การถูกรางวัลลอตเตอรี่ในมูลค่าที่สูงจนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้ทั้งชีวิตอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายๆ คนวาดฝันเอาไว้หลังจากซื้อกระดาษใบเล็กๆ ที่มาพร้อมกับการจินตนาการไร้ที่สิ้นสุด สิ่งที่เราเห็นส่วนใหญ่หลังจากสิ้นสุดการประกาศรางวัลลอตเตอรี่ในประเทศตั้งแต่ยังเล็ก คือการประกาศผู้ชนะรางวัลบนหน้าหนังสือพิมพ์ไปจนถึงข่าวเต็มออนไลน์เต็มฟีดในปัจจุบัน มันคือข่าวที่ใครหลายคนอยากไปยืนอยู่ตรงนั้น แต่การได้รับรู้ว่าใครคือผู้ชนะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ หรือ?
มีกฎหมายหนึ่งเกี่ยวกับรางวัลลอตเตอรี่ในประเทศออสเตรเลียได้ระบุไว้ว่า “ผู้ที่ชนะนั้นสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนและรักษาความเป็นส่วนตัวได้” ต่างจากในบางประเทศที่ผู้ชนะไม่มีตัวเลือกดังกล่าว และมักถูกโยนเข้าไปวิจารณ์ต่างๆ นานาและตามด้วยเรื่องดราม่าที่โผล่เข้ามาอย่างไม่มีทางเลือก
จากเหตุการณ์ของการเผยแพร่รายชื่อผู้ชนะลอตเตอรี่ในปี ค.ศ.1960 ได้นำไปสู่การลักพาตัว และการฆาตกรรมอันโหดร้ายจนเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยรายละเอียดส่วนตัวของผู้ชนะรางวัลลอตเตอรี่ในประเทศออสเตรเลีย
บางครั้งชัยชนะบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องให้ใครได้รับรู้
ในปี ค.ศ.1960 เริ่มมีโครงการก่อสร้างซิดนีย์ โอเปร่า เฮาส์ (Sydney Opera House) โรงละครและสถานที่จัดงานแสดงอเนกประสงค์ ตั้งอยู่ริมอ่าวซิดนีย์ ที่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศออสเตรเลีย ในช่วงเวลานั้นการก่อสร้างเริ่มมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ มันเกินงบประมาณที่ตั้งไว้มากพอควร
ดังนั้นรัฐนิวเซาท์เวลส์จึงได้ริเริ่มการทำ ‘ลอตเตอรี่โอเปร่าเฮาส์’ ขึ้นมา เพื่อช่วยหาเงินในการก่อสร้างซิดนีย์ โอเปร่าเฮาส์ โดยรางวัลที่ 1 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิง (เทียบเท่า 3.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 78.5 ล้านบาทในปัจจุบัน)
ในวันพุธที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1960 ได้มีการจับรางวัลหาผู้ชนะในครั้งนี้ และ บาซิล ธอร์น กับตั๋วหมายเลขที่ 3932 ได้กลายเป็นผู้ชนะรับเงินรางวัลที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไปตลอดกาล
แนวคิดในตอนนั้นที่ต้องการความโปร่งใสในการสุ่มจับรางวัล ผู้ถูกรางวัลลอตเตอรี่จึงต้องเปิดเผยตัวตนทุกคนพร้อมรายละเอียดส่วนตัวและรูปภาพ ดังนั้นรายละเอียดส่วนตัวของ บาซิล ธอร์น และ เฟรดา ธอร์น สามีภรรยาผู้ถูกรางวัลลอตเตอรี่จึงถูกเผยแพร่บนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ นอกจากนี้มันยังเปิดเผยด้วยว่าจะจ่ายเงินรางวัลให้แก่พวกเขาภายในวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
ครอบครัวธอร์น ประกอบด้วยบาซิล ธอร์น สามี, เฟรดา ธอร์น ภรรยา, เชอริล ลูกสาวคนโต,แกรม ลูกชายคนกลาง, และเบลินดา ลูกสาวคนเล็ก พวกเขาอาศัยอยู่ที่ 79 ถนนเอ็ดเวิร์ด บ้านเช่าในย่านชานเมืองซิดนีย์ กิจวัตรทุกเช้าวันเรียนของ แกรม ธอร์น ลูกชายคนกลาง คือการเดินไปเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตร เพื่อยืนรอที่หัวมุมระหว่างถนนเวลลิงตันและถนนโอไบรอัน ในเวลา 08:30 โดย ฟิลลิส สมิธ เพื่อนสนิทของครอบครัว จะมารับแกรมและพาเขาไปโรงเรียนในเบลล์วิว ฮิลล์พร้อมกับลูกชายของตนเอง
ในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 5 สัปดาห์หลังจากชัยชนะ ชีวิตของครอบครัวธอร์นก็ได้พังทลายลง แกรม ธอร์น ได้เดินออกจากบ้านเพื่อไปยืนรอยังหัวมุมตามปกติ แต่เมื่อ ฟิลลิส สมิธ ได้ขับรถมารอเวลา 08:40 เขากลับไม่พบวี่แววของเด็กชายที่ไม่เคยมาสายมาก่อน
สมิธรออยู่ชั่วอึดใจ จึงได้ขับรถไปยังบ้านของธอร์น และเคาะประตูบ้านเพื่อถามว่าแกรมยังจะไปโรงเรียนหรือไม่ เมื่อเฟรดาเปิดประตูเธอก็ตกใจทันที แต่พวกเขาคิดว่าแกรมคงจะแกล้งพวกเขาให้ตกใจเล่นด้วยการเดินไปโรงเรียนเอง
สมิธและเฟรดาจึงขับรถและเข้าไปยังโรงเรียน The Scots College เพื่อดูว่าแกรมนั้นมาโรงเรียนเองหรือไม่ แต่ปรากฏว่าแกรมไม่อยู่ที่นั่น เฟรดารู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป เธอจึงโทรแจ้งตำรวจว่าลูกชายของเธอหายตัวไป
เวลาประมาณ 9:40 น. มีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามายังบ้านของครอบครับธอร์น ปลายสายเป็นเสียงภาษาอังกฤษสำเนียงไม่คุ้นหูของผู้ชายคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นผู้ลักพาตัวแกรมไป แลร์รี โอเช เจ้าหน้าที่ตำรวจรับโทรศัพท์และแกล้งทำตัวเป็นบาซิล เพื่อที่จะได้ถามข้อมูลการลักพาตัว ซึ่งบาซิลตัวจริงออกไปทำธุระนอกเมืองและยังไม่รู้เรื่องราวนี้
ผู้ลักพาตัวพูดในสายว่า “ลูกชายของแกอยู่กับฉัน ฉันต้องการเงิน 25,000 ปอนด์ก่อน 5 โมงเย็นวันนี้ นี่ไม่ใช่การโกหก และถ้าก่อน 5 โมงเย็นเงินยังไม่ได้ละก็ ฉันจะเอาเด็กไปให้ฉลามกิน”
แลร์รี โอเช เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปลอมตัวเป็นพ่อของผู้ถูกลักพาตัวไป แลร์รีสงสัยว่าทำไมถึงเรียกร้องเงินมหาศาลด้วยระยะเวลาอันสั้นกับครอบครัวนี้ ในตอนนั้นแลร์รียังไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้ถูกลอตเตอรี่ เขาจึงตอบกลับไปว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าจะหาเงินนี้ได้ครบตามเวลาที่กำหนดไหม” หลังจากสิ้นเสียงของแลร์รี ปลายสายก็วางสายลงทันที
12 ชั่วโมงต่อมา ราว 4 ทุ่ม ผู้ลักพาตัวได้โทรเข้ามายังบ้านครอบครัวธอร์นอีกครั้ง คราวนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนรับหน้าที่ปลอมเป็นบาซิลเช่นเคย ผู้ลักพาตัวบอกว่า “ให้แกจงนำเงินแยกเป็น 2 ส่วน และใส่ลงไปในถุงกระดาษจำนวน 2 ใบ” จากนั้นก็ได้วางสายลงโดยที่ไม่ได้บอกว่าจะต้องนำไปวางที่ไหน
และไม่มีการโทรศัพท์มาอีกเลยนับตั้งแต่นั้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฉงนมากสำหรับการลักพาตัว
ข่าวการลักพาตัวสร้างความหวาดกลัวแก่ทุกคนในเมืองซิดนีย์ มันถูกแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะทางวิทยุ รวมถึงหนังสือพิมพ์ The Daily Mirror (Sydney) ผู้บัญชาการตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศว่านี่เป็นคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่ครั้งใหญ่ครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย และสั่งให้ใช้กำลังที่มีทั้งหมดตามหาเด็กให้เจอ มีการประกาศเงินรางวัลจากรัฐจำนวน 5,000 ปอนด์ สำหรับคนที่พบเจอเด็ก และหนังสือพิมพ์ชื่อดัง 2 แห่งยังเพิ่มเงินรางวัลนี้ให้อีก 15,000 ปอนด์ ซึ่งทำให้มีหลายคนเริ่มพยายามเข้ามาให้เบาะแสที่อาจเป็นประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วมีแต่ข้อมูลที่แต่งขึ้นมาเพื่อเอาเงินรางวัล
ในคืนวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นย่านชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซิดนีย์ พวกเขาได้ค้นพบหลักฐานที่คิดว่าแกรมเคยอยู่ที่นี่ มันคือหมวกนักเรียนที่แกรมใส่ตอนออกจากบ้าน นอกเหนือจากนั้นพวกเขาก็ยังไม่พบข้อมูลเบาะแสอะไรเพิ่มเติมว่าแกรมไปอยู่ที่ไหน
ในระหว่างการสอบสวนการหายตัวไปของแกรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบว่ามีการวางแผนลักพาตัวมาหลายสัปดาห์แล้ว ราว 3 สัปดาห์ก่อนหน้ามีคนโทรเข้ามาที่บ้านของครอบครัวธอร์น เป็นเสียงของชายที่สำเนียงคล้ายกับผู้ลักพาตัว เขาถามบาซิลว่า “นี่ใช่ครอบครัวธอร์นหรือไม่?” พร้อมกับคำถามที่ทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ “ครอบครัวคุณคือครอบครัวที่ได้รับเงินรางวัลใช่ไหม?”
นอกจากโทรศัพท์สายประหลาดที่โทรมาแล้ว เพื่อนบ้านหลายหลังยังให้เบาะแสที่เหมือนกันว่าพวกเขาเห็นรถสีฟ้าที่น่าจะเป็นคันเดียวกัน ซึ่งขับผ่านบ้านของครอบครัวธอร์นไปมาหลายครั้งเป็นเวลาหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ เมื่อเวลา 08:20 น. ในตอนเช้าวันการลักพาตัว พยานบางคนยังเห็นรถฟอร์ด คัสตอมไลน์ สีฟ้ารุ่นปี ค.ศ.1955 จอดซ้อนคันอยู่ที่บริเวณมุมถนนฟรานซิสและเวลลิงตัน ใกล้กับจุดที่แกรมต้องไปยืนรอรถ เจ้าหน้าที่ขนส่งได้ตรวจสอบข้อมูลนี้และพบว่ามีรถยนต์กว่า 5,000 คันในรัฐที่ตรงกับคำอธิบายนี้ ตำรวจจึงได้เร่งกำลังไปสอบถามเจ้าของรถเหล่านี้โดยเริ่มจากในละแวกใกล้เคียง
ในวันอังคารที่ 16 สิงหาคม เกือบ 6 สัปดาห์หลังจากการลักพาตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบศพของเด็กชาย แกรม ธอร์น บนที่ดินว่างเปล่าในแกรนด์วิวโกรฟ ซีฟอร์ธ อยู่ห่างจากจุดที่ลักพาตัวไปไม่ถึง 2 กิโลเมตร ศพถูกห่อด้วยผ้าห่มตาหมากรุกสีน้ำเงิน มือและเท้าถูกมัดด้วยเชือก ปากถูกปิดไว้ด้วยผ้าพันคอ และยังคงสวมชุดนักเรียนของตนเอง
เจ้าหน้าที่นิติเวชของออสเตรเลียคาดการณ์ว่าแกรมน่าจะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการลักพาตัว และคาดว่าเสียชีวิตจากสมองกระทบกระเทือนไม่ก็ขาดอากาศหายใจ ตำรวจเจาะลึกไปยังผ้าห่มที่พันศพ จากข้อมูลของผ้าระบุเป็นผ้าลายหมายเลข 0639 ซึ่งผลิตเพียง 3,000 ผืนในโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองออนคาปริงค พื้นที่ท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย และสิ่งติดอยู่ในเส้นใยผ้าคือชิ้นส่วนของปูนหินสีชมพู ขนสุนัข และเส้นผมของผู้หญิง
ข้อมูลหลักฐานจากที่เกิดเหตุครั้งสำคัญนี้ทำให้ตำรวจสามารถติดตามผู้ที่คาดว่าเป็นฆาตกรได้อย่างรวดเร็ว ตำรวจรุดไปยังบ้านหลังหนึ่งในคลอนทาร์ฟ ชานเมืองทางตอนเหนือของซิดนีย์ บ้านของชายนามว่า สตีเฟน แบรดลีย์ ผู้อพยพชาวฮังการี สตีเฟนอาศัยอยู่กับ แมกดา ภรรยาของเขา พวกเขามีรถฟอร์ด คัสตอมไลน์สีฟ้ารุ่นปี ค.ศ.1955 และยังอาศัยอยู่ในบ้านที่มีปูนหินสีชมพู แต่เมื่อตำรวจไปถึงบ้านของพวกเขาเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมมันก็สายไปเสียแล้ว สามีภรรยาทั้งสองเดินทางหนีออกจากประเทศไปเรียบร้อย
แต่ถึงจะออกนอกประเทศ ตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็ไม่ยอมแพ้ จากข้อมูลพบว่าทั้งสองเดินทางออกจากประเทศออสเตรเลียโดยเรือมุ่งหน้าไปยังเมืองโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา นั่นทำให้ตำรวจมีเวลาเหลือเฟือที่จะประสานทางศรีลังกาเพื่อขอจับกุมและส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
วันที่ 10 ตุลาคม เมื่อสตีเฟนและแมกดาเดินทางมาถึงประเทศศรีลังกา ไบรอัน ดอยล์ และ แจ็ค เบตแมน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากซิดนีย์ 2 คนที่นั่งเครื่องบินมาก็รอพร้อมจับอยู่แล้ว จากนั้นสตีเฟนและแมกดาถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังประเทศออสเตรเลีย หลังจากการสอบสวน พวกเขาพบว่าแมกดาไม่มีส่วนรู้เห็นในการลักพาตัวและฆาตกรรม สตีเฟนสารภาพว่าที่ทำไปเพราะรู้สึกกดดันที่ต้องดูแลครอบครัวที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น เขาหย่าร้างมา 3 ครั้ง มีลูกหลายคนจากภรรยาที่ผ่านๆ มา และต้องทำงานหนักเนื่องจากเงินออมของเขาลดน้อยลง สตีเฟนได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นข่าวคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่ในเดือนเมษายนปีเดียวกันที่กรุงปารีส และเมื่อเขาเห็นข่าวคนที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านได้รับเงินมหาศาล สตีเฟนจึงคิดว่าเขาต้องเรียกค่าไถ่มาได้เช่นกัน
สตีเฟน แบรดลีย์ สารภาพว่าที่เขาอยากทำคือการเรียกค่าไถ่เท่านั้น เขาไม่เคยวางแผนที่จะฆ่าเด็กชายคนนี้เลย สตีเฟนกล่าวว่าเขาจับแกรมมัดไว้กับผ้าห่มและนำไปไว้หลังรถเพื่อไม่ให้หลบหนี แต่แกรมกลับขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตขณะอยู่ในท้ายรถ เมื่อสตีเฟนเปิดรถมาก็เกิดตกใจและตื่นตระหนก จึงได้ทิ้งร่างของเด็กชายไว้ข้างทางพร้อมผ้าห่มดังกล่าว แต่รอยฟกช้ำและแผลที่พบในศพของแกรมกลับไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างของสตีเฟน นอกจากนั้นยังได้มีการทดลองจากอาสาสมัครนักวิจัยด้วยการไปอยู่ในท้ายรถและถูกมัดด้วยผ้าห่มเดียวกันในรูปแบบเดียวกันเพื่อดูว่ายังคงหายใจได้ตามปกติและมีชีวิตรอดได้เป็นเวลา 7 ชั่วโมงหรือไม่ จากการทดลองพบว่ามีอากาศเพียงพอและเด็กไม่น่าจะเสียชีวิตจากสิ่งที่สตีเฟนกล่าว แต่ถึงกระนั้นสตีเฟนก็ไม่สารภาพอะไรเพิ่มเติม จากการพิจารณาคดีเป็นเวลา 9 วัน ท้ายที่สุดแล้ว สตีเฟน แบรดลีย์ก็ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำโกลเบิร์นจากการลักพาตัวและฆาตกรรม แกรม ธอร์น หลังจากการพิจารณาคดี ลอตเตอรี่ในประเทศออสเตรเลียได้เปลี่ยนกฎที่อนุญาตให้ผู้ที่ถูกรางวัลไม่ต้องเปิดเผยตัวตนได้ อีกทั้งยังมีระเบียบการปกปิดความเป็นส่วนตัวที่ทำให้ผู้ได้รับชัยชนะได้รับความสบายใจว่าจะไม่มีสื่อไหนจะมารังควาญพวกเขาได้
แมกดาตัดสินใจหย่ากับสตีเฟน และกลับไปยังยุโรป ในอีก 8 ปีต่อมา วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1968 สตีเฟน แบรดลีย์ ได้เสียชีวิตลงในวัย 42 ปีด้วยอาการหัวใจวายขณะเล่นเทนนิสในการแข่งขันเทนนิสของเรือนจำ ส่วนครอบครัวธอร์นได้ย้ายบ้านไปยังชานเมืองใกล้เคียง พร้อมกับชัยชนะที่เปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาและประเทศออสเตรเลียไปตลอดกาล
อ้างอิงข้อมูลจาก