อย่าว่าแต่ ‘เด็กสมัยนี้’ เลย แม้แต่ตัวผู้ใหญ่อายุ 30-40 ปีหรือมากกว่า ก็อาจจะนึกไม่ออกแล้วว่า สมัยก่อน เวลาที่เราอยากหาข้อมูลอะไรสักอย่าง เราจะเริ่มต้นหาจากอะไร ..ถามจากคนใกล้ๆ ตัว เข้าห้องสมุด อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูทีวี?
เพราะสำหรับผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ที่ชื่อว่า Google ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการ ‘เข้าถึงข้อมูล’ ของผู้คนไปตลอดกาล ไม่เฉพาะแค่ในไทยเท่านั้น ยังรวมถึงทั่วโลก
ตลอดเดือน ก.ย.2018 เป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัทที่ว่ากันว่า เกิดจากการสะกดชื่อ Googol (ที่หมายถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล ในระดับที่เลข 1 ตามด้านเลข 0 อีกร้อยตัว) ผิด
เพราะเป็นโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง นับแต่อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอย่าง Larry Page และ Sergey Brin เริ่มก่อตั้งบริษัทในโรงรถของเพื่อน ที่เมืองเมนโลปาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 4 ก.ย.1998
สิ่งที่ The MATTER สนใจ ไม่ใช่แค่ว่า พัฒนาการของ Google ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนเป็นมากกว่าแค่เสิร์ชเอ็นจิ้น แต่ยังเข้าไปอยู่ในทุกๆ อณูของชีวิตประจำวันของเรา แต่เป็นประเด็นที่ว่า Google ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเข้าถึงข้อมูลของคนไทยอย่างไร ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
…จนถึงได้รับฉายาว่าเป็น “อาจารย์กู” !
กูเกิ้ล 24 ชั่วโมง
หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่า ในปัจจุบันเราใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Google อยู่แทบจะตลอดเวลา มือถือก็ใช้ระบบปฏิบัติการ Android, หลงทางก็ใช้ Google Map, ทำงานอาจจะใช้อีเมล์ Gmail เบราเซอร์ Google Chrome หรือไปฝากไฟล์ไว้ที่ Google Drive, อยากดูละครย้อนหลังก็ใช้ Youtube หรือต้องการหาข้อมูร้านอาหารอร่อย หรือรอบหนัง ก็แน่นอนว่าต้อง Google Search
แต่ Google Search นี่แหล่ะ ที่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้ประโยชน์จากเครือกูเกิ้ลมากที่สุด ถามว่ามากขนาดไหน – ก็แค่..
2,000,000,000,000 ครั้ง ต่อปี
5,500,000,000 ครั้ง ต่อวัน
3,800,000 ครั้ง ต่อนาที
64,000 ครั้ง ต่อวินาที !
“วันหนึ่งๆ เราใช้งานกูเกิ้ลค่อนข้างเยอะ ตื่นมาก็เสิร์ชดูว่า วันนี้อากาศเป็นอย่างไร กลางวันก็จะถามว่า ร้านอาหารใกล้ๆ ฉันมีอะไรบ้าง หรือถ้าคนที่ดูแลสุขภาพก็จะสามารถหาได้ว่า อาหารประเภทนี้ มีแคลอรี่เท่าไร รวมไปถึงงานอดิเรกพวกดูหนัง ช็อปปิ้ง หรืออะไรที่เป็นความสนใจของคน เช่นเรื่องกีฬา” สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Google ประเทศไทย เล่าไว้พอให้เห็นภาพ
ความถี่ของการใช้ Google หาข้อมูลของทุกสิ่งทุกอย่าง ได้ทำๆ ให้คำนี้กลายเป็น ‘คำกริยา’ ที่หมายถึงให้ไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์กันเองแล้ว
แล้วคุณล่ะ วันๆ หนึ่ง “กูเกิ้ล” บ่อยแค่ไหน?
