ทั้งที่จะกำเงินไปซื้อของที่อยากได้เลยก็ได้ แต่ทำไมคนเราถึงชอบ ‘การสุ่ม’ แทนนะ?
ไม่ว่าจะซื้อฉลากกาชาด เอฟกล่องสุ่มอินฟลูฯ สอยดาวปีใหม่ลุ้นรถสักคัน ทองสักบาท หรือตู้เย็นสักตู้ กลั้นใจซื้อลอตเตอรี่ก่อนวันหวยออก เผื่อจะได้ลาออกเป็นเศรษฐีในข้ามคืน ลองหมุนตู้กาชาปอง กดสุ่มไอเทมในเกม เปิดโฟโต้การ์ดไอดอล จุ่มอาร์ตทอยเผื่อว่าตัวที่เราชอบ เมนที่เรารักจะออกมาหา หรือซื้อสารพัดกล่องสุ่ม แบบสิ่งที่รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็อยากลองลุ้นดวงดูสักที
แล้วมันเพราะอะไรกันนะ ทั้งที่ก็รู้ว่าผลลัพธ์มีโอกาสไม่คุ้มเงินมากกว่าแจ็กพอตแตกได้กำไร แต่หลายคนก็ยังเลือกจะเอาใจไปผูกไว้กับการใช้ดวงสุ่มอยู่ดี?
เพราะคุ้มค่าที่จะเสี่ยง?
“ลอตเตอรี่ใบละไม่กี่ร้อย แต่ถ้าถูกรางวัลที่หนึ่งนี่ได้หลายสิบล้านเลยนะ”
“กล่องสุ่มราคาหลักร้อย แต่ถ้าโชคดีเปิดมาได้รถหรือทองขึ้นมาล่ะ?”
“ลองจุ่มอาร์ตทอยมาสักกล่องหนึ่งมั้ย ถ้าตัวซีเคร็ตแตกนี่ได้อีกยกบ็อกซ์เลยนะ”
‘ถ้าได้แล้วจะคุ้มมากเลยนะ’ เป็นสิ่งที่หลายคนคิด ก่อนตัดสินใจสุ่มอะไรสักอย่าง
โรเบิร์ต จอนห์สัน (Robert Johnson) อาจารย์สาขาการเงินจากมหาวิทยาลัยเครตัน ในเมืองโอมาฮา สหรัฐอเมริกา อธิบายเกี่ยวกับการเล่นลอตเตอรี่ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่า ที่ลอตเตอรี่ยังคงขายได้ แม้จะดูไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัล เป็นเพราะการซื้อลอตเตอรี่ ‘เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้จินตนาการว่าจะนำเงินรางวัลไปทำอะไรบ้าง และชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไรถ้าถูกรางวัล’
แต่ในมุมมองทางจิตวิทยา กลับมีคำอธิบายที่ต่างออกไป เมื่อเฟิร์น คาสโลว์ (Fern Kazlow) นักจิตบำบัดจากนิวยอร์กอธิบายว่า การซื้อลอตเตอรี่เป็นเรื่องของ ‘ความหวัง’ และ ‘การเข้าสังคม’ เธออธิบายว่า แม้โอกาสในการถูกรางวัลมีน้อย แต่ผู้ซื้อส่วนมากก็มักจะมองโลกในแง่ดีว่าพวกเขาสามารถจะชนะรางวัลได้ ต่างจากการนำเงินไปลงทุนในเรื่องอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินในการลงทุนมากกว่า และบางครั้งการซื้อลอตเตอรี่ก็เป็นการเข้าสังคมแบบหนึ่ง เช่น การซื้อลอตเตอรี่แบบขูด ที่คนในพื้นที่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มมาซื้อลอตเตอรี่แล้วเปิดดูพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น และเมื่อมีคนใดคนหนึ่งถูกรางวัล ผู้คนก็จะยินดีไปด้วย แม้เงินรางวัลจะไม่สูงก็ตาม
ดังนั้นการซื้อลอตเตอรี่หรือกล่องสุ่มประเภทอื่นๆ จึงเป็นเหมือนการให้ความหวังกับผู้เสี่ยงดวงว่าจะถูกรางวัล โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้จินตนาการถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ นอกจากนี้ยังเป็นการเข้าสังคมรูปแบบหนึ่งด้วย เพราะหลายครั้ง ผู้คนก็มักจะรวมตัวกันไปสุ่ม ยิ่งลุ้นหลายคนก็ยิ่งทำให้ตื่นเต้น และถ้ามีใครสักคนถูกรางวัลยิ่งจะทำให้คนอื่นๆ รู้สึกคุ้มค่าที่จะลองเสี่ยงซื้อมาลุ้นดูสักครั้ง เหมือนตอนดูยูทูบเบอร์กดกาชาแล้วไม่หลุดเรต หรือเห็นเพื่อนเปิดกล่องจุ่มแล้วได้ตัวซีเคร็ต เราก็อยากจะลองไปจุ่มตามดูบ้าง
เพราะไม่ได้ซื้อแค่ของ แต่ซื้อประสบการณ์ได้ด้วย
นอกจากความรู้สึกคุ้มค่าถ้าได้ลองเสี่ยงแล้ว หลายคนก็เลือกจะสุ่มเพราะอยากลุ้น หรืออยากได้ประสบการณ์ตื่นเต้น ‘เซอร์ไพรส์’ ตอนเปิดดูว่าตนได้รับอะไรกลับมา เรียกว่าเน้นลุ้น ไม่เน้นคุ้ม อยากได้ที่สุดคือความตื่นเต้นตอนเปิด จะได้ของอะไรก็เป็นผลกำไรไป แล้วเพราะอะไรหลายคนถึงเลือกจะซื้อกล่องสุ่มเพื่อความเซอร์ไพรส์กันนะ?
