“มึงๆ งวดนี้เจ้าแม่บอกมีเลข 3 กูว่านะ ไม่ 30 ก็ 03”
มั่นใจว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินบทสนทนาทำนองนี้จากเพื่อนๆ หรือคนรู้จักสักครั้งหนึ่งในชีวิต และขณะที่คุณกำเงินเดินไปที่แผงหวย มั่นใจแน่ๆ ว่างวดนี้ฟาดทรัพย์แน่ๆ คุณคิดในใจ “รวยแล้วเว้ย รวยแล้วเว้ว เตรียมต้อนรับเศรษฐีใหม่” คนขายกลับบอกว่า “ใบร้อยยี่” หรือมากเกินกว่าราคามาตรฐานที่รัฐบาลประกาศไว้ที่ 80 บาทถึงครึ่งหนึ่ง คุณจึงชะงัก นับเงินแล้วเก็บเงินใส่กระเป๋า ก่อนเดินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินแทน
“หวยแพง” เป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญตั้งแต่ยึดอำนาจแล้วเข้ามานั่งบริหารประเทศ และยังเป็นปัญหาสำคัญที่พยายามแก้ แม้เข้ารับตำแหน่งฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐแล้ว
แต่คำถามน่าสนใจคือ ทำไมหวยยังแพงอยู่ เกิดอะไรขึ้นถึงแก้ปัญหาไม่ได้สักที? The MATTER ชวนย้อนดูว่าตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจในปี 2557 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 8 ปี รัฐบาลประยุทธ์มีแนวทางแก้ไขปัญหาหวยแพงอย่างไรบ้างแล้ว และรากของปัญหาแท้จริงมันเกิดจากอะไรกันแน่
สลากกินแบ่งรัฐบาล
สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ “หวย” นั้นเป็นกระดาษชิงโชคที่รัฐบาลพิมพ์ขึ้น โดยภายในจะบรรจุตัวเลข 6 ตัว ซึ่งจะมีการเดาสุ่มพร้อมเงินรางวัลในวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน กล่าวคือหนึ่งเดือนมีการจับรางวัลสองครั้ง และมีเงินรางวัลขั้นต่ำสุดที่ 2,000 บาท/ ฉบับ ก่อนไต่ระดับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปสูงสุดที่ 6,000,000 บาท/ ฉบับ
สำนักสลากกินแบ่งรัฐบาลคือผู้ผลิตสลากหลักๆ ซึ่งไม่มีช่องทางในการขายสลากด้วยตัวเอง แต่จะมีระบบการจัดสรรให้ตามโควตา และเปิดให้มีการจอง ซึ่งแง่หนึ่งเป็นการเปิดทางให้ “พ่อค้าคนกลาง” เข้ามามีส่วนร่วมในวงจรหวย
นอกจากนี้ ระบบของสำนักสลากฯ ยังเป็นระบบขายขาด กล่าวคือขายแล้วขายเลย ไม่มีการรับซื้อคืนจากพ่อค้า ทำให้แง่หนึ่งเป็นการผลักภาระให้พ่อค้าแม่ค้าในการขายสลากฯ
แต่ทำไมปัญหา “หวยแพง” ถึงเป็นประเด็นที่ใหญ่ นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันให้ความเห็นไว้ในเว็บไซต์ Gabling Study ว่า
“การขายสลากเกินราคาเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะคิดดูให้ดีผลิตภัณฑ์นี้เป็นของรัฐ สำนักงานสลากเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กำลังทำในสิ่งที่ละเมิดกฎหมายอยู่ ถึงแม้ว่าตัวเองจะบอกว่าไม่รู้เรื่อง แต่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะว่าความรับผิดชอบนั้นต้องมาถึงปลายทาง”
8 ปี ประยุทธ์ vs หวยแพง
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เข้ามายึดอำนาจในการบริหารประเทศ ประเด็นหวยแพงก็ถูกจัดให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยจะอธิบายแนวทางแก้ไขปัญหาหวยแพงของรัฐบาลประยุทธ์ออกเป็น 2 ช่วง คือในยุค คสช. และยุครัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ
บิ๊กตู่ x คสช. vs หวยแพง
นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557 หวยแพงก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะรัฐประหารพยายามแก้มาตลอด โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 ได้มีการใช้ ม.44 เพื่อตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือบอร์ดสลากขึ้น โดยให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. นั่งหัวโต๊ะ ซึ่งการเลือก พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งนับเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เชื่อมือได้มาเป็นประธานแบบนี้ สะท้อนว่าคณะรัฐประหารใส่ใจกับปัญหานี้
ทันทีที่ พล.อ.อภิรัชต์ ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาหวยแพง ได้มีการออกแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (เฟส)
ระยะที่หนึ่ง
- ออกคำสั่งห้ามขายหวยเกินราคา 80 บาท พร้อมทั้งเพิ่มลงโทษจากปรับ 2,000 บาท เป็นปรับ 10,000 บาท จำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ปรับสัดส่วนรายได้นำส่งคลัง จากปกติ 28% เหลือ 20% โดยส่วนต่างถูกแบ่งดังนี้ 5% ถูกนำไปช่วยผู้ค้าสลากตามข้อเรียกร้อง ขณะที่อีก 3% เข้ากองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม
ระยะที่สอง
- รื้อระบบโควตา บอร์ดสลากมีมติไม่ต่ออายุสัญญาโควตาสลากฯ กับนิติบุคคลทั้งหมด ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวม 2,495 แห่ง เป็นโควตา 15.8 ล้านฉบับ ที่สำคัญโดยเฉพาะกับ 5 เสือกองสลาก ซึ่งทางด้าน สังศิต พิริยะสังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่ามีเพียง 3 เสือเท่านั้น เพราะ 2 บริษัทในนั้นมีเจ้าของคนเดียวกัน โดยประกอบไปด้วย
- เสือที่ 1 คือ สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ เจ๊สะเรียง เจ้าของบริษัท หยาดน้ำเพชร และ บริษัทบีบี เมอร์ชานท์ จำกัด เคยได้โควตา 1.6 ล้านฉบับต่องวด
- เสือที่ 2 คือ ปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต หรือ เจ๊แดง เจ้าของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด, บริษัท ปลื้มวัธนา และบริษัท ไดมอนด์ ล็อตโต้ จำกัด เคยได้โควตา 1.6 ล้านฉบับต่องวด
- เสือที่ 3 คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือผู้กองตุ๋ย (ผู้กองแป้ง) จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี เคยได้โควตา 1.6 ล้านฉบับต่องวด โดยผู้กองตุ๋ยและเจ๊แดงมีความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติกัน
- เสือที่ 4 สำนักงานสลากฯ ซึ่ง สังศิตให้ความเห็นไว้ว่า “มีโควตาเยอะมาก แต่ก็เป็นของนักการเมือง”
- ทยอยเพิ่มจำนวนสลาก จากแต่เดิมที่ 37 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 100 ล้านฉบับในปี 2563 และจนถึงปัจจุบัน
- เริ่มนำฉลากที่เพิ่มขึ้นมาเปิดให้จองผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย โดยเหลือสัดส่วนโควตา 29% และจองผ่านกรุงไทย 71%
ระยะที่สาม
- แก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล จนทำให้ พ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2562 เปิดทางให้มีการออกสลากรูปแบบใหม่ เช่น สลากออนไลน์
- และก่อนที่จะมีการเลือกนายกฯ ในสภา (เลือกตั้งเสร็จแล้ว) หัวหน้า คสช. ยังได้ออกคำสั่ง 5/2562 ทิ้งท้าย แต่งตั้ง พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมกรมศุลฯ เป็นประธานบอร์ดสลากฯ แทน พล.อ.อภิรัชต์
บิ๊กตู่ x พลังประชารัฐ vs หวยแพง
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกฯ ยังคงมีความพยายามแก้ไขปัญหา “หวยแพง” อย่างไม่ลดละ โดยมีความพยายาม ดังนี้
ปรับสูตร 2-1-1-1 ความพยายามตรงนี้เกิดขึ้นภายหลังมีการเปิดให้จองโควตาผ่านระบบตู้ ATM กรุงไทย ซึ่งทำให้บรรดาพ่อค้าคนกลางพยายามไปกว้านซื้อสลากฯ จากพ่อค้ารายย่อยมากขึ้น ทำให้ในช่วงแรก กองสลากฯ หันมาใช้สูตร 2-2-1 กล่าวคือ สลากที่จัดสรรผู้ค้าหวยรายย่อยจะตัวเลขเหมือนกันทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มแรก 2 เล่ม และกลุ่มที่สอง 2 เล่ม โดยสองกลุ่มจะไม่เหมือนกัน ส่วนที่เหลืออีก 1 เล่ม เลข 4 ตัวหน้าจะไม่เหมือนกันเลย แต่เลขท้าย 2 ตัวหลังจะเรียงลำดับ ตั้งแต่ 00-99 วิธีนี้เริ่มทดลองขายตั้งแต่ 1 มี.ค. 2562 – 31 พ.ค. 2562
ต่อมาเลยมีการปรับสูตรเป็น 2-1-1-1 เหลือเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลักแค่ 2 เล่ม ส่วนที่เหลืออีก 3 เล่ม เป็นสลากใบเดี่ยวเลขไม่ซ้ำกัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา
ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2564 ที่ประชุมบอร์ดสลากได้มีมติออกแนวทางแก้ไขสลากเกินราคา 3 แนวทาง ดังนี้
- ขยายโครงการสลาก 80 บาท เป็น 1,000 จุดทั่วประเทศ
- เปิดลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 200,000 ราย ซึ่งมีผู้สมัครเข้ามามากถึง 1.08 ล้านราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติ และจะใช้วิธีการสุ่มคัดเลือกคัดให้เหลือตามจำนวนที่กำหนด และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. นี้
- จัดทำสลากดิจิทัล อย่างที่มีข่าวว่าจะมีการเริ่มขายสลากผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ในเดือน พ.ค. นี้
นอกจากนี้ ในเดือน ม.ค. 2565 ยังได้มีการตั้งประธานแก้ปัญหาหวยแพงคนใหม่ โดยได้ตั้ง อนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกเป็นประธาน และให้ เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้” เป็นรองประธาน และดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการชุดนี้ยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนนั่งร่วมด้วย
ก่อนที่ล่าสุดจะมีข่าวการบุกค้นบริษัทหวยออนไลน์ “มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่” โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่ไปกว้านซื้อหวยจากผู้ค้าหวยแล้วมาขายแพงเกินราคาในระบบออนไลน์ เช่นเดียวกับล่าสุด ที่มีการบุกค้น “ลอตเตอรี่พลัส” บริษัทขายหวยออนไลน์เช่นกัน
รากปัญหาหวยแพง
สำหรับรากของปัญหาหวยแพงนั้นอาจอธิบายออกมาได้ทั้งหมด 3 แง่มุมคือจากมุมของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย, กองสลากฯ และพ่อค้าคนกลาง
สำหรับมุมของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย สำนักข่าว PPTV เคยพูดคุยกับกลุ่มคนขายสลากรายย่อยและพบว่า โควตาการจัดสรรฉลากให้คนละ 5 เล่ม นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะขายให้หมด เพราะผู้ซื้อเองก็ต้องการเฉพาะเลขที่เด็ดและดัง หรือเรียกว่ามีโอกาสถูก จึงมีเลขบางตัวที่ราคาสูงขึ้น ขณะที่เลขบางตัวที่ราคาต่ำจนถึงไม่มีใครเอา และทำให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยต้องสรรหาเลขเด็ด เลขดัง เพื่อดึงดูดลูกค้า และเช่นเดียวกันทำให้มีการดันเลขบางตัวให้มีราคาสูงขึ้น เพื่อ “ถอนทุน” จากสลากฯ ที่ขายไม่ได้
ขณะที่สำนักข่าว ThaiPublica เคยวิเคราะห์ว่า ที่ผู้ค้ารายย่อยต้องขายหวยแพงขึ้น เพราะจำนวนจัดสรรหวย 5 เล่มให้นั้น หากขายหมดจะได้งวดละ 4,800 บาท หรือเดือนนึง 9,600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงคล้ายกดดันให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยต้องเพิ่มยอดขาย หรือทำให้พ่อค้ารายย่อยต้องไปรับหวยมาขายเพิ่มจากพ่อค้าคนกลาง
สำหรับกองสลากฯ ด้วยระบบของกองสลากฯ เป็นแบบขายขาด กล่าวคือถ้าผู้ที่มารับซื้อขายสลากฯ ไม่หมดจะไม่มีการซื้อคืน ทำให้กลุ่มผู้ขายสลากรายย่อยต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายเอง (ซึ่งส่งผลกับราคาสลากตามมา) ขณะที่กองสลากได้กำไรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจาก Thaipublica ในปี 2563 กองสลากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำเงินให้รัฐได้มากที่สุด โดยทิ้งอันดับ 2 อย่าง ปตท. กว่า 13,000 ล้านบาท
ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ กองสลากฯ ไม่มีสินค้าชนิดอื่น กล่าวคือที่ผ่านมากองสลากฯ ไม่เคยมีการขายหวยผ่านระบบออนไลน์ หรือการออกหวยชนิดอื่นๆ เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค (ทั้งที่มีการแก้กฎหมายแล้ว)
สำหรับพ่อค้าคนกลาง ปัญหานี้สัมพันธ์กับระบบของกองสลากฯ ที่ไม่มีช่องทางการขายด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น ทำให้เปิดช่องว่างให้พ่อค้าคนกลางสามารถเข้ามาคั่นกลางระหว่างกองสลากฯ และผู้ค้ารายย่อยได้ และนั่นเองที่ทำให้เกิดการปั่นราคาขึ้น-ลง
ดังเช่นที่กลุ่มผู้ค้าหวยเคยกล่าวไว้กับสำนักข่าว PPTV ว่า ช่วงเช้าราคาหวยเล่มอยู่ที่ 8,000 บาท แต่พอตกเย็นราคาไหลไปที่ 8,250 บาท และเคยสูงสุดที่ 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา
ปัญหาหวยแพงเป็นความท้าทายสกิลการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา แล้วจะแก้ได้ไหมยังเป็นคำถามในใจหลายคน เพราะขนาดตอนที่มีอำนาจล้นฟ้าด้วย ม.44 ยังแก้ไม่ได้ แล้วตอนนี้ที่อยู่ในระบบรัฐสภาจริงจะทำได้หรอ?
อ้างอิง:
Illustrator By Waragorn Keeranan