ตาลีบันกลับมายึดครอง ประชาชนอพยพหาทางลี้ภัย แม้แต่ประธานาธิบดีก็หนีออกนอกประเทศด้วย นี่คือภาพที่เราเห็นในอัฟกานิสถาน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้ว่า จะเป็น 20 ปีที่ยาวนานระหว่างสงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น และไม่เพียงกระทบต่ออัฟกานิสถาน แต่ยังมีผลในระดับโลก และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาอำนาจ และในโลกตะวันออกกลาง
The MATTER ชวนย้อนอ่านถึงจุดเริ่มต้นของตาลีบัน สรุปเหตุการณ์ 20 ปีของการทำสงครามกับสหรัฐฯ อัพเดทสถานการณ์ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น และบทวิเคราะห์จาก อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าอนาคตของอัฟกานิสถานต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
ตาลีบัน คือใคร ? มามีอำนาจในอัฟกานิสถานได้อย่างไร ?
กลุ่มตาลีบัน หรือในภาษาปาทาน ภาษาทางการของอัฟกานิสถาน แปลว่า ‘นักเรียน’ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 หลังการถอนทหารโซเวียตออกจากประเทศ และหลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถาน ซึ่ง Mullah Mohammad Omar ผู้ก่อตั้งตาลีบันเอง ก็เป็นอดีตนักสู้มูจาฮีดีน หรือนักรบที่ต่อสู้ขับไล่โซเวียตมาตั้งแต่ยุค 1980 โดยสมาชิกตาลีบันส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักเรียนที่ได้รับการฝึกฝนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่ง
ภายหลังปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าอัฟกานิสถานในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลังโซเวียตล่มสลาย ทั้งจากตัวผู้นำที่ไม่ยอมลงจากอำนาจแม้ครบวาระ และกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ทำสงครามกับฝ่ายค้าน ผู้นำทางด้านการทหารขูดรีดประชาชน เก็บภาษี ค่าผ่านทาง ไปถึงเกิดการเข่นฆ่า ลักพาตัวตลอดในประเทศ การเข้ามาของตาลีบัน จึงทำให้ชาวอัฟกานิสถานในยุคนั้น มองพวกเขาเป็นทางออกของประเทศ
ตาลีบันเริ่มมีชื่อเสียง และได้รับความสนใจจากนานาชาติ เมื่อเริ่มเอาชนะในกันดาฮาร์ เมืองที่มีการทุจริต และขูดรีดประชาชนจำนวนมากได้ และเริ่มขยายการควบคุมอาณาเขตไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งยังเริ่มดึงนักสู้มูจาฮีดีน และผู้แปรพักต์จำนวนมาก มาเป็นสมาชิกด้วย
ในช่วงนั้น ตาลีบันได้รับการสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบีย และปากีสถาน โดยปากีสถาน ประเทศที่มีพรมแดนติดกันนั้น หวังว่าจะใช้เส้นทางผ่านอัฟกานิสถานไปยังตลาดในเอเชียกลาง ซึ่งมีตลาดท่อส่งก๊าซ และน้ำมันจำนวนมาก ซึ่งอัฟกานิสถานเองก็สัญญากับปากีสถานว่า จะปกครองประเทศอย่างเป็นมิตรให้แตกต่างจากรัฐบาลยุคก่อน รวมถึงปากีสถานเองยังหวังสร้างอิทธิพลในประเทศอัฟกานิสถานในยุคของตาลีบัน จากที่รัฐบาลยุคก่อนให้ความสำคัญกับคู่แข่งอย่างอินเดีย
ในปี 1996 ตาลีบันสามารถยึดเมืองหลวงอย่างกรุงคาบูลได้ และตั้งรัฐบาล ภายใต้การรับรองของประเทศอย่าง ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และมีอำนาจเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ จนถึงปี 2001
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้รับการรับรองในเวทีนานาชาติอย่าง UN รวมถึงยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จากการปกครองที่กดขี่สิทธิมนุษยชน และการใช้กฎจากศาสนาอิสลามที่เคร่งครัด ไม่ว่าจะการสั่งห้ามวัฒนธรรมตะวันตก ห้ามดูทีวี หนัง หรือฟังเพลง และระเบียบการใช้ชีวิตอื่นๆ อย่างการสั่งให้ผู้ชายไว้หนวด การบังคับผู้หญิงใส่ชุดคลุมปกปิดทั้งตัวหรือ บูร์กา (Burka) ไปถึงการกีดกันผู้หญิงจากการศึกษา และการทำงานด้วย
