เมื่อสองเท้าเริ่มเหยียบย่ำเข้าไปในพงไพร่แห่งที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศไทย กอปรกับอุณหภูมิของอากาศที่เย็นจัดจนต้องหยิบเอาเสื้อกันหนาวที่ไม่มีโอกาสได้ใส่ในเมืองหลวงออกมาให้ความอบอุ่นร่างกาย รู้ตัวอีกทีสองขาของเราก็ยืนอยู่บนขอบปากถ้ำที่มีความลึกกว่า 10 เมตรแล้ว
‘ถ้ำผีแมนโลงลงรัก’ ชื่อของถ้ำที่ Young MATTER จะพาย้อนเวลาไปสำรวจวัฒนธรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 2,000 ปีก่อน ผ่านการค้นพบโลงศพและโบราณวัตถุหลายชนิด ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักการแบ่งงานกันทำ การหาฮวงจุ้ยเพื่อทำสุสาน หรือการติดต่อค้าขายกัน นอกจากนี้ เราจะพาทุกคนไปพบกับใบหน้าจำลองของมนุษย์โบราณอายุ 13,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบที่ ‘เพิงผาถ้ำลอด’ จนทำให้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายประชากรมนุษย์ยุคแรก และอาจจะช่วยคลี่คลายรากเหง้าของคนไทยที่ค้างคาใจใครหลายคนมานาน
ปริศนาสองพันปีกับวัฒนธรรมโลงไม้
ใครจะไปรู้ว่าท่ามกลางป่าหินปูนทางตอนเหนือของประเทศไทยจะมีแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘วัฒนธรรมโลงไม้’ หรือ ‘โลงผีแมน’ ถูกซ่อนตัวอยู่ในถ้ำที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงกว่า 700 เมตร ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนนี่เอง
ถ้ำผีแมนโลงลงรัก เป็นแหล่งโบราณคดีที่เต็มไปด้วยหลักฐานและร่องรอยของมนุษย์โบราณบนพื้นที่สูงจำนวนกว่า 100,000 ชิ้น ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ในโลง โลงไม้ลงรัก ภาชนะ เครื่องมือทอผ้า ลูกปัดแก้ว กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย ซึ่งทำให้หัวหน้าทีมวิจัย รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช จากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงกับกล่าวด้วยความตื่นเต้นว่า “เราตื่นเต้นมากๆ ตอนขุดเจอกระดูกคน มันสำคัญในแง่ที่เวลาเราเจอของแล้วเราไม่เจอคน เราจะพูดอย่างชัดเจนไม่ได้ว่าคนเป็นคนทำของสิ่งเหล่านี้ เป็นคนสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ แต่พอเรามีหลักฐานของคนที่อยู่ร่วมกันของที่เราขุดค้นเจอ มันยืนยันว่ากลุ่มคนเหล่านี้ เป็นคนสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นจริง”
แน่นอนว่าความตื่นเต้นของอาจารย์รวมถึงตัวเราก็ยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ บนพื้นที่ราบสูงของประเทศไทยเลยทีเดียว และเป็นครั้งแรกที่พบโครงกระดูกที่มีการเรียงตัวของกระดูกตามหลักกายวิภาคที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย!
