หน้าหนาวเป็นช่วงเวลาแห่งความมหัศจรรย์ มีเทศกาลยามค่ำคืน ลมเย็นๆ โชยมาแตะผิว มีห้วงเวลาพิเศษรอเราอยู่ ยิ่งบ้านเรา—ไม่นับว่าชอบหรือไม่ชอบ—เวลาได้ ‘กลิ่นของฤดูหนาว’ สัมผัสอากาศแห้งๆ ที่มาแตะจมูกเจือด้วยกลิ่นของดอกตีนเป็ด กลิ่นฉุนอันแปลกประหลาดนี่แหละที่ปรุงให้เมืองกรุงมีไอของความลึกลับ จากเมืองกรุงแล้งๆ ก็ดูจะรวยไปด้วยเรื่องเล่าและมิติของอารมณ์ปนขึ้นมาทันที
ต้นตีนเป็ด—พญาสัตบรรณ—เป็นไม้ที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด แต่พักเรื่องชอบหรือไม่ชอบเอาไว้ก่อน เราขอชวนทุกท่านไปสู่เรื่องราวที่หอมฉุนรุนแรงไม่แพ้กลิ่นของเจ้าตีนเป็ดนี้ ด้วยความที่พญาสัตบรรณเป็นไม้พื้นถิ่นประจำเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ได้มีแต่บ้านเราที่มี—และมีประเด็นกับเจ้าพญาสัตบรรณ ไม้ที่แค่ชื่อก็ฟังดูน่าเกรงขามนี้แล้ว ที่อินเดีย ดินแดนภารตะเองก็มีต้นพญาสัตบรรณที่ใช้ชื่อเรียกเดียวกับเราเป๊ะ
ชมพูทวีปเรียกไม้นี้ในชื่อภาษาสันสกฤต ความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘สัตบรรณ’ ของบ้านเราเป๊ะๆ เจ้าตีนเป็ดนี้มีฉายาเรียกเล่นว่า ไม้หอมของภูตพราย เป็นไม้หอมแรงที่มีรากเหง้าตำนานกี่ยวข้องความรู้ เป็นไม้แห่งนักปราชญ์ แถมตัวมันเองด้วยความโตไว กลิ่นหอมฉุนถูกใจกับชาวอินเดียนักก็เลยมีการปลูกเป็นไม้ริมทาง ให้ใบบังและกลายเป็นความภูมิใจของเมืองไปซะเรียบร้อย แต่ว่าด้วยกลิ่นรุนแรงก็เลยเกิดปัญหาติดขัด มีการถกเถียงกันว่า เอ้อ จะส่งเสริมการปลูกเจ้าไม้หอมนี้กันต่อไปดีไหม นอกจากอินเดียที่มีแนวโน้มจะชอบกลิ่นแล้ว บางประเทศเช่นไต้หวัน ดูจะไม่เลิฟกลิ่น มีการตีข่าวร้องเรียนว่า ช่วยด้วยจ้า ฉุนมากไม่ไหวแล้ว ช่วยชาวบ้านที
Saptaparni ใบทั้งเจ็ด และตำนานจากรากยุคคลาสสิก
เวลาได้ยินชื่อพญาสัตบรรณ เราไม่ค่อยได้นึกว่าตัวชื่อแปลว่าอะไรกันแน่ จนกระทั่งพบว่าที่อินเดียเองก็มีต้นพญาสัตบรรณ ที่อินเดียเรียกต้นนี้ว่า Saptaparni ฟังแล้วเป็นภาษาแปลกประหลาด แต่ถ้าพิจารณาอย่างจริงจังก็จะพบว่า มันเป็นคำเดียวกับที่บ้านเราเรียก
เอ้า แตกศัพท์ คำว่า Saptaparni จริงๆ ก็เป็นภาษาสันสฤตที่เราคุ้นๆ นี่แหละ Saptaparni มาจากรากภาษาสันสกฤตสองคำคือ Sapta—สัปต แปลว่า เจ็ด ลองนึกถึงคำว่าสัปดาห์ที่มีเจ็ดวัน หรือ Sept ในหลายๆ ภาษาก็แปลว่า เจ็ด หรือถ้านับตามปฏิทินโรมัน เดือนเจ็ด ก็ September เป็นต้น ในขณะที่ท้ายคือว่า parni อาจจะงงๆ ว่าอะไรหรือ ปานิ ฟังดูเป็นอาหารอิตาเลียน แต่คำนี้มันก็คือคำว่า บรรณ—หรือ พรรณ แปลตรงตัวว่าใบไม้ (คำว่าบรรณพิภพที่แปลว่าหนังสือ สมัยก่อนใช้ใบลาน เป็นแผ่นๆ เราเลยเรียกบรรณ) ดังนั้นสองคำนี้รวมกัน มันก็แปลว่า สัตบรรณเจ็ดใบ ที่ไม่ใช่หวยหรืออะไร แต่หมายถึงว่าช่อของต้นสัตบรณมักจะประกอบด้วยใบทั้งหมดเจ็ดใบนั่นเอง