20 ปี สงครามอัฟกัน
ยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช (2001-2009)
เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นระหว่างสงครามอัฟกานิสถาน คือหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ โดยกลุ่มอัลกออิดะห์โจมตีทางอากาศ ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศว่ากองกำลังของสหรัฐฯ จะโจมตีกลุ่มก่อการร้าย และมีเป้าหมายคือตาลีบันในอัฟกานิสสถาน
อัฟกานิสถานกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ที่บุชได้ประกาศออกมา หลังตาลีบัน ซึ่งปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานในตอนนั้น ปฏิเสธที่จะส่งตัวโอซามา บินลาเดน ผู้นำอัลกออิดะห์ที่วางแผนโจมตีสหรัฐฯ จากฐานทัพในอัฟกานิสถาน ซึ่งบุชหวังว่าจะนำตัวบินลาเดน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเสริมว่า ตาลีบันจะต้องชดใช้ด้วย ซึ่งสหรัฐฯ มีเป้าหมายจะกำจัดกลุ่มอัลกออิดะห์ และตาลีบัน เพื่อไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นพื้นที่กบดานของกลุ่มก่อการร้ายอีก
สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต ได้เปิดฉากภารกิจ Operation Enduring Freedom ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B52 ไปเหนือน่านฟ้าของอัฟกานิสถาน และหลังจากนั้นภายในไม่กี่เดือน สหรัฐฯ ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันได้ และในเดือนธันวาคม ปี 2001 โฆษกของกลุ่มตาลีบันก็ได้ประกาศการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วย
หลังจากนั้นอัฟกานิสถานได้เปลี่ยนผ่าน มีผู้นำจากการเลือกตั้งในปี 2004 รวมถึงมีทุ่มงบประมาณสหรัฐฯ ไปกับการฝึกกองกำลังป้องกันอัฟกานิสถาน ซึ่งแม้ว่าหลังจากนั้นบุช จะทำสงครามก่อการร้าย โดยไม่ได้เน้นอัฟกานิสถานเป็นพื้นที่หลัก แต่ในยุคสมัยที่เขาเป็น ปธน.นั้น เขาก็ได้ส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปประจำในอัฟกานิสถานมากถึง 25,000 นาย
ยุคบารัค โอบามา (2009-2017)
ยุคของ ปธน.โอบามา เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารเข้าไปมากที่สุด และมากกว่ายุคของบุชอีก เพราะแม้จะมีทั้งกองกำลังของสหรัฐฯ และนาโต แต่ตาลีบันเองก็ได้พัฒนาการต่อสู้ใหม่ๆ ที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยตลอด 8 ปีของโอบามา เขาส่งทหารเข้าไปมากที่สุดถึงประมาณ 1 แสนนาย ในช่วงกลางปี 2010
และภายหลังในปี 2011 หลังกองกำลังสหรัฐฯ สามารถสังหารบินลาเดนได้ในประเทศปากีสถาน โอบามาก็ได้ประกาศว่าจะส่งมอบหน้าที่ด้านความมั่นคงให้กับชาวอัฟกันภายในปี 2014 และจะเริ่มทยอยส่งกองกำลังสหรัฐฯ กลับประเทศให้สำเร็จภายในปี 2016
ซึ่งในตอนนั้นเอง เพนตากอนก็ได้ข้อสรุปว่าสงครามไม่สามารถชนะได้ด้วยกำลังทหาร และมีเพียงการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งเท่านั้นด้วย แต่เมื่อถึงปี 2016 นั้น โอบามาก็ประกาศว่าไม่สามารถส่งทหารกลับได้ทั้งหมด เพราะสถานการณ์ยังเปราะบาง โดยก่อนที่เขาจะลงจากตำแหน่งในปี 2017 ก็ยังคงมีทหารประมาณ 8,000 นายประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน ก่อนที่โอบามาจะประกาศให้ ปธน.คนต่อไปเป็นผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ (2017-2021)