เป็นเวลากว่า 2,000 ปีมาแล้วที่โลงไม้จำนวนกว่า 30 โลงวางเรียงรายอยู่ในคูหาถ้ำ จนกระทั่งชาวบ้านท้องถิ่นมาเจอโดยบังเอิญเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการเข้าไปสำรวจเรื่อยมาจนเมื่อปีระหว่าง 2544-2545 ถึงจะเริ่มขุดค้นอย่างจริงจัง แม้ว่าการทำงานในช่วงแรกจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ปริศนามากมายในถ้ำก็ท้าทายให้ทีมวิจัยทุกคนตั้งใจทำงานต่อไปจนประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโครงกระดูกและหลักฐานโบราณคดีต่างๆ
การค้นพบโลงไม้จำนวนกว่า 30 โลง พร้อมโครงกระดูกจำนวนมากได้เปลี่ยนมุมมองของพื้นที่ราบสูง ว่าเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญและไร้อารยธรรมไปโดยสิ้นเชิง เพราะมันได้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างในปัจจุบันก็ได้รับการตกทอดมาจากวัฒนธรรมโลงไม้อายุกว่าสองพันปีนี้ ของที่พบส่วนมากในถ้ำส่วนมากล้วนทำมาจากไม้ทั้งสิ้น ทั้งตัวโลงไม้เอง เครื่องชามรามไห เครื่องประดับและอุปกรณ์จักสาน ของเหล่านี้ทำให้เราพอจะจินตนาการได้ว่า มนุษย์โบราณในบริเวณนี้ก็เริ่มรู้จักการแบ่งงานกันทำหรือเกิดอาชีพเฉพาะทางขึ้นมาในสังคมของพวกเขา เช่น ช่างไม้ หรือช่างแกะสลัก เนื่องจากโบราณวัตถุหลายชิ้นต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือที่ประณีตพอสมควร เช่นตัวโลงศพเองที่ทำมาจากต้นสักทั้งต้นที่ทำการคว้านเนื้อไม้ออกให้เป็นโพรงเพื่อใส่ศพลงไป บนหัวโลงก็มีการสลักเป็นรูปเรขาคณิตสวยงามอีกด้วย อีกทั้งยังค้นพบเศษผ้าและเครื่องประดับอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้เห็นความหลากหลายของกิจกรรมในครอบครัวว่าในระหว่างที่ผู้ชายออกไปล่าสัตว์หรือหาของป่า ผู้หญิงก็จะมีหน้าที่ทอผ้านั้นเอง
มากไปกว่านั้น ความพิถีพิถันในการทำโลงไม้และความพยายามของคนโบราณในการนำโลงศพของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วมาซ่อนไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ ได้ทำให้เราย้อนนึกถึงเวลาที่เราต้องเลือกฮวงจุ้ยดีๆ เพื่อทำสุสานกันเลยทีเดียว เพราะมีหลายโลงในถ้ำที่ถูกวางไว้ราวกับว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ใครมารบกวนบรรพบุรุษที่เขาเคารพ นอกจากนี้ หลักฐานพวกหอยเบี้ยและลูกปัดแก้วได้แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอกแล้ว โดยเฉพาะกับชุมชนในพื้นที่ราบ และอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาไหลออกสู่โลกภายนอก และเป็นส่วนหนึ่งของเราในปัจจุบัน
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมโลงไม้เหล่านี้ก็ถูกค้นพบในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ทั้งในเวียดนาม มาเลเซีย หรือแม้แต่จีนตอนใต้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในอดีตนั้นมีความใกล้
ชิดกันอย่างมากในแง่วัฒนธรรมจนกระทั่งเราเริ่มกำหนดพรมแดน ทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยใกล้ชิดถูกแยกออกจากกันและเปิดโอกาสให้พัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มตนเองขึ้นมาจนสามารถบอกความแตกต่างของกลุ่มคนได้ด้วยวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย และลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่น ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาไปอีกขั้นเป็นความรู้สึกหนึ่งเดียวกันทางเชื้อชาติและเริ่มนิยามตัวเองว่า ฉันคือคนเวียดนาม คนมาเลย์ หรือแม้แต่คนไทย
แล้วโครงกระดูกที่พบคือใคร ใช่คนไทยหรือเปล่า
คำตอบคือ ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’
อย่าเพิ่งขมวดคิ้วเข้าหากัน ไม่ว่าคำตอบจะ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ล้วนถูกทั้งคู่ แต่ขึ้นอยู่ว่าเราจะใช้มิติไหนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นคนไทยของโครงกระดูกเหล่านี้ ซึ่งทำให้คำตอบที่ออกมาคือ ‘ใช่’ ในมิติทางรัฐศาสตร์ และ ‘ไม่ใช่’ ในมิติทางชาติพันธุ์
เริ่มเดิมทีนั้น โลกของเราไม่มีการขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างกันเหมือนในปัจจุบัน ความคิดว่าด้วยอาณาเขตดินแดนที่แน่นอน ประชากรที่แน่ชัด และการมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยภายในขอบเขตของตัวเอง หรือแนวคิดว่าด้วยรัฐชาติ (Nation State) ก็เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และกว่าแนวคิดนี้จะเดินทางมาถึงประเทศไทยจริงๆ ก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เมื่อพระองค์ท่านทรงเห็นว่าสยามในสมัยนั้นไม่มีอาณาเขตที่ชัดเจน อาจทำให้ตะวันตกอาศัยช่องทางนี้ในการยึดสยามหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสยามเป็นอาณานิคมก็ย่อมได้ จึงทำให้สยามในฐานะรัฐโบราณตัดสินใจเปลี่ยนโฉมตัวเองมาเป็นรัฐสมัยใหม่เหมือนตะวันตก จากเหตุการณ์นี้เอง ความเป็นชาติไทยของเราจึงครอบคลุมไปทั่วขวานทองอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นโครงกระดูกทั้งหลายที่ถูกค้นพบในดินแดนประเทศไทยจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยไปโดยปริยาย
แต่ในมุมมองของมิติทางชาติพันธุ์กลับมองว่า เราไม่สามารถอนุมานโครงกระดูกเหล่านี้ว่าเป็นคนไทยได้ เนื่องจากการพิสูจน์หลักฐานทาง DNA ยังไม่มีบทสรุป และการนำคนจำนวนน้อยมาเทียบสัดส่วนกับประชากรในประเทศของเรา เพื่ออธิบายความเป็นมาของคน 70 ล้านคนก็ไม่อาจทำได้ ยิ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์เราต่างโยกย้ายถิ่นฐานกันตลอดเวลาตามความสมบูรณ์ของอาหารและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม การเดินทางไปมาอย่างอิสระเสรีได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผสมกันไปเป็นระยะเวลากว่าหมื่นปี หรือเรียกว่ามีการปะทะกันทางเชื้อชาติอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีประชากรบนโลกใบนี้ที่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์ (Pure Race) จึงทำให้ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดในปัจจุบันคือ คนไทยคือลูกผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาในดินแดนแห่งนี้เอง
พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเราต่างก็เป็นเลือดผสมกันทั้งนั้นแหละ
ใบหน้าอายุ 13,000 ปี กับความหวังของเรา
แอบมองเธออยู่(มานานแล้ว)นะจ๊ะ
หัวกะโหลกที่พบในเพิงผาถ้ำลอด Dr. Susan Hayes จาก University of Wollongong ได้ใช้เทคนิคการจำลองใบหน้าจากกะโหลก (Facial Approximation) แบบสองมิติเพื่อร่างภาพและค่อยๆ เติมกล้ามเนื้อและผิวหนังลงไปบนผิวกะโหลก โดยใช้การเปรียบเทียบกะโหลกศีรษะของผู้หญิงในยุคเดียวกันกว่า 700 ตัวอย่างมาเทียบเคียงจนสำเร็จ เป็นเทคนิคเดียวกับที่เคยใช้ขึ้นรูปหน้ามนุษย์ฮอบบิท จากเกาะฟลอเรส อินโดนีเซียมาก่อนแล้ว ส่วนรูปปั้นสามมิติ เป็นผลงานของอาจารย์วัชระ ประยูรคํา ปฏิมากรชาวไทย ผู้ใช้เทคนิคปั้นขึ้นจากหัวกะโหลกเรซินที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้
การเปิดเผยใบหน้าจากหัวกะโหลกที่ขุดได้จากเผิงผาถ้ำลอดนี้ได้สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก เพราะเป็นครั้งแรกที่คนทั้งโลกได้ยลโฉมใบหน้าของมนุษย์ยุคปลายสุดของยุคน้ำแข็ง และทำให้พวกเราได้รู้ว่า ในช่วงที่อากาศของโลกเรากำลังอบอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ดินแดนของไทยเราได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการอพยพของมนุษย์โบราณออกจากทวีปแอฟริกา แน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้ได้ทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นหมุดหมายสำคัญระดับโลก ในการอธิบายการเคลื่อนย้ายประชากรมนุษย์ในเอเชียอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าเธอคนนี้คือคนไทยหรือไม่ เพราะโปรตีนที่ต้องการในการสกัด DNA ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาเรียบร้อยแล้ว