ย้ายจากชื่อภาษาสันสกฤต มาสู่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ต้นพญาสัตบรรณมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris ชื่อต้นตั้งตามนักพฤกศาสตร์จากสกอตแลนด์ชื่อคุณ ชาร์ล อัลสตัน (Charles Alston) ชื่อต้นผ่านไป แต่ชื่อหลังนี่น่าสนใจ คำว่า scholaris แน่นอนว่าเป็นภาษาละตินตามธรรมเนียมการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ คำว่า scholaris ก็เป็นคำเดียวกับคำว่า scholar—school แปลว่าเป็นไม้ที่เนื่องด้วยสถาบันการศึกษา เป็นไม้ที่เกียวกับการเรียน ส่วนหนึ่งมาจากการที่ต้นสัตบรรณเป็นไม้ท้องถิ่น เนื้อแข็ง โตไว หาง่าย จึงเป็นไม้ที่ใช้ทำกระดานดำ ทำดินสอ ยาวไปจนถึงต่อเป็นโลง
ในอินเดียที่แสนจะชอบกลิ่น และนำไม้นี้ไปทำกระดานดำจึงมีอีกข้อเสนอคือเชื่อว่า ต้นสัตบรรณถือเป็นไม้ของนักปราชญ์ คือเชื่อว่านักคิดที่ไปนั่งรมกลิ่นหอมของมันจะเกิดภูมิรู้ อะไรที่ขบคิดอยู่ก็จะคิดได้แตกฉานทันที—จริงหรอฟะ? ที่มหาวิทยาลัย Visva- Bharati จึงมีการมอบช่อสัตบรรณให้กับบัณฑิต ในฐานะตัวแทนของความเรียบง่ายและการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
จากชื่อวิทย์ๆ ที่ฟังดูเป็นเรื่องความรู้ แต่ชื่อเล่นของพญาสัตบรรณกลับมีฉายาว่า Devil Tree ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากไม้ที่ถูกใช้ไปต่อเป็นโลงศพ แต่อีกส่วนก็มาจากกลิ่นที่หอมฉุนของมันนี่แหละ ดอกตีนเป็ดมักจะหอมโชยตอนโพล้เพล้ เลยมีตำนานเล่าว่าไม้นี้แหละเป็นไม้ของภูติผี กลิ่นหอมของมันจะดึงดูสรรพสัตว์และมนุษย์ให้ไปนั่งนอนอยู่ใต้ต้นในช่วงพลบค่ำ และนิทรานั้น จะเป็นการหลับไปชั่วนิรันดร์
ถ้าเรานึกถึงกลิ่นของเจ้าตีนเป็ดที่บานยามเย็น เราก็จะสัมผัสความลึกลับที่เจืออยู่ในความฉุนปร่าของมันได้ไม่มากก็น้อยเนอะ
ตีนเป็ด กลิ่นหอมที่โชยในเมืองใหญ่ ปัญหาจากเดลีถึงกรุงไทเป
ดังกล่าวว่าต้นสัตบรรณเป็นไม้ท้องถิ่น โตง่าย ใบหนา ที่อินเดียเองก็เลยคล้ายกับบ้านเราที่มีต้นสัตบรรณเป็นไม้ประจำเมือง ปลูกอยู่ทั่วไปตามท้องถนนไปโดยปริยาย