เมื่อมาถึงยุคของทรัมป์ ปธน.ที่เน้นปัญหาภายในประเทศของตนเอง มากกว่านโยบายต่างประเทศ แน่นอนว่าเขาก็ได้ประกาศว่าเขาต้องการจะถอนทหารทั้งหมด และหมดเวลาสำหรับการทุ่มงบประมาณ และกำลังไปกับสงครามที่ไม่มีวันจบ ซึ่งในปี 2018 เอง ฝ่ายบริหารของทรัมป์ก็ได้เริ่มติดต่อกับกลุ่มตาลีบัน โดยมีพันธมิตรอย่างปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ เป็นผู้ช่วย จนนำมาสู่การเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการใน 2 ปีต่อมา
การเจรจา และลงนามในข้อตกลงกับตาลีบันเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 โดยข้อตกลงนี้ระบุว่า สหรัฐฯ จะถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ขณะที่ตาลีบันให้คำมั่นสัญญาว่าจะตัดสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์และกลุ่ม ISIS ลดความรุนแรง และเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่ถึงอย่างนั้นข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้รวมมาตรการบังคับให้ตาลีบันทำตามสัญญาด้วย
ซึ่งหลังมีการลงนามนี้เกิดขึ้นเพื่อหวังว่า ตาลีบัน และรัฐบาลอัฟกานิสถานจะสามารถเจรจา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และลดความรุนแรง ไปถึงหยุดยิงกันในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเหตุที่ตาลีบันรอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ นักข่าว และภาคประชาสังคมอยู่เรื่อยๆ
ยุคโจ ไบเดน (2021-ปัจจุบัน)
แม้เราอาจจะมองได้ว่านโยบายต่างๆ ของไบเดน แตกต่างจากทรัมป์ แต่สำหรับจุดยืนเรื่องอัฟกานิสถานนั้น ไบเดนย้ำ และสานต่อการเจรจาของทรัมป์ว่า สหรัฐฯ ต้องถอนกำลังทหารจากอัฟกานิสถานทั้งหมด เพียงแต่มีการยืดระยะเวลาเล็กน้อยจากเดิมคือเดือนพฤษภาคม เป็น 11 กันยายน 2564 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์ 9/11
แต่ในต้นเดือนกรกฎาคมนั้น ทหารของทั้งสหรัฐฯ และนาโต ต่างก็ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานทั้งหมดแล้ว รวมถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอย่าง UN ด้วย ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้กองกำลังตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้อย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด (17 สิงหาคม 2564) ไบเดนเองก็ยังคงยืนยันว่า เขาไม่เสียใจที่ถอนทหารออกมา
“ผู้นำของอัฟกานิสถานยอมแพ้และหนีออกนอกประเทศ กองทัพอัฟกันพ่ายแพ้โดยไม่แม้แต่พยายามสู้ สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นการถอนกองทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง” ไบเดนกล่าว
สถานการณ์ปัจจุบัน
แม้ว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะใช้เงินอย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในกองทัพอัฟกัน แต่การประเมินด้านข่าวกรองลับๆ ที่นำเสนอต่อฝ่ายบริหารของไบเดนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ชี้ว่า ประเทศอัฟกานิสถานอาจจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตาลีบันภายใน 2-3 ปี หลังการถอนทหาร แต่การยึดครอง และล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถานกลับเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นมากๆ
โดยนับตั้งแต่ทหารสหรัฐฯ เริ่มถอนกำลังช่วงเดือนพฤษภาคม ตาลีบันเริ่มยึดครองจังหวัดต่างๆ ได้มากขึ้นเริ่มจากในช่วงทางตอนเหนือ มาในหลายจุด โดยในบางแห่งไม่มีแม้แต่การนองเลือด หรือใช้กำลัง แต่เป็นการยอมแพ้ และหนีออกไปของฝั่งรัฐบาลอัฟกานิสถานเองด้วย
มาถึงเดือนสิงหาคม ตาลีบันรุกคืบ และครอบครองพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น จนในที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีการรายงานว่าตาลีบัน ยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ รวมถึงยังยืดทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่ ปธน.อัชราฟ กานีเองก็หลบหนีออกนอกประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์แล้ว โดยเขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงการตัดสินใจว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด
ด้านกลุ่มตาลีบันเองก็ได้ประกาศชัยชนะ และชี้ว่าสงครามที่ยาวนานถึง 20 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว ขณะที่รัฐบาลพลเรือนของอัฟกานิสถานล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง รวมถึงตาลีบันยังพยายามสื่อสารว่าจะโอนถ่ายอำนาจอย่างสันติ จะไม่มีการแก้แค้น และรับประกันความปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะในเมืองคาบูล รวมถึงล่าสุดจีนได้ประกาศเตรียมรับรองตาลีบันเป็นรัฐบาล ขณะที่รัสเซียก็แสดงท่าทีว่าจะเจรจากับตาลีบันด้วย
ในสหรัฐฯ เองก็มีชาวอัฟกันที่ไม่พอใจกับนโยบายของสหรัฐฯ ในการถอนทหาร และออกมาประท้วงไบเดนเช่นกัน โดยพวกเขามองว่า ถูกทรยศ และทอดทิ้งด้วย
อนาคตของอัฟกานิสถาน ภายใต้การปกครองของตาลีบัน
แล้วในอนาคตนั้น อัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มศว ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ตะวันออกกลาง ถึงการคาดการณ์ และการวิเคราะห์ในมุมของอาจารย์ โดยอาจารย์มองว่าขั้นแรก หลังยึดเมืองหลวงได้แล้ว คือกระบวนการสร้างชาติ และตั้งรัฐ
“ตาลีบันเขามองว่านี่เป็นการประกาศเอกราช และเป็นการได้รับอิสรภาพของอัฟกานิสถานจากการยึดครองของต่างชาติ ดังนั้น ในมุมมองของตาลีบันหลังจากนี้ สิ่งที่เขาจะให้ความสำคัญก็คือกระบวนการสร้างชาติ และการตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ โดยที่เน้นจุดยืนสำคัญก็คือ ต้องปกครองด้วยหลักการของอิสลาม”
แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์มองว่าการใช้กฎหมายชารีอะห์นี้ อาจจะยึดหยุ่นกว่าในสมัยที่ตาลีบันมีอำนาจในช่วงทศวรรษ 1990 โดยอาจจะมีเสรีภาพมากขึ้น รวมถึงจะมีการพูดถึงสิทธิของผู้หญิงในการศึกษา และการทำงานมากขึ้น รวมถึงที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ ได้เข้ามาวางระบบต่างๆ ไว้แล้ว “พอตาลีบันมาเนี่ย เขาก็มาดูว่าโอเค อันไหนที่ดูว่าดีแล้วไม่ขัดกับหลักการศาสนาก็คงไว้ อันไหนที่จะต้องปรับปรุงก็ปรับปรุง เพราะฉะนั้น สิ่งแรกๆ ที่เขาจะเข้ามาทำก็คือการสร้างชาติ บนฐานของความเป็นอิสลามที่เปิดกว้างมากขึ้น ให้เสรีภาพมาขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น”
“ประการต่อมาที่ผมคิดว่าตาลีบันจะให้ความสำคัญก็คือ การสร้างเอกภาพภายในประเทศ สร้างรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับในหมู่คนอัฟกานิสถานด้วยกัน เวลาเราพูดถึงการแบ่งอำนาจก็มีอยู่หลายวิธี บางวิธีอาจมีการเชื่อมตรงกับประชาชนมาก เช่นการเลือกตั้งโดยตรง บางวิธีก็มีการเชื่อมโยงทางอ้อม” ซึ่งอาจารย์ก็มองว่าเราคงยังไม่เห็นรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกเลยในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน แต่คาดว่าวิธีที่เป็นไปได้ คือ การแบ่งสัดส่วนการปกครองโดนชนเผ่า
“ในอัฟกานิสถานมันมีอยู่หลายชนเผ่าด้วยกัน แต่ว่าชนเผ่าของตาลีบัน ก็คือชนเผ่า พัชตุนวาลี (Pashtunwali) โดยชนเผ่านี้อาจจะเป็นประธาน เพราะเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ และให้สัดส่วนองค์ประกอบชนเผ่า จากสัดส่วนของประชากรในการเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์ที่ตาลีบันต้องไปคิด แต่ว่าถ้าคานอำนาจในลักษณะนี้ ตาลีบันเองก็จะยังมีอำนาจอยู่ แล้วก็จะถูกมองว่าได้รับความชอบธรรม และได้รับการยอมรับภายในประเทศด้วย อันนี้ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้”
