What happened in ‘Time’
เวลาเยียวยาแผลใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็กัดกร่อนให้เป็นผุยผง
เวลาในนาฬิกาข้อมือ มักเดินไม่ตรงกับเวลาในหัวของเรา
เวลาไม่เคยคอยใคร แต่ในช่วงขณะอันระทึกใจ มันกลับนิ่งงัน
เวลาเป็นเรื่องส่วนตัว ดุจจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นของส่วนรวม เพื่อเตือนให้ผู้คนไม่หลงลืมคืนวัน
พวกเราล้วนเป็นทาสโดยตรงของเวลา แต่ละคนมักนิยามความหมายของเวลาแตกต่างกัน บางคนอาจมีเวลามากไปจนต้องฆ่าทิ้ง ส่วนอีกคนกลับมีเวลาน้อยเหลือทน จนต้องวิงวอนร้องขอ
200 ปีที่แล้ว บุคคลสำคัญแห่งยุคแสงสว่างของสหรัฐฯ ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) เคยตีค่าเวลาเป็นเงินตรา 1 นาทีเท่ากับ 1 ชิลลิ่ง และ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 ปอนด์ เวลาจึงเป็นทรัพยากรสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มนุษย์ต้องช่วงชิง หากเราปล่อยเวลาให้คล้อยไป ก็ไม่ต่างจากทำเงินทองรั่วไหลออกนอกกระเป๋า นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ‘เอียน วอร์คเกอร์’ (Ian Walker) จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ Lancaster เคยออกแบบสูตรคำนวณจากวิถีชีวิตชาวอังกฤษว่า
“การแปรงฟัน 1 ครั้ง ตีค่าเป็นเงิน 49 เซ็นต์ ขณะการล้างรถด้วยมือเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เท่ากับคุณสูญเสียเงินไปแล้ว 4.90 เหรียญ”
การเปลี่ยนเวลาให้เป็นค่าเงินดูเป็นความคิดอันสุดโต่งและน่าขบขัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เวลา’ คือทุกสิ่งของชีวิต และคำถามที่วายป่วงไม่แพ้กัน “เกิดอะไร ในเวลา?” ตั้งแต่ห้วงที่สั้นที่สุด จวบจนยาวนานชั่วฟ้าดินสลาย The MATTER จะพาคุณเสียเวลาเพื่อไปทำความรู้จักกับเวลา พร้อมแล้ว? จับเวลา! เริ่ม
Attosecond อัตโตวินาที
ช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เท่าที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะวัดได้ เท่ากับ 1 ในล้านล้านล้านของวินาที หรือสั้นเพียง 0.000000000000000001 วินาที แม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้นจนระทึกใจ แต่นักฟิสิกส์ก็ดันศึกษาอะตอมได้ในความเร็วสูง ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว อิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียส 1 รอบจะใช้เวลา 24 อัตโตวินาที
นักวิทยาศาสตร์ท้าทายไปอีก โดยการออกแบบไฟกระพริบ (Light Pulses) ที่กระพริบได้เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมาด้วยเลเซอร์ความไวสูงอยู่ที่ 250 อัตโตวินาทีเท่านั้น เร็วแบบวายป่วงทีเดียว
Nanosecond นาโนวินาที
1 ในพันล้านวินาที ลำแสงสามารถเดินทางผ่านสุญญากาศ ได้เพียง 30 เซนติเมตรเท่านั้น (ยังไม่ถึง 1 ไม้บรรทัดด้วยซ้ำ) คอมพิวเตอร์ของคุณเองก็ทำงานในระดับนาโนวินาทีเช่นกัน Microprocessor ตัวจิ๋วใช้เวลาประมวลผลต่อหนึ่งคำสั่งในความเร็ว 1 หรือ 2 นาโนวินาที ซึ่งระดับนาโนวินาทีถือเป็นความเร็วปกติในยุคดิจิทัลไปเสียแล้ว
K meson หรืออนุภาคย่อยของอะตอม (subatomic particles) ถือเป็นอนุภาคที่มีอายุสั้นที่สุด เพราะอยู่ได้เพียง 12 นาโนวินาทีเท่านั้น ก่อนสูญสลายไป
Millisecond มิลลิวินาที
1 ในพันของวินาที เป็นความเร็วพื้นฐานสุด ที่กล้องถ่ายรูปทั่วไปจะทำงาน เปิด-ปิดชัตเตอร์ได้ เวลาระดับนี้ เป็นเวลาที่สิ่งมีชีวิตบนโลกสามารถแสดงออกพฤติกรรมบางอย่างได้
แมลงวันในบ้านของคุณจะกระพือปีก 1 ครั้ง ใช้เวลา 3 มิลลิวินาที ในขณะที่ผึ้งกระพือปีกที่ความเร็ว 5 มิลลิวินาที ส่วนดวงจันทร์โคจรรอบโลกโดยสูญเสียความเร็วลง 2 มิลลิวินาทีในทุกๆ ปี เพราะวงโคจรจะห่างออกไปเรื่อยๆ
Second วินาที
หัวใจของคนสุขภาพดีจะเต้นตุบต่อจังหวะ โดยใช้เวลา 1 วินาที
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ในขณะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ในกาแล็คซี่ทางช้างเผือก (Milky Way) ได้ระยะทาง 274 กิโลเมตร และแสงจันทร์เดินทางสู่พื้นโลก ใช้เวลา 1.3 วินาที
วิทยาศาสตร์นิยามวินาทีอย่างซับซ้อนว่า ช่วงเวลา 9,192,631,770 คาบของการแผ่รังสีซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนสถานะระหว่างสองระดับไฮเปอร์ไฟน์ (hyperfine level) ของสถานะพื้นของอะตอมซีเซียม-133
งงในงง
Minute นาที
น้ำหนักสมองของเด็กเกิดใหม่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 นาที
‘หนูผี’ (Shrew) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กวงศ์หนึ่งหัวใจเต้น 1,000 ครั้งภายใน 1 นาที
ขณะที่คนทั่วไปสามารถพูดได้ 150 คำ และอ่านหนังสือได้ 250 คำ ใน 1 นาที (ลองทดสอบตัวเองดู ว่าใช่ไหม)
และในช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด แสงที่สะท้อนพื้นผิวดาวแดง จะใช้เวลาเดินทางถึงโลกราว 4 นาที
Hour ชั่วโมง
การแบ่งเซลล์ (Cell division) ของสิ่งมีชีวิตใช้เวลาในการแบ่งราว 1 ชั่วโมง
เครื่องบินจากสนามบินทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วง Take Off ราว 58 ลำในทุกๆ 1 ชั่วโมง
มีรูปกำลัง upload ใน Facebook อย่างต่ำ 243,000 รูป
และคนทั่วโลกราว 83,300 คน กำลังมีเซ็กซ์
Day หนึ่งวัน
เป็นคาบเวลาที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้โดยธรรมชาติ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมกลางวันเป็นกลางคืน
ใน 1 วัน หัวใจคุณเต้นมาแล้วอย่างน้อย 100,000 ครั้ง และปอดหายใจเอาอากาศเข้าไป 11,000 ลิตร
ลูกปลาวาฬสีน้ำเงิน (Blue Whale) มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 91 กิโลกรัมในเวลาเพียง 1 วัน
แมลงชีปะขาว (Mayfly) สิ้นอายุขัยเฉลี่ย
เซลล์เม็ดเลือดแดง เดินทางทั่วร่างกายของคุณ 4,300 รอบ
เลือดเดินทางในร่างกายคิดเป็นระยะทาง 270,369,792 กิโลเมตร
แมลง พืช นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กำลังสูญพันธุ์อย่างน้อย 150-200 ชนิดพันธุ์ภายใน 1 วัน จากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเลวร้ายลง
และมนุษย์ราว 200 ล้านคน กำลังมีเซ็กซ์!