นักประสาทวิทยาค้นพบว่า ความรู้สึกตื่นเต้น ประหลาดใจ หรือเซอร์ไพรส์เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์ เมื่อรู้สึกเซอร์ไพรส์ กระแสประสาทที่รวบรวมความสุขในสมอง (The nucleus accumbens) จะสว่างวาบขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้สมองจะหลั่ง ‘โดปามีน’ (Dopamine) สารสื่อประสาทเมื่อมีความรู้สึกพึงพอใจ และกระตุ้นให้หลั่ง ‘นอร์อิพิเนฟริน’ (Norepinephrine) สารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวตอบสนองไวขึ้น และมีสมาธิมากขึ้นออกมา เหมือนเป็นการบอกให้สมองหยุดคิดอย่างอื่น แล้วมาโฟกัสกับความรู้สึกยินดีจากการเซอร์ไพรส์นั้นแทน
แม้ว่าการสุ่มจะเป็นเหมือนการพนันอย่างหนึ่ง ที่ต้องมาลุ้นว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ความรู้สึกลุ้นตอนเปิดกล่องสุ่มว่าจะได้อะไร ตอนลุ้นว่าเลขที่เราซื้อถูกรางวัลมั้ย เปิดการ์ดออกมาเป็นเมนของเราหรือเปล่า แล้วผลออกมาว่าเราสุ่มได้สิ่งที่อยากได้ ความรู้สึกเซอร์ไพรส์ก็จะเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งความรู้สึกนั้นก็ทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นนักสุ่มต่อไป เพราะอยากได้รับประสบการณ์เซอร์ไพรส์แบบนี้นั่นเอง
เพราะอีกนิดเดียวก็จะได้แล้ว
สุ่มมาแล้วได้ของที่ต้องการก็เซอร์ไพรส์แล้ว แต่สุ่มมาตั้งนานแล้วยังไม่ได้ยิ่งเซอร์ไพรส์กว่า
เชื่อว่าใครที่ชอบสุ่มก็ต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้กันมาบ้าง กดตู้กาชาในเกมมา 170 โรลแล้วยังไม่ออกตัวหน้าตู้ การ์ตูนเรื่องโปรดออกสินค้าใหม่แบบสุ่ม 12 ลาย ชอบไปแล้ว 10 ลาย เลยซื้อมา 2 ชิ้น กะว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีลายที่ชอบอยู่แล้ว สรุปออกลายที่ไม่ชอบซะงั้น หรือกดตู้คีบตุ๊กตาแล้วอีกนิดเดียวน้องก็จะลงหลุม เหตุการณ์แบบนี้มันชวนท้อใจ เงินก็เสียไปตั้งเยอะแต่ก็ไม่ได้สักที แต่เชื่อเถอะว่ามิตรรักนักสุ่ม ไม่มีใครยอมถอดใจง่ายๆ หรอก ของที่ชอบอยู่ตรงหน้า อีก 10 โรลก็ได้การันตีแล้ว ซื้ออีกสักชิ้นต้องได้ลายที่ชอบแน่ๆ หรืออีกแค่ครั้งเดียวก็ดันตุ๊กตาลงหลุม ได้มากอดสมใจชัวร์ๆ เพราะแบบนี้ หลายคนก็เลือกจะสุ่มต่อด้วยความคิด คล้ายๆ กันว่า ‘อีกนิดเดียวก็จะได้แล้ว’
จริงๆ แล้วความรู้สึก ‘อีกนิดเดียวก็จะได้แล้ว’ เป็นเรื่องของความอยากเอาชนะกับจำนวนความเป็นไปได้ที่จะได้ของที่ต้องการแบบไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งสามารถมองด้วยหลักความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์ได้ เช่นเวลากดตู้กาชาในเกม จะเห็นว่าตู้กาชาจะมีบอก ‘เรตกาชา’ หรือโอกาสที่ผู้เล่นจะได้รับไอเทมนั้นๆ เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์อยู่ และมีจำนวนโรล (จำนวนครั้ง) ที่ผู้เล่นกดในตู้นั้นๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้เกิดมาจากการที่สมาคมเกมออนไลน์ญี่ปุ่น (Japan Online Game Association) ออกมาตรการควบคุมระบบการสุ่มกาชาในเกม ในปี 2559 ว่า
“การสุ่มกาชาเพื่อหาตัวละครพิเศษ (หรือไอเทมพิเศษ) ในเกมจะต้องได้ตัวละครพิเศษ ภายในการสุ่มกาชา 100 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 1 และจำนวนเงินที่ใช้ในการสุ่มดังกล่าว จะต้องไม่เกิน 50,000 เยน ต่อตัวละครพิเศษ 1 ตัว, ต้องบอกอัตราการสุ่มกาชาอย่างชัดเจน, ผู้ให้บริการจะต้องบันทึกสถิติการสุ่มกาชาของ ลูกค้า และรับผิดชอบหากการสุ่ม ไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการกำหนด…”
เช่นเดียวกับ คันฮุย เฉิน (Canhui Chen) และ จือซวน ฟาง (Zhixuan Fang) ผู้ศึกษาเรื่องการสุ่มกาชา จากมหาวิทยาลัยชิงหวา ประเทศจีน กล่าวถึงการใช้ความน่าจะเป็นในการสุ่มกาชา ลงวารสาร POMACS ปี 2566 ไว้ว่า เหล่านักสุ่มใช้ ‘กระบวนการตัดสินใจแบบมาร์คอฟ’ หรือ Markov Decision Process (MDP) ในคำนวณโอกาสที่จะสุ่มได้ไอเทมหรือตัวละครจากตู้กาชารูปแบบต่างๆ ไว้ ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าหลักความน่าจะเป็น มีส่วนในการคำนวนว่าโอกาสที่ผู้เล่นจะได้รับไอเทมที่ตนต้องการนั้นเป็นเท่าใด
นอกจากกาชาในเกมหรือสินค้าสุ่มจากการ์ตูนแล้ว เวลาซื้อเลขท้าย 58 แล้วออก 59 เฉียดไปนิดเดียวก็ชวนเจ็บใจไม่แพ้กัน ดวงเกือบจะส่งให้เป็นเศรษฐีแล้วแท้ๆ ถึงจะดูเป็นเรื่องมู ต้องพึ่งดวงชะตาพาโชค แต่จริงๆ แล้วการเลือกซื้อฉลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งเรื่องการเลือกเล่นเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือการซื้อเลขสวยๆ ที่ไปมูมา ก็เกี่ยวกับหลักความน่าจะเป็นเช่นกัน โดย อำนาจ วังจีน ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิชาการด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยเขียนในบทความวิชาการว่า คนไทยนิยมเล่นเลขท้าย 3 ตัว เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในขณะที่หากคิดตามหลักความน่าจะเป็นแล้ว เลขท้าย 2 ตัว มีโอกาสในการถูกรางวัลมากกว่า นอกจากนี้ยังมีผู้วิเคราะห์ไว้อีกว่าโอกาสในการถูกรางวัลฉลากกินแบ่งรัฐบาลไทยคือ 1.4% หรือโอกาสประมาณ 1 ใน 100 ไม่ว่าจะเลขสวยมาจากไหน ถ้ามองในมุมความน่าจะเป็นแล้ว ก็มีโอกาสในการถูกรางวัลเท่ากันที่ 1.4% อยู่ดี
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนเราจะเลือกซื้อของสุ่มด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งซื้อสุ่มเพราะคิดว่าคุ้มค่าน่าลองเสี่ยง สุ่มเพราะอยากได้ประสบการณ์ ชอบความรู้สึกเซอร์ไพรส์ หรือสุ่มไปแล้วแล้วเลือกจะสุ่มต่อ แต่ถ้าการสุ่มนั้นไม่ไปรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนกังวลใจให้ใคร จะเลือกสุ่มต่อไปเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเองก็ได้อยู่แล้ว
แล้วคุณล่ะ เคยสุ่มอะไรมาแล้วบ้างนะ?
อ้างอิงจาก