คุณรู้ตัวใช่ไหมว่า ‘คุณเองตระหนักรู้อยู่’ อย่างน้อยขณะอ่านบทความนี้ คุณก็น่าจะมีสติและรู้สึกตัว หากเราขยับขอบฟ้าของ ‘การตระหนักรู้’ ออกไปอีกนิด จะพบว่า consciousness มีอยู่ในเพื่อนๆ ต่างสายพันธุ์ของคุณด้วย สุนัขและแมวตระหนักรู้หรือเปล่าเมื่ออยู่ใกล้กับคุณ บนท้องฟ้ามีอีกาเจ้าเล่ห์ที่เป็นนักแก้ปัญหาตัวยง ใต้สมุทรมีหมึกยักษ์ที่สมองกระจายอยู่ในหนวดแสนประหลาด หรือใต้พื้นพิภพที่มีหนอนไชดินที่เหมือนจะเป็นสัตว์ที่ทึ่มที่สุด แต่ในความฉลาดเป็นกรดหรือทึ่มสุดโต่ง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีการตระหนักรู้แบบไหนกันล่ะ?
ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีทางหาคำตอบจากพวกมันได้เลย เพราะรูปแบบสมองของสัตว์เหล่านี้แตกต่างไปจากเราโดยสิ้นเชิงจนเป็นเรื่องยากสุดๆ ที่จะหาว่า ‘สัตว์ตระหนักรู้ด้วยหรือไม่’ เราไม่สามารถจ่อไมค์ถามหรือรอให้พวกมันเขียนอะไรออกมาสักประโยค ดังนั้นเราจะตรวจสอบการตระหนักรู้ของพวกมันได้อย่างไร กระนั้นเลยความตระหนักรู้ของมนุษย์เองก็ยังมีปริศนาไม่น้อย เพราะวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถจำกัดความการตระหนักรู้ของมนุษย์ได้อย่างตรงไปตรงมา จึงอดคิดไม่ได้ว่า ต้นกำเนิด (origin) ของการตระหนักรู้ของสิ่งมีชีวิตมีจุดเริ่มต้นมาจากไหนกันแน่
จากคำถามที่ว่า ‘ตระหนักรู้ไปเพื่ออะไร’ จึงควรเปลี่ยนเป็น ‘การตระหนักรู้มีวิวัฒนาการมาจากไหน’ น่าจะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการให้คำจำกัดความได้ดีกว่า และแน่นอนอาจทำให้คุณรู้จักความคิดของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม
จะศึกษาอย่างไรหากจิตใจไม่เคยมีหลักฐาน
กิ่งก้านสาขาของสิ่งมีชีวิตพัวพันน่าปวดหัวและถูกอำพรางนานหลายศตวรรษ จนยุคหลังๆ นักชีววิทยาเริ่มจับต้นชนปลายได้บ้างว่า สิ่งมีชีวิตแรกเริ่มอุบัติการตระหนักรู้อย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างหลอมรวมจนเกิดกระบวนการทางความคิด ซึ่งนอกจากจะช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของสิ่งมีชีวิตแล้ว มันยังทำให้เราเห็นว่าธรรมชาติเองก็พึ่งพาความตระหนักรู้เพื่อการดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะหาหลักฐานสิ่งมีชีวิตเมื่อ 300 ล้านปีก่อนเพื่อทดสอบ เพราะฟอสซิลไม่สามารถคงสภาพความคิดใดๆ เอาไว้ไว้ได้ มันเสื่อมสลายไปตามเวลา ไม่เหมือนกระดูกที่ค่อนข้างอยู่คงทน
‘การตระหนักรู้ไม่เคยหลงเหลือในฟอสซิล‘ นักประสาทวิทยา Anil Seth จากมหาวิทยาลัย University of Sussex กำลังทำภารกิจตามหาการตระหนักรู้ในอดีต กระบวนการที่ใช้คือการศึกษาสัตว์ที่ยังมีชีวิตในปัจจุบันเปรียบเทียบเพื่อหาบรรพบุรุษร่วมในอดีต แต่ก็ไม่ใช่งานง่าย จึงต้องมีการจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีกิ่งก้านวิวัฒนาการอันรุงรังยาวเหยียด จนเราได้ 10 สัญญาณคร่าวๆ ว่า สิ่งมีชีวิตนั้นสามารถตระหนักรู้ได้หรือไม่ (signs of consciousness) ดังนี้
- ระบุตัวเองได้จากกระจกเงา
- รู้ว่าผู้อื่นมีความรู้สึกนึกคิด
