ช่วงปลายปี อะไรๆ ก็เหมือนจะดี บรรยากาศรื่นเริงใกล้เข้ามาพร้อมๆ กับการเริ่มต้นใหม่
ทว่า อากาศหนาวๆ กับการเริ่มต้นใหม่มันก็ดี แต่บางครั้งในความหนาวเย็นและการมองไปข้างหน้านั้น เราเองก็แอบรู้สึกหวั่นใจ หวั่นใจทั้งกับการใช้ชีวิตปีที่ผ่านมาว่า เราทำมันดีแล้วหรือยัง และสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในปีต่อไป—ในอีกด้านก็คือความไม่แน่นอน
ในบรรยากาศของความหนาวเย็นที่น่าสบายและช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ลึกๆ เราต่างซุกซ่อนความรู้สึกแง่ลบเอาไว้บ้าง ความเดียวดาย ความหวาดหวั่นใจ ความไม่แน่ใจต่างเป็นสิ่งที่เราอาจพยายามจัดการเพื่อก้าวไปข้างหน้าต่อไป ทั้งหมดนี้นั้นอาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นความหนาวใจของฤดูหนาว
หลายครั้งที่เราอยู่ในภาวะไม่มั่นคง การได้อ่านข้อความสั้นๆ ก็บังเอิญตอบสนองกับการแสวงหาความหมายของชีวิตของเราพอดี หลายคราที่ข้อความสั้นๆ นั้นได้ช่วยพาเราขึ้นจากความสงสัยและกลายเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้ชีวิตของเราไปโดยปริยาย ถ้อยคำนั้นทรงพลัง ยิ่งถ้อยคำของนักคิดนักเขียนผู้ที่เรายกย่องว่าเป็นผู้เจนจัดในการใช้ชีวิต หลายถ้อยคำนั้นมีชีวิตต่อเนื่องนับร้อยนับพันปี และยังคงสร้างลมหายใจให้กับผู้ฟังหรือผู้อ่านได้ แม้ว่าจะต่างบริบทไม่ว่าเวลาหรือสถานที่
เพื่อเป็นการให้กำลังใจในฤดูหนาว สำหรับมนุษย์เราที่มีความลังเลสงสัยเป็นที่ตั้งว่า ชีวิตที่ผ่านมา—ในเงื่อนไขที่แสนยากนั้น—เราใช้มันดีแล้วหรือยัง The MATTER จึงชวนเพิ่มพลังและความอบอุ่นใจผ่านการอ่านถ้อยคำสั้นๆ ของเหล่านักคิดนักเขียนสำคัญระดับตำนาน เป็นข้อความที่เข้าใจง่าย อาจจะเฉียบคมและตอบสนองกับความสงสัยใคร่รู้ในการใช้ชีวิตของเรา ถ้อยคำที่อาจจะทำให้เราสลัดทิ้งอะไรบางอย่างและพร้อมขึ้นปีใหม่อย่างสดใสแข็งแรง
“I am the wisest man alive, for I know one thing, and that is that I know nothing.”
— Plato, The Republic
[“ข้าเป็นคนฉลาดที่สุดที่ยังหายใจ และข้ารู้อย่างหนึ่งอย่างเดียว นั่นคือข้าไม่รู้อะไรเลย”]
เหนื่อยนะกับการเป็นผู้รู้ เป็นคนที่ขนสรรพความรู้ หาทุกอย่างใส่ตัว พอถึงจุดหนึ่งก็กลายเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองรู้ไปซะหมด ไม่ต้องเรียนรู้อะไรแล้ว แต่นี่เพลโต หนึ่งในนักคิดคนสำคัญ เป็นต้นธารอันเก่าแก่ สิ่งที่เพลโตบอกราวกับเคล็ดวิชาหนังจีนหรือไม่ก็เหมือน จอน สโนว์ คือ ในที่คนที่รู้สึกว่าทรงภูมิที่สุด ไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเต็มไปด้วยความรู้ การยอมรับหรือการนิยามว่าตัวเองไม่รู้ดูจะเป็นคำตอบที่ยากที่สุดที่เราจะพูดออกมา ไม่ว่าเพลโตจะเล่นวาทศิลป์หรือไม่ แต่การยอมโง่บ้างก็ถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง และหลายครั้งที่ความฉลาดเริ่มต้นจากการยอมรับความไม่รู้ของตัวเอง
“Love at its fullest is an indissoluble combination of the two elements, delight and well-wishing.”
— Bertrand Russell, What I Believe
[“ความรักในรูปแบบที่เต็มตื้นที่สุดเป็นส่วนผสมที่หนักแน่นของสององค์ประกอบ คือการชื่นชมยินดีและการมอบความปรารถนาดีให้”]
เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ ฟังดูเป็นนักคิดสายเหตุผล แต่ทว่ารัซเซลล์ถือเป็นนักคิดที่พูดถึงการยืนคู่กันของความรักและความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรักในความรู้และความรู้ของความรัก ข้อความสั้นๆ นี้มาจากหนังสือเล่มเล็กๆ ที่รัสเซลล์ทบทวนความคิดความเชื่อในแง่มุมต่างๆ รวมถึงพิจารณาเรื่องนามธรรมเช่นความรัก รัซเซลล์แอบเขียนแบบโรแมนติก คือ เราจะเห็นคำที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ส่วนผสมที่หนักแน่น หรือองค์ประกอบ แต่ทว่ารัซเซลล์เองก็ดูจะเข้าใจว่าความรักที่แท้จริงคือความรู้สึกปลาบปลื้ม เต็มตื้น และการที่เรามอบความรู้สึกและความปรารถนาดีให้อีกฝ่ายโดยไม่หวังผลตอบแทน
“Have a heart that never hardens, and a temper that never tires, and a touch that never hurts.”
— Charles Dickens, Hard Times
[“จงมีหัวใจที่จะไม่กระด้าง มีความรู้สึกที่ไม่เหนื่อยหน่าย และมีสัมผัสที่ไม่สร้างความเจ็บปวด”]
ชาลส์ ดิกเคนส์ เป็นนักเขียนแนวสัจนิยมคนสำคัญของศตวรรษที่ 19 และแน่นอนแม้ว่าสิ่งที่ดิกเคนส์ถ่ายทอดอย่างสมจริงนั้นจะเป็นภาพชีวิตของยุควิกตอเรียน แต่ทว่าภาพสังคมโดยเฉพาะปัญหาและการดิ้นรนนั้นก็เป็นสิ่งที่ยังคงอ่านและเรียนรู้ได้ในศตวรรษปัจุบัน ในภาพที่ดูมืดมนของสังคมสมัยใหม่นั้นสิ่งที่นักเขียนสำคัญเหล่านี้ได้หยอดเอาไว้ คือ ความหวัง และการใช้ชีวิตที่ล้ำลึกของคนชั้นแรงงาน กลุ่มคนที่แม้ว่าสังคมจะหยันเหยียดแต่พวกเขาเองก็มีวิถีและมีศักดิ์ศรีของตน ข้อเขียนที่มีความเป็นวรรณกรรมนี้มาจากนวนิยายเรื่อง Hard Times นวนิยายที่ว่าด้วยการดิ้นรนและการเติบโตของการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งไปสู่การเป็นคนที่มีเหตุผลและเป็นพลเมืองสมัยใหม่ที่ดี ข้อความข้างต้นทำให้เราคิดถึงคุณสมบัติของมนุษย์ว่าคือการรักษาคุณสมบัติบางอย่างไว้อย่างสมดุล มีหัวใจที่เจ็บได้แต่ไม่ยอมให้กระด้าง แม้ว่าจะเจ็บหรือถูกทำร้ายสักกี่ครั้ง มีอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ด้านชา และมีการสัมผัสที่ทำให้เรานึกถึงการเชื่อมต่อสัมผัสกับผู้อื่นที่เราเองก็ต้องระวังในการแตะต้องโดยไม่ทำร้ายกัน
“There is no greater sorrow than to recall happiness in times of misery.”
— Dante Alighieri, The Divine Comedy (Inferno: Canto 5)
[“ไม่มีความอาดูรใดยิ่งใหญ่กว่าการหวนคิดถึงความสุข ในห้วงเวลาของความทุกข์ทน”]
บางทีเราอาจจะอยู่ในสังคมที่หวนหาอดีต บางครั้งการนึกถึงอดีตก็อาจจะเป็นเรื่องจำเป็น และอาจจะพอสร้างความรู้สึกอมยิ้มและก้าวต่อไปในโลกอันขมขื่นได้ แต่อย่างว่า บางครั้งความทรงจำก็เป็นเหมือนหนามแหลมที่กลับมายอกใจ ยิ่งในบริบทจากงานเขียนของดันเตในภาคนรกของ The Divine Comedy ว่าด้วยความทรงจำในมิติของปัจจุบันขณะที่ร้าวราน ในที่สุดแล้ว การหวนไปสู่ความสุขและความสวยงามที่ผ่านไปแล้วอาจเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ก็ได้
“If I got rid of my demons, I’d lose my angels.”
— Tennessee Williams, Conversations with Tennessee Williams
[“ถ้าเรากำจัดปีศาจของตัวเองออกไป พร้อมกันนั้น เราก็อาจสูญเสียนางฟ้าของเราไปด้วย”]
หลายครั้งที่เราอยากไขว่คว้าความผุดผ่อง การเป็นคนดีอันสมบูรณ์ การก้าวผ่านไปสู่ภาวะอันประเสริฐ แต่ในยุคหลังนักเขียนต่างๆ ก็เริ่มตั้งข้อสงสัยกับศีลธรรม สวมกอดพื้นที่สีเทาและความเป็นมนุษย์ที่เท้าเหยียบอยู่บนผืนดิน เทนเนสซี วิลเลียมส์ เจ้าพ่อบทละครสมัยใหม่—ที่ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจความยอกย้อนของมนุษย์และความเป็นไปอันแปลกประหลาดของสังคมนั้น—ก็ได้พูดถึงบางส่วนของตัวตนที่เราเองก็อาจจะมีปีศาจ มีส่วนดำมืดบางอย่างก่อร่างขึ้นมาเป็นตัวเรา หรือกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จหรือแรงผลักดัน คำตอบข้างต้นของเทนเนสซีมาจากบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Playboy ในวัย 60 ปี ซึ่งการเป็นคนร้ายๆ บ้าง หรือการทำตัวแย่ๆ บางครั้งก็เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับงานและความเข้าใจมนุษย์ ทว่าข้อความนี้ก็แล้วแต่เราจะตีความ ด้านหนึ่งการรับรู้ปีศาจในตัว หรือมองเห็นว่ามันเป็นพร ก็อาจเป็นทางหนึ่งในการควบคุมปีศาจของเราด้วยได้
“If life were predictable it would cease to be life, and be without flavor.”
— Eleanor Roosevelt
[“ถ้าชีวิตนั้นเดาทางได้ ชีวิตก็หมดความหมายที่จะเป็นชีวิต และกลายเป็นสิ่งไร้รสชาติ”]
เอเลนอร์ โรสเวลต์ เป็นหนึ่งในหญิงแกร่ง เป็นผู้นำหญิง เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีโรสเวลต์ ที่มีทั้งบารมีและจิตวิญญาณบางอย่างผ่านถ้อยคำและความคิดของเธอ จริงๆ เราเองอยากรู้อนาคตและหวังว่าจะควบคุมอนาคตได้ ทว่าสิ่งที่เอเลนอร์ย้ำกับเรา คือ ความหมายหนึ่งของชีวิตก็คือการที่ไม่รู้ความเป็นไปของมัน ถ้าเรารู้อนาคตแล้ว ชีวิตจะยังเป็นชีวิตอยู่ไหม และแน่นอนว่าชีวิตที่เราคาดเดาได้นั้นก็จะเป็นชีวิตที่ไร้รสชาติ แต่ว่าด้านหนึ่งเราเองก็หวังแค่ว่าชีวิตเราอย่าได้มีรสขมมากเกินไปนักเลย เราแค่อยากรู้ว่ามันจะขมไปอีกนานไหมถึงจะมีรสอื่นสักทีคุณแม่
“Live in the sunshine, swim the sea, drink the wild air […]”
— Ralph Waldo Emerson, Merlin’s Song
[“ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงแดด ว่ายน้ำในทะเล และดื่มอากาศของป่าลึก”]
เอเมอร์สันเป็นนักปรัชญาที่เราเรียกว่ากลุ่ม transcendentalism คือเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโรแมนติก ในยุคที่เราอาจจะสนใจวิทยาศาสตร์ ใช้ชีวิตวุ่นวายกับอารยธรรมของเรา แต่กลุ่มโรแมนติกบอกว่า ชีวิตอันเรียบง่ายนั้นเป็นทางที่อาจจะดีกว่าก็ได้ การกลับไปสู่ธรรมชาติและชีวิตเรียบง่ายก็เลยเป็นแนวทางหนึ่ง เราอาจจะไม่ถึงขนาดไปใช้ชีวิตไปพึ่งตัวเองในป่าเขาแบบธอโร ลูกศิษย์เอเมอร์สัน แต่ก็อย่าลืมว่าโลกไม่ได้มีแต่ความซับซ้อนและการแสวงหา บางครั้งชีวิตที่ดีคือความเรียบง่าย ใช้ชีวิตใต้ฟ้ากว้าง ว่ายน้ำกลางทะเล และสูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดบ้าง
“When someone leaves, it’s because someone else is about to arrive.”
