ถ้าจู่ๆ งานที่เราเคยทำ มี AI เข้ามาทำแทน จะเกิดะอะไรขึ้น?
หากวันหนึ่ง งานซึ่งเคยเป็นของมนุษย์มาโดยตลอด ถูก AI ช่วงชิงไปทำหน้าที่แทน เพราะต่างก็เชื่อว่า AI ทั้งแม่นยำ ปราศจากอคติ แถมยังปฏิบัติหน้าที่ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
AI จะทำงานแทนพวกเราได้จริงหรือ? แล้วปัญประดิษฐ์เหล่านี้จะดีกว่ามนุษย์มากน้อยแค่ไหนกันเชียว?
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือสืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI*
สืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI ผลงานสืบสวนสอบสวนเล่มแรกของ ทาเคดะ จินโซ (Takeda Jinzo) ว่าด้วยเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นในอนาคต ที่ได้นำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้ในการพิจารณาคดีแทนผู้พิพากษามนุษย์ นำมาสู่การพิจารณาคดีที่รวดเร็วมากขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายถูกลง จนเรียกได้ว่าในหนึ่งวัน ศาลมีคดีจ่อรอเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาคดีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
ทว่า AI อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เมื่อ ‘คิชิมะ ยูเบ็ง’ ทนายความผู้ไร้พ่าย ผู้มองเห็นผู้พิพากษา AI เป็นเพียงแค่เครื่องจักร เพราะตัวเขาสามารถแฮ็กช่องโหว่ของ AI เพื่อช่วยให้ตนชนะคดีต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น
ถ้าอย่างนั้นแล้ว AI จะยังคงทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้อยู่มั้ย เมื่อพวกมันยังมีจุดบอ และนำไปสู่กลโกงได้?
AI มนุษย์ และคดีปริศนา
เมื่อปริศนาอันแสนซับซ้อน ถูกโยงเข้ากับประเด็นทางสังคม จนนำไปสู่คำถามชวนขบคิด
การหยิบเอาประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันไม่หยุดหย่อนในสังคมปัจจุบัน อย่าง ‘การนำ AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์’ มาผนวกรวมกับธีมเรื่องนิยายแนวสืบสวนสอบสวน กลายเป็นพล็อตเรื่องอันแสนโดดเด่นและน่าสนใจนี้เอง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ สืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI กลายเป็นนิยายอีกหนึ่งเรื่อง ที่เชื่อว่าแฟนหนังสือสืบสวนน่าจะวางกันไม่ลงเลยทีเดียว
นิยายเรื่องนี้จะพาผู้อ่านอย่างเราดำดิ่งไปสู่เนื้อเรื่องสุดเข้มเข้น ผ่านการสืบคดีต่างๆ ของทนายความคิชิมะ โดยตัวเนื้อหาการสืบสวนสอบสวนจะถูกนำเสนอออกมาควบคู่ไปกับการค่อยๆ ป้อนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ AI ผ่านช่องโหว่ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในแต่ละบท เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านอย่างเราได้ครุ่นคิดและชวนให้อยากติดตามต่อว่า ท้ายสุดแล้ว AI จะยังคงมีอำนาจตัดสินสูงสุดในชั้นศาลเหมือนดังเดิมหรือไม่
แม้ฟังดูแล้ว หลายคนอาจกังวลว่า เนื้อหาของนิยายซึ่งชูทั้งสองประเด็นไปพร้อมกัน จะสามารถทำให้ทั้งเรื่องไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่? แล้วเนื้อเรื่องจะยังคงความสนุกตามสไตล์นิยายสืบสวนสอบสวนเอาไว้ได้ไหม?
คงบอกได้เลยว่า ผู้เขียนอย่างทาเคดะ จินโซ สามารถหลอมประเด็นที่ดูไม่เข้ากันทั้งสองเรื่อง ให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยนำเสนอทั้งประเด็นเรื่อง AI และการสืบคดีปริศนา ตามฉบับนิยายสืบสวนสอบสวน ออกมาได้อย่างลงตัว ซึ่งทำให้ผู้อ่านอย่างเราอยากจะพลิกอ่านหน้าถัดไปเรื่อยๆ
อีกทั้ง แต่ละช่วงของเนื้อหา ยังแสดงให้เห็นถึงการฟาดฟันอันแสนดุเดือด ระหว่าง ทนายคิชิมะ อัยการ และผู้พิพากษา AI ในชั้นศาล ถือเป็นเวทีสำคัญ ซึ่งค่อยๆ เปิดเผยให้เราเห็นทีละเล็กทีละน้อยถึงช่องโหว่เบื้องหลังความยุติธรรม มิหนำซ้ำ ใครก็ตามที่ได้รู้ถึงการมีอยู่ของช่องโหว่ดังกล่าว ก็ย่อมใช้มันในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน บอกได้เลยว่า การใช้ช่องโหว่เพื่อเอาชนะไม่ได้มีแค่ทนายไร้พ่ายคนเดียวแน่นอน!
อย่างไรก็ดี การนำเสนอประเด็นเรื่อง AI ของทาเคดะ จินโซ สามารถทำออกมาได้น่าติดตาม โดยตัวเขาไม่ได้นำเสนอแบบเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป แต่เขาได้ตั้งคำถามต่อทั้งตัวของ AI และมนุษย์ ว่าอะไรคือเส้นกลางซึ่งขีดแยกทั้งสองออกจากกัน
เพราะถ้ามนุษย์ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี ก็คงไม่มี AI เข้ามาทำงานแทน ทว่าในอีกทางหนึ่ง เรายังสามารถบอกได้หรือไม่ ว่า AI สามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ ยิ่งหากพิจารณาจากตัวของผู้พิพากษา AI ในนิยาย ก็ยังมีช่องโหว่ ให้มนุษย์เข้าไปแทรกแซงหาผลประโยชน์ได้อยู่
ทั้งนี้ การทิ้งทวนคำถามดังกล่าวของผู้เขียนต่อผู้อ่าน เป็นจุดสำคัญของ สืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI ที่ทำให้ตัวนิยายมีประเด็นไม่ซ้ำซาก อ่านสนุก และน่าติดตาม โดยนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มอบให้เพียงความเพลิดเพลินของการไขคดีต่างๆ ซึ่งคอยร้อยเรียงเรื่องราวตลอดทั้งเรื่องเท่านั้น ทว่ามันยังคมมอบประเด็นชิ้นใหญ่ ให้เรามาถกและเถียงกันต่อไปในโลกความเป็นจริงด้วย
บางครั้ง AI เองก็มีช่องโหว่ ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง…คำนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ
ไม่เกินจริง หากจะบอกว่า AI อันแสนฉลาดหลักแหลม วิเคราะห์เป็นเลิศ แถมยังไร้ข้อผิดพลาดนั้น จะมีข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ปรากฏให้เราเห็นบ้าง เพราะต้องไม่ลืมว่า AI ก็ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาจากมนุษย์เราเองนี่แหละ
เพราะฉะนั้นแล้ว หากบอกว่า AI แม่นยำ ยุติธรรม และปราศจากอคติ จนสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ อาจต้องกลับมาคิดให้ถี่ถ้วนกันอีกรอบ เพราะคงเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน หากปัญญาประดิษฐ์ จะอยู่เหนือกว่าผู้ประดิษฐ์พวกมันขึ้นมา
ดังนั้น ไม่ใช่ว่า AI จะถูกไปเสียหมด โดยไร้ข้อผิดพลาดใดๆ ดร.คาร์ล แบรนติง (Karl Branting) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ จาก Mitre องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มองว่าตัวของ AI ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดเสมอไป และมันอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่ามันจะแสดงผลออกมาอย่างไร ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ AI ยังเป็นความน่าจะเป็น ขึ้นอยู่กับชุดข้อมูลที่ได้รับมา
หากมันถูกป้อนข้อมูลหรือได้รับการฝึกอบรมที่ไม่ถูกต้องและมีอคติ ตัวของอัลกอริทึม ก็อาจมอบผลลัพธ์อันเต็มไปด้วยอคติออกมาเช่นกัน อย่างกรณีของบริษัท Amazon.com Inc ซึ่งเคยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยคัดเลือกผู้เข้าสมัครงาน โดยตัวของ AI ถูกสอนด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ นั่นจึงทำให้ผลลัพธ์ในการคัดเลือกผู้สมัคร เกิดอคติต่อผู้สมัครงานเพศหญิง
จากกรณีดังกล่าว อาจกำลังบ่งชี้ให้เราเห็นว่า AI อาจไม่ได้มีความแม่นยำและถูกต้องอย่างที่เราคิดกัน เพราะมองในมุมหนึ่ง พวกมันก็คือผลผลิตทางเทคโนโลยีของมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้น ถ้ามนุษย์ยังมีข้อผิดพลาดกันได้ AI ก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก
ถ้าต่อต้านไม่ได้ จะถูกแทนที่หรือไม่?
เอาล่ะ…เรารู้กันแล้วว่า AI เองก็มีช่องโหว่ แถมยังผิดพลาดได้ไม่ต่างจากมนุษย์ ทว่าในโลกซึ่งหมุนไปข้างหน้าด้วยการเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องนี้ เราไม่อาจปฏิเสธพวกมันได้เสียทีเดียว หนำซ้ำ มันยังทวีความกังวลต่อมนุษย์เพิ่มขึ้น ต่อการถูกแทนที่โดย AI
แล้วเราจะถูกแทนที่ด้วย AI เหมือนกับเหล่าผู้พิพากษาในนิยายไหม?
แน่นอนว่า โลกของเรามีเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอยู่ตลอด แถมในอุตสาหกรรมบางแห่งยังมีการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ให้เห็นกันบ้างแล้ว เป็นธรรมดา หากเราจะเกิดความกังวลต่อสถาการณ์ดังกล่าวกับ AI
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาแทนที่โดย AI อาจไม่ใช่เรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดย ศาสตราจารย์คาริม ลัคฮานี (Karim Lakhani) จาก Harvard Business School ผู้ศึกษาเกี่ยวกับ AI มาตลอดหลายปี คาดการณ์เอาไว้ว่า สุดท้ายแล้ว AI ไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ ทว่าในอีกทางหนึ่งมนุษย์เองก็อาจหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธ AI ไม่ได้เช่นกัน อีกทั้งมนุษย์ยังต้องปรับตัวไปกับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ด้วย
แทนที่เราจะมองว่า AI คือภัยอันตรายของมนุษยชาติ ศาสตร์จารคาริมกลับแนะนำให้เรามองหาประโยชน์จากมัน และใช้มันให้ถูกต้องเหมาะสมมากกว่าการปฏิเสธไปเลย เพราะบางที AI อาจไม่น่ากลัวเท่ากับมนุษย์ที่สามารถใช้ AI ได้
ท้ายสุดแล้ว เราอาจไม่สามารถต่อต้าน AI ได้เลยทีเดียว เพราะโลกดันต้องหมุนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอยู่เรื่อยๆ แต่นั่นก็อาจทำให้เราได้กลับมาย้อนคิดว่า หากตัวเราสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว มันจะปรากฏช่องให้ AI แทรกเข้ามาได้จริงหรือไม่?
เหมือนกับกรณีของศาลญี่ปุ่นจากหนังสือ สืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI ซึ่งไม่เพียงทำให้เราเห็นแนวโน้มทางเทคโนโลยีในการใช้ AI ในอนาคตเท่านั้น ทว่ายังพาเราไปเห็นถึงช่องโหว่จากการใช้ AI สะท้อนให้เราเห็นอีกด้านของเทคโนโลยี อีกทั้งนิยายยังมอบพื้นที่ให้เราได้ตั้งคำถามต่อระบบศาลของมนุษย์ ถึงความยุติธรรมจากตัวผู้พิพากษาว่า พวกเขาเที่ยงตรงมากขนาดไหนกันแน่ ถ้าพวกเขาเป็นธรรมมากพอ ก็อาจไม่มีผู้พิพากษา AI ให้ทนายคิชิมะ ต้องต่อกรด้วย
ดังนั้น AI จะมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้นแค่ไหน อาจขึ้นกับตัวพวกเราปล่อยให้ AI เข้ามาแทรกแซงมนุษย์มากเท่าไหร่แล้ว ทั้งนี้เราอาจตต้องหาคำตอบกันต่อไปว่า จะมีอะไรสามารถเป็นเส้นแบ่งการทำงานระหว่างมนุษย์ กับ AI ได้กันแน่!
อ้างอิงจาก