ยิ่งสำหรับคนอินเดียที่ดูทรงจะไม่รังเกียจกลิ่นหอมแรง เมืองอินเดียจึงมีการปลูกต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้ริมถนน มีหลักฐานว่าที่กรุงเดลีเริ่มปลูกต้นสัตบรรณเป็นแนวสีเขียวให้เมืองตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ปลูกจนกลายเป็นความภูมิใจ ได้ฉายาว่าเป็น pride of Delhi เป็นกลิ่นที่เริ่มโชยในช่วงหน้าหนาวเหมือนกับบ้านเรา ละพร้อมกันนั้นก็เป็นกลิ่นที่ผู้คนงุนงงสงสัยว่ามันหอมหรือเหม็นกันแน่
แต่ที่อินเดียจากที่ภูมิใจกันจัดๆ และปลูกกันจนเต็มเมืองแล้ว ในช่วงปี ค.ศ.2006 ไม้แห่งความภูมิใจก็ตกเป็นเป้าสงสัย จากเดิมที่เป็นพรรณไม้สำคัญในการลงปลูกตามท้องถนนก็เริ่มมีข้อแย้งว่า กลิ่นของมันอาจจะไม่ได้ดีกับทุกคนก็ได้นะ กลิ่นฉุนๆ ของมันอาจจะส่งผลเสียกับคนเป็นภูมิแพ้ก็เป็นได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงของชาวภารตะ ฝ่ายรักตีนเป็ดก็บอกว่ายังไม่มีหลักฐานซะหน่อย ในขณะที่ทางการก็เริ่มพิจารณาการลงต้นตีนเป็ดในเมืองเพิ่ม ชะลอเพื่อทบทวนและหันไปพิจารณาไม้อื่นๆ แทน
จากความชอบและประเด็นสุขภาพจากอินเดีย นอกจากอินเดียที่ก้ำกึ่งว่าชอบไม่ชอบ ดีกับสุขภาพทุกคนไหม ย้ายมาที่ไต้หวัน สำหรับวัฒนธรรมแถบๆ นี้ที่ดูจะไม่ชินกับความฉุนรุนแรง ชาวไต้หวันเองถึงขนาดมองว่ากลิ่นตีนเป็ดเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ถึงกับมีรายงานลงหนังสือพิมพ์จากเมือง Pingtung County เมืองเกษตรกรรมทางตอนใต้ของไต้หวัน คือที่เมืองนี้มีต้นตีนเป็ดเป็นภัยคุกคาม ด้วยความที่โตเร็ว แถมขยายพันธุ์ก็เร็ว ทำให้หลายพื้นที่ของเมืองอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกตีนเป็ด ผลคือชาวเมืองถึงขนาดออกมาร้องเรียนว่าไม่ไหวแล้ว ช่วยด้วยจ้า กลิ่นตีนเป็ดรบกวนการใช้ชีวิตเหลือเกิน นอนก็ไม่หลับ เรียนก็ไม่รู้เรื่อง
แต่ทางการบอกว่า ช่วยอะไรไม่ได้มาก จะตัดทิ้งให้เหี้ยนก็แสนลำบากเพราะตีนเป็ดแพร่พันธุ์ไวเหลือเกิน บางทีก็ไปโตในที่ดินส่วนบุคคลบ้าง ริมทางบ้าง จัดการยากยิ่งนัก ไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ชาวเมืองมีหน้าหนาวที่สดใสแล้วรึยัง
ความสนุกของพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดคือ การที่เราและเพื่อนบ้านนอกจากจะมีรากฐานทางวัฒนธรรมเดียวกัน เรายังมีเรื่องราวจากพันธุ์พืชที่คล้ายกัน แค่อาจจะมีบริบทหรือความชอบบางอย่างที่ต่างออกไป จากกลิ่นฉุนเฉยๆ ก็ทำให้เรามองเห็นไม้เขียวๆ ว่าเอ้อ มันมีช่อเจ็ดใบเนอะ กลิ่นของมันอาจจะโรแมนติกขึ้นบ้าง ลึกลับขึ้นบ้าง ทำให้ชีวิตในเมืองใหญ่ของเรามีกลิ่น มีรส มีเรื่องราวมากขึ้นอีกนิดหน่อย
วันนี้ใครว่างก็ลองแวะดูช่อดอก แวะดมกลิ่นของมันในช่วงเย็นๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก