“Justice must not only be done, but must also be seen to be done – ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้คนเห็นว่าที่ทำไปคือความยุติธรรมด้วย” อาจารย์ปริญญา กล่าว
เมื่อวานนี้ (7 สิงหาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลโดยเอกฉันท์ เหตุกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การยุบพรรคจะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 11 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี โดยจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครการเลือกตั้ง, จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ และเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน, สุเทพ อู่อ้น, อภิชาติ ศิริสุนทร, เบญจา แสงจันทร์ และ ปดิพัทธิ์ สันติภาดา เป็นต้น
หลังผลตัดสินชะตาของพรรคก้าวไกลออกมา The MATTER พูดคุยกับ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ถึงความเห็นต่อผลวินิจฉัยและผลกระทบที่จะตามมาจากการตัดสินดังกล่าว
- อาจารย์คิดเห็นอย่างไรต่อคำวินิจฉัย และผลกระทบของการตัดสิน?
“ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกินคาด เพราะเป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบและถูกตัดสิทธิ์กรรมการพรรคที่ไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน แต่ระหว่างเกิดการกระทำที่เป็นเหตุในการยุบพรรคก็จะโดนตัดสิทธิด้วย และคิดว่าคงไม่ต่ำกว่า 10 ปี เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่”
แต่ที่เกินความคาดหมายของอาจารย์ปริญญาคือ คำวินิจฉัยและเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคหนักที่คาดหมาย คือหนักกว่าคำวินิจฉัย 3/2567 ในวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่สั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการกระทำ
“ความจริงศาลรัฐธรรมนูญอ้างคำวินิจฉัย 3/2567 ว่าวินิจฉัยไปแล้วว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างระบอบการปกครอง ก็พอแล้วในการยุบพรรค ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลเพิ่มเติมอะไรให้หนักขึ้นขนาดนี้ ที่นี้ประเด็นที่ท่านเพิ่มเติมขึ้นมานี่ ทำให้ผมในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์เกิดความกังวลใจ ต่อระบบพรรคการเมืองไทยและศาลรัฐธรรมนูญ 2-3 เรื่อง”
1. เรื่องที่สำคัญมากเรื่องแรกคือ คำวินิจฉัยนี้ทำให้จากนี้ไป กกต. จะยุบพรรคใด กกต.ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ของพรป. พรรคการเมือง และระเบียบ กกต.ที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหายุบพรรคและให้พรรคมีโอกาสได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเสียก่อน แต่ใช้แค่มาตรา 92 ได้เลย
คือแค่เห็นว่า ‘มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการ‘ ที่เป็นเหตุในการยุบพรรค ได้แก่ (1) การกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง (2) การกระทำที่อาจจะเป็นปริปักษ์กับการปกครอง และ (3) เหตุอื่นๆ กกต.ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้เลย ถ้าเทียบกับกระบวนการทางอาญาคือ เท่ากับอัยการส่งผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลได้โดยที่ไม่ต้องแจ้งข้อหา และให้โอกาสผู้ต้องหาได้แก้ข้อกล่าวหาก่อน
อาจารย์ปริญญาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมาตรา 92 คือฐานความผิดที่จะถูกลงโทษยุบพรรค ส่วนมาตรา 93 คือขั้นตอนหรือวิธีพิจารณาคดียุบพรรคมาตรา 93 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
‘เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ..’ คือต้องดำเนินการตามระเบียบของ กกต.