— Paulo Coelho, The Zahir
[“เมื่อมีใครสักคนจรจาก นั่นก็หมายความถึงใครอีกคนที่กำลังจะก้าวเข้ามาในชีวิต”]
ปีนี้คุณได้สูญเสียใครไปรึเปล่า อาจมีใครสักคนเลือกเดินออกจากชีวิตเราไป เรารู้แหละเนอะว่าการเลือกจะอยู่หรือออกจากชีวิตเป็นการตัดสินใจของคนคนนั้น การเหนี่ยวรั้งไว้เป็นเรื่องแสนยากเย็น ในขณะเดียวกันคนที่ต้องรับมือกับจากจากจรนั้น หลายครั้งที่เราต้องเจอกับการเดินออกจากชีวิตเป็นความเจ็บปวด แต่ดังเช่นข้อความจาก The Zahir นวนิยายของ เปาลู กูเวลยู นักเขียนที่นับได้ว่าเป็นผู้ชี้ทางทางจิตวิญญาณ ความที่ว่าการออกไปของคนคนหนึ่ง พื้นที่ที่ว่างเปล่าลงหรือการหายไปนั้น อาจหมายถึงใครอีกคนที่กำลังจะเข้ามา วงจรการพานพบและลาจากนั้นเป็นเรื่องแสนสามัญ การทำใจยอมรับนั้นเข้าใจได้แสนง่ายแต่ทำได้แสนยาก
“I know simply that the sky will last longer than I.”
— Albert Camus, The Myth of Sisyphus and Other Essays
[“เรารู้ดีว่าท้องฟ้าจะยืนยงต่อไปนานกว่าตัวของเรา”]
อัลแบร์ กามู นักเขียนที่เป็นเหมือนผู้นำเอาปรัชญาสมัยใหม่ คือ แนวคิดกลุ่มอัตถิภาวนิยมและความไร้แก่นสาร (absurdity) มาตั้งคำถามกับความว่างเปล่าของชีวิตสมัยใหม่ ในงานเขียนสำคัญที่กามูเลือกใช้ภาพของซิซิฟัส ตัวละครในปกรณัมกรีกผู้ถูกสาปให้เข็นหินขึ้นเขาอย่างไม่รู้จบเพื่อให้ภาพความซ้ำซากและความไร้แก่นสารไร้จุดหมายของเรา ทว่าภาพของสังคมสมัยใหม่ที่กามูให้ที่ดูวนเวียนและไร้เหตุผลไม่มีที่สิ้นสุดนั้น แง่หนึ่งมันคือการบอกกับเราว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น ท้องฟ้าและสิ่งอื่นๆ ยังคงดำเนินต่อไปในวันที่เราหายไปจากโลกนี้แล้ว
“Not all those who wander are lost; […]”
— J.R.R. Tolkien, The Fellowship of the Ring
[“ใช่ว่าทุกการจรจะหลงทาง”]
ข้อความข้างต้นมาจากบทกวีชื่อ ‘The Riddle of Strider’ เป็นเหมือนปริศนาหนึ่งที่ บิลโบ แบ็กกินส์ เขียนและส่งมอบให้โฟรโด ตัวปริศนานี้เป็นเหมือนข้อคิดไปจนถึงการอ้างอิงถึงตัวเรื่อง เช่นในบาทที่สองคือ “Not all those who wander are lost; […]” หมายถึงอารากอนที่เปิดเผยตัวตนกับบิลโบ ส่วนวรรคแรกสุดของบทกวีความว่า “All that is gold does not glitter,” หลักๆ แล้วอาจตีความเป็นคติสอนใจว่าด้วยการมองทะลุเปลือก การไม่ตัดสินผู้คน ในแง่ของความหมาย วลีสั้นๆ ส่วนหนึ่งคือวรรคที่บอกว่าการรอนแรมไม่ได้หมายถึงการหลงทางนั้น เราอาจเทียบเคียงได้กับเรื่องราวในมหากาพย์แหวนที่ตัวละครมีภารกิจอันสำคัญต่างกันออกไป และการรอนแรมนั้น บางครั้งก็หลง บางครั้งก็เบี่ยงเองออกจากเส้นทาง บางครั้งก็เป็นการไขว้หาเส้นทางที่ถูกต้อง ในที่สุดก็อาจเป็นอุปมาหนึ่งของชีวิตที่เราต่างรอนแรมและหาทาง แต่ทว่าสุดท้ายการค้นหาและร่อนเร่ไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเรากำลังหลง แต่เราอยู่ในระหว่างของการเดินทาง