- แสดงออกผิดหวัง หากตัดสินใจผิดพลาด
- หัวใจเต้นเร็ว เมื่อเผชิญหน้ากับความเครียด
- มีอวัยวะรับสัมผัสโดปามีนเมื่อสมองถูกกระตุ้นด้วยรางวัล
- มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ
- สามารถเพ่งความสนใจไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- ต้องการนอนหลับ
- ตอบสนองต่อยาสลบ (anesthetics)
- แสดงออกถึงศักยภาพที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม 10 สัญญาณนี้เป็นการออกแบบที่โบราณไปนิดสำหรับมุมมองนักศึกษาพฤติกรรมสัตว์ (ethology) เพราะไม่ค่อยพึงพอใจกับการจำกัดความตระหนักรู้เช่นนี้ในแบบฝ่ายพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ที่เฝ้าสังเกตสัตว์จากสภาพแวดล้อมปิดในห้องทดลอง สิ่งเร้าจากธรรมชาติต่างหากที่จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ใหม่ๆ
ทุกๆ วันมีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ที่ทำลายกฎเกณฑ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แนะนำให้คุณลองสำรวจจากบทความ สมองสัตว์ ‘ฉลาด’ กว่าคุณไหม? รวมงานวิจัยที่เผยด้านละเอียดอ่อนของชีวิตสัตว์ (ขายของนิดนึง)
ความตระหนักรู้ไม่จำเป็นต้องซับซ้อน
ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ลิงชิมแปนซีสามารถระบุตัวตนได้จากการมองกระจกเงา สัตว์ปีกในวงศ์นกกามีนิสัยเจ้าเล่ห์ขโมยอาหารจากรังนกอื่นมาซ่อนโดยที่พวกมันไม่รู้ตัว หนูเรียนรู้ให้กดคันโยกแม้พวกมันจะทำผิดและไม่ได้อาหาร แต่ในเวลาไม่นานพวกมันเรียนรู้ที่จะเลือกคันโยกที่ถูกต้องได้ หรือผึ้งที่เซลล์ประสาทเพียง 1 ล้านเซลล์สามารถถูกสอนให้เลี้ยงฟุตบอลเข้าโกลเหมือนนักบอลเพียงเห็นลีลาเพื่อนผึ้งในฝูง
ดังนั้นการตระหนักรู้ของสิ่งมีชีวิตอาจไม่จำเป็นต้องซับซ้อนก็ได้ หรือแม้กระทั่งการตระหนักรู้ของตัวคุณเองในฐานะมนุษย์ ‘ความซับซ้อน’ ก็อาจไม่จำเป็น ตามที่อาจารย์ปรัชญา Jesse Prinz จากมหาวิทยาลัย Graduate Center, CUNY กล่าวว่า
“การตระหนักรู้นั้นเกี่ยวพันกับอารมณ์และการรับรู้ อาจไม่ใช่อะไรที่สูงส่งเลยก็ได้ ไม่ได้พิเศษมากไปกว่าสิ่งที่มนุษย์รับรู้อยู่แล้ว พื้นฐานของการตระหนักรู้คือประสบการณ์ (experience) ที่ถ่ายทอดได้ แม้กระทั่งสัตว์ที่ไม่ได้มีพลังสมองล้นเหลือซับซ้อน การตระหนักรู้นี้จึงแทรกซึมอยู่ในเส้นสายแห่งวิวัฒนาการ บางสิ่งทำให้สิ่งมีชีวิตรู้สึกปลอดภัย หรืออาจทำให้หวาดกลัว บางสรรพเสียงน่าฟังหรือชวนรำคาญ ร่างกายรู้สึกดีหรือทำให้แย่ พื้นฐานในการประเมินที่เรียบง่ายเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญควบคุมพฤติกรรมของพวกเรา ซึ่งพฤติกรรมมักเคลื่อนไปในเชิงบวก ให้คุณประโยชน์บางประการและถอยห่างอะไรที่ไม่ใช่ ความรู้สึก Positive และ Negative ต่อสิ่งเร้าจะนำเราไปสู่พฤติกรรมในท้ายที่สุด”
นักชีววิทยาใช้สิ่งนี้ที่นักปรัชญาหยิบยกนี้ เรียกมันว่า ‘การประเมินคุณค่าเชิงสุนทรียรส’ (Hedonic valuation) ของสิ่งมีชีวิต ที่อาจเป็นเครื่องมือให้เราทำภารกิจตามหาการตระหนักรู้ครั้งแรกได้เจาะจงมากขึ้นโดยสอดคล้องกับแนวทางวิวัฒนาการ