ขณะที่มุมต่อมา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนอกจากเรื่องภายในประเทศ คือในเวทีระหว่างประเทศ “ผมคิดว่า สิ่งต่อมาที่เขาจะให้ความสำคัญ คือ การสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติให้ยอมรับตาลีบันเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความพยายามของตาลีบันตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนั้นสหรัฐอเมริกาก็ไม่เห็นด้วย และช่วงนั้นตาลีบันก็ไม่มีมหาอำนาจหนุนหลัง แต่วันนี้ เราเห็นจีนที่เชื่อมสัมพันธ์กับตาลีบันชัดเจน และก็มีความเป็นไปได้ว่าจีนและรัสเซีย จะร่วมกันผลักดันให้ตาลีบันได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ”
“สิ่งที่สำคัญที่ตาลีบันจะต้องยืนยันตามที่ได้ตกลงกับสหรัฐฯ ว่าจะไม่ให้มีกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มก่อการร้ายเข้ามาเคลื่อนไหว มาใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการ ตรงนี้จะต้องแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะในอดีต ตาลีบันก็มีประสบการณ์ที่ปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ มาเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน จนสุดท้ายมันนำมาสู่การเข้าไปโค่นล้มตาลีบันของสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่เลย
โจทย์ใหญ่ที่ตาลีบันต้องคิดเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศก็คือตัดความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยงจากกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ทั้งอัลกออิดะห์ และกลุ่มติดอาวุธอุยกูร์ที่จีนมีความเป็นห่วงกังวล ซึ่งผมมองว่าวันนี้ หลายฝ่ายอาจกังวลว่าหลังจากที่ตาลีบันขึ้นมามีอำนาจ กลุ่มอัลกออิดะห์จะผงาดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าอันนี้เป็นข้อสรุปที่อาจเร็วเกินไป หรือเป็นข้อกังวลที่อาจมากเกินไป เพราะว่าถ้าเราสังเกตให้ดี ถ้าสมมติว่าตาลีบันมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับอัลกออิดะห์ หรือว่าช่วยเหลือเกื้อหนุนกันเหมือนในอดีต เราจะไม่เห็นเลยว่าตาลีบันจะไปตกลงกับสหรัฐฯ” อาจารย์มอง
นอกจากภาพตาลีบันที่ยึดเมืองหลวงได้แล้ว 2-3 วันนี้เรายังเห็นภาพประชาชนแห่ไปยังสนามบิน หนีออกจากประเทศจนล้นเครื่องบิน เราถามอาจารย์ถึงแนวโน้มการอพยพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจารย์ได้ชี้ว่า มีคนที่ทั้งยินดีกับการกลับมาของตาลีบัน และแน่นอนมีกลุ่มคนที่ต้องการอพยพเช่นกัน
“เวลาเราพูดถึงประชาชนคนอัฟกานิสถาน มันมีรายละเอียดอยู่พอสมควร ก็คือถ้าเราแบ่งตามพื้นที่ มันก็จะมีคนที่อยู่ในเขตเมือง กับตามชนบทภูเขาห่างไกล ที่เขาอาจไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงโดยรัฐบาลอัฟกานิสถาน หรือเขาอาจอยู่ภายใต้การดูแล หรือภายใต้อิทธิพลของตาลีบัน ความคิดความอ่านของคนพวกนี้ก็จะไม่เหมือนกัน คนที่อยู่ในเมืองก็อาจเป็นคนสมัยใหม่หน่อย นิยมชมชอบแนวคิดเสรีภาพ เสรีนิยม ก็จะสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพราะเขาคิดว่าอย่างน้อยที่สุดมันคอร์รัปชั่น แต่ว่าเขาก็ยังมีเสรีภาพอยู่
หรือถ้าเราแบ่งอีกลักษณะหนึ่งคือ คนบางกลุ่มที่เคร่งครัดในศาสนา ต่อต้านคอร์รัปชั่น กลุ่มคนแบบนี้ก็จะเห็นด้วยต่อการกลับมาของตาลีบัน เพราะเขาไม่พอใจรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นเยอะมาก”
อาจารย์ยังเสริมอีกว่ายังมีคนอีกกลุ่ม ที่เป็นพลเมืองที่อาจหวาดกลัวการตกเป็นเป้าโจมตีของตาลีบัน คือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล “คนกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงก็คือ พลเมืองที่ทำงานกับรัฐบาล ที่สนับสนุนรัฐบาล ก็อาจตกเป็นเป้าของตาลีบันในขณะที่เคลื่อนกำลังเข้ามา
แต่ตอนนี้ตาลีบัน มีนโยบายว่าจะนิรโทษกรรมทุกคน จะไม่มีการล้างแค้น ทุกคนจะอยู่อย่างปลอดภัย นี่คือคำมั่นที่ตาลีบันได้ประกาศออกมาในแถลงการณ์ผ่านโฆษกของเขา เพราะงั้นเนี่ย คนกลุ่มนี้อาจเสี่ยงในตอนแรก แต่ภายหลังหากไม่มีการล้างแค้น สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป” ขณะที่สถานทูต หรือหน่วยงานต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของความปลอดภัย แต่ยังไม่ถึงขนาดตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
สำหรับอนาคตนี้ อ.มาโนชญ์ได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าจับตาในเร็วๆ นี้ ว่า มีเรื่องของการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร และการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอัฟกานิสถาน รวมถึงการต่อต้านที่อาจมีขึ้นบ้าง “20 ปีที่ผ่านมา เรารู้จักอัฟกานิสถาน และตาลีบันผ่านสื่อกระแสหลัก แต่หลังจากนี้ต่อไป เราจะรู้จักตาลีบันและอัฟกานิสถานผ่านการสื่อสารจากตัวของตาลีบันเอง เพราะฉะนั้น มันอาจเป็นข้อมูลที่หลายเรื่องเราอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ว่าเขาคิด มีจุดยืน หรืออุดมการณ์อย่างไร”
“ทั้งถ้าพูดถึงกลุ่มที่ติดอาวุธ และต่อต้านตาลีบัน อาจเป็นกลุ่มก่อการร้าย อย่าง ISIS ที่ผ่านมาพยายามเข้าไปสร้างเครือข่ายในอัฟกานิสถาน แล้วถูกตาลีบันปราบปราม จับกุม หรืออาจเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ลุกขึ้นมางัดกับตาลีบัน นอกจากนั้นเนี่ย กระแสต้านอาจเกิดขึ้นในบางภาคส่วนของประชาชนที่นิยมแนวคิดแบบประชาธิปไตย แบบตะวันตก เสรีภาพ และแนวสิทธิมนุษยชน อาจเป็นกลุ่มที่เราจะเห็นในอัฟกานิสถาน”
นอกจากการวิเคราะห์ของ อ.มาโนชญ์แล้ว BBC ยังได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มด้านเศรษฐกิจในอนาคตของอัฟกานิสถานอีกว่า จะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจมีความเปราะบาง และส่วนใหญ่พึ่งพาการช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งการเข้ามาของตาลีบัน ทำให้หลายประเทศ เช่นเยอรมนี ประกาศแล้วว่า หากตาลีบันใช้กฎหมายชารีอะห์ในการปกครอง จะตัดเงินช่วยเหลือด้วย
ทั้งอัฟกานิสถานยังเป็นประเทศที่การลงทุนธุรกิจจากต่างประเทศที่อ่อนแอมาก โดย 2 ปีล่าสุด ข้อมูลของ UN ชี้ว่า ไม่มีการลงทุนใหม่จากต่างชาติเลย ซึ่งความท้าทายต่อจากนี้ คือเรื่องทั้งความโปร่งใส และสุจริต เพราะแม้จะมีจีน ที่ดูสนใจจะสร้างสัมพันธ์กับตาลีบัน แต่รัฐบาลหลังจากนี้ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การค้า และการลงทุนด้วย
แต่ทั้งหมดนั้น ก็เป็นบทพิสูจน์ของตาลีบัน ที่นอกจากการประกาศชัยชนะแล้ว เราคงต้องรอดูว่าข้อตกลงที่ลงนามกับสหรัฐฯ ตาลีบันจะทำตามแค่ไหน และที่เขาสัญญา หรือมีการคาดการณ์ว่าจะพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน จะเกิดขึ้นจริงไหม หรืออัฟกานิสถานจะย้อนเวลากลับไปถึง 20 กว่าปี ไปเป็นเหมือนในสมัยที่เขาเคยถูกปกครองด้วยตาลีบัน รวมถึงท่าทีของนานาชาติต่อจากนี้เป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามกัน
อ้างอิงจาก