“Happy is the man who can make a living by his hobby.”
— George Bernard Shaw
[“ความสุขคือการที่คนคนหนึ่งสามารถทำมาหากินได้ด้วยงานอดิเรก”]
ไม่แน่ใจว่าสุดท้าย การทำกิจกรรมบางอย่างที่รักจนกลายเป็นงานเข้าจริงๆ มันจะยังเป็นความสุขอยู่ไหม แต่ความคิดจาก จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนบทละครอเมริกันคนสำคัญ ก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างคัดง้างกับชีวิตสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยการทำงานและการพักผ่อน ซึ่งในนัยของการทำงานนั้นมีการอดทน ทำสิ่งที่ไม่ได้ชอบนักแฝงอยู่ ทว่าการที่ได้ทำหรือสร้างรายได้จากสิ่งที่คนคนนั้นรัก จากกิจกรรมที่ชอบ เช่น การอ่าน การเขียน การทำอาหาร ก็ดูจะเป็นการใช้ชีวิตที่น่าจะประกอบขึ้นด้วยความสุขเพิ่มจากการทำงานใดๆ ที่ต้องฝืนใจ
“My mission in life is not merely to survive, but to thrive; and to do so with some passion, some compassion, some humour and some style.”
— Maya Angelou
[“ภารกิจในชีวิตไม่ใช่แค่การรอดชีวิต แต่คือการเจริญเติบโต และเติบโตไปเช่นนั้นด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า เจือด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยอารมณ์ขัน และด้วยสไตล์ในบางส่วน”]
มายา อันเกอลู เป็นนักเขียนหญิงผิวดำที่ทรงอิทธิพลยิ่งคนหนึ่งของยุคสมัยของอเมริกา สิ่งหนึ่งที่เธอมักจะแสดงออกมาคือควมแข็งแกร่งและการยืนหยัด ไปจนถึงการเน้นย้ำถึงการทำงานอย่างจริงจังในฐานะนักเขียน ข้อความข้างต้นของเธอคือนิยามเรื่องภารกิจการใช้ชีวิตนั้นก็ถือว่าเป็นข้อคิดเห็นที่แข็งแรง เป็นการใช้ชีวิตที่แข็งแรงดี คือ การมีชีวิตที่ดีไม่ใช่แค่รอดชีวิตหายใจได้ไปในแต่ละวัน แต่คือการเติบโตอย่างแข็งแรงและงดงาม ในความงดงามของการเติบโตนั้นก็พึงประกอบด้วย passion หรือแรงบันดาลใจอันแรงกล้า มีความเข้าอกเข้าใจ มีหัวจิตหัวใจ และแน่นอนที่ยอดเยี่ยมของการมีชีวิตที่ดีคือการมีอารมณ์ขัน และส่งท้ายด้วยการมีชีวิตอย่างมีสไตล์
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan