จากคลิป Viral รายการญี่ปุ่นสร้างความฮือฮาจนเราต้องอุทานว่า “เก่งมากเจ้าลูกเจี๊ยบ”
แต่เอ๊ะ หรือเราโดนหลอก เป็นไปได้เหรอที่ลูกไก่จะฟักเป็นตัวโดยปราศจากเปลือกไข่ เมื่อไก่ไม่ต้องเกิดจากไข่ ไอ้คำถามที่ว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน” ก็ดูตกยุคไปเลยแบบด่วนๆ
https://www.youtube.com/watch?v=g3iLwRt7JA0
วิทยาศาสตร์บอกว่า “เป็นไปได้จ้า” และด้วยวิธี ‘การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนลูกเจี๊ยบในภาชนะด้วยแผ่นฟิล์มพลาสติก’ (ชื่อวิธีอย่างยาว) แต่ไม่ง่ายที่เจ้าสัตว์โลกที่มีชีวิตอันบอบบางจะเกิดมาดูโลก
– อย่างแรกเลย ผู้ทำการทดลองจะต้องเตรียมไข่มาก่อน (จากร้านอาเฮียสักคน) ตอกไข่แต่อย่าให้ไข่แดงกระจายและนำมาใส่ในภาชนะเพาะเลี้ยง จากนั้นไข่แดงจะถูกทำการปฏิสนธิสังเคราะห์ภายนอก (In Vitro Fertilizations) และเก็บรักษาไว้ในตู้ฟักที่รักษาอุณหภูมิเหมาะสม
– ตัวอ่อนจะค่อยๆ เติบโต หัวใจ ลูกตา ขน จะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าผ่านแผ่นฟิล์มพลาสติก
– ลูกไก่จะเติบโตในภาชนะ จนแข็งแรงเพียงพอที่จะออกมาดูโลกภายนอก
แต่ใช่ว่าลูกเจี๊ยบจะรอดทุกตัว!
เมื่อไม่มีเปลือกไข่ นั่นก็หมายความว่า แคลเซียมและการไหลเวียนออกซิเจนกลายเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม ลูกเจี๊ยบจึงอ่อนแอปวกเปียก กระบวนการนี้จึงสำเร็จเพียง 51% เท่านั้น (ไข่ 14 ใบรอดมาเป็นลูกเจี๊ยบเป็นๆ 8 ตัว) แม้พยายามประคับประคองในตู้ฟัก ลูกเจี๊ยบที่เกิดใหม่ก็ยังมีชีวิตอยู่ไม่ถึง 17 วันถึงเกือบ 90% ลูกเจี๊ยบไม่แข็งแรงและโรคแทรกซ้อนทำให้มันไม่สามารถเติบโตเป็นไก่รุ่นที่สมบูรณ์ได้ (โถ โลกโหดร้ายจังเลยเนาะลูก)
แล้วเราจะทำให้มันยุ่งยากแบบนั้นไปเพื่อ?
การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในสัตว์ปีกโดยปราศจากเปลือกไข่ ทำให้เราเข้าใจและพัฒนาองค์ความรู้
พันธุวิศวกรรมในสัตว์ปีก การปรับปรุงตัวอ่อนระยะเอ็มบริโอและการทำวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยหลายแห่งในญี่ปุ่นก็มีกระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไก่โดยไม่มีเปลือกหลากหลายวิธี เช่นการเจาะรูเล็กๆ บนเปลือกไข่ เลี้ยงในเปลือกไข่เสมือนหรือไม่ใช้เปลือกไข่เลยเหมือนอย่างในวิดีโอ Viral ดังกล่าว องค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องพัฒนานั้นล่ะถึงจะเป็นวิทยาศาสตร์
แล้ว “เปลือกไข่” สำคัญไฉน?
สัตว์มีกระดูกสันหลังเพศเมียล้วนสร้าง ‘ไข่’ แต่สัตว์เลื้อยคลานต่างหากที่สร้างนวัตกรรม ‘เปลือกไข่’ เสมือนสิ่งประดิษฐ์สุดมหัศจรรย์ที่ทำให้ไข่ไม่แห้งตายจากสภาพบรรยากาศอันเลวร้ายภายนอก และทำให้พวกมันสามารถวางไข่บนบกได้ ซึ่งเป็นก้าวกระโดดสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากน้ำและหากินบนพื้นพิภพ เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไป สัตว์เลื้อยคลานกลุ่มใหญ่มีวิวัฒนาการเป็น ‘นก’ นวัตกรรมเปลือกไข่ก็ยังส่งต่อมาด้วย
ไข่นกก็เหมือนกับระบบ Life Support ในเทคโนโลยีหนัง Sci-fi เปลือกไข่ทำให้ตัวอ่อนเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ช่วยควบคุมอุณหภูมิ ให้ความอบอุ่น ดูดซึมออกซิเจนและถ่ายเทคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านรูเล็กๆ บนเปลือกนั่น เจ้ารูเล็กๆ นี่เองทำให้ขนาด สีสัน และรูปร่างเปลือกไข่ มีหลายแบบ
แล้วทำไมนกไม่พยายามออกลูกเป็นตัวล่ะ?
หลายทฤษฏีชี้ว่าอวัยวะที่จำเป็นในการตั้งท้องทำให้นกบินลำบาก แต่ ‘ค้างคาว’ ก็ทำลายทฤษฏีนั้นไปแล้ว (ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คุณก็รู้นี่) แถมพวกมันก็ยังบินไปปะทะกับซุปเปอร์แมนได้สบายบรื๋อ (เดี๋ยวๆ นั่นแบทแมนว้อย!)
งานวิจัยของ Daniel Blackburn และ Howard Evans จากมหาวิทยาลัย Cornell ชี้ชัดว่าหากเจ้านกจะออกลูกเป็นตัว นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่สำหรับมัน ประเด็นแรกเลย พวกมันจะสูญเสียศักยภาพในการสืบเผ่าพันธุ์ เพราะต้องรอให้ตัวอ่อนออกลูกเป็นตัวเสียก่อน แถมตัวอ่อนที่อยู่ในท้องจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ตัวผู้จะขาดความรับผิดชอบ ไม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกและหาอาหารมาป้อน และร่างกายของแม่นกจะร้อนเกินไปจนตัวอ่อนไม่พัฒนาเต็มที่