“นั่นคือต้องให้พรรคที่จะถูกยุบได้ชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหา คือต้องฟังทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เมื่อดำเนินการแล้ว กกต.จึงค่อยประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าข้อหักล้างฟังขึ้นหรือไม่ ถ้าหักล้างไม่ได้ เห็นควรว่าต้องยุบพรรคก็ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต.ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 93 นี้”
ทีนี้ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็เห็นพ้องตาม กกต.โดยให้เหตุผลว่า การยุบพรรคมี 2 กรณี คือ กรณีตามมาตรา 92 ถ้ามี ‘หลักฐานอันควรเชื่อ’ ก็ส่งคำร้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา ต่อพรรคที่จะถูกยุบและไม่ต้องให้พรรคแก้ข้อกล่าวหาก่อน
และกรณีตามมาตรา 93 คือมีแค่ ‘ความปรากฏ’ ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ถึงจะต้องแจ้งพรรคที่จะถูกยุบและให้โอกาสโต้แย้ง ว่าง่ายๆ คือ ขั้นตอนตามมาตรา 93 ที่ให้โอกาสพรรคที่จะถูกยุบพรรคชี้แจงโต้แย้งก่อนไม่ต้องทำก็ได้ถ้า กกต.เห็นว่า ‘มีหลักฐานอันควรเชื่อ’ แล้ว
อาจารย์ปริญญา ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลหรือพรรคใด แต่หมายถึงว่าขั้นตอนก่อนส่งไปศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องเขาได้โต้แย้งและชี้แจง ซึ่งก็เป็นวิธีการในการพิจารณาความในศาลต่างๆ อัยการจะสั่งฟ้องต่อใคร ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ทราบและแก้ข้อกล่าวหาก่อน กกต.ซึ่งเป็นทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการไม่จำเป็นต้องทำแล้ว
แล้วที่จริงมาตรา 93 ใช้คำว่า ‘เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ..’ ไม่ได้ใช้คำว่า ความปรากฏ’ ดูตัวบทชัดๆ เลย จะเห็นได้ว่า คำว่า ’ความ‘ ไม่มีนะ มาตรา 93 เขียนว่า ‘เมื่อปรากฏ‘ นั่นคือเมื่อมีการกระทำที่เป็นเหตุยุบพรรคตามมาตรา 92 ก็ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ไม่ใช่ให้ กกต.เลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำตามมาตรา 93 ก็ได้เช่นนี้
“มันจึงเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของการยุบพรรค เพราะผลวินิจฉัยจะทำให้หลังจากนี้ กกต.สามารถเลือกได้ว่าจะใช้มาตรา 93 แบบแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยุบพรรคชี้แจงก่อน หรือไม่ต้องแจ้งเลย โดยอ้างว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อแล้ว ก็ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้เลย จึงกลายเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะพรรคการเมืองไทยก็ถูกยุบง่าย และมีข้อหาในการยุบพรรคมากเกินไปอยู่แล้ว จากนี้ไปก็จะยุบพรรคง่ายขึ้นไปอีก”
ดังนั้น หลังจากนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เป็น 2 มาตรฐานหรือ กกต.เลือกปฏิบัติได้ เช่น ถ้าอยากให้โอกาส ก็ทำตามมาตรา 93 ให้พรรคการเมืองยื่นหลักฐานชี้แจง แต่ถ้าจะไม่ให้โอกาสก็บอกว่า หลักฐานเพียงพอแล้วยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งต้องช่วยกันไม่ให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด พรรคใคร พรรคไหนที่จะถูกยุบก็ตาม
2. เรื่องที่สอง อาจารย์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ไม่ต้องไต่สวนใหม่เพราะเป็นเรื่องตามคำร้องเดิม หรือ ตามคำวินิจฉัยเดิมที่ 3/2567 แม้ว่าหลังจากนั้น พรรคก้าวไกลจะเอานโยบายการแก้ไข ม.112 ออกจากเว็บไซต์ไปแล้ว ก็คือไม่มีผลใดๆ แล้ว เพราะศาลถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
“ถ้าท่านไม่อธิบายอะไร เอาตามที่วินิจฉัย เอามาสรุปหรืออ้างต่อเลย คือยังไม่ผิดคาด แม้ว่าผมจะเห็นต่างว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อหาเดิม เรื่องเดิม ก็ควรเปิดให้เขาสู้อีกที เพราะมาตรา 49 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจศาลฯ จบเพียงแค่อำนาจสั่งให้ยุติการกระทำ ไม่มีอำนาจยุบพรรคเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่มีถ้อยคำว่า ‘เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองใดยุติการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญ จะยุบพรรคการเมืองนั้นด้วยก็ได้’ อันนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ 2560 เท่ากับว่าอำนาจศาลตามรัฐธรรมนูญมีเพียงยุติการกระทำ ถ้าจะยุบพรรคก็ต้องดำเนินการตาม พรป.พรรคการเมือง คือมาตรา 92 และมาตรา 93 คือมันต้องเริ่มต้นใหม่ จะถือเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้”
“ทีนี้ที่ผมผิดคาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญท่านกล่าวว่า มีอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นก็คือแม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ได้เขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค แต่ท่านถือว่ามีอำนาจในการยุบพรรค ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายอำนาจของท่านเองไปถึงสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเป็นปัญหาได้ เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะไม่เขียนให้อำนาจท่าน แต่ถ้าท่านเห็นว่าท่านมีอำนาจท่านก็มีอำนาจ แบบนี้ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกต่อไป และอาจจะกลายเป็นว่าท่านจะมีอำนาจอย่างแทบจะไม่มีขอบเขตอะไรอีกเลย นี่คือเรื่องที่น่ากังวล”
อาจารย์เสริมว่า นอกจากนี้ ท่านยังให้เหตุผลในการยุบพรรคอีกข้อหนึ่งว่า ‘หากปล่อยให้ทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินการล้มล้างระบอบการปกครอง’
“ผมฟังแล้วก็สงสัยนิดนึง เพราะอย่างนี้เท่ากับว่าท่านก็เห็นว่าตอนนี้ยังไม่เป็นการล้มล้าง แต่ถ้าปล่อยให้ทำต่อไป ก็จะกลายเป็นการล้มล้าง ถ้าเทียบกับกฎหมายอาญาก็ประมาณว่า ถึงแม้การกระทำของจำเลยจะยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิด แต่ถ้าปล่อยให้ทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินการกระทำผิด ดังนั้น ศาลจึงตัดสินว่าผิดและลงโทษเลย ประมาณนี้หรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็เห็นได้ว่า เป็นส่วนต่อขยายของ ‘เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย’ คือมันกระทบต่อหลักความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย”
3. เรื่องที่สามที่น่ากังวลคือ คำวินิจฉัย 3/2567 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการกระทำ คือให้ยกเลิกการกระทำที่เป็นการยกเลิก ม.112 และให้ยุติการกระทำที่เป็นการแก้ไข ม.112 ด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ
“ซึ่งหมายความว่าท่านห้ามเฉพาะกระบวนการนิติบัญญัติโดยไม่ชอบ ถ้าเป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ท่านไม่ได้ห้าม แต่ในคำวินิจฉัยยุบพรรคอันนี้ ศาลรัฐบาล ชี้ว่าการเสนอร่างแก้ไข ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะเป็นการเซาะกร่อน-บ่อนทำลาย คือตอนนี้ท่านห้ามมาถึงกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบด้วยแล้ว ดังนั้น จึงเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเรื่องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รัฐธรรมนูญห้ามแก้ไข ให้ขยายมาถึงห้ามแตะต้อง ม.112 ด้วย ผลก็จะเป็นอย่างนั้น”
อาจารย์ปริญญา ชี้ว่า ความจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลเพิ่มเติมเหล่านี้ เพราะเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างระบอบการปกครอง แค่วินิจฉัยว่าคำร้อง กกต.ถูกต้อง และอ้างคำวินิจฉัย 3/2567 ยุบพรรคได้เลย
แต่อาจจะเพราะศาลรัฐธรรมนูญอยากให้เหตุผลแน่นหนาขึ้นว่าทำไมต้องยุบ ก็เลยเพิ่มเหตุผลขึ้นมาอีกหลายข้อโดยไม่จำเป็น และทำให้เกิดประเด็นข้อกังวลใจต่อระบบพรรคการเมืองไทยที่จะมีการยุบพรรคง่ายยิ่งขึ้นไปอีก และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะไม่ถูกควบคุมด้วยรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
- การยุบพรรคก้าวไกล = ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถเสนอแก้ไข ม.112 อีกต่อไป?
อาจารย์ปริญญาตอบว่า การห้ามแก้ไข ม.112 อาจไม่ได้แปลว่าแก้ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะอาจจะยังแก้ได้ถ้าเป็นไปทางตรงข้ามเช่นเพิ่มโทษให้หนักขึ้น แต่ตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลทำมาจะเรียกว่าถูกปิดประตูก็พูดได้ เพราะศาล รธน.วินิจฉัยว่าแก้ไข ม.112 ตามร่างของพรรคก้าวไกลว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
“ที่ต้องติดตามต่อไปคือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อในร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จากคำวินิจฉัย 3/2567 ยังไม่ผิดอะไร แต่จากคำวินิจฉัยยุบพรรคเมื่อวานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการล้มล้างด้วยแล้ว จะมีดาบต่อไปที่จะไปเล่นงาน ส.ส. เหล่านี้ด้วยหรือไม่”
“ยุบพรรคเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ามีการกระทำถึงขนาดล้มล้างระบอบการปกครอง ประเทศอื่นก็มีการยุบพรรคได้อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวเมื่อวาน แต่การยุบพรรคในประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่คาดหมาย ถ้ายังไม่ถึงขนาดล้มล้าง เขาก็จะให้ยุติการกระทำ ถ้ายังไม่ยุติ ยังทำต่อจึงค่อยใช้มาตรการที่แรงที่สุดคือยุบพรรค ของเรานี่ยุบพรรคกันง่ายเกินไป ที่สำคัญคือการยุบพรรคต้อปงฟังความทั้งสองข้าง ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ผมไม่ได้บอกว่าศาลไม่เที่ยงธรรม แต่หน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมคือ Justice must seen to be done ต้องทำให้คนเห็นว่าที่ทำไปคือความเที่ยงธรรมด้วย” อาจารย์ปริญญาทิ้งท้าย