Year ปี
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365.26 รอบ
ค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มสูงขึ้น 2.5 มิลลิเมตร (และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ)
แผ่นทวีปอเมริกาเคลื่อนที่ออกห่างจากแผ่นทวีปยุโรป คิดเป็นระยะทาง 3 เซนติเมตร
แสงใช้เวลาเดินทางจากดาวแคระแดง Proxima Centauri ถึงโลก ราว 4.3 ปี
Century ศตวรรษ
100 ปี ตัวเลขกลมๆ พอดิบพอดี ดวงจันทร์ถอยห่างไปจากโลกอีก 3.8 เมตร
ขยะจากพลาสติกที่คุณทิ้งเมื่อวาน เพิ่งย่อยสลายได้ในเวลานี้
คนที่เกิดในยุค ‘เบบี้ บูมเมอร์’ ราว 1 ใน 26 คน จะมีอายุยืนอาจแตะไปถึง 100 ปี จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่ปลาฉลามกรีนแลนด์ (Greenland Sharks) อาจอายุยืนไปถึง 2 ศตวรรษ
และแผ่น CD คุณภาพสูง สำหรับเก็บเอกสารสำคัญได้นาน 200 ปี
Million Years ล้านปี
ใน 1,000,000 ปี มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของดาวเคราะห์ต่างๆ อย่างเด่นชัดแล้ว
ดาวยักษ์ใหญ่สีน้ำเงิน (Blue supergiant) ที่มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราล้านเท่า จะเริ่มดับแสงลงใน 1 ล้านปี
แนวปะการังในมหาสมุทรจะเริ่มรักษาตัวเอง และกลับมาฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์อีกครั้งจากการทำลายโดยฝีมือมนุษย์
เปลือกโลกจะเกิดปรากฏการณ์ Super Volcanic ตามที่ต่างๆ โดยพ่นเอาแม็กม่าปริมาณมหาศาลออกมาครั้งละ 3,200 ลูกบาศก์เมตร
หากคุณเริ่มเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสง คุณเพิ่งอยู่ครึ่งทางระหว่างกาแล็คซี่ Milky Way สู่ Andromeda (ซึ่งห่างออกไป 2.3 ล้านปีแสง)
BILLION YEARS พันล้านปี
เป็นความยาวนานเกือบชั่วกัลปาวสาน ใน 1 พันล้านปี โลกของเราเพิ่งเย็นลง และเริ่มปรากฏมหาสมุทร ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ค่อยๆ เปลี่ยนชั้นบรรยากาศโลก และใน 1 พันล้านปี ดวงอาทิตย์โคจรใกล้จุดศูนย์กลางของกาแล็คซี่ 4 รอบ
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อว่า เอกภพ (Universe) ของเรามีอายุราว 12 ถึง 14 ล้านปี จึงไม่มีค่าเวลาอะไรมานิยามอีกแล้ว แต่นักเอกภพวิทยา (Cosmologist) เชื่อว่า เอกภพจะขยายออกไปเรื่อยๆ และจะดำรงอยู่จวบจนดาวสุดท้ายสูญสลายไปอย่างน้อยในอีก 10 ล้านล้านปี (10,000,000,000,000 ปี)
หรือหมายความว่า ‘อนาคต’ ต่างหากที่ทอดยาวออกไป นานกว่าอดีตที่ผ่านพ้นมา
และคุณใช้เวลาในการอ่านบทความนี้ไป 5 นาที
ส่วนเราใช้เวลาทำคอนเทนต์นี้ 12 ชั่วโมง
อ้างอิงข้อมูลจาก
From Eternity to Here: The Quest for the Ultimate Theory of Time by Sean Carroll
www.amazon.com/Eternity-Here-Quest-Ultimate-Theory