สหรัฐฯ กับ ไทย เป็นเพื่อนกันมาเนิ่นนานกว่า 200 ปี ถ้านับเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ ก็มีความทรงจำร่วมกันในหลายเรื่อง ทั้งยุคสงครามโลก สงครามเย็น สงครามก่อการร้าย ไหนจะความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจอีกมากมาย
ผู้นำไทยไปเยือนสหรัฐฯ ก็หลายครั้ง ส่วนผู้นำจากบ้านเขาก็มาเยือนเมืองของเราอีกไม่ใช่น้อย ดังนั้น การศึกษาและทำความเข้าใจสหรัฐฯ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และนโยบายที่เรากับเขามีต่อกันมันก็สำคัญอยู่เหมือนกัน
ท่ามกลางดราม่ามากมายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ The MATTER จึงขอแนะนำ หนังสือ 8 เล่มที่น่าจะช่วยเติมความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสหรัฐฯ และอ่านเกมการเมือง-การทูต ที่เรากับเขามีต่อกันได้มากขึ้น
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบันและอนาคต / ประภัสสร์ เทพชาตรี
อ.ประภัสสร์ เป็นนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ศึกษาการเมือง และนโยบายทางการทูตของสหรัฐฯ มาอย่างจริงจังคนหนึ่งในจักรวาลนักวิชาการไทย
หนังสือเล่มนี้ พาเราไปเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นโยบายในแต่ละยุคสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย / สาธิต มนัสสุรกุล
ปัญหาเรื่องก่อการร้ายและภัยความมั่นคง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งทวีความเข้มข้นมากๆ ในช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์ 9/11
สหรัฐฯ เน้นย้ำเรื่องการจัดการภัยก่อการร้ายในความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มากมาย รวมถึงประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีไทยเราอยู่ด้วยในนั้น หนังสือเล่มนี้ อธิบายและวิเคราะห์ถึงนโยบายสหรัฐฯ ในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่มีต่อประเทศไทย
บทบาทของสภาคองเกรสในความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา / สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
ในระบบประชาธิปไตยแล้ว การตัดสินใจทางการเมืองต้องผ่านผู้แทนของประชาชน และรัฐสภาก็เป็นเหมือนกับศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ของการผลักดันนโยบายต่างๆ ออกสู่สาธารณะ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่มีสภาคองเกรสซึ่งทำงานอย่างเข้มข้นและซับซ้อน มีการต่อรองผลประโยชน์มากมายเกิดขึ้นภายในนั้น หนังสือเล่มนี้จาก อ.สิริพรรณ แห่งคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ น่าจะช่วยให้เราเห็นภาพของบทบาทของสภาคองเกรสในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐฯ มีต่อไทยได้
บาดแผลอเมริกา : สงครามกับเสรีภาพในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อ.ธเนศ เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มาอย่างจริงจัง เขาเรียนที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน และสอนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหลายต่อหลายปี หนังสือ ‘บาดแผลอเมริกา’ เล่มนี้ อ.ธเนศ เขียนถึงประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ผ่านการทำสงครามและเสรีภาพ ซึ่งน่าจะช่วยให้พวกเราเห็นถึงที่มาที่ไป และเข้าใจถึงสภาพสังคมการเมือง การต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบันได้พอสมควร
สงครามเวียดนาม สงครามกับความจริงของ “รัฐไทย” / พวงทอง ภวัครพันธุ์
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ คือสงครามเวียดนามในยุค Cold War (สงครามเย็น) เมื่อไทยต้องรับมือกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังเป็นปรากฎการณ์สุดเข้มข้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เองก็เข้ามามีอิทธิพลกับภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้อิทธิพลจากรัสเซียในอินโดจีน โดยเฉพาะกับสมรภูมิใหญ่อย่างเวียดนาม รัฐบาลไทยในยุคนั้นจัดการ ‘ความจริง’ ของสงครามเวียดนามอย่างไร? หนังสือเล่มนี้ของ อ.พวงทอง อธิบายได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
US Crisis วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา / กอบศักดิ์ ภูตระกูล, สฤณี อาชวานันทกุล, ปกป้อง จันวิทย์
ปัจจัยขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้มาจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการค้า ยังเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในยุคนี้
ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต้องบาดเจ็บจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะ ‘วิกฤตซับไพรม’ ที่สร้างความปั่นป่วนไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แต่ยังกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้ เป็นการรวมบทบรรยายและบทสัมภาษณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และผลกระทบที่มีต่อไทย ผ่านมุมมองในด้านเศรษฐศาสตร์ของ กอบศักดิ์ ภูตระกูล, สฤณี อาชวานันทกุล และปกป้อง จันวิทย์