกว่า Seamless technology ที่สอดคล้องกับความต้องการ จริต และวิธีคิดของเราเท่านั้น แต่เรา – ในฐานะมนุษย์, ยังต้องการ ‘สถานที่จริง’ ที่อาจมีอาการ ‘สะดุด’ (คือไม่ seamless) หลายๆ แบบ เช่น สะดุดทางกายภาพ สะดุดเพราะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สะดุดเพราะวิธีคิดหรือพฤติกรรมของคนอื่นที่ไม่ต้องตรงกับเรา หรือสะดุดเพราะพบเห็นสิ่งที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเห็นได้ในชีวิตจริง
นี่คือความต้องการพื้นฐาน ที่จะทำให้มนุษย์เราต้องการ ‘พื้นที่ทางกายภาพ’ อยู่เสมอ เพียงแต่ในโลกแห่งเทคโนโลยี ในเมืองที่เป็น city of data เราต้องการการออกแบบเมืองและออกแบบพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ เพื่อไม่ให้พื้นที่สาธารณะนั้นๆ กลายเป็นแค่ที่เก็บ ‘ของไฮเทคพังๆ’ หรือไม่มีใครเข้าไปใช้งานเลย
ความ ‘สมัยใหม่’ (modern) ไม่ได้อยู่ที่การตั้งงบประมาณสูงๆ เพื่อประโคมของไฮเทคแพงๆ ใส่ไว้ในอาคาร แต่ความ ‘สมัยใหม่’ ซับซ้อนกว่านั้น
การออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยอิงไปกับเทคโนโลยีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกลมกลืนไปกับการออกแบบเมืองโดยรวม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ในยุโรปนั้น เขาไม่ได้คิดทำกันแบบเมืองใครเมืองมัน แต่มีการวางแผนกันมาหลายสิบปีแล้ว ภายใต้หลักการชื่อ New Charter of Athens 2003 คือมีการประชุมเพื่อทบทวนเรื่องนี้โดยสภาแห่งการวางผังเมืองของยุโรป หรือ European Council of town Planners มาตั้งแต่ปี 2003
เนื้อหาใหญ่ๆ ของหลักการนี้ก็คือ การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหรือ ICT เพื่อเป็นฐานในการสร้าง ‘ระบบ’ ที่หลากหลายต่อการขนส่งเดินทาง และเพื่อให้เกิด ‘พื้นที่สาธารณะ’ (public space) ขึ้นมา รวมทั้งควรจะมีการปรับแปลงอย่างไรในอนาคต เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้งานของวันพรุ่งนี้
หรือในออสเตรเลียก็มีแผนการทำนองนี้อยู่เหมือนกัน เช่น เมืองเพิร์ธมีแผนที่เรียกว่า Smarter Planning Perth หรือ SPP ที่เป็นเหมือนตัวกลางในการประสานกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนต่างๆ โดยใช้ mapping technology เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน และจะได้ลดปัญหาจราจร ไม่เกิดความซ้ำซ้อนของพื้นที่ นี่ไม่นับเมืองอื่นๆ ในโลกอีกมากมาย ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์
การวางแผนทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เล่นๆ นะครับ เพราะมีหลายเมืองในโลกทีเดียวที่เคยสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ บทความของ Citylab บอกว่าพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบมาด้วยเจตนาดี แต่กลับไม่มีใครเข้าไปใช้นั้นส่งผลร้ายต่อเมืองไม่น้อย เช่น เคยมีการสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งหนึ่ง เป็นพื้นที่เปิดโล่งแบบพลาซ่า ในเมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา ปรากฏว่าไม่มีใครเข้าไปใช้งานเลย เมื่อสอบถามผู้คนแถวนั้น ก็มีแต่คนบอกว่านี่เป็นการสร้างที่แย่มาก เพราะมันกลายเป็นพื้นที่โล่งที่รกร้าง และเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องแก้ปัญหา ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับยุคสมัย ก็คือต้องกลับไปสู่ความเป็น city of data ด้วยการดู ‘ข้อมูลใหญ่’ ว่าเพราะอะไรคนถึงไม่มาใช้พื้นที่นี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่เป็นการแก้ปัญหาพื้นที่สาธารณะโดยใช้เทคโนโลยี
การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีนั้นนำมาใช้ได้ในหลายระดับ เช่น เมื่อเกิดพื้นที่สาธารณะขึ้นแล้ว แต่คนไม่มาใช้งาน อาจเป็นเพราะไม่เกิดกระบวนการที่เรียกว่า activation หรือการ ‘กระตุ้น’ ให้เกิดการใช้เนื้อที่เมืองบริเวณนั้นก็ได้ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องออกแบบ รวมทั้งสร้างระบบความปลอดภัย (เช่น ไฟส่องสว่างที่ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือกล้องวงจรปิดที่ไม่คุกคามผู้คน) หรือระบบความบันเทิง (เช่น ระบบน้ำไฟสำหรับพื้นที่จัดการแสดงต่างๆ ฯลฯ)
แต่ส่วนสำคัญที่สุด Citylab วิเคราะห์ว่าคือการ ‘กระตุ้น’ หรือ activation ให้คนมาใช้งานพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามขั้นตอนด้วยกัน คือ visibility, approachability และ flexibility นั่นคือทำให้คน ‘เห็น’ (หรือรับรู้) ถึงการมีอยู่ของพื้นที่นั้นๆ จากนั้นก็ทำให้คนสามารถ ‘เข้าถึง’ ได้โดยง่าย พร้อมกับมีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนในการใช้งานพื้นที่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้พื้นที่
ที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง visibility, approachability และ flexibility นั้น พูดได้ว่าก็คือ ‘หลักการประชาธิปไตย’ นั่นแหละครับ
visibility ก็คือการ ‘เห็น’ ได้ ซึ่งมีนัยหมายถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทาง ผู้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ วางแผน และให้ความคิดได้ว่าตัวเองต้องการอะไร
approachability ก็คือการทำให้พื้นที่สาธารณะนั้นๆ ไม่ได้สูงส่งศักดิ์สิทธิ์จนคนไม่กล้าเข้าไปใช้งาน แต่คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘สาธารณะ’ นั่นเอง
ส่วน flexibility ก็คือความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการใหม่ๆ ในอนาคต นั่นคือมีการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่หากเกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนได้เสมอ ไม่ใช่เขียนกฎเกณฑ์ผูกมัดเอาไว้ให้เปลี่ยนแปลงได้ยาก (แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญของไทยและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี)
เหนืออื่นใด เรื่องสำคัญที่สุดของการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เชิงความรู้ ก็คือการออกแบบโดยมี ‘คน’ อยู่ในสมการเสมอ
การใช้เทคโนโลยีกับพื้นที่สาธารณะ จึงไม่ใช่แค่การนำอุปกรณ์ไฮเทคหรูหราซับซ้อนงบประมาณเยอะ (ซึ่งเอื้อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย) ใส่เข้าไปในอาคารเท่านั้น แต่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการออกแบบวางแผนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันเทคโนโลยี ไม่บ้าเทคโนโลยีหรือกลัวตัวเองจะ ‘เชย’ หรือล้าหลังเป็นไดโนเสาร์จนต้องพยายามอวดรู้ด้วยการใส่เทคโนโลยีที่ตัวเองไม่รู้จักเข้าไป รวมทั้งต้องรู้ความต้องการของ ‘คน’ ที่จะใช้งานด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด ก็คือการเปิดโอกาสให้ ‘ทุกคน’ ได้มีส่วนร่วมในการคิดวางแผนและออกแบบตั้งแต่ต้น ไม่ใช่วางแผนเอง คิดเอง ออกแบบเอง แล้วก็โยนของที่ประชาชนไม่ต้องการใส่หัวประชาชน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่พูดง่าย – แต่ทำยากมาก และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้จริงก็เฉพาะในสังคมที่มีสำนึกแบบประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมเท่านั้น
แต่กระนั้น – ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยหรอกนะครับ