พร้อมตอบแชตทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ถามอะไรก็ตอบได้ตั้งแต่ไอเดียเมนูมื้อเย็น ช่วยทำคอนเทนต์ แต่งบทกวี แนะนำวิธีออกจากเฟรนด์โซน หรือจะเขียนโค้ดก็ทำได้เหมือนกัน แถมยังไม่เคยตอบเราห้วนๆ อีกต่างหาก แม้จะฟังดูเหมือนเลขาส่วนตัวสุดอัจฉริยะ แต่จริงๆ แล้วเรากำลังพูดถึง ‘ChatGPT’ แชตบอตล่าสุดของ OpenAI ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้น ChatGPT มีผู้ใช้งานนับล้านแอคเคาต์ และตอนนี้กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ
ChatGPT มีอะไรน่าสนใจ หรือมีเรื่องไหนที่ทำไม่ได้บ้างหรือเปล่า The MATTER สรุปมาให้ในบทความนี้แล้ว
รู้จัก OpenAI ผู้อยู่เบื้องหลัง ChatGPT
ผู้อยู่เบื้องหลัง ChatGPT คือบริษัท OpenAI ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 ปัจจุบันมีมีซีอีโอคือ แซม อัลต์แมน (Sam Altman) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้ และมีผู้ร่วมลงทุนหลักอย่างบริษัท Microsoft, Reid Hoffman Foundation และ Khosla Ventures (จริงๆ อีลอน มัสก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้เหมือกัน แต่โบกมือลาบอร์ดบริหารไปโฟกัสกับ Tesla เมื่อปี 2018)
เป้าหมายของ OpenAI คือการวิจัยและปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ซึ่งผลงานของ OpenAI ที่บางคนอาจจะคุ้นหูอยู่บ้างคงจะเป็น ‘DALL·E’ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างภาพขึ้นมาจากข้อความที่เราพิมพ์ได้ โดยเปิดตัวไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2022 OpenAI ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว ChatGPT แชตบอตที่พัฒนามาจากโมเดล GPT-3 โดยใช้วิธีเทรนปัญญาประดิษฐ์จากข้อมูลมหาศาล เพื่อให้สามารถสร้างข้อความตอบกลับมาได้หลากหลายรูปแบบ แม้จะไม่ได้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าใช้ข้อมูลจากแหล่งไหนบ้าง แต่ทาง OpenAI ตอบกว้างๆ ว่ามาจากข้อมูลที่ตามเว็บไซต์ วิกิพีเดียและหนังสือ ออกมาเป็นบทสนทนาที่คล้ายกับมนุษย์ แต่จะมีเฉพาะข้อความเท่านั้น ไม่สามารถตอบกลับมาด้วยภาพ เสียง วิดีโอหรือสื่อรูปแบบอื่นๆ
ความแตกต่างจากแชตบอตทั่วไป
จุดเด่นหลักๆ ของ ChatGPT คือรูปประโยคที่ดูเป็นธรรมชาติเหมือนมนุษย์ ความสร้างสรรค์ของคำตอบอย่างที่บอกไปว่าสามารถเขียนเพลง แต่งบทกวีได้ แถมยังรู้จักยอมรับข้อผิดพลาด ใช้ภาษาที่สุภาพ รู้จักขอโทษเมื่อไม่สามารถตอบคำถามได้อีกต่างหาก เลยเหมาะจะนำไปปรับใช้กับฝ่ายฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ หรือ customer service แชตบอต หรือแม้แต่การช่วยเขียนบทความ
ส่วนคำถามที่ดูสุ่มเสี่ยงก็จะมีเครื่องมือมาช่วยกรองข้อมูลอีกชั้น เช่น ถ้าถามวิธีโกงข้อสอบ เราจะได้คำตอบว่าการโกงข้อสอบเป็นเรื่องไม่ดีนะ พร้อมบอกผลเสียที่อาจเกิดขึ้น และแนะนำให้ไปโฟกัสกับการอ่านหนังสือตั้งใจเรียนดีจะกว่า แม้ตอนนี้จะไม่สามารถกรองทุกคำตอบได้แบบ 100% แต่ก็พอช่วยเลี่ยงบทสนทนาที่ดูอ่อนไหวหรือเรื่องที่ผิดกฎหมายได้ในระดับหนึ่ง
ChatGPT ทำอะไรได้บ้าง?
ถ้าถามว่าเจ้าแชทบอตนี้ทำอะไรได้บ้าง คำตอบที่ได้คงเยอะเกินกว่าจะเขียนได้ครบ เราเลยขอยกตัวอย่างบางส่วนหลังจากได้ลองใช้งาน ChatGPT
- สร้างสรรค์งานเขียน
ChatGPT เขียนได้ตั้งแต่เนื้อเพลง เรื่องสั้น บทความ บทกวี อย่างเนื้อเพลงที่เราสามารถบอกเนื้อหาและสไตล์ลงไปได้ด้วย เช่น ให้เขียนเพลงเกี่ยวกับ New Year’s Resolution ที่ไปไม่รอดในสไตล์เทย์เลอร์ สวิฟต์ ก็จะออกมาเป็นเนื้อเพลงตั้งแต่ต้นจนจบได้เลยล่ะ แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะล้ำลึกขนาดนั้น อย่างเรื่องสั้นที่เนื้อหาครบ อ่านเข้าใจ แต่พล็อตไม่ได้แปลกใหม่หรือเดายากสักเท่าไร
- คิดไอเดียใหม่ๆ
อีกฟังก์ชั่นที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนมีผู้ช่วยส่วนตัว คือการคิดไอเดียตั้งแต่ของขวัญปีใหม่ ทำคอนเทนต์อะไรดี ไปจนถึง 3 เมนูสำหรับมื้อเที่ยง ซึ่ง ChatGPT แนะนำเมนูสุดเฮลตี้ให้กับเรา อย่างซีซาร์สลัดไก่ย่าง, แซนด์วิชไก่งวงและชีสที่ใช้ขนมปังโฮลวีต กินคู่กับผลไม้, กรีกโยเกิร์ตกับมิกซ์เบอร์รี่และกราโนล่า พอเราลองถามต่อว่าทำไมต้อง 3 เมนูนี้ ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เพราะเป็นเมนูที่เตรียมง่าย กินได้เร็ว สะดวกสำหรับมื้อกลางวัน แถมยังมีสารอาหารให้อิ้มท้องไปจนถึงมื้อค่ำด้วยนะ เหมือนยืนยันกับเราว่านี่เป็นเมนูที่คิดมาแล้วด้วยความห่วงใย ไม่ได้สุ่มมาให้เธอมั่วๆ ซะหน่อย (แม้จริงๆ แล้วอาจจะสุ่มก็ตาม)
- ปรึกษาปัญหาชีวิต
พอเราลองถามคำแนะนำสำหรับการฮีลใจ ตั้งแต่การรับมือกับความเครียด วิธีมูฟออนหลังอกหัก วิธีออกจากเฟรนด์โซน ความน่าสนใจคือคำตอบที่ไม่ได้ฟันธงว่าทุกคนต้องทำแบบนี้เท่านั้นนะ แต่ใช้คำพูดกลางๆ ดูเข้าอกเข้าใจเหมือนมีพี่อ้อยพี่ฉอดมานั่งข้างๆ อย่างเรื่องเฟรนด์โซนที่มีแนะนำตอนท้ายว่า “การก้าวข้ามเฟรนด์โซนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความสัมพันธ์ของคุณ สิ่งสำคัญคือต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและเพื่อนของคุณ รวมทั้งเคารพขอบเขตและการตัดสินใจของพวกเขา” หรือคำแนะนำหลังอกหักที่เริ่มด้วยประโยค “การจบความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นธรรมดาที่เราจะมีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกผ่านเข้ามา อย่างความเศร้า ความโกรธ และความสับสน และต่อไปนี้เป็นขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจช่วยให้คุณมูฟออนได้หลังจากการเลิกรา”
- ทำเช็คลิสต์กันลืม
นอกจากจะช่วยคิดไอเดียใหม่ๆ ได้แล้วยังช่วยทำเช็คลิสต์กันลืมให้เราได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเช็คลิสต์สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนไปต่างประเทศ, เช็คลิสต์ fixed cost ก่อนเปิดร้านกาแฟ, เช็คลิสต์สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนออกไปเที่ยว
- ถามความรู้รอบตัว
ปกติถ้าเราเสิร์ชกูเกิลแล้วไม่เข้าใจก็ต้องไปตามอ่านบทความใหม่ต่อไปเรื่อยๆ แต่ ChatGPT จะคล้ายกับตอนอยู่ในห้องเรียนที่เราสามารถยกมือถามเพิ่มเติมหรือขอให้ขยายความส่วนที่ไม่เข้าใจได้ทันที แถมยังอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายอีกต่างหาก
- ช่วยเขียนโปรแกรมได้
ChatGPT สามารถเขียนโปรแกรมได้โดยใช้ภาษาโปรแกรม เช่น JavaScript, Python แถมยังตรวจสอบข้อบกพร่องหรือบั๊กในโค้ดได้อีกด้วย
ChatGPT ทำอะไรไม่ได้บ้าง?
แม้จะถามอะไรตอบได้ แต่ใช่ว่าจะตอบได้ทุกคำถาม โดยข้อจำกัดของ ChatGPT ในตอนนี้ ได้แก่
- ไม่สามารถถามเรื่องใหม่ๆ หรือข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพราะแชทบอตนี้มีข้อมูลจนถึงปี 2021 เลยไม่สามารถถามเรื่องใหม่ๆ อย่างข่าวบอลโลกปีนี้ หรือแม้แต่ชื่อนายกคนปัจจุบันของไทย
- ให้คำตอบได้เฉพาะรูปแบบ ‘ข้อความ’ ไม่สามารถส่งภาพ ไฟล์ เสียง หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ ได้
- ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ คำตอบไหนที่ต้องเสิร์ชกูเกิล เช่น คะแนน IMDb หรือรีวิวหนังเรื่องนี้ ChatGPT จะไม่สามารถไปเสิร์ชคำตอบหรือส่งลิงก์ IMDb มาให้เราได้
- ข้อมูลบางอย่างอาจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะคำถามเชิงตรรกะคณิตศาสตร์ที่เราลองส่งโจทย์ไป แม้คำตอบจะถูกต้อง แต่วิธีการและข้อมูลที่เหลือกลับผิดซะงั้น และทาง OpenAI เองก็บอกว่าข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ถูกต้องแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นในภาพนี้ที่คำตอบถูกต้อง แต่วิธีการคิดและข้อมูลที่เหลือยังไม่ถูกต้อง (จริงๆ ควรจะเป็นการบวกด้วยจำนวนคี่ที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คือ 1, 6( 1+5), 13(6+7 ), 22(13+9), 33(22+11), 46(33+13), 61(46+15) ตามลำดับ)
- ภาษาไทยยังไม่ค่อยเสถียร แม้ว่าจะสามารถถาม-ตอบเป็นภาษาไทยได้บ้าง แต่อ่านแล้วอาจจะงงนิดๆ ทั้งรูปประโยคและคำตอบ เลยแนะนำให้ถามเป็นภาษาอังกฤษไปก่อนน่าจะเข้าใจได้มากกว่า
ChatGPT จะมาแทนที่อาชีพไหนหรือเปล่า?
ความเจ๋งของ ChatGPT นี้ทำให้บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่าเหมือนตอน Apple เปิดตัว Iphone ครั้งแรก แต่คำถามที่มักจะตามมาคือแชตบอตนี้จะมาแทนที่อาชีพไหนหรือเปล่า?
ในบทความ ‘ChatGPT writes code but won’t replace developers’ บนเว็บไซต์ techtarget เขียนถึงเรื่องนี้ว่า ChatGPT อาจเขียนโค้ดทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถแทนที่อาชีพโปรแกรมเมอร์ได้ทั้งหมด เพราะงานของโปรแกรมเมอร์ไม่ได้มีแค่การเขียนโค้ดเท่านั้น ส่วนในอนาคต เหล่าโปรแกรมเมอร์อาจจะโฟกัสกับงานซับซ้อนได้มากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานเบื้องต้นแล้ว หรืออาจจะเกิดอาชีพใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาได้เหมือนกัน
ส่วนในมุมของนักสร้างสรรค์ ผู้เขียนมองว่าแม้ ChatGPT จะร้อยเรียงภาษาได้เข้าใจง่ายและเขียนออกมาเป็นบทความได้จริง แต่ยังมีช่องว่างเรื่องแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ ไม่สามารถแปะลิงก์งานวิจัย บอกแหล่งที่มาของข้อมูลได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือคำตอบของแชตบอตนี้มาจากการประมวลผลข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ได้เกิดจาก ‘ความเข้าใจ’ เรื่องนั้นอย่างแท้จริง แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็นับว่าเป็นแหล่งไอเดียให้เรานำไปคิดต่อยอดได้เหมือนกัน
นอกจากเรื่องอาชีพแล้ว ยังมีข้อกังวลอื่นๆ อย่างการสร้างความเข้าใจผิดจากการบอกข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ความเสี่ยงจากการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือ ChatGPT ไม่สามารถกรองบางคำตอบสุ่มเสี่ยงได้ เพราะเทคโนโลยีเป็นเหมือนกับดาบสองคมที่ทั้งสร้างความก้าวหน้าให้กับมนุษย์ และพาเราเดินถอยหลังจนสะดุดล้มได้เหมือนกัน สุดท้ายแล้วคงขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะพาสิ่งเหล่านี้เดินไปยังทิศทางไหน
อ้างอิงจาก