“เรื่องอะไรวะเนี่ย?”
มันอาจเป็นเช้าวันหนึ่งที่เราตื่นสายกว่าปกติ หลังจากคืนที่เราเข้านอนไวจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ด้วยความเคยชินแย่ๆ ของเรา เราเลือกกลิ้งตัวไปหยิบโทรศัพท์ที่ชาจเอาไว้ข้างเตียงเพื่อเริ่มวันใหม่ด้วยแสงสีน้ำเงินและกระแส ‘ข่าวสาร’ ที่เราอาจพลาดไปเมื่อคืน ทะเลข้อมูลที่เต็มไปด้วยป๊อปอัปโฆษณา วิดีโอหมาแมว รีวิวสกินแคร์ และอีกมากมาย สายตาของเราล็อกไปที่ตรงนั้น ลิสต์ลิงก์ภายใต้หัวข้อที่เขียนบอกว่าเป็น ‘เทรนด์สำหรับคุณ’ คำมั่นที่ว่าอะไรก็ตามที่อยู่ตรงนั้น คือสิ่งที่ท่านอัลกอริทึมคัดสรรมาแล้วว่า ‘คุณ’ จะต้องรู้ อย่างไรก็ดี แปลกเล็กน้อยที่ชื่อที่อยู่ข้างหลังแฮชแท็กไม่ใช่อะไรที่เราคุ้นเคยเลย
เราเลือกกดเข้าไปยังเพื่อจุ่มขาตัวเองสู่บ่อข้อมูลใหม่ หวังว่าหลังจากนี้อีก 15 นาทีเราจะกลายเป็นคนทันโลก
นั่นคือเมื่อมันมาถึง คลื่นลูกใหญ่ของตัวละคร เหตุการณ์ ชื่อย่อ คำศัพท์ใหม่ กลุ่มคนใหม่ๆ แม้แต่สำเนียงการเขียนและวิธีคิดของเหล่าคนที่ถกเถียงกันยังใหม่ “เรื่องอะไรวะเนี่ย?” เราอาจพูดอะไรออกไปอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่แท้จริงของคำพูดนั้นถูกลดทอนไปบ้าง เพราะสิ่งที่เราสงสัยนั้นไม่ใช่แค่ว่านี่คือดราม่าเรื่องอะไร แต่คือคำถามว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบนโลกใบเดียวกับที่เราใช้ชีวิตอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าใช่ มันน่าแปลกเหลือเกินที่เราไม่เข้าใจอะไรในสิ่งที่คนนับหมื่นแสนพูดถึงอยู่ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มันเกิดขึ้น
เราวางโทรศัพท์ลง เพดานโล่งโจ้งมาแทนที่เครื่องมือสื่อสารที่ไม่ได้สื่อความอะไรกับเราเมื่อครู่อย่างพอดิบพอดี
“โลกนี้ไม่ใช่ของเราแล้วหรือเปล่า?” เราอาจจะพูดอะไรออกไปแบบนั้นในหัว รู้สึกกลายๆ ถึงผมหงอกที่ไม่เคยสังเกตเห็น ถึงย่างก้าวน้อยๆ ของชั่วโมงที่ชัดเจนขึ้น โลกทิ้งเราไว้ข้างหลัง หรือเราจะไม่ใช่คนที่อยู่ในกระแสหลักอีกต่อไปแล้ว? เรากลายเป็นคนไม่ทันโลกไปตั้งแต่เมื่อไร? และมันเป็นเพราะเราแก่เกินไปแล้วจริงๆ?
อะไรคือการเป็นคนตกขบวน? เราตามโลกไม่ทันเพียงเพราะวัยของเราหรือเปล่า? หรือจากเหตุผลอื่น?
การตกขบวนมีหลายระดับ บางครั้งเราอาจจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิมๆ นานเกินไปนิด หรือฟังเพลงเก่าๆ จนติดอยู่กับอัลบั้มเซฟโซนของตัวเองจนลืมฟังอะไรใหม่ๆ นั่นเราอาจเรียกได้ว่าการตกเทรนด์ แต่บ่อยครั้งความรู้สึกของการตกขบวนแบบที่เราวาดภาพให้เห็นข้างบนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่เกิดเหตุแบบเดิมซ้ำๆ ในประเด็นคล้ายๆ เดิม
สมมติว่าการไม่สามารถติดตามดราม่าใดๆ ที่คนหมู่มากผู้อยู่ในกระแสตามทันได้เลย อาจจะเพราะมันเกี่ยวกับสื่อที่เราไม่ได้ติดตาม ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของสื่อจำนวนมาก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่กระแสให้ความสำคัญอีกต่อไป ฯลฯ การตกกระแสรูปแบบนี้ดูจะอยู่ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น เราอาจจะกำลังต่อไม่ติดกับจิตวิญญาณแห่งช่วงเวลานั้นๆ
จิตวิญญาณแห่งช่วงเวลาไม่ใช่คำที่เราอยู่ๆ ก็ยกขึ้นมา แต่มันคือคำแปลตรงตัวของคำศัพท์ทางสังคมวิทยาว่า ‘ไซต์ไกสต์ (Zeitgeist)’ ที่ใช้ในการอธิบายยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง ผ่านบางวัตถุ เทรนด์ วัฒนธรรม ศิลปะ ศิลปิน แนวคิด จริยธรรม การเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่เมื่อมองไปเราจะจิ้มได้ทันทีว่านี่แหละคือแก่นของยุคสมัยนั้นๆ เทียบง่ายๆ ว่า หากคำว่าการตกเทรนด์คือการตกรถไฟหนึ่งขบวน การไม่เป็นส่วนหนึ่งของไซต์ไกสต์คงเทียบได้กับการไม่รู้ว่ามีสถานีรถไฟนั้นๆ อยู่เลยก็ได้
ตัวอย่างของจิตวิญญาณแห่งช่วงเวลาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือในช่วงปี 1960-1970 หากเราหลับตานึกถึงช่วงเวลานั้นๆ จากที่เราแต่ละคนเคยเห็นผ่านการนำเสนอจากสื่อ เราอาจเห็นวัฒนธรรมฮิปปี้ นิวเอจ ร็อกแอนด์โรล เดอะบีตเทิลส์ การเคลื่อนไหวมากมายตั้งแต่มูฟเมนต์สตรีนิยม ต่อต้านสงคราม การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ฯลฯ ภาพของช่วงเวลานี้ชัดเจน ไซต์ไกสต์ของห้วงเวลานั้นอาจคือการต่อต้านระบอบระบบต่างๆ ที่ครอบผู้คนของยุคนั้นๆ เอาไว้
อย่างนั้นแปลว่าหากเรารู้ว่าไซต์ไกสต์ของยุคเราได้ นั่นจะช่วยให้เราไม่ตกขบวนได้ ง่ายอย่างนั้นเลยหรือเปล่า? อาจจะไม่
เราสามารถมองไปยังยุคยุคหนึ่งแล้วบอกได้เลยหรือไม่ว่ายุคนั้นๆ มีจิตวิญญาณอย่างไร? แน่นอน หากเป็นช่วงปีที่เรายกตัวอย่างไปก่อนหน้า ภาพของมันชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากลองมองลึกลงไปกว่าเดิมในคำว่าไซต์ไกสต์ เราจะเห็นความไม่ชัดเจนของมันมากขึ้น งานวิจัยหนึ่งที่พยายามแก้ไขความไม่ชัดเจนนั้นๆ คือ What is Zeitgeist? Examining period-specific cultural patterns โดยโมนิกา เคราส์ (Monika Krause) นักวิจัยจากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย London School of Economics
จุดมุ่งหมายของผู้วิจัยคือการพัฒนาคำว่าไซต์ไกสต์ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบในการวิเคราะห์สังคมด้วยยุคสมัยและห้วงเวลา ในการพยายามนิยามนั้นๆ ผู้วิจัยพบว่าหลากหลายอย่างในการนิยามนี้ติดกับอยู่ในกรอบที่หลากหลาย อาจจะเป็นกรอบเช่นพื้นที่ เวลา และความเบี่ยงเบนในความทรงจำ ตัวอย่างสำคัญที่ผู้วิจัยยกขึ้นมาคือวิธีการที่เรา โลก และสหรัฐฯ มองความเป็น ‘1968’
“คำอธิบายของ ‘1968’ หรือ ‘ปีหกศูนย์’ สามารถถูกปั้นแต่งขึ้นได้ด้วยความโหยหาในอดีตซึ่งนำมาพร้อมกันกับภาพของห้วงเวลานั้นๆ ที่ถูกขัดสีมาอย่างดี” โมนิกา เคราส์เขียนถึงข้อบกพร่องของไซต์ไกสต์ในการเป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ นั่นคือมันอาศัยการมองย้อนอดีตผ่านการตีความใหม่สูง การมองที่เธอเรียกว่า ‘Retrospective Projection of Patterns’
มากไปกว่านั้น เวลาในตัวของมันเองก็เป็นปัญหา เราจะรู้ได้ยังไงเมื่อหมดยุคของเราไปแล้ว? การมองเส้นสมมติในเส้นเวลาใดๆ อย่างใกล้ชิดมักทำให้เส้นเหล่านั้นชัดเจนน้อยลง ไซต์ไกสต์เริ่มและจบเมื่อไรนั้นเทบจะเป็นปริศนา นอกจากนั้นมันยังสามารถก้าวข้ามเวลาได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ผ่านการถูกนำเสนอผ่านสื่อ ผ่านวัตถุเช่นเสื้อผ้าหรือสถาปัตยกรรม “จิตวิญญาณแห่งช่วงเวลาสามารถมีชีวิตหลังความตายได้ในรูปของสไตล์” ผู้วิจัยเขียน
ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เราคุยกันอยู่? เราอาจสามารถตีความได้ว่า ณ ขณะนี้คำว่าการตกยุคนั้นเป็นมากกว่าการที่เราแก่ขึ้นหรือตามอะไรไม่ทัน เพราะยุคหรือจิตวิญญาณของมันไม่ได้มีผนังหรือโครงสร้างที่ตายตัวและจับต้องได้ สิ่งที่ไม่ชัดเจนจนแม้งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินถึงผลสรุป เช่นนั้นแล้วการตกยุคเองก็ไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเดียวเหมือนๆ กัน หากแต่อาจมาจากอย่างอื่นที่เป็นส่วนตัวกว่านั้น เพราะคงไม่ถูกหากจะบอกว่ามีแต่คนอายุ 25 ปีขึ้นไปที่ตามอะไรไม่ทัน แต่อย่างนั้นมันเพราะอะไรได้บ้าง?
เคยคิดหรือเปล่าว่าใน 1,000 ปีข้างหน้า นักโบราณคดีที่มาขุดค้นวัฒนธรรมมนุษย์ในปีปัจจุบันจะคิดว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตแบบใด? นอกจากพลาสติกกองมหึมาที่เราทิ้งเอาไว้พร้อมวิหารแห่งทุนนิยมนับไม่ถ้วน พวกเขาคงพบว่าจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยของพวกเราไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร มันจำต้องผูกกับสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต กับวัฒนธรรม แนวคิด และพฤติกรรมที่มากับมัน
เราคงได้ยินกันจนหูชาว่าคนไทยทุกวันนี้ไม่อ่านหนังสือ แต่จะบอกว่าเรารับข้อมูลน้อยกว่าใครก็คงไม่ถูก เนื่องจากปริมาณที่เรารับต่อวันมากมายเหลือเกิน ข่าวด่วนทางนั้น ข่าวฉาวทางนี้ เรื่องที่ต้องรู้ เรื่องที่ไม่ต้องรู้ บทความ อินโฟกราฟิก วิดีโอสั้น ฯลฯ เราต่างคนต่างเสพข้อมูลเหล่านั้นด้วยปริมาณที่อาจมากเสียจนเท่ากับห้องสมุดย่อมๆ หนึ่งห้องได้เลย และเมื่อเราเสพติดมันเราอาจใช้คำว่าความรู้หรือการต้องการทันโลกเป็นคำอธิบายพฤติกรรมของเรา โดยบ่อยๆ แล้วเราทำมันโดยรู้อยู่แก่ใจว่าเพราะเราบันเทิงไปกับมัน
ความบันเทิง สิ่งที่ขายได้ที่สุดหนึ่งอย่างในการทำสื่อ และบ่อยครั้งในปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ข้ามเส้นกันระหว่างการรายงานข่าวและการเขียนคอนเทนต์ ทุกอย่างต่างดูบันเทิงไปเสียหมด คนดังทะเลาะกันเป็นดราม่า ดราม่าใหญ่คือส่วนประกอบของดราม่าเล็กน้อยนับร้อยที่น้อยคนจะตามทัน หรือแม้แต่ข่าวก็กลายเป็นดราม่าไปอย่างนั้น โลกจริงที่สนุกกว่าภาพยนตร์หรือละครใดๆ
คำถามเลยเปลี่ยนไป เราตามโลกไม่ทันจริงหรือ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นคือโลกไม่เหลืออะไรให้น่าตามมากกว่า เมื่อข้อมูลที่เราคิดว่าสำคัญและต้องรู้ถูกกลบด้วยเสียงรบกวนของความบันเทิง ทุกที่ ตลอดเวลา เราจะยังอยากตามอะไรอยู่หรือไม่? เมื่อแง่มุมที่ควรผลักดันของเหตุการณ์ถูกกลบมิดด้วยความสนุกและความสาแก่ใจที่ตามมา เราจะยังอยากเป็นคนในกระแสอยู่หรือเปล่า?
และเมื่อสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่อาจเป็นจิตวิญญาณของยุคสมัยที่เรายืนอยู่ บ่อยครั้งความเหนื่อยล้าของเราอาจทำให้เรากลายเป็นคนเชยๆ ได้โดยไม่ต้องอาศัยเวลา
อ้างอิงจาก