คนไทยหาอะไรในกูเกิ้ล
เชื่อว่าหลายๆ คนคงต้องเคยหาข้อมูลใน Google ไปทำรายงานหรือการบ้านส่งอาจารย์
แต่จากรายงานของ We Are Social ที่ออกมาต้นปีที่ผ่านมา บอกว่า คีย์เวิร์ดสำคัญๆ ที่คนไทยใช้หาข้อมูลผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นใน พ.ศ. นี้ มีด้วยกัน 3 คำ คือ “หวย” “บอล” “ดูดวง”
แต่จากการไปนั่งพูดคุยกับ ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค Google ประเทศไทย กลับเห็นแนวโน้มที่ต่างออกไป เพราะคนไทยเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่ ‘เอาไปใช้ได้จริง’ ได้มากขึ้น ใน 5 หมวดหมู่
- หาร้านใกล้ๆ หาร้านใกล้ฉัน มันเป็นเทรนด์ที่อยู่ดีๆ ก็สูงขึ้นมา
- เรื่องกีฬา ตารางบอล คะแนนบอล
- ที่เที่ยวต่างจังหวัด หาเที่ยว และชื่อจังหวัด ตอนนี้เพราะประสบการณ์ของ Google มันดีขึ้นด้วย ลองพิมพ์คำว่า ‘ที่เที่ยว’ พร้อมกับชื่อจังหวัด มันจะขึ้นเป็นรูปของที่เที่ยวนั้นๆ เลย และมีรีวิวจริงๆ ซึ่งดึงมาจาก Google Map
- หนัง พอกดชื่อหนัง มันจะไม่ใช่แค่เว็บไซต์แล้วๆ แต่มันจะมีรอบหนังของทุกโรงให้ดู ทำให้คนสนใจมากขึ้น
- ช็อปปิ้ง เป็นเทรนด์ใหม่หน่อย คือหาสินค้า อาจจะเพราะเราเพิ่งปล่อยโปรดักต์ Google Shopping เวลาเราอยากจะซื้ออะไร ลองพิมพ์ชื่อสินค้าเข้าไป แล้วมันจะขึ้นรูปสินค้านั้นๆ หลายยี่ห้อ พร้อมราคาให้เปรียบเทียบ
ทั้งนี้ จากการวิจัยของ Google เองพบว่า ข้อมูลที่คนไทยได้รับจากการหาใน Google จะเป็นส่วนประกอบที่ผู้คนใช้ในการตัดสินใจถึง 70%
“คนสมัยก่อนเวลานึกถึงกูเกิ้ล จะนึกถึงในรูปแบบที่ไปคิดถึงพวกเวลาเราเรียนหนังสือ เราหาข้อมูลทำงานวิจัย หรือมีคำถามที่ค่อนข้างซีเรียส ก็จะเข้ามาถามกูเกิ้ล แต่ปัจจุบันคนใช้มันในคำถามที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น
“อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว”
จาก อาจารย์กู ถึง เพื่อนกู
เมื่อถามถึงสิ่งที่ใครๆ เรียก Google ว่า ‘อาจารย์กู’ ในฐานะคนกูเกิ้ลเองรู้สึกอย่างไร
ศารณีบอกว่า ใครจะมองเราว่าเป็นแบบไหน ถ้าเราสามารถทำประโยชน์ให้ได้ เราถือว่าดีทั้งนั้น
“แต่โดยเราเอง เราอยากจะเป็นมากกว่าอาจารย์กู ที่บอกว่าอยากเป็นมากกว่า คือเราไม่อยากให้คนคิดถึงแค่เวลาที่ต้องทำการบ้าน หรือหาข้อมูลมาทำรายงาน หรือไม่รู้เรื่องอะไรที่เป็นวิชาการก็มาหาเรา แต่เราอยากให้กูเกิ้ลมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปของคนมากกว่า นี่คือมุมมองของเรา”
ศารณีบอกว่า โดยเป้าหมายของ Google ก็คือ “เราอยากจะจัดระบบข้อมูลของทั้งโลกนี้ ให้มันเข้าถึงง่ายที่สุด และมีประโยชน์มากที่สุด ฉะนั้นในแง่ของกูเกิ้ลเอง คุณอยากรู้อะไร ไม่ว่าในตอนไหน เราสามารถเสิร์ฟให้ได้เร็วที่สุด”
เธอยกตัวอย่าง 3 ภารกิจหลักที่ Google กำลังทำอยู่
- ทำอย่างไรให้เสิร์ชเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคน ที่ตอนนี้ใช้จากมือถือมาจากเดสก์ท็อป เรามีจึงมีสิ่งที่เรียกว่า autocomplete คือพิมพ์ยังไม่ทันจบคำ ก็พิมพ์ต่อให้ทันที ซึ่งสิ่งนี้เกิดจาก machine learning ดูว่าเทรนด์การค้นหาคำในช่วงนั้นๆ เป็นอย่างไร โดยพบว่า การ autocomplete ทำให้คนประหยัดเวลาในการพิมพ์ได้ 25% ซึ่งถ้ารวมกับเวลาที่คนใช้ทั่วโลก ก็คิดเป็นการประหยัดเวลาถึง 200 ปีต่อวัน!
- ถ้าใครเข้าหน้าแรกของ Google จะเห็นว่ามันขาวๆ ทั้งที่ พื้นที่ตรงนี้มีคนเข้ามาจำนวนมากทุกวัน ถ้าเป็นบริษัทอื่นก็อาจจะคิดเอาไปทำอะไร แต่เรารู้ว่าถ้าวางอย่างอื่นลงไป จะทำให้โหลดช้าลง เราจึงตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรเลย เพื่อที่พอคนกดเข้าไปจะได้ไม่โหลดช้า
- ทำให้เข้ากับผู้ใช้งานในท้องถิ่น ตอน Google เกิดขึ้นมาก็มีแต่ภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันมีถึง 196 ภาษา คือทำอย่างไรให้มัน local มากขึ้น ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ แต่ยังรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ อยากให้มันเป็นภาษาไทยให้เยอะที่สุด คนจะได้ไม่มีปัญหากับการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ
“คือคงเป็นเรื่อง ง่ายขึ้น เร็วขึ้น คอนเท้นต์ที่เหมาะกับคนไทยมีมากขึ้น” ศารณีสรุป
จากอาจารย์กู อยากจะแปลงกายขอเป็นเพื่อนกู ผู้รอบรู้ เข้าถึงง่าย ถามอะไรก็ได้คำตอบอย่างรวดเร็ว และคนทั่วๆ ไปสะดวกใจที่จะถาม
อีก 20 ปีข้างหน้า กูเกิ้ลจะเป็นอย่างไร
ศารณีชวนเราจินตนาการถึง Google ในอนาคตใกล้ๆ นี้ ไม่ต้องรอให้ถึง 20 ปีข้างหน้า ว่าจะไม่ขึ้นอยู่กับ platform เดิมๆ เช่นมือถือหรือเดสก์ท็อปอีกต่อไป แต่เวลามีคำถาม อะไรที่อยู่ใกล้ๆ ก็ตอบได้ทันที เช่น ฝังอยู่ในรถหรือในโทรทัศน์ มันก็จะเป็น Internet of Things (IoT) มากขึ้น
“เพราะมันจะกลับไปเรื่องเดิมคือทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตอบคำถามเร็วที่สุด local ที่สุด ดีที่สุด”
ไม่นานมานี้หลายๆ คนก็คงได้ดูโฆษณาของ Google ประเทศไทย ว่าด้วยชีวิตของน้องอั้ม อดีตเด็กหนุ่มผู้เป็น ‘บุคคลสูญหาย’ ถึง 15 ปีเต็มๆ ก่อนที่จะกลับมาพบหน้าครอบครัวอีกครั้ง เพราะการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google ทั้งเสิร์ช แม็ป การแปลงเสียงเป็นตัวอักษร (อั้มอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้)
The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับน้องอั้มที่วันนี้ทำงานกับมูลนิธิกระจกเงา ในหน้าที่รับบริจาคสิ่งของไปให้ผู้ขาดแคลน เขาได้เล่าอย่างมีความสุขถึงงานที่เขาทำซึ่งเป็นการ ‘ช่วยเหลือคนอื่น’
“เราไม่ได้แค่อยากทำให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้น แต่เราอยากจะมีบทบาทถึงขั้นว่าเปลี่ยนชีวิตของผู้คนไปเลย” สายใยบอก และมองว่า อาจมีหลายๆ คนที่ชีวิตเปลี่ยนไปด้วย Google เหมือนน้องอั้ม เพียงแต่วันนี้เรายังไม่เจอตัวเท่านั้น
จากบริษัทที่ก่อตั้งในโรงรถของเพื่อน ด้วยความหมกมุ่นเรื่องการจัดการข้อมูล และเห็นว่าเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นอย่าง Yahoo! ที่มักเรียงลำดับการค้นหาตามตัวอักษร A-Z ที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนเท่าไร นำไปสู่การคิดค้นระบบ PageRank ที่ให้อัลกอริทึ่มจัดอันดับการค้นหาตามความนิยมขึ้นมาแทน
และจากบริษัทที่มีมูลค่าเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงปัจจุบัน Google ได้กลายเป็นบริษัทมหาชนของอเมริกัน ‘บริษัทแรก’ ที่มีมูลค่าแตะหลัก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งหมดทั้งมวล เริ่มต้นจากไอเดียง่ายๆ คือการเป็น ‘ตัวกลาง’ ให้คนที่อยากรู้อยากเห็นได้ ได้ไปพบกับแหล่งข้อมูลที่ต้องการ เท่านั้นเอง