ช่วงนี้ดูเหมือนเราจะได้เห็นขนมหวานอย่าง ‘Tiramisu’ อวดโฉมบนโซเชียลมีเดียจนชินตา โดยเฉพาะร้านที่ตักเสิร์ฟจากถาดลงจาน เผยให้เห็นเลเยอร์แต่ละชั้น ยิ่งทำให้น่ากินเข้าไปใหญ่ ประกอบกับเพลง Tiramisu Cake ผลงานจาก We Are The Night ที่มาพร้อมท่าเต้นสุดแสนจะไวรัลในช่วงเดียวกัน ยิ่งทำให้หันไปทางไหนก็ตกอยู่ในภวังค์ของขนมหวานชิ้นนี้
หากมองเผินๆ อาจจะเห็นเพียงผงโกโก้โรยด้านบนแน่นทุกอณู แต่เมื่อตักเสิร์ฟแล้ว เราจะได้เห็นเลเยอร์ต่างๆ ของ Tiramisu ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เลดี้ฟิงเกอร์ บิสกิตเนื้อร่วนชุ่มด้วยกาแฟ สลับกับมูสเนื้อแน่นรสโดดเด่นด้วยชีสมาสคาโปน นุ่มฟูด้วยไข่และน้ำตาล ต่อเป็นชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอดีกับขนาดภาชนะ ตักลงไปแต่ละชั้น จะได้ลิ้มชิมรสส่วนผสมอย่างเท่าๆ กัน นิยมเสิร์ฟในภาชนะทรงรีขนาดใหญ่แล้วตักแบ่งเป็นเสิร์ฟในจานเล็กอีกที
เจ้าขนมหวานสัญชาติอิตาเลียนนี้ เป็นเหมือนเมนูพื้นฐานในร้านกาแฟ คาเฟ่อยู่แล้ว ส่วนมากอยู่ในรูปแบบชิ้นเดี่ยวๆ แต่ในช่วงนี้ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ดูเหมือนจะเป็นการตักเสิร์ฟจากถาดแบบดั้งเดิม สอดคล้องกับชื่อ Tiramisu ที่มีความหมายว่า ‘Pick Me Up’ เชื้อเชิญให้เราตักไปชิมสักคำ ภาพที่ออกมาก็ช่าง Instagrammable เป็นภาพนิ่งก็ได้ วิดีโอก็ดี ชีวิตติดแกลมขนาดนี้ ใครจะไปคิดว่าขนมชนิดนี้ไม่ได้มอบแค่ความหอมหวาน แต่ในยุคหนึ่งมันขึ้นชื่อเรื่องความปึ๋งปั๋งด้วยล่ะ
ขนมหวานเสริมความวาบหวาม
สืบสาวราวเรื่องกลับไปถึงต้นกำเนิดของขนมหวานชนิดนี้ มีที่มาที่ไปหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่เรื่องราวเบสิกในห้องครัว ไปจนถึงเรื่องวาบหวามที่ซ่อนอยู่ในความหวานนี้ แต่สิ่งที่หลายแห่งเล่าตรงกัน มันเริ่มต้นขึ้นประมาณปี 1970 ที่ร้านอาหาร ‘Le Beccherie’ ในแคว้นเตรวีโซ ประเทศอิตาลี โดย โรเบอร์โต้ ลอรี ลิงกัวนอทโต้ (Roberto Loli Linguanotto) เชฟขนมหวานที่รังสรรค์เมนูนี้จากวัตถุดิบพื้นฐานที่มี อย่าง ไข่แดง น้ำตาล มาสคาโปน ผงโกโก้ กาแฟ และเลดี้ฟิงเกอร์บิสกิต (ในภายหลังมีการเพิ่มส่วนผสมไปตามสูตรของเชฟแต่ละคน)
แต่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างแคว้นปกครองตนเองฟรีอูลี-เวเนเซียจูเลีย ที่ห่างเตรวีโซออกไปไม่ไกล มีร้านอาหารขวัญใจนักเดินป่า อ้างสิทธิ์เป็นผู้คิดค้นขนมหวานชนิดนี้เช่นกัน และฉันเนี่ยมีเมนูนี้มาเป็นสิบปีก่อนฝั่งนู้นจะเริ่มคิดค้นเสียอีก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดจากฝั่งใดว่าเป็นผู้คิดค้นขนมชนิดนี้จริงๆ ในอีกมุม มันอาจเป็นขนมพื้นถิ่นที่ผู้คนเหล่านั้นมีร่วมกันมาตั้งแต่แรกก็ได้
ภายหลังแคว้นเตรวีโซได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก Italian Academy of Cuisine ว่าเป็นต้นกำเนิดของ Tiramisu ไปเมื่อปี 2011 และยังมีการจัดงาน Tiramisù World Cup และเริ่มวัน Tiramisù Day ในทุกวันที่ 21 มีนาคมด้วย
ไม่ว่าเจ้าขนมชนิดนี้จะเกิดขึ้นที่ไหน แต่ในช่วงนั้น มันไม่ได้มอบเพียงความหอมหวานเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยความวาบหวามอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึงเลยล่ะ ด้วยความที่ตัวขนมนี้มีคาเฟอีนอัดแน่นอยู่ในเลดี้ฟิงเกอร์แบบฉ่ำๆ พร้อมมอบพลังงานจากแคลลอรี่ที่ล้นปรี่ ว่ากันว่าในช่วงหนึ่ง ขนมหวานชนิดนี้กลายมาเป็นอาหารที่เพิ่มความปึ๋งปั๋งให้กับคุณผู้ชาย นิยมเสิร์ฟหลังอาหารมื้อเย็น เพื่อเติมความพร้อมเสริมความฟิตเมื่อกลับไปทำการบ้านหลังดินเนอร์
ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีเรื่องราวซุบซิบที่แซบยิ่งขึ้นไปอีก ว่ามีการเสิร์ฟสิ่งนี้ให้กับลูกค้าในสถานบริการเสวในสมัยนั้นอีกด้วย อาจเป็นได้ทั้งเพิ่มความฟิตก่อนบรรเลงเพลงรัก หรือบูสต์ๆ เอเนอจี้ๆ ก่อนกลับไปหาภรรยาที่บ้าน รวมทั้งมีความนิยมเสิร์ฟให้กับสตรีมีครรภ์ จึงทำให้บางสูตรไม่มีแอลกอฮอล์นั่นเอง
ส่วนการเสิร์ฟแบบที่เราเห็นในช่วงนี้นั้น เป็นการเสิร์ฟแบบดั้งเดิมตามต้นฉบับเลยล่ะ Tiramisu นิยมจัดวางในจานเสิร์ฟแก้วขนาดใหญ่ เพื่อโชว์เลเยอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของขนม เมื่อตักเสิร์ฟจะยิ่งเรียกคะแนนความสวยงามยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่อย่าสับสนกับ Banoffee Pie เชียวนะ แม้จะมีความคล้ายกันในเรื่องหน้าตาอยู่ไม่ด้วย ด้วยเลเยอร์ ด้วยโกโก้ที่โรยด้านบน แต่ทั้งสองอย่างมีรสชาติและวัตถุดิบแตกต่างกันพอสมควร วิธีสังเกตง่ายๆ หากเห็นว่าในเลเยอร์นั้นมีกล้วยล่ะก็ เป็น Banoffee Pie แน่นอน เช่นเดียวกับที่ Tiramisu จะต้องมีเลดี้ฟิงเกอร์นั่นแหละ
หากใครยังไม่เคยลองลิ้มชิมรสก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะขนมหวานชนิดนี้อยู่คู่กับคาเฟ่ ร้านกาแฟตลอดมา และยิ่งมีกระแสฮิตแบบนี้ เชื่อว่าจะยังอยู่ให้ได้ชิมไปอีกนาน
อ้างอิงจาก