แล้วใครมีการตระหนักรู้บ้างนะ
เมื่อสำรวจในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง มันช่างชัดเจนเหลือเกินว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน ล้วนมีการตอบสนองทางด้านอารมณ์ด้วย แม้แต่ในระดับที่เล็กน้อยที่สุด หัวใจพวกมันเต้นเร็วขึ้น สมองมีการหลั่งโดปามีนเมื่อได้รับรางวัล (อย่างน้อยบางข้อจาก 10 สัญญาณ signs of consciousness ก็ยังได้รับการยอมรับอยู่) นักชีววิทยาเชื่อว่า พฤติกรรมที่กระตุ้นจากการได้รับรางวัลผ่านสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) เหล่านี้ มีรากฝังลึกกว่า 300 ล้านปี เมื่อสัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังมีบรรพบุรุษร่วมกัน บรรพบุรุษนี้อาจเผชิญความท้าทายทางสภาพแวดล้อมที่สัตว์ที่ยังอยู่ในน้ำไม่ค่อยได้เจอ เช่น อุณหภูมิ ความร้อน การที่ร่างกายจำต้องรักษาน้ำและความชื้นตลอดเวลา เมื่ออาศัยบนบก พฤติกรรมของพวกมันค่อยๆ เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก (trial and error)
แต่การประเมินคุณค่าเชิงสุนทรียรส (Hedonic valuation) ต่างหากที่ทำให้พวกมันมีพฤติกรรมยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ดังนั้นการปรับตัวจึงเกิดขึ้น อันเป็นข้อได้เปรียบและก่อให้เกิดการตระหนักรู้ (consciousness) ครั้งแรกๆ ที่เป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลานาน
ทำไมไม่ค่อยพูดถึงปลาบ้าง?
ที่ผ่านมาเหล่าปลาถูกขีดฆ่าออกจากสิ่งมีชีวิตที่รู้จักการตระหนักรู้เป็น เพราะนักวิจัยเชื่อว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบกเท่านั้นจะมีทักษะตระหนักรู้ได้ แต่นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ พบว่า ‘ไม่จริงเสมอไป’ การตระหนักรู้ต้องมีพื้นที่กว้างขวางไปกว่านั้นมาก นักวิจัยจึงหาจุดบรรจบอื่นๆ แทนการใช้อารมณ์ (Emotion) โดยสำรวจว่าสัตว์เหล่านั้นมีประสบการณ์ต่อโลกรอบตัวอย่างไร เพราะสัตว์บางชนิดอย่างปลา และแมลงหวี่เราสังเกตอารมณ์พวกมันไม่ได้
สิ่งนั้นคือ ความสามารถในการพุ่งความใส่ใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ (selective attention) อันเป็นกระบวนการเลือกที่จะเข้าไปใส่ใจหรือมีสมาธิในอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทักษะซับซ้อน ไม่ใช่การแสดงออกทางอารมณ์และการใช้เหตุผล แต่การตระหนักรู้อาจอยู่ที่เพียง “รู้ว่าตอนนี้ ในวินาทีนี้ ควรทำอะไร”
ชุดงานวิจัยใหม่ๆ ชี้ว่า แมลงหวี่ (fruit fly) รู้จักการใส่ใจ (selective attention) ต่อสิ่งที่มันกำลังทำ นักวิจัยสอนให้มันเดินตามลำแสง LED ได้ หรือให้กลิ้งลูกบอล เมื่อกลิ้งแล้วจะเกิดวัตถุอื่นปรากฏเพื่อดึงความสนใจบนจอ LED แต่แมลงหวี่สามารถสนใจวัตถุที่มันกำลังทำอยู่ รู้จักแยกแยะ และบินวนในสิ่งที่มันสนอกสนใจที่สุด ณ วินาทีนั้น ทั้งที่สมองของแมลงหวี่เล็กระดับจุลทรรศน์ ความมหัศจรรย์ของสมองจึงไม่ได้หมายความว่าต้องใหญ่และแสดงออกซับซ้อน แต่อาจเป็นสมองที่เล็กมากๆ และโหยหาสิ่งเร้าตลอดเวลา จนอาจเรียกได้ว่า ‘รุ่งอรุณแห่งการตระหนักรู้’ (Dawn of consciousness) ของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง
ง่ายๆ แต่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้มากที่สุด
การระเบิดของทักษะ
สิ่งมีชีวิตโหยหากระบวนการเรียนรู้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าพวกมันจะมีสมองหรือเซลล์ประสาทมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม การเรียนรู้ที่ซับซ้อนพบได้ในกลุ่มของแมลงและสัตว์พวกกุ้งกั้งปู ในไฟลัมสัตว์ขาปล้อง หรือในมอลลัสกา (Mollusca) ไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อาทิ หมึกยักษ์ หอยทาก ที่ยิ่งค้นพบก็ยิ่งเจอว่า สัตว์ล้วนมีสติปัญญาที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ตลอด
ทำให้นักวิจัยพบข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตแรกที่ตระหนักรู้ (First Consciousness being) อาจอยู่บนโลกมานานกว่า 540 ล้านปีมาแล้ว ตั้งแต่การระเบิดของแคมเบรียน (Cambrian explosion) ด้วยซ้ำ สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นอย่างมากมายราวการระเบิดอันยิ่งใหญ่ทางชีวภาพ การระเบิดในอดีตครั้งนั้นยังมีผลให้สิ่งมีชีวิตในปัจจุบันสืบรากเหง้ากลับไปนานถึง 540 ล้านปีได้ สัตว์ในยุคแคมเบรียนโหยหาที่จะมีทักษะทางวิวัฒนาการใหม่ๆ พวกมันเรียนรู้ทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต และก่อให้เกิดการพัฒนาทางกายภาพที่รวดเร็ว
ไม่แปลกเลยที่การตระหนักรู้ของมนุษย์ที่จัดว่าซับซ้อนและละเอียด ก็มีรากฐานจากการโหยหาการเรียนรู้เหมือนดั่งสมาชิกในอดีต แต่ก็ยังมีการถกเถียงเรื่องการตระหนักรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะเห็นได้ว่า consciousness รอบตัวเราแท้จริงแล้วมีหลายฟอร์ม เหมือนบนถนนที่มีทั้งคนเดินเท้า รถสามล้อ มอเตอร์ไซค์ รถกระบะ รถเก๋ง รถเมล์ ต่างไซส์ต่างขนาด ต่างลีลาในการขับเคลื่อนชีวิต
หากคุณเป็นมนุษย์ที่ชื่นชมกลิ่นดอกไม้ ทำไมสัตว์อื่นจะชื่นชมมันแบบคุณบ้างไม่ได้เล่า ยิ่งเราเรียนรู้พื้นที่ consciousness ว่ามันกว้างมากเท่าไหร่ เราก็จะมีสายตาที่มองชีวิตได้ละเอียดอ่อนมากขึ้น
ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ การตระหนักรู้ของชีวิตล้วนมีความหมาย สัตว์แต่ละสายพันธุ์ไม่ใช่ความอ่อนด้อยที่น้อยกว่ามนุษย์
เมื่อเราไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งในจักรวาล วันนั้นเราจะเห็นการเรียนรู้อันแยบคายของสิ่งมีชีวิตอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Cognitive Neuroscience of Consciousness: A Special Issue of Cognitive Neuroscience (Special Issues of Cognitive Neuroscience) November 25, 2010 Anil Seth, Geraint Rees
- Brain Twisters: The Science of Thinking and Feeling Paperback – July 29, 2015 by Clive Gifford, Professor Anil Seth
- Beyond Human Nature: How Culture and Experience Shape the Human Mind – March 17, 2014