แต่กระนั้น การจำลองใบหน้ามนุษย์ขึ้นมาก็มีประโยชน์ต่อการศึกษา และสร้างจุดเชื่อมโยงที่ดีให้แก่มนุษย์ยุคปัจจุบัน เนื่องจากเราต้องยอมรับก่อนว่าการที่นักโบราณคดีศึกษาอดีตที่ย้อนหลังไปมาก จะทำให้เกิดช่องว่างทางเวลาระหว่างอดีตและปัจจุบันสูง จึงทำให้คนทั่วไปอย่างพวกเราเกิดอาการเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะโบราณคดีทำให้เราสามารถเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความเข้าอกเข้าใจผู้ที่แตกต่างจากเราได้มากขึ้น ผ่านการเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพวกเราและพวกเขา มากไปกว่านั้น การศึกษาในบ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญกับโบราณคดีเท่าที่ควร ด้วยประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติไทยนั้นเน้นเรื่องเล่าของอารยธรรมบนพื้นที่ราบมากกว่า เช่น อาณาจักรสุโขทัย หรืออยุธยา จนไม่เหลือพื้นที่ให้อารยธรรมพื้นที่สูงได้ออกมาโลดแล่น เพราะฉะนั้นรูปจำลองรูปนี้จึงเปรียบเสมือนความหวังของนักโบราณคดีในการเป็นสื่อกลางของการเชื่อมโยงคนในปัจจุบันให้ได้ไปสัมผัส เรียนรู้ และตั้งคำถามต่ออดีตของเราได้ง่ายดายมากขึ้น และเป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์ในการมองคนบนพื้นที่สูง ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาก็มีอารยธรรมมาอย่างยาวนานแล้วเหมือนกัน
ในปัจจุบัน ยังมีปริศนาอีกมากมายที่รอการเปิดเผยอีกที่ถ้ำผีแมนโลงลงรักและเพิงงผาถ้ำลอด ซึ่งทีมวิจัยก็ยังคงตั้งใจทำงานกันอย่างสุดความสามารถและหวังว่าเมื่อพวกเขาเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว คนทั่วไปจะเกิดความตระหนักและสนใจเรื่องราวความเป็นมาของตัวเองมากขึ้น โดยอาจารย์รัศมียังได้กล่าวปิดท้ายไว้อีกว่า
“จริงๆ ก็ดีใจที่ได้เห็นรูปจำลองใบหน้า เพราะมันเป็นรูปธรรม เวลาสื่อสารไปสู่สาธารณะ ถ้าให้ดูแต่รูปหัวกะโหลก คนธรรมดาดูไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเรามีรูปหน้าก็จะทำให้คนเขาเชื่อมโยงได้ แล้วคนก็จะเกิดความตระหนักหรือว่ารู้สึกสนใจเกี่ยวกับเรื่องของอดีตหรือความเป็นมาของตัวเอง เขาอาจจะมีความคิดเห็น เขาอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อสังคมให้เกิดข้อถกเถียงหรือเกิดความภาคภูมิใจว่าเรามีอันนี้ด้วยนะ มันก็จะนำมาสู่สังคมที่มีการถกเถียง ซึ่งคิดว่ามันจำเป็น ปัญญามันก็จะเกิด แล้วถ้าเด็กรุ่นใหม่เขาเห็น เขาก็อาจจะรู้สึกว่าเขาอยากทำ อยากศึกษาด้านนี้ต่อ เราก็จะได้แนวร่วมในการที่คนจะมาร่วมกันสืบค้นถึงตัวเรามากขึ้นเอง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากความใคร่รู้ของมนุษย์จะเป็นเสน่ห์และจุดเริ่มต้นในการค้นพบจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญระดับโลกในการปะติดปะต่อเรื่องราวที่มีอายุนับหมื่นปีนี้ จินตนาการที่ไม่สิ้นสุดจะยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเชื่อมโลกอดีตและปัจจุบันเข้าหากันอีกด้วย โบราณคดีจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่ใครหลายคนคิด ในฐานะมนุษย์ยุคใหม่ ความตื่นเต้นที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การเฝ้ารอการค้นพบใหม่ แต่เป็นการร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบต่อรากเหง้าของตัวเองไปด้วยกัน
ขอขอบคุณ
โครงการวิจัยเรื่องมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ. 2560 – 2563)
รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการและนักวิจัยด้านโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณ อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล ผู้วิจัยด้านสัตววิทยาโบราณคดี
คุณ วอกัญญา ณ หนองคาย ผู้วิจัยด้านการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม
คุณ ชนม์ชนก สัมฤทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะโบราณคดี ทุน คปก.
คุณ นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย นักวิจัยด้านมานุษยวิทยากายภาพ (กระดูกคน)
คุณ ศิริลักษณ์ กัณฑศรี เลขาฯ โครงการวิจัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)